วันศุกร์, ตุลาคม 27, 2566

ชัยธวัชเดือด! เศรษฐาไม่หนีสภาแล้ว แต่ยังคงหนีก้าวไกล!?! วันนี้เป็นที่ชัดเจนว่านายกฯ เจตนาไม่ตอบกระทู้ถามสดของพรรคก้าวไกล ต้องการจะตอบกระทู้ถามสดเฉพาะที่ตนเองเตรียมมาตอบหรือชงให้โฆษณารัฐบาลเท่านั้น









พรรคก้าวไกล - Move Forward Party
12h·
[ ไม่หนีสภาแล้ว แต่ยังคงหนีก้าวไกล!?! ]
.
วันนี้ (26 ตุลาคม 2566) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุมครั้งที่ 1 ของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ในที่สุด นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ก็ได้เดินทางมาที่สภาเพื่อตอบกระทู้ด้วยตัวเองเสียที หลังจากถูกตั้งคำถามมาหลายครั้งหลายหน ว่าที่ผ่านมาตั้งใจหนีไม่มาตอบกระทู้จากสภาหรือไม่
.
ในการถามกระทู้วันนี้ มีทั้งสิ้น 3 กระทู้ที่ตั้งคำถามต่อนายกรัฐมนตรี จากพรรครวมไทยสร้างชาติ 1 กระทู้ และจากพรรคประชาธิปัตย์ 1 กระทู้ และจากพรรคก้าวไกล 1 กระทู้ ถามโดย ชัยธวัช ตุลาธน - Chaithawat Tulathon หัวหน้าพรรคก้าวไกล
.
อย่างไรก็ตาม วาระการถามตอบกระทู้ที่เดิมวางไว้โอเคดีแล้ว กลับมีการเปลี่ยนแปลงในนาทีสุดท้าย เมื่อนายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือแจ้งต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่าจะขอมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ทวี สอดส่อง เป็นผู้ตอบกระทู้ชัยธวัชแทน
.
โดยที่จะยังคงเดินทางมาสภา และจะมาตอบกระทู้จากทั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคประชาธิปัตย์อยู่
.
ทำให้ชัยธวัช ได้ลุกขึ้นหารือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่าการที่นายกรัฐมนตรีเลือกที่จะตอบกระทู้ถามสดของสมาชิกสองท่าน แต่กลับไม่ตอบกระทู้ของพรรคก้าวไกล มอบหมายให้รัฐมนตรีที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นมาเป็นผู้ตอบกระทู้ตัวเอง เป็นเพราะอะไร?
.
เพราะในทั้ง 3 ประเด็นที่ต้องการจะถามนั้น จะเป็นการถามนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการตำรวจ (กตร.) ประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงาน และในฐานะหัวหน้ารัฐบาลว่ามีนโยบายเรื่องคดีการเมืองอย่างไร โดยเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี ที่อาจจะเป็นการผิดกฎหมายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมไม่มีความเหมาะสมที่จะตอบ
.
จากนั้น สส.พรรคก้าวไกลหลายคน ไม่ว่าจะเป็น วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, พริษฐ์ วัชรสินธุ, ธีรัจชัย พันธุมาศ และ ณัฐวุฒิ บัวประทุม ได้หารือด้วยความกังวลต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในขณะนั้นเอง เป็น พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาคนที่ 2 กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ กล่าวคือ
.
1) ข้อบังคับข้อที่ 151 ระบุไว้ว่านายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่ถูกตั้งกระทู้ถาม จะต้องเข้าสภาเพื่อตอบกระทู้นั้น นอกจากมีเหตุจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จะต้องชี้แจงเหตุจำเป็นนั้นเป็นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร
.
2) ในวรรคที่ 3 ของข้อบังคับข้อที่ 151 แม้จะมีการระบุว่านายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี ย่อมมีสิทธิที่จะไม่ตอบกระทู้ถามเมื่อเห็นว่าเรื่องนั้นยังไม่ควรเปิดเผย เพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์ของแผ่นดิน แต่ก็ต้องชี้แจงว่าเรื่องอะไรที่ยังไม่ควรเปิดเผย หรือเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยหรือประโยชน์ของแผ่นดินอย่างไร
.
แต่จากหนังสือที่มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมนั้น มีแค่คำบัญชา ไม่ได้ระบุว่ามี “เหตุจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” อะไร หรือมีเหตุผลที่จะไม่ตอบกระทู้ด้วย “เพราะเกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์ของแผ่นดิน” อย่างไร
.
อย่างไรก็ตาม ต่อทั้งสองประเด็น พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน วินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรีทำถูกต้องตามข้อบังคับแล้วทุกประการ มีการทำหนังสือมาถูกต้องทุกอย่างแล้ว (แม้จะไม่มีการแจงเหตุผลอันใดเลยแม้แต่ข้อเดียวตามข้อบังคับ!)
.
และขอวินิจฉัยให้ชัยธวัชเลือก ว่าจะถามกระทู้ต่อหรือไม่ และถ้าชัยธวัชจะไม่ถาม ตามข้อบังคับข้อที่ 155 กระทู้ถามของชัยธวัยก็จะตกไป เลื่อนกระทู้ที่ 2 ขึ้นมาแทน
.
หลังการหารือและการประท้วงดำเนินไปได้สักพัก ประธานก็ยังคงยืนยันในคำวินิจฉัยดังกล่าว ซึ่งในที่สุด ชัยธวัช ได้ยืนยันว่าประเด็นนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมไม่สามารถตอบได้ และสุดท้ายจึงขอแจ้งประธานว่าจะไม่ถามกระทู้สดในวันนี้
.
นี่คือสิ่งที่ตลกร้ายที่สุด เพราะหลังจากที่ สส. หลายคนตลอดสมัยประชุมที่ผ่านมา พยายามคะยั้นคะยอกึ่งขอร้องมาโดยตลอด ให้นายกรัฐมนตรีมาตอบกระทู้ในสภาด้วยตัวเองบ้าง และในที่สุดนายกรัฐมนตรีก็เดินทางมาด้วยตัวเองเป็นครั้งแรกแล้ว
.
แต่นายกรัฐมนตรีกลับเลือกที่จะไม่ตอบกระทู้ด้วยตัวเองของพรรคก้าวไกลเพียงพรรคเดียว ในขณะที่ยังคงตอบกระทู้ถามจากพรรคอื่นด้วยตัวเองครบถ้วน โดยไม่ได้ให้เหตุผลว่าเพราะอะไรแบบโจ่งแจ้ง ไม่แยแสแม้กระทั่งข้อบังคับการประชุมสภา และสายตาสาธารณชนที่งงงวยอยู่
.
ด้วยความไม่มีเหตุผลอันใดเลยมาอธิบายให้ได้ฟัง จึงชวนให้ตั้งคำถามเหลือเกินว่า เอาเข้าจริงที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีไม่ได้ต้องการหนีสภา
.
แต่ต้องการหนีพรรคก้าวไกล หรือไม่?
.
#ก้าวไกล #ประชุมสภา