วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 02, 2567

ภัย! ขยะพิษโรงงาน วัวหายรีบล้อมคอก


1 พ.ค. 2567
ไทยรัฐออนไลน์

ข้อเสนอแนะในการกำกับ ควบคุม ดูแลโรงงานจัดการ “กากของเสียอันตราย” ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรม นักวิชาการสิ่งแวดล้อม มองว่า ต้องเริ่มจาก...ต้นตอปัญหา

นั่นก็คือ...โรงงานที่รับกำจัด คัดแยกและรีไซเคิลกากอุตสาหกรรม ในประเทศไทย (2,500 แห่ง) ส่วนใหญ่เป็นโรงงานที่มีเงินลงทุนน้อย ประสิทธิภาพต่ำ ระบบการบำบัดมลพิษไม่มีประสิทธิภาพ บางส่วนที่เก็บไว้ในโกดัง บางส่วนลักลอบฝังกากพิษไว้ในที่ดินของโรงงานเอง หรือ...นำไปฝังในบ่อดินชุมชนที่เช่าหรือซื้อมา

คำถามสำคัญมีว่า...นโยบายประเทศไทยควรทำอย่างไร?ในการจัดการให้ปัญหานี้ลดน้อยลง? อาจารย์สนธิ บอกว่า การอนุญาตตั้งโรงงานคัดแยกและรับรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมที่อันตราย เช่น หลอม หล่อโลหะ สารเคมีอันตราย สารที่ติดไฟ สารก่อมะเร็ง ควรตั้งในนิคมอุตสาหกรรมหรือเขตประกอบการอุตสาหกรรม ไม่ควรมาตั้งในชุมชน รวมทั้งต้องให้จัดทำรายงานอีไอเอ เปิดรับฟังความเห็นประชาชนก่อน



ข้อสำคัญถัดมา...ควรยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 4/ 2559 ที่กำหนดให้สามารถตั้งโรงงานประเภทดังกล่าวได้ โดยยกเว้นกฎหมายผังเมืองเป็นเวลา 1 ปี หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงสีของผังเมืองใหม่... ทำให้เกิดโรงงานเหล่านี้มาตั้งในชุมชนจำนวนมาก

ข้อที่สาม...สำหรับโรงงานที่ตั้งอยู่แล้วในชุมชนควรกระจายอำนาจให้ อปท.เป็นพนักงาน เจ้าหน้าที่ด้านกากอุตสาหกรรมของ พ.ร.บ.โรงงานสามารถไปตรวจสอบการเก็บ การจัดการกากในโรงงานในพื้นที่ของ อปท. รับผิดชอบได้ รวมทั้งควรตั้งเครือข่ายประชาชนคอยเฝ้าระวังการลักลอบการขนกากไปทิ้ง

ข้อที่สี่...เพื่อแก้ไขปัญหากำลังคนไม่เพียงพอ กรมโรงงานควรขึ้นทะเบียนผู้ตรวจสอบเอกชนให้ทำหน้าที่ตรวจสอบแทนในทุกครั้งที่มีการขนย้ายกากทั้งต้นทางและปลายทาง

รวมทั้งการจัดการกากในโรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย...เหมือนในต่างประเทศ

ข้อที่ห้า...โรงงานดังกล่าวทุกแห่งควรกำหนดให้ต้องทำประกันภัยด้านสิ่งแวดล้อม ประกันภัยจะมาตรวจสอบโรงงานเป็นประจำ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนแทนหน่วยราชการ กรณีเกิดปัญหา...ประกันภัยต้องจ่ายชดเชยแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทันที

ข้อที่หก...ตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม (Environ mental Garantee Fund) โดยให้โรงงานดังกล่าวจ่ายเงินเข้ากองทุนตามข้อกำหนด เมื่อเกิดอุบัติภัยหรือเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน รัฐจะได้นำเงินกองทุนเหล่านี้มาจัดการกับปัญหาและฟื้นฟูเยียวยาประชาชนก่อน

...แล้วจึงไปฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายจาก “ผู้ก่อกำเนิด” มาชดใช้เข้ากองทุนทีหลัง



ข้อที่เจ็ด...ต้องปฏิรูปการอนุญาตตั้งโรงงานประเภทดังกล่าวให้เป็นโรงงานขนาดใหญ่ มีเงินลงทุนมาก มีประสิทธิภาพสูงในการบำบัดมลพิษ รวมทั้งปฏิรูประบบอนุญาต...การเคลื่อนย้ายกาก...การติดตามตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ...ลดปัญหาคอร์รัปชัน โปร่งใส ประชาชนตรวจสอบได้

โดยต้องเผยแพร่ข้อมูลการรายงานประจำทั้งการเก็บ การขนย้าย การจัดการกากของแต่ละโรงงานให้สาธารณชนทราบด้วย

ต่อเนื่องไปถึงกรณี...ไฟไหม้โรงงานที่เก็บสารเคมีวินโพรเสส ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เกิดผลกระทบระยะยาว ใครจะดูแล?ใครจะตรวจสอบ? และใครจะเป็นผู้จ่ายเงินฟื้นฟูและเยียวยา?

“น้ำดับเพลิงที่ปนเปื้อนสารเคมีที่จะลงสู่ดินและแหล่งน้ำโดยรอบจะกระทบต่อการเพาะปลูกและที่ทำกินของเกษตรกรในระยะยาว...สารเคมีและไอโลหะหนักที่ลอยออกไปในอากาศจะตกลง...ปนเปื้อนสู่พื้นดินและแหล่งน้ำใกล้เคียง ปนเปื้อนในระบบห่วงโซ่อาหาร จนกลับมาเข้าสู่ร่างกายประชาชนต่อไป”

แน่นอนว่า...สุขภาพของประชาชนที่สูดหายใจเอา “สารเคมี” และ “สารพิษ” เข้าไปจะสะสมอยู่ในร่างกายจะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ควรได้รับการตรวจสุขภาพทุกคน

“โรงงานเก็บสะสมสารเคมีและกากอุตสาหกรรมมานานหลายปี ประชาชนร้องเรียนแต่หน่วยราชการจัดการไม่ได้ ได้แต่อายัดไว้เป็นของกลางและปล่อยทิ้งไว้เพื่อรอการขนออก เพื่อไปกำจัด...กระบวนการที่ล่าช้าจนเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพคือความไม่ยุติธรรมสำหรับชุมชน...” อาจารย์สนธิ ว่า

“ต่อไป...ความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบจะลดน้อยลง ศรัทธาจะเสื่อม”

ตอกย้ำเพลิงไหม้โกดังเก็บกากของเสียอุตสาหกรรมในพื้นที่บริษัทวิน โพรเสส จำกัด ตำบลบ้านค่าย จังหวัดระยอง...ทั้งสารโซเวนท์ น้ำมันเครื่องไม่ใช้แล้ว สารเคมีกรดด่าง สารพิษ ที่เก็บไว้รอดำเนินคดีและขนย้ายไปกำจัด ฝุ่นควันกระจายไปทั่ว หมู่ 8 ต้องอพยพด่วน 5 กิโลเมตร...ใช้ผ้าชุบน้ำปิดปากปิดจมูกหนีด่วน

เล่าลือกันไปว่า...หน้าร้อนไฟไหม้เองหรือคนลักลอบเข้าไปขโมยหรือจงใจทำลายหลักฐาน...ก็คงต้องรอการพิสูจน์กันต่อไป แต่ที่แน่นอนคือประชาชนรับสารพิษ ใครจะรับผิดชอบ




นี่คือภาพสะท้อน...ความย่อหย่อนของการบังคับใช้กฎหมาย? ด้วยว่าโรงงานแห่งนี้เริ่มต้นขออนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 105 หรือขอคัดแยกกากของเสียและฝังกลบกากของเสียที่ไม่อันตรายแต่ถูกคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ จึงไม่ได้รับใบอนุญาต ต่อมาปี 2557 ประชาชนร้องเรียนว่าโรงงานได้นำของเสียอุตสาหกรรมมาฝังกลบไว้ในบริเวณโรงงาน เพราะมีกลิ่นเหม็นฟุ้งกระจายออกไปในชุมชน

กระทั่งหน่วยงานภาครัฐมาตรวจสอบพบว่ามีการฝังกลบกากของเสียไว้ในโรงงานจำนวนมาก จึงได้มีการดำเนินคดี แต่ในปี 2560 บริษัทกลับได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 2 ใบ คือ...

ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 40 (บดอัดกระดาษ) และลำดับที่ 60 (หล่อหลอมโลหะ) ทำให้มีสถานภาพกลายเป็นโรงงานตามกฎหมาย แต่กลับลักลอบเอา “ของเสียอุตสาหกรรม” จากที่ต่างๆมาเก็บไว้ในพื้นที่จำนวนมาก

จนกระทั่งในช่วงปี 2560-2563 พบว่า สวนยางพาราของประชาชนที่อยู่ติดโรงงานตายหมดยกแปลงถึง 30 ไร่...อีก 200 ไร่ ที่อยู่ใกล้เคียงกำลังจะแห้งตาย ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานลงสู่ลำคลองและแหล่งน้ำสาธารณะ ทำให้น้ำมีสีน้ำตาลมีฟองอากาศมีสารเคมีลอยอยู่ทั่วไป

สุดท้าย...ประชาชน 15 รายได้รวมตัวกันฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายซึ่งศาลจังหวัดระยองได้พิพากษาเมื่อ 15 ธันวาคม 2565 ให้บริษัทชดเชยเป็นเงิน 20.8 ล้าน แก่ผู้ร้อง 15 รายและต้องฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทั้งน้ำ ดินและระบบนิเวศใหม่ทั้งหมด รวมทั้งต้องขนย้ายสารเคมีและกากอุตสาหกรรมออกไปกำจัดต่อไป

แต่...ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการจ่ายค่าชดเชยเยียวยาใดๆ ส่วนของกากอุตสาหกรรมและสารเคมีต่างๆก็ยังคงเก็บไว้ในอาคารของโรงงาน 5 แห่ง ถึงจะมีการขนออกไปบ้างก็ไม่มากนัก...ยังมีเหลืออยู่อีกไม่ใช่น้อยๆ

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ทิ้งท้ายว่า การขนย้ายกากอุตสาหกรรมที่ถูกอายัดไปกำจัดทำได้ค่อนข้างช้า แม้ภาครัฐจะใช้งบกลางและไปฟ้องร้องเรียกเก็บจากบริษัทต้นเหตุภายหลังก็ตาม

จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ถูกสันนิษฐานว่า...อาจถูกลอบวางเพลิงเพื่อทำลายหลักฐาน? แสดงว่า “ภาครัฐ” ไม่มีกรรมวิธีที่ดีพอในการคุ้มครอง “ของกลาง” ที่เป็นหลักฐานสำคัญ.

https://www.thairath.co.th/news/local/2782038