วันเสาร์, พฤษภาคม 11, 2567
'กัณวีร์' ช็อตฟีล บทบาท 'ทักษิณ-ฮุนเซน' อยากเป็นตัวกลางสันติภาพเมียนมา สุดท้ายถูกปฎิเสธ ย้ำอย่า 'เกาผิดที่และผิดเวลา' ระบุ Peace Broker มีแค่บารมีไม่พอ แต่ต้องน่าเชื่อถือ
The Reporters
10 hours ago
·
PEACETALK: 'กัณวีร์' ช็อตฟีล บทบาท 'ทักษิณ-ฮุนเซน' อยากเป็นตัวกลางสันติภาพเมียนมา สุดท้ายถูกปฎิเสธ ย้ำอย่า 'เกาผิดที่และผิดเวลา' ระบุ Peace Broker มีแค่บารมีไม่พอ แต่ต้องน่าเชื่อถือ
วันนี้ (10 พ.ค. 67) นายกัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย เรียกผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมาไปพูดคุยเสนอตัวเป็นคนกลางเพื่อสร้างสันติภาพในเมียนมา โดยตั้งคำถามถึงบทบาทของนายทักษิณ ว่ามีความมั่นใจได้มากน้อยขนาดไหนว่าผลการพูดคุยหรือความพยายามนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
"การพูดคุยกันครั้งนี้คุณทักษิณ มั่นใจถึงความรู้สึกของกองกำลังชาติพันธุ์ฝั่งเมียนมาว่าจะดีขึ้นหรือไม่ หลังจากพูดคุยแล้วไทยจะมีความรู้เรื่องสถานการณ์ได้มากขึ้นเหรอ โครงสร้างการบริหารของรัฐบาลไทยจะมั่นคงได้อย่างไรหากคุณทักษิณทำหน้าที่เป็นผู้นำรัฐบาลชุดนี้มากกว่าคนที่ชื่อว่าเศรษฐาเสียเอง ซึ่งทางกลุ่มชาติพันธ์ปฎิเสธลงนามให้ฉันทามติให้นายทักษิณเป็นตัวกลางไปเจรจากับทหารเมียนมา"
เช่นเดียวกับ กรณีที่ สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุนเซน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ปัจจุบันเป็นประธานวุฒิสภากัมพูชา ประสานไปยังรัฐบาลทหารเมียนมา เพื่อขอคุยกับนางอองซาน ซูจี นายกัณวีร์ ตั้งคำถามว่า มีหน้าที่อะไรไปขอคุยกับนางอองซาน ซูจี ที่สุดท้ายโฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา ปฏิเสธไม่อนุมัติการขอพบนางอองซาน ซูจี ของอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา
นายกัณวีร์ กล่าวว่า ความพยายามของอดีตผู้นำทั้งของไทยและกัมพูชาที่จะเป็นตัวกลางในปัญหาเมียนมานั้นเป็นสิ่งที่อาจถูกเรียกว่า Constrcutive Interventions (การแทรกแซงอย่างสร้างสรรค์) เสมือนเหตุการณ์ที่ไทยสมัย พล.อ.ชาติชายใช้นโยบาย “เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า” ในกัมพูชาตอนเขมร 4 ฝ่ายได้ ซึ่งความพยายามมีส่วนคล้าย แต่สารัตถะและช่วงเวลาอาจไม่ได้ จึงไม่แปลกใจที่จะถูกปฏิเสธจากกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และทหารเมียนมา
นายกัณวีร์ ยอมรับว่า ทุกคนคงอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขสถานการณ์ด้านการเมือง สิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม การพัฒนาและสันติภาพในเมียนมา เหมือนอดีตผู้นำทั้งสองคนนี้อยากทำตัวเป็นตัวกลาง (broker)
“ความตั้งใจดีครับ แต่กระบวนการที่จะเป็น mediator หรือ broker ของทั้งสองท่านมันไม่ถูก ผลลัพธ์เลยโดนปฏิเสธทั้งคู่ ราคงต้องเรียนรู้ให้มากขึ้นนะครับว่า “สันติภาพ” เริ่มต้นด้วย “ความไว้วางใจ” และ “ความจริงใจ”
นายกัณวีร์ เปิดเผยว่า ตนเองเดินทางตามแนวชายแดนไทยเมียนมา กว่า 1,000 กม. ระหว่างแคมเปญ 2,416 กม.เพื่อสันติภาพเมียนมา ได้พบตัวแทนกองกำลังเกือบทุกกลุ่ม รวมถึงไปถึงมาเลเซียก็ได้พบผู้ลี้ภัยซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของกองกำลังชาติพันธุ์ในเมียนมาด้วย
"ผมได้ยินคำพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การจะแก้ไขปัญหาด้านนี้ขอเถอะว่าต้องเริ่มจาก People to People Participation&Engagement (การมีส่วนร่วมและข้อตกลงระหว่างคนต่อคน) คือต้องรู้สภาพปัญหาในพื้นที่ทั้งหมดให้ได้ การจะไปเน้นแค่สถานการณ์ชายแดนฝั่งใดฝั่งหนึ่งอย่างเมียนมาอย่างเดียวคงไม่พอ อย่าลืมคนที่อยู่ฝั่งไทย มีปัญหาอะไรบ้างเคยเอามาพิจารณาหรือไม่"
นายกัณวีร์ ย้ำว่า Peace Broker (ตัวกลางด้านสันติภาพ) ต้องมีในสถานการณ์นี้ แต่ต้องมองให้ออกว่าต้องใช้กลไกที่มีอยู่และพัฒนาให้เหมาะสมมากกว่าการเลือกบุคคล หรือบุคคลเลือกตัวเองให้เป็น
"บารมีของปัจเจกชนไม่ว่าจะมีมากขนาดไหนคงทำไม่ได้ นี่อย่าลืมว่ายังมีปัจจัยภายนอกที่การมีบารมีแค่ไหนก็คงทำไม่ได้เพราะมันมีอิทธิพลของจีน สหรัฐฯ และแถมตอนนี้มีรัสเซียแล้วนะครับ ยุ่งยากมากขึ้นกับสถานการณ์ในเมียนมาที่มากระทบต่อไทย"
นายกัณวีร์ เห็นด้วยข้อเสนอ “ทรอยกา” ที่มีสามฝ่ายมาพูดคุย แต่ต้องใช้ให้เป็นและปรับให้ถูกต้องเหมาะสม แต่เมื่อมองว่าที่รัฐบาลไทย คงงงๆ กับตัวเองเช่นกันว่า ใครในรัฐบาลนายเศรษฐาฯ ที่ดูแลงานด้านนี้ที่มีมิติทั้งงานการต่างประเทศ งานความมั่นคง งานเศรษฐกิจ งานการพัฒนาเชิงพื้นที่ และงานด้านสันติภาพ
“เอาไงหล่ะที่นี้ ผมนี่ช็อตฟีลเลยครับหลังจาก 8 วัน 7 คืน ที่ออกเดินทางกลับมาเจอเรื่องใหม่ๆ ที่มันดูแล้วแปลกใจ ทั้งๆ ที่เราพยายามจะบอกว่ามันต้องมีการแก้ไขทั้งระยะเฉพาะหน้า ระยะกลาง ในเรื่องพื้นที่ปลอดภัยและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการสร้างระเบียงสันติภาพรอบประเทศเมียนมา และการแก้ไขระยะยาวเรื่องการสร้างการเมืองที่เหมาะสมในเมียนมาด้วยชาวเมียนมาเอง” นายกัณวีร์ กล่าวย้ำ
#TheReporters #เดอะรีพอร์ตเตอร์ #เมียนมา
(https://www.facebook.com/photo/?fbid=787996556855715&set=a.534942252161148)