วันเสาร์, พฤศจิกายน 09, 2567

เมินคำสั่งศาลเพิกถอนสิทธิ ที่ดินเขากระโดง คดีตัวอย่าง “คณะกรรมการของกรมที่ดินสามารถหักล้างคำสั่งศาลชั้นสูงได้”

ที่ดินเขากระโดงบุรีรัมย์น่าจะเป็นคดีตัวอย่าง ที่ชี้ให้เห็นว่าระบบนิติรัฐ-นิติธรรมไม่มีความหมายเลยในการเมืองการปกครองไทยปัจจุบัน หลังจากคณะกรรมการของกรมที่ดินวินิจฉัยหักล้างคำสั่งศาลเฉยเลย

“เห็นสมควรไม่เพิกถอน หรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟ บริเวณแยกเขากระโดง” (อ.เมือง บุรีรัมย์ จำนวน ๕,๐๘๓ ไร่) หากย้อนดูที่มาเบื้องหลังเรื่องนี้ เป็นปัญหาพิพาทมานับสิบปี นับแต่ พ.ศ.๒๕๑๓ เมื่อนายชัย ชิดชอบ ถูกกล่าวหา

ว่า “บุกรุกที่ดิน” ซึ่ง ปู่ชัยบิดาของนายเนวิน ชิดชอบ ซึ่งได้รับฉายา ครูใหญ่’ พรรคสีน้ำงิน และอาณาจักรบุรีรัมย์ น่าจะยิ่งใหญ่กว่า บรรหารบุรี ในอดีตเสียอีก ท้ายสุดยินยอมรับว่า กรรมสิทธิ ที่ดินนั้นเป็นของการรถไฟจริง

แต่นายชัยได้ทำหนังสือขออยู่อาศัย และ รฟท.ยินยอม แต่หลังจากนั้นเมื่อ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๑๕ ได้มีการออกโฉนดทับสิทธิที่ดิน แล้วขายให้แก่นางละออง ชิดชอบ เมื่อ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๓๕ ก่อนขายต่อให้แก่บริษัทศิลาชัยบุรีรัมย์

ต่อมามีการตรวจสอบโดยพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นฝ่ายค้านขณะนั้น พบว่ามีการเพิ่มโฉนดที่ดินเขากระโดงอีก ๑๒ แปลง ระหว่างปี ๒๕๕๗ และ ๖๓ มีคำพิพากษาจากศาลปกครอง ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ และศาลฎีกาอย่างเดียวกัน ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท.

โดยเฉพาะศาลอุทธรณ์ระบุโดยตรงว่าที่ดินตรงนั้นเป็นของ รฟท. ไม่สามารถออกโฉนดใดๆ ได้ “ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน ส่งมอบคืนแก่ รฟท. พร้อมทั้งชำระค่าเสียหาย รวมถึงที่ดิน ๑๒ แปลงของตระกูลชิดชอบ” ด้วย

ครั้นถึง ปี ๒๕๖๖ รฟท.ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง กรมที่ดินเป็นจำเลย ศาลสั่งกรมที่ดินแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นพิจารณาเพิกถอนสิทธิเหนือที่ดิน ผลการไต่สวนคณะกรรมการแจ้งเมื่อ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๗ ว่าเห็นสมควรไม่เพิกถอน

โดยอ้างเหตุผลว่า “เนื่องจาก รฟท.ไม่มีหลักฐานที่เป็นข้อยุติ ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของ รฟท. จึงเห็นสมควรยุติเรื่องในกรณีนี้” ทั้งที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ว่ารัชกาลที่ ๕ ทรงพระราชทานให้แก่การรถไฟเพื่อการพัฒนากิจการรถไฟไทย

ตลอดกรณีพิพาทเกือบสิบปีที่ผ่านมา อำนาจรับผิดชอบในการจัดการปัญหาที่ดินเขากระโดง ตกอยู่กับนักการเมืองของอาณาจักรบุรีรัมย์ ช่วงที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็น รมว.คมนาคม ก็เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา

จนมาถึงปัจจุบันที่ นายอนุทิน ชาญวีกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็น รมว.มหาดไทย ก็เป็นผู้ควบคุมดูแลกรมที่ดินโดยตรงในสายการบังคับบัญชา จึงเป็นเรื่องน่าคิดตามเสียงครหา ว่าคณะกรรมการของกรมที่ดินสามารถหักล้างคำสั่งศาลชั้นสูงได้

(https://x.com/talkingpen88/status/1854784919559639396, https://www.youtube.com/watch?v=Rmo1i1Yn8o0 และ https://www.youtube.com/watch?v=9bY4lkNk154)