ชมอินโฟกราฟฟิค "กระบวนการพิจารณาคดีของศาลทหาร"
ที่มา มติชนออนไลน์
"ศาลทหาร" จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 โดยประเภทของศาลทหาร สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ 1. ศาลทหารในเวลาปกติ 2. ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ
โดยสำหรับ "ศาลทหารในเวลาปกติ"จะมีกระบวนการพิจารณาคล้ายกับศาลพลเรือน โดยศาลทหารในเวลาปกติจะมีทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา และมีระบบการพิจารณาคดีเหมือนกับศาลพลเรือน
ทั้งนี้ "เวลาไม่ปกติ” นั้น อ้างอิงตาม มาตรา 36 ของ พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 คือ หมายถึงช่วงเวลาที่มีการรบหรือสถานะสงครามหรือได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก
โดย "ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ" จะมีแนวทางปฏิบัติในบางข้อที่ไม่เหมือนกัน เช่น การพิจารณาคดีจบภายในศาลเดียว ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ และฎีกาได้ ส่วนในการพิจารณาคดี ศาลจะอนุญาตให้เข้าร่วมรับฟัง หรือสั่งให้เป็นการพิจารณาแบบลับก็ได้
ซึ่งเมื่อศาลพิพากษาแล้ว จะแบ่งอัตราโทษออกเป็น 2 แขนงด้วยกัน คือ ถ้าอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี เช่น การไม่มารายงานตัวต่อคสช. จะส่งเข้า "เรือนจำทหาร” แต่ถ้าอัตราโทษจำคุกเกิน 3 ปี เช่น คดีอาวุธสงคราม หรือความผิดเกี่ยวกับสถาบัน ก็จะถูกส่งเข้า "เรือนจำพลเรือน"
ความผิดที่ต้องขึ้นศาลทหาร มีดังนี้
1.คดีฝ่าฝืนประกาศ-คำสั่ง คสช.
2.คดีความมั่นคง (เว้นความผิดตาม พ.ร.บ.มั่นคง-พ.ร.บ.ฉุกเฉิน)
3.คดีเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
ooo
รู้จักศาลทหาร และข้อสังเกตเรื่องเขตอำนาจ
ที่มา ilaw
กฎหมายเกี่ยวกับศาลทหาร : รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 228
พระราชบัญญัติธรรมนูญทหาร พ.ศ.2498
โครงสร้างศาลทหาร : ศาลทหารอยู่ในสังกัดกระทรวงกลาโหม มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นผู้รับผิดชอบงานธุรการ
ปัจจุบันมีพลเอกจิระ โกมุทพงศ์ เป็นเจ้ากรมพระธรรมนูญรับผิดชอบงานฝ่ายบริหาร มีพลเรือโท กฤษดา เจริญพานิช เป็นหนัวหน้าสำนักตุลาการทหาร มีพลตรี ขวัญชัย สมนึก เป็นหัวหน้าอัยการทหาร
ลำดับชั้นของศาลทหาร : ศาลทหารแบ่งออกเป็นสามชั้น คือ
(1) ศาลทหารชั้นต้น
(2) ศาลทหารกลาง
(3) ศาลทหารสูงสุด
ศาลทหารชั้นต้น แบ่งออกเป็น
(1) ศาลจังหวัดทหาร ทุกจังหวัดทหารให้มีศาลจังหวัดทหารศาลหนึ่ง เว้นแต่จังหวัดทหารที่ตั้งกองบัญชาการมณฑลทหาร มีอำนาจพิจารณาคดีฐานความผิดยกเว้นคดีที่จำเลยเป็นนายทหารสัญญาบัตร พิพากษาคดีที่จะลงโทษสูงไม่ได้
(2) ศาลมณฑลทหาร ทุกมณฑลทหารให้มีศาลมณฑลทหารศาลหนึ่ง เว้นแต่มณฑลทหารที่ตั้งศาลทหารกรุงเทพ มีอำนาจพิจารณาคดีฐานความผิดยกเว้นคดีที่จำเลยเป็นนายทหารชั้นนายพล
(3) ศาลทหารกรุงเทพ มีเขตอำนาจไม่จำกัดพื้นที่ พิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ทุกบทกฎหมายโดยไม่จำกัดยศของจำเลย
(4) ศาลประจำหน่วยทหาร ตั้งขึ้นเมื่อหน่วยทหารปฏิบัติหน้าที่อยู่นอกราชอาณาจักร หรือกำลังเดินทาง และมีกำลังทหารไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน
"ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ" คือ ศาลทหารชั้นต้น ในเวลาที่มีสงคราม หรือการประกาศใช้กฎอัยการศึก จะมีระเบียบวิธีพิจารณาที่แตกต่างไปบ้าง
ตุลาการศาลทหาร : ตุลาการทหาร อาจเป็นนายทหารที่ไม่รู้กฎหมายก็ได้ แต่ตุลาการพระธรรมนูญเป็นนายทหารที่มีความรู้กฎหมาย
ศาลทหารชั้นต้น ต้องมีตุลาการสามนายเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา คือ นายทหารชั้นสัญญาบัตรสองนาย ตุลาการพระธรรมนูญหนึ่งนาย
ศาลทหารกลางต้องมีตุลาการห้านายเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา คือ นายทหารชั้นนายพลหนึ่งหรือสองนาย นายทหารชั้นนายพัน นายนาวา หรือนายนาวาอากาศขึ้นไป หนึ่งหรือสองนาย ตุลาการพระธรรมนูญสองนาย
ศาลทหารสูงสุดต้องมีตุลาการห้านายเป็นองค์คณะพิจารณาพิพากษา คือ นายทหารชั้นนายพลสองนาย ตุลาการพระธรรมนูญสามนาย
การพิจารณาคดีของศาลทหาร :
ศาลทหารในเวลาปกติ ผู้เสียหายที่เป็นทหารเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาเองได้ ผู้เสียหายที่เป็นพลเรือน ต้องมอบคดีให้ศาลทหาร ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ ต้องให้อัยการทหารเท่านั้นเป็นโจทก์
ศาลทหารในเวลาปกติและศาลทหารในเวลาไม่ปกติ ให้จำเลยมีทนายได้
การพิจารณาและสืบพยานในศาลทหาร ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพหรือไม่ติดใจฟัง จะไม่ทำต่อหน้าจำเลยนั้นก็ได้ (ศาลพลเรือนการพิจารณาทุกขั้นตอนต้องทำต่อหน้าจำเลยเท่านั้น)
ถ้าไม่มีกฎหมาย กฎและข้อบังคับฝ่ายทหารก็ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม ถ้าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่จะใช้ได้
การอุทธรณ์และฎีกา :
คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทหารในเวลาปกติ โจทก์หรือจำเลยอุทธรณ์หรือฎีกาได้ภายในสิบห้าวัน
คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทหารในเวลาไม่ปกติ ห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา
ศาลทหารไม่ยุ่งเกี่ยวคดีแพ่ง :
ผู้เสียหายจะร้องขอให้จำเลยคืนทรัพย์ หรือชดใช้ค่าเสียหายในศาลทหารไม่ได้ ถ้าโจทก์ร้องขอให้ยึดทรัพย์จำเลย ให้ส่งคดีนั้นไปยังศาลพลเรือน แต่เมื่ออัยการทหารร้องขอศาลทหารมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยคืนทรัพย์ หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐบาลได้ในกรณีที่จำเลยกระทำผิด
เขตอำนาจของศาลทหาร :
พิจารณาจากบุุคคล
คนที่ต้องถูกพิจารณาคดีที่ศาลทหาร ก็คือ ทหาร นักเรียนทหาร พลเรือนที่สังกัดอยู่ในราชการทหาร บุคคลซึ่งอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารโดยชอบด้วยกฎหมาย เชลยศึก
พิจารณาจากประเภทคดี
- ความผิดต่อกฎหมายทหาร หรือความผิดอาญาอื่น
- ความผิดอาญาตามบัญชีต่อท้ายกฎอัยการศึก ในกรณีมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกและประกาศให้คดีบางประเภทอยู่ในอำนาจของศาลทหาร ซึ่งจะมีอำนาจเหนือบุคคลทุกประเภท ทั้งพลเรือน และทหาร
คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร คือ
- คดีที่ทหารกระทำความผิดร่วมกับพลเรือน เช่น ทหารขายยาเสพติดต้องขึ้นศาลทหาร ถ้าทหารขายยาเสพติดร่วมกับภรรยาต้องขึ้นศาลพลเรือน
- คดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน
- คดีที่ผู้กระทำความผิดเป็นด็กและเยาวชน
- คดีที่ศาลทหารเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร
คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลให้พิจารณาพิพากษาที่ศาลพลเรือน ถ้าภายหลังกลายเป็นว่าอยู่ในอำนาจของศาลทหาร แต่ศาลพลเรือนรับฟ้องไปแล้ว ก็ให้ศาลพลเรือนมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป
เขตอำนาจของศาลทหาร กรณีประกาศใช้กฎอัยการศึก :
ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกอาจประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกและในระหว่างที่ใช้กฎอัยการศึกตามที่ระบุไว้ในบัญชีต่อท้ายพระราชบัญญัติ
นที่ 25 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกประกาศฉบับที่ 37/2557 ให้บรรดาคดีความผิดตามที่กำหนดไว้ดังต่อไปนี้ ซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตราชอาณาจักร และในระหว่างที่ประกาศนี้ใช้บังคับอยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหาร
1. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
(1) ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา 107 ถึงมาตรา 112
(2) ความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113 ถึง มาตรา 118 ยกเว้นซึ่งการกระทำผิดเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
2. ความผิดตามประกาศ หรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ข้อสังเกตต่อประกาศฉบับที่ 37/2557
1. ความผิดที่ถูกประกาศให้ต้องขึ้นศาลทหาร ต้องกระทำในเขตราชอาณาจักร และกระทำระหว่างที่ประกาศนี้ใช้บังคับ เพราะฉะนั้น ความผิดที่กระทำนอกราชอาณาจักร และการกระทำก่อนประกาศนี้ใช้บังคับ (ก่อนวันที่ 25 พฤษภาคม 2557) หรือก่อนการรัฐประหาร ย่อมไม่อาจขึ้นศาลทหารได้ ให้ไปขึ้นศาลพลเรือนตามปกติ
2. ความผิดตามประกาศ หรือคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ไม่ใช่ความผิดตามบัญชีแนบท้ายของกฎอัยการศึก ยังไม่แน่ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจประกาศให้ความผิดอื่นนอกบัญชีแนบท้ายฯ อยู่ในอำนาจศาลทหารได้หรือไม่