วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 26, 2566

ฉบับเต็ม: การอภิปรายเสนอญัตติให้จัดทำประชามติ เดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมูญฉบับใหม่ - ไอติม - พริษฐ์ วัชรสินธุ


พริษฐ์ วัชรสินธุ - ไอติม - Parit Wacharasindhu
7h·
[ ฉบับเต็ม: การอภิปรายเสนอญัตติให้จัดทำประชามติ เดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมูญฉบับใหม่ ]
.
พรรคก้าวไกลยืนยัน หากต้องการฟื้นฟูประชาธิปไตยและนำพาการเมืองไทยกลับสู่สภาวะปกติ ภารกิจหนึ่งที่ขาดหายไม่ได้ คือการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
.
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ (25 ตุลาคม) ผมได้อภิปรายเสนอญัตติตามกลไกของ พ.ร.บ. ประชามติ มาตรา 9(4) เพื่อให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้มีการสอบถามความเห็นของประชาชนต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยคำถามที่ว่า:
.
“ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน?”
.
แน่นอน ความสำเร็จของญัตตินี้ ไม่ได้รับประกันความสำเร็จของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่จะเป็นกระดุมเม็ดแรกที่สำคัญในการเดินหน้าสู่เป้าหมายดังกล่าว โดยหลักการและเหตุผลของญัตติ แบ่งเป็น 4 องค์ประกอบ
.
.
[ องค์ประกอบที่ 1 : ทำไมเราจึงจำเป็น ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ]
.
เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญ 2560 ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย
.
(1) ที่มา ไม่ได้ถูกขีดเขียนโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง แต่ถูกขีดเขียนโดยคนไม่กี่คนที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร
.
(2) กระบวนการ แม้จะผ่านการทำประชามติในปี 2559 แต่ประชามติดังกล่าวห่างเหินจากการเป็นประชามติที่เสรีและเป็นธรรมตามมาตรฐานประชาธิปไตยสากล หลายคนที่ออกมารณรงค์คัดค้านร่าง ถูกจับกุมดำเนินคดี
.
(3) เนื้อหา รัฐธรรมนูญ 2560 ยังมีหลายส่วนที่ทำให้ประชาธิปไตยเรามีความบกพร่อง เช่น การขยายอำนาจของหลายสถาบันหรือกลไกทางการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับสามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งทางการเมือง ในการขัดขวางหรือบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ หรือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
.
ดังนั้น เราจึงต้องยืนยันว่าการแก้ไขรายมาตราเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาทั้งหมด แต่จำเป็นต้องมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยทั้งที่มา กระบวนการ เนื้อหา ผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 100%
.
.
[ องค์ประกอบที่ 2 : ทำไมเราจึงเสนอให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เริ่มต้นด้วยการจัดทำประชามติ ]
.
แม้พรรคก้าวไกลมีจุดยืนว่าควรเดินหน้าสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จัดทำโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เราตระหนักดีว่าเป้าหมายนี้จะสำเร็จได้ จำเป็นต้องผ่านหลายขั้นตอน ที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม
.
หากจะดำเนินการตามกระบวนการที่ถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญ 2560 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 เราจำเป็นต้องจัดประชามติอย่างน้อย 2 ครั้ง กล่าวคือ
- อย่างน้อย 1 ครั้ง ก่อนมี สสร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
- อีก 1 ครั้ง หลังจาก สสร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว
.
สำหรับในส่วนของประชามติที่จัดหลังจากที่ สสร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ส่วนนี้ไม่ได้มีข้อถกเถียงสักเท่าไร เพราะเป็นการถามประชาชนอย่างตรงไปตรงมาว่าเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ สสร. ยกร่างมาหรือไม่
.
แต่สำหรับในส่วนของประชามติที่จัดก่อนที่มี สสร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตรงนี้เป็นข้อถกเถียงกันพอควรในสังคม ว่าขั้นตอนต่างๆจะต้องเป็นอย่างไร หรือต้องทำประชามติกี่ครั้ง
.
สำหรับพรรคก้าวไกลและเพื่อนๆ สมาชิกรัฐสภาจากอีกหลายพรรค เราเคยยืนยันร่วมกันว่าในเชิงกฎหมาย หากอยากให้มี สสร. สิ่งที่เราต้องทำคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเพิ่มเรื่องกลไก สสร. เข้าไป โดยเริ่มต้นจากการยื่นร่างดังกล่าวเข้าสู่สภา
.
หลังจากนั้น หากร่างดังกล่าวถูกพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาในทั้ง 3 วาระ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256( กำหนดไว้อยู่แล้วว่าในเมื่อการแก้ไขดังกล่าว เป็นการแก้ไขเกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราจะต้องจัดประชามติหลังวาระ 3 และก่อนทูลเกล้า เพื่อขอความเห็นชอบจากประชาชนโดยตรง ซึ่งพอเป็นเช่นนั้น จะทำให้เรามีประชามติทั้งหมด 1 ครั้งก่อนมี สสร. ตรงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
.
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่สมาชิกรัฐสภาทุกคนที่คิดแบบนี้ บางส่วนกลับไปมองว่าประชามติที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหมายถึง ไม่ได้หมายถึงประชามติที่จะต้องเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว หลังจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. ผ่าน 3 วาระของรัฐสภา
.
แต่พวกเขาตีความว่าประชามติที่คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหมายถึง คือประชามติที่ต้องเพิ่มเข้าไปอีก 1 ครั้ง ก่อนจะมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ เกี่ยวกับ สสร. เข้าสู่รัฐสภา ซึ่งหากตีความเช่นนั้น จะทำให้เราต้องเพิ่มจำนวนประชามติที่ต้องจัดก่อนมี สสร. จาก 1 ครั้ง ขึ้นมาเป็น 2 ครั้ง
.
ดังนั้น ภายใต้ความเห็นที่แตกต่างกันว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้งก่อนมี สสร. แม้ในเชิงกฎหมาย ทางเรายังคงยืนยันว่าการทำประชามติแค่ 1 ครั้งก่อนการมี สสร. เพียงพอแล้ว แต่ในเชิงการเมือง ทางเรายอมรับได้ หากจะต้องทำประชามติเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ครั้ง รวมกันเป็น 2 ครั้งก่อนจะมี สสร.
.
เพราะเราตระหนักดีว่า
- หากคงยืนยันมุมมองทางกฎหมายแบบเรา และเดินหน้ายื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. เข้าสู่สภาเลย สมาชิกรัฐสภาบางส่วนก็อาจใช้อำนาจตนเองปัดตกร่างดังกล่าว เหมือนที่พวกเขาเคยอ้างตอนปัดตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อง สสร. เมื่อมีนาคม 2564
- แต่ในทางกลับกัน หากเรายอมจัดประชามติเพิ่มขึ้น 1 ครั้งก่อนจะเสนอร่างเกี่ยวกับ สสร. เข้าสู่สภาฯ ประชามติดังกล่าวไม่เพียงแต่จะเป็นวิธีที่ตรงไปตรงมาในการถามความเห็นของประชาชนโดยตรงตั้งแต่ต้น ว่าพวกเขาอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ แต่หากประชาชนลงมติเห็นชอบ ผลของประชามติดังกล่าว จะเป็นหลักประกัน ที่ทำให้ไม่มีสมาชิกรัฐสภาคนไหนมีเหตุผลหรือข้ออ้างใดๆ ในการปัดตกเจตจำนงของประชาชน
.
.
[ องค์ประกอบที่ 3 : ทำไมเราจึงเสนอคำถามประชามติ แบบนี้ ]
.
แม้วันหนึ่ง หลายพรรคอาจดูเหมือนเห็นตรงกันว่าเราควรมีการจัดประชามติ เพื่อเดินหน้าสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ “ปีศาจอยู่ในรายละเอียด” เสมอ
.
และรายละเอียดที่สำคัญของการจัดประชามติทุกครั้ง คือตัว “คำถาม” ที่จะถูกถามในประชามติ ซึ่งเราเสนอว่าควรเป็นคำถามที่ใช้ข้อความว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ แทนที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ฉบับปัจจุบัน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน?”
.
เหตุผลที่เราเสนอคำถามนี้ มี 3 ประการ
.
เหตุผลที่หนึ่ง เป็นการถามประชาชนถึงหลักการสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
.
เราคงไม่สามารถถามรายละเอียดทั้งหมดกับประชาชนผ่านประชามติได้ แต่เกณฑ์ที่เราควรยึดคือ
- อะไรก็ตามที่เป็นหลักการสำคัญที่เราอยากให้การตัดสินใจอยู่ในมือประชาชนโดยตรง สิ่งนั้นควรถูกระบุในตัวคำถาม
- อะไรก็ตามที่เป็นรายละเอียด ที่เราพร้อมให้ตัวแทนประชาชนไปหาข้อสรุปกันในรัฐสภา สิ่งนั้นไม่จำเป็นต้องรวมอยู่ในตัวคำถาม
.
ถ้าถามว่าอะไรเป็นหลักการสำคัญที่ควรอยู่ในตัวคำถามประชามติ เราก็ต้องกลับมาตั้งหลักว่าเป้าหมายของทั้งหมดที่เราทำอยู่ ไม่ใช่เพียงการมี “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่” แค่ชื่อ แต่ต้องเป็น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย สะท้อนฉันทามติใหม่ของ ประชาชนทุกคนได้จริงๆ
.
เมื่อเป้าหมายเป็นเช่นนั้น จึงมองว่าหลักการที่สำคัญและควรถูกตัดสินโดยประชาชนโดยตรงตั้งแต่วันแรก มีอยู่ 2 หลักการ:
.
หลักการที่ 1 ที่ควรรวมในคำถาม คือการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะประชาชนย่อมมีความเห็นแตกต่างกันว่าส่วนไหนของรัฐธรรมนูญที่เขามองว่าเป็นปัญหาที่อยากเห็นการแก้ไข ดังนั้น เราไม่ควรกำหนดคำถามประชามติ ที่ไปคิดแทนประชาชน ว่าส่วนไหนควรแก้หรือไม่ควรแก้ แต่ควรต้องเปิดกว้างต่อทุกความเห็น
.
การเปิดให้เนื้อหาทั้งฉบับถูกแก้ไขได้ ไม่ได้หมายความว่าเนื้อหาทั้งหมดจะถูกแก้ไข เพราะหากมาตราใดในรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นมาตราที่คนส่วนใหญ่มองว่าดีอยู่แล้ว มาตราเหล่านั้นก็ย่อมจะไม่ได้รับความเห็นชอบให้มีการแก้ไข
.
ในส่วนของข้อกังวลที่บางคนมี ว่าการเปิดให้ร่างใหม่ทั้งฉบับ จะนำไปสู่ผลกระทบต่อรูปแบบการปกครองหรือรูปแบบของรัฐหรือไม่ ขอย้ำอีกรอบว่าไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นได้อยู่แล้ว เพราะมาตรา 255 ได้กำหนดชัดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ ก็ตาม จะต้องไม่ทำ 2 อย่าง คือ (1) ไม่เปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ (2) ไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
.
หลักการที่ 2 คือ สสร. มาจากการเลือกตั้ง 100% ในขั้นพื้นฐาน หากเรายึดหลักการประชาธิปไตย ในเมื่อ สส. ที่มีอำนาจร่างกฎหมายทั่วไป ยังต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% ดังนั้น สสร. ที่มีอำนาจร่างกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญ จึงควรมีความยึดโยงกับประชาชนที่ไม่น้อยไปกว่า สส.
.
ยิ่งไปกว่านั้น หากเราไม่ต้องการให้ สสร. ถูกผูกขาดโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นกระจกสะท้อนความหลากหลายในสังคม วิธีที่ดีที่สุด ไม่ใช่การมี สสร. แต่งตั้ง ที่มีความสุ่มเสี่ยงจะถูกแทรกแซงโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ควรเป็น สสร. ที่ประกอบด้วยตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพราะจะเป็นตัวแทนของทุกชุดความคิดที่มีอยู่ในสังคม ตามสัดส่วนที่มีอยู่ในสังคมจริงๆ
.
ในส่วนของข้อกังวลที่บางคนมี ว่าการกำหนดให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จะทำให้เราขาดผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายหรือไม่ ต้องอธิบายอีกรอบว่า แม้ สสร. จะมาจากการเลือกตั้ง 100% แต่ สสร. ก็สามารถตั้งคณะกรรมาธิการยกร่าง เพื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย ที่อาจไม่ประสงค์ลงสมัครรับเลือกตั้ง เข้ามามีส่วนร่วมในการให้คำแนะนำหรือยกร่างได้
.
และเพื่อคลายข้อกังวลนี้เพิ่มเติม เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ได้มีมติตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมา เพื่อจัดทำข้อเสนอและทางเลือกเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้ในการเลือกตั้ง สสร. เพื่อเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย และนำใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในอนาคต
.
แม้ในที่สุดแล้ว รายละเอียดทั้งหมดเกี่ยวกับ สสร. จะต้องถูกแปลงเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกนำกลับเข้ามาถกกันในรัฐสภาแห่งนี้ แต่เชื่อว่าหากมีการถามประชาชนโดยตรงเกี่ยวกับหลักการใดๆ ก็ตามผ่านประชามติ และหากประชาชนส่วนใหญ่ลงมติกันอย่างท่วมท้นว่าเห็นด้วยกับหลักการดังกล่าว คงไม่มีสมาชิกรัฐสภาคนไหน กล้าฝืนผลของประชามติได้ลงคอ
.
เหตุผลที่สอง คำถามประชามติที่เราเสนอนั้น เป็นคำถามที่ ‘เข้าใจง่าย ไม่ชี้นำ’
.
ข้อวิจารณ์สำคัญต่อคำถามพ่วงในประชามติ 2559 ที่นำมาสู่มาตรา 272 ให้ สว. แต่งตั้งมีอำนาจร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี คือข้อวิจารณ์ว่าคำถามวันนั้น ไม่ได้ถามเรื่องดังกล่าวอย่างตรงไปตรงมา แต่เป็นการเขียนคำถามที่มีลักษณะ ซับซ้อนและชี้นำโดยเจตนา
.
ดังนั้น เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เราจึงได้เสนอข้อความคำถาม ที่เราคิดว่าน่าจะกระชับ เข้าใจง่าย และตรงไปตรงมาที่สุด
.
เหตุผลที่สาม คำถามประชามติที่เราเสนอนั้น เป็นคำถามประชามติที่ทุกพรรคการเมืองหลักจากสภาฯ ชุดที่แล้ว เคยลงมติเห็นชอบมาก่อน
.
คำถามประชามติที่เราเสนอวันนี้ เป็นคำถามที่เคยถูกเสนอเป็นญัตติด่วน โดย สส. พรรคก้าวไกล (ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ) และ สส. พรรคเพื่อไทย (จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์) ในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2565
.
ยิ่งไปกว่านั้น ญัตติด่วนที่เสนอคำถามประชามติดังกล่าว ได้รับความเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์จากสภาผู้แทนราษฎรจาก สส. ทุกพรรคการเมืองหลักที่เข้าประชุม เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565
.
.
[ องค์ประกอบที่ 4 : ทำไมเราจึงเสนอเรื่องประชามติ ผ่านกลไกสภา ]
.
ตามกฎหมาย พ.ร.บ.ประชามติ การตัดสินใจว่าจะจัดประชามติเรื่องอะไรด้วยคำถามแบบไหน สามารถกระทำได้ผ่าน 3 ช่องทางหรือกลไก
- ช่องทางที่ 1 ครม. ออกมติด้วยตนเอง ตามมาตรา 9(2)
- ช่องทางที่ 2 ประชาชนเข้าชื่อ 50,000 คน เพื่อเสนอให้ ครม. อนุมัติ ตามมาตรา 9(5)
- ช่องทางที่ 3 สมาชิกรัฐสภาเสนอให้สภาผู้แทนฯ และวุฒิสภาเห็นชอบ ตามมาตรา 9(4)
.
เข้าใจว่าหลายคนอาจสงสัย ว่าในเมื่อรัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการศึกษาขึ้นมาแล้ว เพื่อหวังจะใช้อำนาจตามกลไกที่ 1 และในเมื่อภาคประชาชนภายใต้ชื่อ “conforall” ก็ได้รวบรวมกว่า 200,000 รายชื่อ เพื่อเสนอคำถามประชามติให้ ครม. แล้ว ตามกลไกที่ 2 แล้วทำไมพรรคก้าวไกลยังต้องเสนออีกช่องทางตามกลไกที่ 3
.
เหตุผลที่เราทำเช่นนี้ เพราะเราไม่รู้เลยว่า ลึกๆ แล้วรัฐบาลคิดเห็นอย่างไร เกี่ยวกับการจัดประชามติและตัวคำถามประชามติที่จะถูกถาม แต่เรามองว่าไม่ว่ารัฐบาลจะคิดเห็นอย่างไร การยื่นญัตติในสภาฯ ก็น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่าย
.
หากจะลองอ่านใจรัฐบาล ตนคิดว่ามี 3 ฉากทัศน์หรือความเป็นไปได้
ความเป็นไปได้ที่ 1 คือรัฐบาลคิดเห็นตรงกับเรา : หากเป็นเช่นนี้ เราคาดว่า สส. รัฐบาล ก็คงไม่ลำบากใจอะไร ที่จะลงมติสนับสนุนญัตตินี้ให้เดินหน้าต่อไปได้แบบคู่ขนาน กับการทำงานของรัฐบาล เพราะไม่ว่ากลไกไหน จะไปได้เร็วกว่าหรือสำเร็จก่อน ท้ายสุดแล้ว คนที่ได้ประโยชน์ก็คือประชาชน
.
ความเป็นไปได้ที่ 2 คือรัฐบาลยังไม่แน่ใจว่าคิดเห็นอย่างไร : หากเป็นเช่นนี้ การที่เราเสนอญัตตินี้ เพื่อเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันในสภาฯ ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับรัฐบาลในการรวบความเห็นของทุกฝ่าย ตนเข้าใจว่ารัฐบาลตั้งคณะกรรมการศึกษาขึ้นมาเพื่อรับฟังความเห็นที่หลากหลาย แต่อย่าลืมว่าสภาแห่งนี้ต่างหาก ที่เป็นสถานที่ที่มีตัวแทนของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และที่เข้ามาตามสัดส่วนของชุดความคิดต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมจริงๆ
.
ความเป็นไปได้ที่ 3 คือรัฐบาลคิดต่างจากเรา : หากเป็นเช่นนี้ เราในฐานะฝ่ายค้าน ยิ่งจำเป็นต้องยื่นญัตติผ่านกลไกสภาฯ เพราะกลไกสภาฯ จะกลายเป็นหนทางเดียว ที่ความเห็นของเราจะมีโอกาสได้รับการตอบสนอง หากความเห็นเราได้รับความเห็นชอบจากเพื่อนๆ สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติด้วยกัน
.
ทั้งนี้ หาก ครม. จะใช้วิธีการออกมติ ครม. เอง เพื่อจัดประชามติ รัฐบาลจะฟังหรือไม่ฟังเรา จะทำตามหรือไม่ทำตามความเห็นเรา ก็เป็นสิทธิของรัฐบาล หรือหากเราจะหวังพึ่งกลไกของการรวบรวมรายชื่อจากประชาชนเพื่อเสนอไปที่ ครม. กลไกนี้ ครม. ก็ยังเป็นคนมีอำนาจชี้ขาดอยู่ดี ว่าจะอนุมัติข้อเสนอจากภาคประชาชนหรือไม่
.
แต่หากเราเสนอเป็นญัตติผ่านสภาฯ และเพื่อนสมาชิกทั้งสองสภาฯ เห็นตรงกันกับเราจนเป็นฉันทานุมัติจากสองสภา แม้อาจจะเป็นเรื่องที่ดูเป็นไปได้ยากแค่ไหน แต่หากเกิดขึ้นจริง พ.ร.บ.ประชามติ ม.9(4) ได้กำหนดไว้ว่า ครม. จะต้องดำเนินการในการจัดประชามติ ตามข้อเสนอและตัวคำถามที่ได้รับความเห็นชอบจาก 2 สภา ไม่ว่า ครม. จะเห็นด้วยหรือไม่กับข้อเสนอและตัวคำถามดังกล่าวก็ตาม
.
.
[ โหวตสนับสนุน เพื่อยืนยันว่าผู้แทนราษฎรทุกคน พร้อมแล้ว ]
.
วันนี้จึงจำเป็นต้องขอแรงสนับสนุนจากสมาชิกทุกพรรค ในการลงมติเห็นชอบกับญัตตินี้ เพื่อยืนยันร่วมกันว่า ผู้แทนราษฎรทุกคนในสภาฯ แห่งนี้ พร้อมแล้วที่จะติดกระดุมเม็ดแรกในจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมแล้วที่จะนับหนึ่งสู่การฟื้นฟูประชาธิปไตย และพร้อมแล้วที่จะสร้างฉันทามติใหม่ของประเทศ ที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายและที่โอบรับความฝันของพี่น้องประชาชนทุกคน