วันอังคาร, ตุลาคม 31, 2566
บันทึกเยี่ยม 5 ผู้ต้องขังคดี ม.112 “เก็ท-กิ๊ฟ-อารีฟ-วุฒิ-น้ำ” ระหว่างวันที่ 24-27 ต.ค. 2566
บันทึกเยี่ยม 5 ผู้ต้องขังคดี ม.112 “เก็ท-กิ๊ฟ-อารีฟ-วุฒิ-น้ำ” ระหว่างวันที่ 24-27 ต.ค. 2566
30/10/2566
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
24-27 ต.ค. 2566 ทนายความได้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขังทางการเมืองซึ่งถูกคุมขังในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้แก่ ‘เก็ท’ โสภณ, ‘กิ๊ฟ’ ทีปกร, ‘อารีฟ’ วีรภาพ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ, และ ‘วุฒิ’ ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรี นอกจากนั้นยังได้เยี่ยม ‘น้ำ’ วารุณี ที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ด้วย
บรรยากาศโดยรวมผู้ต้องขังทุกคนยังพูดถึงการดูแลด้านสุขอนามัยและการรักษาพยาบาลในเรือนจำ ว่าเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ยากและล่าช้า แม้ได้พบหมอกว่าจะได้รับยาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยอยากให้เรือนจำคำนึงถึงสุขภาพของผู้ต้องขังอย่างจริงจังเพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็น-ความตาย
‘อารีฟ’ วีรภาพเป็นหนึ่งในคนที่ป่วยและมีไข้สูงอาทิตย์นี้ ขณะที่ ‘วุฒิ’ เริ่มหายเป็นปกติหลังจากป่วยมาราว 2-3 อาทิตย์ ส่วน ‘น้ำ’ วารุณี ที่ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลราชทัณฑ์กำลังรอดูว่าตนเองจะถูกย้ายตัวกลับทัณฑสถานหญิงกลางเมื่อใด
ขณะที่ ‘กิ๊ฟ’ ทีปกร เป็นคนที่รู้สึกมีความหวังเป็นอย่างมากเมื่อทราบว่าเพื่อนผู้ต้องขังคดีการเมืองได้ประกันตัวสองคน เขาจึงอยากให้ทนายยื่นประกันตัวอย่างต่อเนื่อง ทางด้าน ‘เก็ท’ มีเรื่องที่อยากวิพากษ์วิจารณ์และร้องเรียนมากมายเกี่ยวกับการสกรีนจดหมาย domimail และ การใส่กุญแจข้อเท้านักโทษการเมือง
.
วุฒิ: เรือนจำให้เซ็นรับรองเอกสาร ซึ่งระบุว่าตนเองมีความเป็นอยู่ที่ดีในเรือนจำ
ในวันที่เยี่ยม ห้องเยี่ยมของทนายความโทรศัพท์เสีย จึงต้องมาเยี่ยมที่ห้องญาติเยี่ยมแทน วุฒิบอกว่าตอนนี้ตัวเองหายจากอาการไข้แล้ว แต่ยังมีไอบ้างเล็กน้อย ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เรือนจำมีเอกสารมาให้ตนเซ็นรับรอง 3 ฉบับ
“เนื้อหาที่ผมจำได้คือ สอบถามว่าผมได้รับการดูแลจากเรือนจำพิเศษมีนบุรีตามสิทธิพึ่งมี ไม่มีอาการเครียด กินอิ่มนอนหลับ จำเนื้อความเป๊ะ ๆ ไม่ได้ แต่มีประโยคที่บอกว่า ‘ดูแลพฤติกรรม’ ในเอกสารไม่มีส่วนให้ตอบคำถาม หรือทำเครื่องหมายถูกต้อง มีเพียงให้เซ็นรับทราบ ทั้ง 3 ฉบับ มีเนื้อหาอย่างเดียวกันจำนวน 1 หน้า ผมสอบถามเจ้าหน้าที่ ว่าทำไมต้องทำ เค้าบอกว่าราชทัณฑ์ให้ทำ”
วุฒิถามถึงสถานการณ์ข้างนอก เมื่อทราบว่ามีการทำกิจกรรมทวงสิทธิผู้ต้องขังเมื่อวันที่ 23 ต.ค. ที่ผ่านมา วุฒิบอกว่า “รู้สึกขอบคุณน้อง ๆ มาก ๆ ที่ยังคงติดตามและเคลื่อนไหวเพื่อคนในเรือนจำ มันเป็นกำลังใจให้เขามาก ๆ และขอบคุณคนที่คอยส่งอาหารมาให้ ผมได้รับทุกวัน มันเป็นกำลังใจมาก ๆ ผมทำได้แค่ขอบคุณจากใจจริง ๆ
“ผมยังเชื่อในน้อง ๆ นักกิจกรรม ตราบใดที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม และมันคือสิ่งเดียวกันที่ทำให้ผมมาม็อบ พวกเค้าไม่ได้เรียกร้องเพื่อตัวเอง แต่เรียกร้องเพื่อสังคมร่วม ผมรู้ว่าน้องไม่หยุดหรอก ผมเองก็เช่นกัน”
วุฒิวิพากษ์วิจารณ์การเมืองเหมือนเช่นทุกครั้งที่ได้พูดคุยกัน
“สิ่งที่รัฐบาลเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ ว่าจะแก้ตรงนั้นนี่ แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้ายก็ไม่ทำ ประชาชนเค้าเห็น เค้ารู้แล้วว่าไม่ได้ทำเพื่อประชาชน แต่ทำเพื่อผลประโยชน์ตัวเองและพวกพ้อง สิ่งที่ควรแก้ไม่แก้ สุดท้ายมันก็วนลูป คนก็จะออกมาเรียกร้องอีก ประชาชน นักกิจกรรมเค้าไม่ทนกับการโดนโกหก เค้าก็จะออกมาเรียกร้องสัญญาที่เคยให้ไว้
“อย่างดิจิตอลวอลเล็ทผมก็สงสัยจะจัดการยังไงกับคนจนจริง มันก็เหมือนเงินประยุทธ์ สุดท้ายจนจริงไม่ได้ เพราะไม่มีมือถือ เข้าถึงไม่ได้ หรือคนแก่ที่อยู่ต่างจังหวัดไม่มีลูกหลาน เค้าก็ไม่ได้ สุดท้ายเงินหายไปไหน แก้ปัญหาอะไร ผมก็งง”
วุฒิทิ้งท้ายถึงสิ่งที่ต้องการว่า “ตอนนี้อยากได้แว่นสายตายาว 270-300 หากแฟนส่งมาให้ไม่ได้ ก็อยากให้หามาให้ในวันที่ออกศาล”
วุฒิ ถูกขังมาแล้ว 218 วัน คดีของเขามีกำหนดนัดสืบพยานที่ศาลอาญามีนบุรีในวันที่ 22-24 พ.ย. นี้
.
กิ๊ฟ ทีปกร: ได้ยินข่าวเพื่อนได้ประกันตัว ก็หวังถึงตนเองบ้าง
กิ๊ฟ ยังคงออกมาพบปะทนายด้วยสีหน้าที่ยิ้มแย้ม แม้จะมีการใส่แมสแต่ยังคงเห็นร่องรอยการยิ้มได้ชัดเจน
กิ๊ฟบอกว่าเพิ่งคุยกับแม่เสร็จ ก็เดินมาฝั่งเยี่ยมกับทนายต่อ
กิ๊ฟบอกว่าเพิ่งหายจากอาการไข้ แต่ยังมีการไออยู่ เขาเล่าด้วยอาการเบื่อหน่ายอีกว่า “ก่อนหน้านี้ได้รับยาพาราฯ และยาแก้ไอมากินบ้าง แต่ยังคงมีไข้อยู่ การหาหมอในเรือนจำเป็นเรื่องยากมาก ก่อนจะได้พบหมด จะต้องมีการลงชื่อขอเข้าพบไว้ล่วงหน้า 1 วัน พบหมอในวันถัดไป และหลังจากพบหมอ วันถัดไปถึงจะได้รับยา”
นอกจากนี้เขาเองก็ได้ทราบข่าวจากในเรือนจำว่ามีผู้ต้องขัง 2 คน ที่ได้รับการประกันตัวเมื่อวันก่อน จึงอยากทราบเรื่องเงื่อนไขและเงินวางประกันของทั้งสอง ทนายจึงเล่าให้ฟังว่าธีรภัทรและปฐวีกานต์ ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้น ตีราคาหลักประกันคนละ 500,000 บาท
กิ๊ฟแจ้งกับทนายว่า ในส่วนของตนเอง ถ้ายื่นประกันครั้งหน้า ขอให้เพิ่มวงเงินจากเดิม อีก 50,000 บาท จะได้หรือไม่ เพราะตนอยู่ในเรือนจำมาหลายเดือนแล้ว
“อยากออกไปช่วยที่บ้านทำมาหากิน ตอนนี้พ่อกับแม่ต้องหารายได้เข้าบ้าน ซึ่งตอนนี้พ่อมาเปิดร้านขายโรตี และแม่เปิดร้านขายชากาแฟโบราณ เนื่องจากก่อนหน้านี้ผมเป็นเสาหลักของครอบครัวในการหาเลี้ยงชีพ พ่อกับแม่อายุมากแล้ว จะไม่ได้ทำงาน แต่อยู่บ้านช่วยเลี้ยงหลาน”
กิ๊ฟบอกว่าคดีของตนเอง เป็นคดียังไม่เด็ดขาด น่าจะสามารถยื่นขอประกันได้
“เราไม่ได้อยู่ในยุคของประยุทธ์ อะไร ๆ น่าจะง่ายกว่าเดิม เพราะอำนาจเผด็จการแบบเก่าหมดลง ส่วนตัวอยากให้มีการประสาน สส.ก้าวไกล มาช่วยประกันนักโทษคดี 112 แล้วค่อยผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และเสนอฝ่ายการเมืองว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร”
กิ๊ฟเล่าถึงเรื่องที่นักโทษในแดน 5 ถูก ผบ.แดนเรียกเข้าไปคุย โดยเป็นการเรียกทีละคน ซึ่งตนเองก็โดนเรียกไปคุยและถามเกี่ยวกับเรื่องสารทุกข์สุกดิบ
กิ๊ฟถูกขังมาแล้ว 134 วัน
.
น้ำ วารุณี: สิทธิการเข้าถึงการรักษาในเรือนจำ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน
น้ำอัปเดตว่าสภาพร่างกายของเธอปกติดี และรู้สึกแปลกใจที่ฟื้นตัวเร็วทั้งที่เธอตัวเล็กมาก สิ่งที่น้ำยังคิดมากอยู่ก็เป็นการอุทธรณ์คำพิพากษา มีความหวังว่าถ้าผลอุทธรณ์ออกช้าสุดเดือนเมษาปีหน้า
น้ำยังกังวลว่าหากย้ายกลับเรือนจำแล้ว สภาพจิตใจจะกลับมาย่ำแย่อีก แต่ก็พยายามทำใจไว้ ตอนนี้เธอยังไม่รู้เลยว่าจะถูกย้ายแดนวันไหน น้ำเล่าว่า เมื่อวันศุกร์ที่แล้วมีการส่งตัวผู้ต้องขังกลับแดน 16 คน แต่เธอไม่ได้ถูกส่งตัวไปด้วย ก่อนหน้านั้นเคยไปถามเจ้าหน้าที่แล้ว แต่ไม่ได้รับคำตอบ
ทนายเล่าให้น้ำฟังว่าเมื่อวันจันทร์ (23 ต.ค.) กลุ่มทะลุแก๊สได้จัดกิจกรรมยื่นหนังสือเรื่องความปลอดภัยของผู้ต้องขังหน้าเรือนจำ เมื่อทางกลุ่มประกาศว่าจะมีกิจกรรม เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก็ประกาศงดเยี่ยมญาติรอบพิเศษทันที ซึ่งกิจกรรมไม่ได้มีความวุ่นวายอะไร ใช้เวลาไม่นาน คนเข้าร่วมกิจกรรมก็ไม่เยอะ
ทนายเล่าเรื่องทั่วไปให้ฟังว่า ตอนนี้มีหนังเข้าใหม่ที่ทำรายได้สูงแล้วชื่อเรื่อง “สัปเหร่อ” น้ำบอกว่าถ้าได้ออกไปคงต้องไปดู
“ปกติน้ำจะดูแต่หนังสืบสวนสอบสวน แต่ตอนอยู่ในคุก คิดถึงเรื่อง The Shawshank Redemption เรื่องเดียว ไม่ได้คิดจะแหกคุกนะคะ (หัวเราะ) แต่คิดเรื่องมิตรภาพในคุก มันเศร้ามากนะ
“คือวันนี้มีผู้ต้องขังอายุ 58 ปี เราเรียกเค้าว่า แพ็คเกอร์ เพราะเค้ามีแฟนเป็นฝรั่ง แล้วเค้าก็ขายของงี้ แพ็คเกอร์ถูกปล่อยตัวก่อนกำหนดเพราะเป็นโรคไต นางก็มาพูดกับน้ำว่า กลับไปก็ไม่เจอเพื่อนแล้ว ถ้าออกไปไลฟ์ขายของ ใครจะมาช่วยแพ็คของที่บ้าน น้ำก็เลยบอกว่า งั้นแพ็คเกอร์อยู่ต่อไหม เอาโทษน้ำไปเลย นางก็ตอบว่า จะบ้าเหรอ (หัวเราะ)”
ทนายได้นำรูปภาพที่ศิลปินกราฟฟิตี้วาดรูปภาพของน้ำบนกำแพง โดยมีแคปชั่นว่า “girl with liberty earrings” มาให้ดู น้ำเห็นแล้วก็ร้องออกมา แววตาเป็นประกายสดใสขึ้นทันที
“เขาทำจริง ๆ เหรอคะ เลือกรูปสวยด้วยนะ (หัวเราะ) สุดยอดเลย น้ำจำได้ว่า รูปนี้น้ำเป็นแบบให้เพื่อนแต่งหน้าทำผมเจ้าสาว นานมากแล้ว เขาทำออกมาสวยกว่าตัวจริงอีก ต่างหูนั่นเขาก็ออกแบบเองใช่ไหมคะ อยากเอาไปอวดเพื่อนข้างในเลยอะ ฝากบอกเขาด้วยว่า สวยมาก ขอบคุณมากค่ะ น้ำเห็นแล้วก็ว้าวเลย (ชูนิ้วโป้ง) ไม่คิดว่าเขาจะใช้รูปคนธรรมดาแบบเรา”
ในส่วนกิจกรรมหน้าเรือนจำวันจันทร์ น้ำบอกว่า เห็นรูปแล้วขนลุก “เจ้าหน้าที่ข้างในเยอะมากเลย คนที่ถูกคุมขังก็เยอะด้วย เราไม่ใช่อาชญากร แต่ต้องมาถูกคุมขังเพราะความบิดเบี้ยวของกฎหมาย ทั้งที่กฎหมายข้อนี้มันไม่ควรมีด้วยซ้ำ เห็นแล้วก็สงสารเพื่อนผู้ต้องขัง แล้วก็สงสารตัวเองด้วย ที่ต้องถูกพรากออกจากครอบครัวและคนรัก”
“น้ำเป็นห่วงเรื่องการเข้าถึงการรักษามาก ๆ” เธอพูดด้วยความกังวลใจ
“มันสำคัญและจำเป็นกับชีวิตมาก เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นปัจจัย 4 เลย น้ำไม่รู้ว่าเรือนจำชายเป็นยังไง แต่เรือนจำหญิงก็เข้าถึงการรักษายากมาก ไม่ว่าคนในห้องจะมี 18 คน หรือ 60 คน โควต้าของคนป่วยที่ขอยาฉุกเฉินได้ก็จะน้อยมาก ๆ และไม่ทั่วถึง
“ตอนน้ำอยู่แดนโควต้าได้ขอแค่ 5 คน เกิดอาการป่วยกำเริบขึ้นมาตอนกลางคืนจะทำยังไง พยาบาลก็ไม่มี น้ำเคยปวดท้องจนตัวบิด รอเป็นชั่วโมงกว่าพยาบาลจะมา จนน้ำหายปวดท้องเองอะ นี่พูดถึงแค่คนอายุน้อยนะคะ ห้องทับทิม 7-8 ชั้นล่าง เป็นห้องที่รวมคนอายุมากที่มีโรคไว้ เขาจะจัดการยังไง ชีวิตคนเป็นสิ่งสำคัญนะคะ ถ้าผู้ต้องขังเป็นอะไรไป ราชทัณฑ์จะรับผิดชอบยังไง กว่าจะได้ยาก็ยาก”
น้ำยังเล่าถึงเรื่องปัญหาของแพงในเรือนจำ ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการซื้อค่อนข้างมาก “ของข้างในเรือนจำแพงมากค่ะ แมสก์แผ่นละบาท บอบบางมาก ใช้ ๆ อยู่เหล็กโผล่ก็มี กับข้าวก็แพง ได้นิดเดียว อย่างสะโพกไก่ทอดชิ้นเล็ก ๆ น้ำหนักไม่เกิน 90 กรัม กับข้าวเหนียวห่อเล็ก ที่ข้างนอกขายห่อละ 5-10 บาท ในเรือนจำขายชุดละ 60 บาท กับข้าวถุงเล็ก ขนาดไม่เกิน 100 กรัมกับข้าวสวย ขายชุดละ 45-50 บาท คือถ้าอยากกินอาหารดี ๆ ก็ต้องซื้อ อาหารของเรือนจำกินไม่ได้เลย รสชาติแย่มาก แล้วแต่ดวงอีกว่าจะได้เนื้อสัตว์บ้างไหม”
น้ำถูกขังมาแล้ว 125 วัน
.
เก็ท โสภณ: การยกเลิกวันเยี่ยมญาติโดยอ้างว่ามีการชุมนุมเป็นสิ่งที่ไร้วุฒิภาวะ
หลังจากยิ้มทักทายกับทนายความ เก็ทก็เริ่มพูดถึงเรื่องการยกเลิกการเยี่ยมญาติของเรือนจำในวันที่ 23 ต.ค. โดยเก็ทมองว่าเป็นสิ่งที่ไร้วุฒิภาวะมากที่ประกาศยกเลิกโดยอ้างว่าเพราะมีการชุมนุม ทั้งที่สามารถจัดการได้หลายวิธีที่ดีกว่าการยกเลิกการเยี่ยม ซึ่งจะทำให้คนอื่นได้รับความเสียหาย เช่น ลางานไปแล้ว หรือเสียค่าตั๋วเดินทางไปแล้ว
“คุณสามารถจัดการมันได้ตั้งหลายวิธี แต่คุณเลือกวิธียกเลิก แล้วประกาศโยนความผิดให้คนอื่นทันที มันดูไร้ความสามารถ ไร้ศักยภาพ”
เก็ทยังได้พูดถึงเรื่องการขาดแคลนยาในเรือนจำอีกครั้งหนึ่ง หลังจากพยายามพูดเรื่องนี้มาโดยตลอด
“อยากเรียกร้องไปถึง ผอ.เรือนจำ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม อยากให้มียาสามัญประจำบ้านติดไว้ในทุกแดน ถ้ารอเขียนเบิกโรงพยาบาล ก็คงนอนป่วยพะงาบ ๆ รอกันอยู่แบบนี้ หรือถ้ากลัวยาหายก็ให้แต่ละแดนเป็นคนดูแลไหมในการเบิกยา”
นอกจากนี้ยังมีเรื่องหน้ากากอนามัยในเรือนจำหมด โดยเก็ทบอกว่า “ช่วงอาทิตย์นี้เรือนจำแอคทีฟเรื่องสาธารณสุขมากขึ้น อยากให้เปิดรับการบริจาคจากภายนอกเผื่อว่าจะแก้ปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายล่าช้าได้ดีขึ้น ”
เก็ทยังอยากฝากไปถึงเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่ว่าหากมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นซึ่งเกี่ยวกับตัวเขา อยากให้มีการสื่อสารกับเขาโดยตรง โดยไม่ต้องไปว่ากล่าวเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย
เก็ทเล่าให้ทนายฟังว่าช่วงหยุดยาวที่ผ่านมามีคนมาชวนคุย โดยเขาสงสัยว่าพวกเราอยากยกเลิก 112 เหรอ จะปล่อยให้ใครด่าก็ได้เหรอ เขาจึงตอบไปว่า “ไม่ได้จะไม่คุ้มครอง แต่ในเมื่อมันมีกฎหมายเรื่องหมิ่นประมาทอยู่แล้ว ก็ใช้กฎหมายเดียวกับประชาชนทั่วไป”
เก็ทยังฝากบอกว่าจดหมายของเขาถูกสกรีนอย่างเข้มงวด เขาจึงอยากจะให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเข้ามาดูแลเรื่องนี้ด้วย
เก็ทยังพูดถึงปัญหาเรื่องการถูกใส่กุญแจข้อเท้าเมื่อไปศาลว่า “มันบาดจนเป็นแผลเป็นได้เลย” โดยตัวเขาเองก็เป็นแผลเป็นที่หน้าแข้ง
“นอกจากผลที่เกิดกับร่างกายแล้ว กับจิตใจมันก็ส่งผลให้รู้สึกหดหู่กับการต้องใส่ตรวนเหมือนสัตว์ที่โดนล่ามทั้งที่เรื่องการใส่ตรวนเท้านี้ คณะกรรมการสิทธิฯ เคยทักท้วงและห้ามแล้ว ซึ่งเรือนจำก็รับเรื่องไว้” เขาไม่เข้าใจว่าสุดท้ายแล้วทำไมยังคงทำเช่นเดิมอยู่
สุดท้ายเก็ทฝากให้สังคมให้ความสนใจกรณีตากใบที่ครบรอบ 19 ปีกันด้วย “อีกปีเดียวก็จะหมดอายุความแล้ว”
เก็ทถูกขังมาแล้ว 68 วัน
.
อารีฟ วีรภาพ: ไม่สบายแต่ลงชื่อไปหาหมอไม่เคยทัน-ทุกคนในเรือนนอนล้วนเจ็บป่วย
อารีฟเล่าให้ฟังว่าเขามีอาการป่วย โดยเป็นมา 2-3 วันแล้ว อาการดูเหมือนจะเป็นไข้หวัดใหญ่เพราะในแดนมีคนเป็นไข้หวัดใหญ่เต็มไปหมด ทั้งนี้อารีฟยังไม่ได้พบแพทย์เพราะว่าลงชื่อไม่ทันสักวัน เขาเล่าว่าแต่ละวันเจ้าหน้าที่จะประกาศให้คนไปลงชื่อขอพบแพทย์ แล้วทุกคนก็ต้องรีบไปลงชื่อ ซึ่งจะมีโควตาจำกัดจำนวนไว้ ซึ่งอารีฟลงไม่ทันสักวัน จึงยังไม่ได้เจอหมอ โดยปัจจุบันเขาน้ำหนักลดลงจาก 70 กว่ากิโล เหลือ 64 กิโลแล้ว
เขาเล่าว่าคนที่ได้ไปเจอหมอกลับมา ก็จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่กันหมดและได้ยาฆ่าเชื้อมากิน
“ตอนนี้ขอยาพาราฯ จากหน้าแดนเอา แค่พาราฯ ยังหายากเลย หาไม่ได้ทุกวัน” เขาว่า “วันก่อนก็เป็นไข้สูง 39.5 องศาก็ยังไม่ได้เจอหมอ ทำได้แค่ทนเอา ส่วนวันนี้อาการยังทรง ๆ” อารีฟบอกว่าส่วนใหญ่เขาจะมีอาการตอนขึ้นเรือนนอน
“ปวดหัว มีไข้ ก็จะพยายามรีบ ๆ นอนให้หลับ ๆ ไปเลย แต่เรือนนอนมี 40 กว่าคน ทุกคนก็นอนป่วยนอนไอปนกันอยู่ในนั้น สุขภาพในเรือนจำ ป่วยขนาดไหนก็ไม่ได้รับการดูแลที่ควรจะเป็นเหมือนอยู่ข้างนอก” และบอกอีกว่า “พาราฯ รักษาทุกโรค คนในแดนป่วยเยอะมาก แต่อยู่ในนี้ได้พาราฯ มากิน 1 เม็ด ไข้สูง 39-40 องศา ยังได้รับแค่พาราฯ 1 เม็ด”
สำหรับสุขภาพใจ อารีฟยังนั่งเหม่อ ๆ ดาวน์ ๆ คนเดียวอยู่บ้าง ช่วงเย็น ๆ บางทีก็เหม่อจนเลยเวลาขึ้นเรือนนอน จนเจ้าหน้าที่ต้องเรียกซ้ำ ๆ แต่ทางเรือนจำ ก็ยังมียาซึมเศร้าให้กินทุกวัน เขาเล่าว่าช้วงเช้าจะได้รับยาต้านซึมเศร้าและยาคลายเครียด รวม 3 เม็ด และตอนเย็น จะได้รับยาลดแพนิกและยาคลายเครียด รวม 2 เม็ด
อารีฟว่า เวลารับยาซึมเศร้า เรือนจำจะประกาศออกไมค์ให้นักโทษที่มีอาการจิตเวชออกมารับยา และทุกคนที่ต้องรับยาก็จะวิ่งกรูไปที่ธุรการเพื่อรอรับยา “กลายเป็นว่าทุกคนก็รู้หมดเลยว่าใครมีอาการป่วยบ้าง แล้วนักโทษคนอื่นก็จะมาถามว่าป่วยอะไร สงสัยเรื่องอาการซึมเศร้าเป็นยังไง”
อารีฟยังเล่าสภาพทั่วไปให้ฟังว่าช่วงนี้เวลาที่เขาคุยกับเพื่อน ๆ ผู้ต้องขังการเมืองในแดน ก็จะมีผู้ช่วยมายืนมองแบบมองให้รู้ตัว “เหมือนคอยมาจับตาดูตลอดเวลา ทั้งที่เราก็แค่คุยกันเฉย ๆ”
เขายังพูดขำๆว่า “ผมอยากทราบข่าวโลกภายนอกบ้าง อยู่ในนี้ดูแต่ช่องโมโนและช่องทรูฟอร์ยู พอข่าวมาทีไรจะต้องเปลี่ยนช่องหนีตลอด”
อารีฟได้ทิ้งท้ายว่าเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (23 ต.ค.) ผบ.แดนได้เรียกนักโทษทางการเมืองเข้าไปคุยรายบุคคล โดยบอกประโยคแรกเมื่อเห็นหน้าว่า มีอะไรก็ให้บอกเจ้าหน้าที่ได้ โดยเขายังไม่ได้ทำอะไรและไม่ได้วุ่นวายกับใคร โดยเพื่อน ๆ ในแดนก็ถูกบอกคล้ายกัน
อารีฟถูกขังมาแล้ว 33 วัน