วันอังคาร, ตุลาคม 31, 2566

กอ.รมน. จะยุบหรือไม่ยุบก็ค่อยว่ากัน แต่เราไม่ควรปล่อยให้ กอ.รมน. ทำงานแบบนี้ต่อไปอีกแล้ว


thaiarmedforce.com
17h ·

กอ.รมน. จะยุบหรือไม่ยุบก็ค่อยว่ากัน แต่เราไม่ควรปล่อยให้ กอ.รมน. ทำงานแบบนี้ต่อไปอีกแล้ว
สำหรับ TAF แล้ว ไม่ว่าจะยุบหรือจะเปลี่ยนโครงสร้างของ กอ.รมน. ก็เป็นสิ่งที่ถกเถียงกันได้ แต่สิ่งที่ชัดเจนก็คือ กอ.รมน. ไม่ควรจะทำในสิ่งที่ทำอยู่แบบนี้ต่อไปได้
แม้จะมองแค่ประเด็นสามจังหวัดชายแดนใต้ บทบาทของ กอ.รมน. ก็ซ้ำซ้อนกับหน่วยอื่น และมีหน่วยงานอื่นที่ทำหน้าที่ได้ตรงกว่า งานด้านการข่าวหรือการสร้างมวลชนก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จนัก การดำเนินการที่ผ่านมาก็เป็นไปในเชิงโฆษณาชวนเชื่อเสียมาก จนเมื่อสองปีก่อน Facebook ถึงขั้นออกรายงานว่าได้ลบบัญชีจำนวนมากของ กอ.รมน. ที่มุ่งเป้าไปในสามจังหวัดชายแดนใต้ หรืองานที่บอกว่าเป็นความมั่นคงภายใน จริง ๆ แล้ว มีหน่วยงานราชการอื่นที่มีหน้าที่โดยตรง โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนใต้
มองมาในภาพกว้างของทั้งประเทศ กอ.รมน. กลับเล่นบทบาทในทางการเมือง เป็นเครื่องมือการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของรัฐบาลหรือกองทัพต่อกลุ่มการเมืองที่รัฐบาลหรือกองทัพเชื่อว่าอยู่ตรงข้ามฝ่ายตน โดยใช้เงินภาษีของประชาชนในการดำเนินการ ซึ่งการดำเนินการทางการเมือง ไม่ควรเป็นหน้าที่ของทหารหรือกองทัพอย่างสิ้นเชิง เพราะหมดยุคคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นเหตุผลในการตั้ง กอ.รมน. แล้ว
----------------------
ความไร้สาระขั้นสุดของการดำเนินการของ กอ.รมน. คือการตีความทุกอย่างเป็นความมั่นคงภายใน เช่น ขนมอาลัวพระเครื่อง กอ.รมน. ก็ยกทีมไปกดดัน คิวรถตู้ภูเก็ตมีปัญหา กอ.รมน. ก็ไปทำตัวเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย แม้แต่เซ็กส์ทอยด์ กอ.รมน. ก็นำกำลังพลไปสร้างผลงาน ทำแม้กระทั่งไปลงนาม MoU กับ สพฐ. เพื่อจัดการการสอนประวัติศาสตร์ชาติไทยใหม่ ทั้งที่เรื่องเล่าของ กอ.รมน. ก็ถูกตั้งคำถามอย่างมากว่าเป็นการพยายามเขียนประวัติศาสตร์ใหม่เพื่อตอบสนองวาระทางการเมืองของกองทัพ เช่น ยกพระยาศรีสิทธิสงครามขึ้นมาเป็นฮีโร่ หรือเปลี่ยนให้กบฎบวรเดชเป็นกบฎประชาธิปไตย ทั้งที่จริง ๆ มันคือกบฎเพื่อนำสมบูรณาญาสิทธิราษฎร์กลับมาอีกครั้ง เพราะตัวเอกอกหักจากตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้ภาพลักษณ์ของคณะราษฎร์นั้นอยู่ตรงข้ามกับสถาบัน
ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจนอยู่แล้ว แต่ กอ.รมน. ก็เข้าไปเกี่ยวข้อง สะท้อนให้เห็นอย่างหนึ่งได้ว่า กอ.รมน. ไม่มีงานทำ เลยต้องพยายามหางานเพื่อจะได้มีบทบาท
นี่คือผลของการตีความคำว่าความมั่นคงให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ตัวเองมีบทบาทให้กว้างที่สุด ซึ่งจะนำมาสู่การของบประมาณจำนวนมากไปดำเนินการตามวาระทางการเมืองของกองทัพเอง
---------------------
จริง ๆ แล้ว หลายรัฐบาลมีความพยายามที่จะยุบ กอ.รมน. เช่น รัฐบาลของนายชวน หลีกภัย ที่ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการกระทำกันเป็นคอมมิวนิสต์ไปแล้ว และกำลังจะดำเนินการยุบ กอ.รมน. ต่อ เพราะไม่มีภัยคอมมิวนิสต์ให้จัดการแล้ว แต่เกิดปัญหาต้องยุบสภาเสียก่อน
สมัยรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก็มีข้อเสนอยุบทั้ง กอ.รมน., ศอ.บต., และ พตท. 43 แต่กลายเป็นสองหน่วยงานหลังที่ยุบสำเร็จ แต่ กอ.รมน. กลับรอดมาอยู่ และมีบทบาทมากขึ้นโดยเฉพาะหลังรัฐประหารหลายครั้งที่ผ่านมา อาจจะเพราะกองทัพมองว่านี่คือองค์กรการเมืองถูกกฎหมายที่สามารถใช้งบประมาณมาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามวาระของกองทัพได้ และมีกลไกลอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งนำมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองทั้งแบบปิดลับและเปิดเผยได้ รายละเอียดมากกว่านี้อาจจะนอกประเด็นของเพจ แต่ลองไปหาดูก็ได้ว่า กอ.รมน. เล่นการเมืองอย่างไรบ้าง
ทั้งที่หน้าที่ของกองทัพ ควรจะเป็นการป้องกันประเทศจากภักคุกคามนอกประเทศ แต่กองทัพก็ยังบอกว่า กอ.รมน. สำคัญ ทั้งที่ตามหลักการที่ถูกต้อง มันไม่ใช่หน้าที่ของกองทัพเลยด้วยซ้ำ แต่ในเมื่อกองทัพอยากจะเล่นการเมือง กองทัพเลยพยายามทุกทางที่จะบอกว่า กอ.รมน. สำคัญ ทั้งที่สิ่งที่ทำนั้นไม่ใช่หน้าที่ หรือไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว
อุปสรรคที่สำคัญของการยุบ กอ.รมน. ก็คือการต่อต้านจากกองทัพ ซึ่งคาดว่าน่าจะต้องการรักษาอำนาจในการดูแลทั้งความมั่นคงภายในและภายนอกไว้เหมือนเดิม อย่างหนึ่งก็เพื่อรักษาอัตราและงบประมาณของตนเอาไว้ มีอัตราให้ผ่องถ่ายเพื่อเพิ่มเส้นทางการเติบโตให้กับกำลังพลที่มีล้นกองทัพ อีกอย่างหนึ่งก็คือการตีความคำว่าความมั่นคงที่กว้างขวาง ทำให้ทุกอย่างสามารถเข้านิยามของความมั่นคงได้ ซึ่งทำให้กองทัพขยายขอบเขตการทำงานได้แทบจะทุกเรื่องที่ต้องการ
--------------------------
โอเค ในเมื่อเรื่องยุบ กอ.รมน. นี้เป็นเรื่องความเชื่อไปแล้วว่า ถ้าเราเชียร์การเมืองฝ่ายนี้ต้องยุบ ถ้าเชียร์การเมืองฝ่ายนั้นต้องคงเอาไว้ มันก็เลยยากที่จะเอาเหตุผลมาคุยกัน
TAF เคยเสนอไปแล้ว และขอย้ำข้อเสนออีกครั้งว่า ถ้าจะไม่ยุบก็ไม่เป็นไร แต่ กอ.รมน. เป็นแบบนี้ต่อไปไม่ได้ ดังนั้นควรจะปรับโครงสร้างของ กอ.รมน. แทน ด้วยการตั้งเป็นหน่วยงานที่คล้ายกับกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิหรือ Department of Homeland Security ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจจะอยู่ใต้กระทรวงมหาดไทย หรืออยู่ใต้สำนักนายกรัฐมนตรีเหมือน ศรชล. ซึ่งคล้ายกับ กอ.รมน. ภาคทะเลก็ได้
แต่ข้อสำคัญก็คือ การปรับโครงสร้างต้องเป็นไปเพื่อดึง กอ.รมน. ออกจากกองทัพ เพราะกองทัพต้องดูแลภัยคุกคามจากนอกประเทศเท่านั้น การดำเนินการทางการเมืองและสังคมซึ่งอ้างว่ามันคือความมั่นคงภายในนั้น ควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานอื่น
สิ่งนี้จะทำให้กองทัพคล่องตัวมากขึ้น ลดภารกิจและหน้าที่ลดเพื่อที่จะสามารถมุ่งความสนใจไปยังการป้องกันประเทศได้ และเป็นการลดข้อครหาว่ากองทัพยุ่งกับการเมืองในประเทศลงได้ เพราะหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่ด้านการเมืองในประเทศคือ กอ.รมน. ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของกองทัพแล้ว
แต่ถ้าจะไม่ยุบหรือไม่ทำอะไรเลยกับ กอ.รมน. เพราะกลัวจะเสียฟอร์มทางการเมือง ก็มีสิ่งที่จำเป็นต้องทำ และไม่ว่าใครก็ต้องทำก็คือ TAF เสนอให้ร่วมกันนิยามก่อนว่า ความมั่นคงคืออะไร มีกี่ด้าน และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบความมั่นคงด้านไหนบ้าง เพราะความมั่นคงไม่ใช่เรื่องของกองทัพแต่เพียงอย่างเดียว หรือกองทัพก็ไม่ควรจะต้องดูแลความมั่นคงในทุก ๆ ด้านครับ
#ยุบกอรมน