วันจันทร์, พฤศจิกายน 18, 2567

กุหลาบ ดอกไม้แทนความรักที่หลายคนส่งต่อให้กับคนรักในหลายโอกาส การมอบดอกกุหลาบให้กับคนที่เรารักในวันวาเลนไทน์ถือว่าเป็นการแสดงออกที่โรแมนติกอยู่ไม่น้อย แต่คุณรู้ไหม แรงงานปลูกดอกกุหลาบ คือ “แรงงานข้ามชาติ"



11/16/2024
ปรัชญา ไชยแก้ว
Lanner

Summary
  • อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแหล่งปลูกไม้ดอกเพื่อการค้าที่สำคัญ มีพื้นที่ปลูกดอกไม้ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรประมาณ 1,061 ไร่ เกษตรกร 304 ราย ทั้งในพื้นที่ตำบลโป่งแยงและตำบลเหมืองแก้ว
  • แรงงานส่วนใหญ่ในไร่ดอกกุหลาบเป็นแรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 5,000 บาท ทำงานวันละประมาณ 12 ชั่วโมงต่อวัน
  • ซึ่งแรงงานในไร่กุหลาบส่วนใหญ่เป็น ‘แรงงานขัดหนี้’ ที่รายได้ไม่เพียงพอต้องกู้หนี้และรับงานนอกเพื่อหารายได้เพิ่ม ไม่สามารถออกจากไร่ได้
  • กฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 6/1 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ เป็นเรื่องยากที่จะนำมาปรับใช้เนื่องจากในความเป็นจริงแรงงานไม่รู้สึกว่าตนถูกบังคับใช้แรงงาน แต่ตามความผิดมาตรา 6/1 นั้น ระบุว่า ลูกจ้างจะต้องไม่สมัครใจหรือยินยอมที่จะทำงานกฎหมายก็ไม่คุ้มครอง
  • Business and Human Rights หนึ่งกลไกที่ช่วยเข้ามาทำให้ภาคธุรกิจคำนึงถึงสิทธิแรงงาน ทั้งค่าตอบแทน ที่อยู่อาศัย สุขภาพและความปลอดภัย ระบบประกันสังคม สิทธิการรักษา การอบรมทักษะอาชีพ ภาษา และกลไกจัดตั้งร้องเรียนของแรงงาน
กุหลาบ ดอกไม้แทนความรักที่หลายคนส่งต่อให้กับคนรักในหลายโอกาส แม้แต่เพลงที่ว่าด้วยรักที่มากล้นกว่า 9,999 ดอก มากมายสุดแสนจะพรรณนา ใครจะรู้ว่าหนึ่งในหลายพันดอกกว่าจะได้มา ต้องผ่านความเหนื่อยยากและหยาดเหงื่อของแรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ กลุ่มคนผู้เป็นเบื้องหลังความรักของใครหลายคนไม่มากก็น้อย

ช่วงสายของปลายฤดูฝนท้องฟ้ามืดครึ่มบนภูเขาสลับซับซ้อนอากาศเย็นสบายมาพร้อมกับความชื้นของฝน พื้นที่ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ร่วม 50 กิโลเมตร สองข้างทางเรียงรายไปด้วยไร่ดอกไม้หลายชนิด ไร่ดอกกุหลาบเป็นหนึ่งในไร่ดอกไม้ที่เห็นผ่านตามากกว่าดอกไหนๆ ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่าในอำเภอแม่ริม เป็นแหล่งปลูกไม้ดอกเพื่อการค้าที่สำคัญ มีพื้นที่ปลูกดอกไม้ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรประมาณ 1,061 ไร่ ทั้งในพื้นที่ตำบลโป่งแยงและตำบลเหมืองแก้ว เช่น ดอกกุหลาบ ดอกมากาเร็ตพีค็อก ดอกเบญจมาศ ถือว่าพื้นที่นี้เป็นโรงงานส่งออกความสวยงามและความรักชั้นดี

เราจอดรถริมถนนเพื่อเดินเข้าไปอีกประมาณ 300 เมตร จะพบกับไร่กุหลาบขนาดไม่ใหญ่มาก ซึ่งระหว่างทางที่เดินมาด้านซ้ายมือมีกระท่อม 1 หลัง สร้างด้วยแผ่นไม้และมุงด้วยหลังคากระเบื้อง และสุดทางเดินก็จะพบกระท่อมอีก 1 หลังที่สร้างด้วยหลังคาสังกะสี ทั้งหลังปกคลุมไปด้วยกระสอบ มีห้องน้ำอยู่นอกตัวบ้าน กระท่อมทั้ง 2 หลังอยู่ติดกับไร่กุหลาบ เป็นที่อยู่ กิน นอน ของ 2 ครอบครัวที่ช่วยกันดูแลไร่กุหลาบแห่งนี้ให้พร้อมในการส่งต่อความรักตลอดทั้งปี


คำ

‘คำ’ เป็นคนไทใหญ่ วัย 30 เธอเป็นแรงงานในไร่ดอกกุหลาบแห่งหนึ่งในตําบลโป่งแยง คำและครอบครัวได้เข้ามาเป็นทำงานที่นี่ได้ 2 ปีเต็ม ก่อนหน้านี้คำก็เคยทำงานในภาคเกษตรมาหลายที่ แต่เนื่องจากภาระครอบครัวที่ต้องแบกรับ เพราะต้องดูแลลูก 2 คน และแม่ของเธอ การหางานที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องยาก การเป็นแรงงานในไร่กุหลาบจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่มีไม่มากนัก

“นายจ้างสร้างบ้านและปล่อยไร่ให้เราและครอบครัวดูแล” งานนี้จึงตอบโจทย์ของคำที่ครอบครัวสามารถอยู่ด้วยกันพร้อมหน้า


ลู่

เช่นเดียวกับ ‘ลู่’ พ่อลูก 2 ชาวไทใหญ่ วัย 56 ปี ที่ทำงานและอาศัยอยู่ในไร่กุหลาบติดกับไร่ที่คำอยู่ ลู่มาทำงานโดยการชักชวนของเพื่อนเมื่อ 2 ปีก่อน ลู่บอกว่าการทำงานที่นี่ถือว่าดีกว่าตอนที่ตนอาศัยอยู่ในเมียนมาเนื่องจากไฟสงครามที่คุกรุ่นและความไม่แน่นอนต่างๆ ผลักไสให้ลู่และครอบครัวโยกย้ายมาอาศัยอยู่ในไทยได้ 8 ปีแล้ว

“เขารบกันสู้กัน ยิงกันไปมา ชาวบ้านอยู่ไม่ได้ อายุ 60 ยังต้องเกณฑ์ทหารอยู่เลย ลำบากมาก”

บางครั้งเราไม่มีเงินซื้อน้ำมันมาทำกับข้าว

“ไม่รู้ทำยังไงแล้ว เราทำงานที่นี่แล้ว ก็ทำให้มันพ้นไปปีต่อปี”

รูปแบบค่าจ้างงานในไร่กุหลาบที่ทั้งสองทำอยู่นั้น จะจ้างตามผลผลิตที่ได้คือมัดละ 10 บาท โดย 1 มัด แบ่งเป็น 10 ดอก โดยต่อ 1 คนนั้นสามารถขนได้ครั้งละประมาณ 50 มัด (หนักประมาณ 50 กิโลกรัม) ต่อคนนั้นสามารถขนได้ประมาณ 2-3 รอบต่อวัน ซึ่งรายได้นั้นมีความไม่แน่นอนเพราะบางครั้งดอกไม้ที่ไม่สวยก็จะถูกคัดออก รายได้ที่ควรจะได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ลดหลั่นไปตามคุณภาพ ด้วยสภาพภูมิอากาศแปรปรวนทำให้ปีนี้อากาศเย็นช้ากว่าปกติดอกกุหลาบในไร่ของคำและลู่จึงมีผลผลิตที่ตรงตามคุณภาพไม่มากนักทำให้รายได้ลดลง โดยรายได้เฉลี่ยจะอยู่ที่เดือนละ 5,000 บาท บางเดือนได้ 4,000 บาท ซึ่งไม่พอกับค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน บางเดือนต้องออกไปรับจ้างรายวันเพื่อหารายได้เสริมวันละ 250-300 บาท


ตะกร้าและมอเตอร์ไซต์คู่ใจของลู่ในการขนส่งกุหลาบ

“ช่วงที่รายได้น้อยมากกว่าช่วงที่รายได้เยอะ บางครั้งเราไม่มีเงินซื้อน้ำมันมาทำกับข้าว”

คำ เล่าว่าเธอกับสามี ทำทั้งไร่พร้อมกัน 2 คน ตั้งแต่ปลูก รดน้ำ ใส่ปุ๋ย พรวนดิน ตัดแต่งกิ่ง กำจัดวัชพืช เก็บ ทำงานทุกวัน วันละ 12 ชั่วโมง โดยต้องตื่นมาตอนตี 4 เพื่อเตรียมตัว และเริ่มตัดดอกไม้ในเวลาตี 5 ถึง 10 โมงเช้า ก่อนนำไปส่งให้นายจ้าง ก่อนจะขึ้นมาที่ไร่อีกครั้งและให้น้ำ พ่นยาในช่วงเที่ยงถึง 5 โมงเย็นทุกวัน


บ้านของ ลู่ และครอบครัวตั้งอยู่ติดกับไร่กุหลาบ บ้างครั้งช่วงไหนที่อากาศชื้นลู่เล่าว่าในตัวบ้านมักเกิดไฟฟ้าลัดวงจรบ่อยครั้ง

ขณะเดียวกัน ลู่ เล่าว่าหากช่วงไหนเป็นช่วงที่ต้องพ่นยาเพื่อป้องกันแมลงมากๆ เนื่องจากดอกกุหลาบมีความบอบช้ำง่าย หากตนได้รับสารเคมีเข้าไปมากๆ จะมีอาการมือเท้าชาและปวดหัว ต้องกินยาและนอนพัก 3-4 ชั่วโมง และต้องตื่นมาทำงานต่อ เนื่องจากยังมีงานอีกหลายงานที่ค้างไว้และยังไม่ได้ทำในช่วงที่ตนนอนพัก หรือหากช่วงไหนที่ป่วยหนักหากจะเข้าไปในโรงพยาบาลหรือคลินิกก็ต้องควักเงินมาจ่าย หากช่วงไหนไม่มีเงินก็จะต้องกู้ยืมญาติเอามาจ่ายค่ารักษา

“ทำงานหนัก ช่วงที่พ่นยาลำบากมาก เหม็นมาก”



#whomademyflower แรงงานขัดหนี้ในไร่ดอกกุหลาบ

การมอบดอกกุหลาบให้กับคนที่เรารักในวันวาเลนไทน์ถือว่าเป็นการแสดงออกที่โรแมนติกอยู่ไม่น้อย แต่การรู้ที่มาที่ไปของความสวยงามนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องรับรู้ เหตุนี้เองแรงงานปลูกดอกกุหลาบและมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ได้รวมตัวกันเพื่อส่งเสียงผ่านการทำโพลสำรวจความเห็นทั่วเมืองเชียงใหม่ ในคำถาม “รู้ไหมว่าคนปลูกดอกกุหลาบ คือ “แรงงานข้ามชาติ” ในแคมเปญ #whomademyflower ตั้งแต่วันที่ 12-14 กุมภาพันธ์ 2566

โดยให้ประชาชนที่ผ่านไปมาได้ร่วมกันลงความเห็นทั้งหมด 2 ข้อ คือ “รู้ไหมว่าคนปลูกดอกกุหลาบ คือ “แรงงานข้ามชาติ” และต้องการสนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงสิทธิแรงงารรนอย่างเป็นธรรมและมีความปลอดภัยในสถานที่ทำงานหรือไม่? โดยมีคนที่สนใจทำโพลกว่า 276 คน ทั้งหมดสนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้เข้าถึงสิทธิแรงงาน สวัสดิการที่เป็นธรรม การทำงานที่ปลอดภัย

วีรวัศ ขำคม เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) หนึ่งในผู้ริเริ่มรณรงค์แคมเปญนี้ มีโอกาสเข้าไปทำงานกับแรงงานในไร่กุหลาบในอำเภอแม่ริมหลายแห่ง พบว่าแรงงานที่ทำงานในภาคเกษตรกรรมในภาคเหนือนั้นส่วนใหญ่เพิ่งเข้ามาอยู่ในไทยได้ไม่นานและไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ซึ่งสภาพการจ้างงานเป็นรูปแบบการรับเหมาภายใต้การดูแลและจัดการของนายจ้างดอกไม้ ซึ่งแรงงานมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับค่าจ้างอย่างเป็นธรรม ซึ่งส่วนใหญ่ได้ค่าแรงต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ


สภาพดอกไม้ที่ไม่ได้มาตรฐานที่จะถูกนำไปทิ้ง

หากดอกไม้ไม่ได้มาตรฐานที่นายจ้างกำหนด หรือดอกไม่สวย ก็จะถูกหักเงินหรือไม่รับดอกไม้ เป็นการบีบบังคับให้แรงงานต้องกู้หนี้ และต้องรับงานนอกเพื่อหารายได้เพิ่ม หรือที่เรียกว่า ‘แรงงานขัดหนี้’ ไม่สามารถออกจากไร่ได้ หากแรงงานต้องการออกจากพื้นที่ก็จะไม่ได้รับค่าแรงก่อนหน้า แรงงานบางคนทำงานตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ พักผ่อนไม่เพียงพอ และแรงงานหลายคนก็ไม่ได้ถูกอบรมด้านความปลอดภัย

นอกจากเรื่องค่าแรงที่ไม่เป็นธรรม วีรวัศ ยังเพิ่มเติมถึงเรื่องของการใช้สารเคมีมีความน่ากังวลเป็นอย่างมาก แรงงานหลายคนไม่ทราบว่าสารเคมีที่ใช้อยู่นั้นเป็นสารเคมีอันตราย เนื่องจากดอกไม้มีความบอบช้ำง่ายและถูกแมลงกินได้ง่าย จึงต้องมีการพ่นยาทุกวัน วันละ 3 เวลา ซึ่งรูปแบบการพ่นยาก็เป็นการเปิดสปริงทำให้ละอองของสารเคมีฟุ่งกระจาย แรงงานส่วนใหญ่ไม่มีชุดป้องกันที่แน่นหนา และการที่แรงงานต้องอาศัยอยู่ในไรสถานที่พักอาศัยหรือบ้านของแรงงานก็ไม่ปลอดภัยไม่ถูกหลักสุขอนามัย หลายครั้งแรงงานนำอุปกรณ์หรือชุดที่ใส่ที่ปนเปื้อนสารเคมีเข้ามาเก็บไว้ในตัวบ้านหรือห้องนอน และหลายครั้งไฟฟ้าก็ลัดวงจรในตัวบ้านเนื่องจากตัวบ้านนั้นมีความชื่น

“แรงงานส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าถูกกดขี่ ซึ่งการต่อรองกับนายจ้างเป็นเรื่องยาก เนื่องจากนายจ้างในภาคเกษตรกรรมรู้จักกันเป็นอย่างดี การต่อรองหมายถึงการปิดเส้นทางการหารายได้ของแรงงาน รวมไปถึงที่พักอาศัยของแรงงานนั้นไม่มีหลักแหล่งที่ชัดเจนเนื่องจากต้องพักอาศัยอยู่ในไร่ หากโดนเลิกจ้างจะทำให้ไม่มีที่พักอาศัยรวมไปถึงเรื่องของบัตรและเอกสารที่นายจ้างต้องเป็นคุ้มครองและรับรองแรงงานเหล่านี้”

ในเรื่องของสวัสดิการและประกันสังคม จากการลงพื้นที่สำรวจพบว่า เกือบทุกไร่ไม่มีสวัสดิการและประกันสังคมรวมไปสิทธิการรักษาให้แก่แรงงาน แรงงานหลายคนต้องอาศัยคลินิกในการรักษา ไม่สามารถเข้าโรงพยาบาลรัฐได้ เพราะหลายคนไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ ซึ่งการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐไม่ทั่วถึงเนื่องจากพื้นที่การทำเกษตรค่อนข้างกว้าง ส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายแรงงานไม่ชัดเจน ความช่วยเหลือยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร การทำงานของภาครัฐส่วนใหญ่เป็นการทำงานเชิงรับ เช่น การรับเรื่องร้องเรียน แต่การทำงานเชิงรุกยังไม่ค่อยมีหากเราไม่ไปร้องเรียนในพื้นที่ที่มีปัญหา

“ดอกไม้มันสวยงามได้เพราะมันผ่านมือของแรงงาน แต่ระหว่างทางแรงงานมันถูกขูดรีด ถูกสารเคมี ถูกเอาเปรียบ ต้องกู้หนี้ยืมสิน”

กรอบกฎหมายอันคับแคบกับฝันแสนธรรมดาที่ไม่กล้าฝัน



การเข้ามาลงหลักปักฐานในไทยของคำและลู่ รวมถึงแรงงานอีกหลายคนนั้นมีความฝันเรียบง่าย ขอเพียงมีเงินเก็บ มีรายได้เยอะๆ มีที่อยู่อาศัยที่ดี มีสิทธิรักษาพยาบาล มีน้ำสะอาดและไฟฟ้าให้ใช้ สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้โดยไม่เดือดร้อน

“อยากแก่ไปแล้วไม่เป็นภาระให้ลูกหลาน เพราะเราไม่ไปไหนแล้วจะอยู่ในไทยและตายในไทยนี่ล่ะ” ลู่ กล่าวทิ้งท้าย

แต่ความฝันแสนเรียบง่ายนี้อาจจะไม่ถึงทางฝันหากภาครัฐและเอกชนที่เป็นตัวแปรหลักในการสร้างคุณภาพชีวิตของแรงงานเหล่านี้ให้ดีได้ไม่เหลียวแล หากมาดูที่ข้อกฎหมายของไทยที่กำหนดหากดูตามตัวบทกฎหมายอาจจะยังไม่ครอบคลุมในการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในภาคเกษตรเท่าที่ควร ในรายงาน แรงงานข้ามชาติในภาคเกษตรกรรม: ลักษณะการจ้างงานสภาพการทำงาน ความเสี่ยงต่อการถูกบังคับใช้แรงงานและการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เผยว่า มาตรา 6/1 พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ ที่เป็นกฎหมายคุ้มครองการบังคับใช้แรงงาน ซึ่งหากจะนำมาปรับใช้ให้แรงงานได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนั้นเป็นเรื่องยาก

เนื่องจากในทางปฎิบัติแรงงานไม่รู้สึกว่าตนถูกบังคับใช้แรงงาน แต่เป็นการทำงานโดยยอมรับสภาพการทำงานที่เลวร้าย แต่ตามความผิดมาตรา 6/1 นั้น ระบุว่า ลูกจ้างหรือผู้เสียหายจะต้องไม่สมัครใจหรือยินยอมที่จะทำงาน หากแต่การทำงานนั้นเกิดขึ้นจากการถูกบังคับข่มขืนใจ และผู้ถูกข่มขืนใจอยู่ในภาวะหรือสถานการณ์ที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือพูดง่ายๆ ว่า ถ้ายินยอมก็ไม่เข้ากรอบกฎหมายคุ้มครอง ซึ่งเป็นกรอบการพิจารณาที่มองสภาวะการบังคับแรงงานอย่างคับแคบเกินไป และไม่คำนึงถึงความเป็นจริง

ทั้งนี้ วีรวัศ มีข้อเสนอ คือต้องการร่วมมือกับทางภาครัฐและภาคธุรกิจในการบูรณาการให้ทุกคนใช้หลักการคือ Business and Human Rights หรือธุรกิจเพื่อสิทธิมนุษยชน ในการทำงาน ซึ่งหากได้มีโอกาสทำงานกับภาครัฐจะทำให้การทำงานเกี่ยวกับสิทธิแรงงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากภาครัฐมีงบประมาณแต่ยังขาดการประสานงานกับแรงงาน
...

รู้จักธุรกิจเพื่อสิทธิมนุษยชน

Business and Human Rights หรือ ‘ธุรกิจเพื่อสิทธิมนุษยชน’ คือการกำหนดแนวทางการดําเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างครอบคลุมตามกฎหมายและหลักการสากล ในการกำหนดกลยุทธ์และแผนในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีกลไกการคุ้มครองและเยียวยาเมื่อเกิดเหตุ รวมถึงเปิดโอกาสให้ลูกจ้าง ชุมชนโดยรอบและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมหารือในความร่วมมือและสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นพร้อมกัน

เพื่อเป็นการป้องกันและรับมือกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดจากกิจกรรมทางธุรกิจ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554 องค์การสหประชาชาติได้ให้ความเห็นชอบในหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights (UNGP) เพื่อใช้เป็นแนวทางให้รัฐและองค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติบนฐานของความสมัครใจ โดยเนื้อหาสำคัญของหลักการชี้แนะมีดังนี้ 1.รัฐมีหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 2.องค์กรภาคธุรกิจมีหน้าที่เคารพสิทธิมนุษยชนและปฏิบัติตามกฎหมายที่บังคับ และ 3.ในกรณีที่เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่มีที่มาจากองค์กรภาคธุรกิจ ภาครัฐ ภาคเอกชน และกลุ่มธุรกิจ ควรจัดให้มีช่องทางการเยียวยาเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากองค์กรภาคเอกชน

ในประเทศไทยได้มีการกำหนด National Action Plan on Business and Human Rights หรือ แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เป็นแผนที่พัฒนาขึ้นโดยรัฐเพื่อคุ้มครองไม่ให้ภาคธุรกิจดําเนินการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิทธิมนุษยชนรวมถึงประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนส่งเสริมแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและเคารพสิทธิมนุษยชนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยมุ่งหวังให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทั้งนี้แผน NAP ในประเทศไทยยังเป็นเพียงแผนยังไม่มีการบังคับใช้เป็นกฎหมายเป็นเพียงแนวทางในการปฏิบัติ

ซึ่งอีกหนึ่งตัวแปรหลักคือภาคธุรกิจที่ต้องการให้คำนึงถึงสิทธิแรงงาน ค่าตอบแทนความปลอดภัยของแรงงาน ที่อยู่อาศัยของแรงงาน การตรวจสุขภาพประจำปี การอบรมความปลอดภัย ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ปลอดภัย แรงงานสามารถเข้าสู่ระบบประกันสังคมรวมไปถึงสิทธิการรักษา การอบรมทักษะอาชีพ ภาษา และกลไกจัดตั้งร้องเรียนของแรงงาน เนื่องจากนายจ้างส่วนใหญ่จะคำนึงถึงผลผลิตแต่ไม่ได้มองความเป็นอยู่ของแรงงาน

วีรวัศ ส่งท้ายว่า เรื่องของแรงงานในภาคเกษตรกรรมไม่ได้เป็นความรับผิดชอบของคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดของคนทุกคนที่บริโภคผลผลิตจากการเกษตร ซึ่งกลุ่มคนที่เป็นกำลังในการผลิตสิ่งเหล่านี้คือแรงงานข้ามชาติ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้ยั่งยืนได้ก็ไม่พ้นมือของผู้บริโภคทุกคนที่จะช่วยสนับสนุนให้แรงงานข้ามชาติได้รับสวัสดิการที่ดี และธุรกิจเพื่อสิทธิมนุษยชน เพราะแรงงานข้ามชาติเป็นคนช่วยผยุงเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน เป็นรากฐานของการเกษตรในไทย

“ดอกไม้สวยงามกว่าจะเป็นหนึ่งดอก ต้องคำนึงว่ามันเกิดจากการขูดรีดหรือเปล่า มันผ่านกระบวนการที่ถูกต้องมาหรือเปล่า หากต้องการให้ดอกไม้นั้นสวยงามจริงๆ มันต้องสวยงามตั้งแต่ต้นทางที่เป็นเมล็ดจนถึงปลายทางที่เป็นดอกไม้”

https://www.lannernews.com/16112567-01/