29 พฤษภาคม 2557
ข้อ 14 แห่งปฏิญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน บัญญัติไว้ว่า "บุคคลมีสิทธิที่จะแสวงหาและพักพิงในประเทศอื่นๆ เพื่อลี้ภัยจากการกดขี่ข่มเหง สิทธินี้จะกล่าวอ้างมิได้ ในกรณีการฟ้องคดี ซ่ึงโดยความจริงเกิดจากความผิดที่ไม่ใช่เรื่องการเมือง หรือจากการกระทําที่ขัดต่อความมุ่งประสงค์และหลักการของสหประชาชาติ"
ขอเล่าที่มาที่ไปสักนิด
จริงๆ มันเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงว่าคนไทยจะต้องลี้ภัยการเมือง คิดว่าทั้งกับผมเองเมื่อต้องตัดสินใจไม่กลับบ้านหลังเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2553 และพวกเราหลายคน ณ ขณะนี้ที่ต้องคิดลี้ภัยหลังการรัฐประหารในปี 2557 ต่างก็รู้สึกเหน็บหนาวในหัวใจว่า แม้แต่ในยุค พ.ศ. 2557 นี้แล้วก็ตาม ในขณะที่ทุกประเทศเผด็จการ (ยกเว้นเกาหลีเหนือ) หันมายอมรับกันแล้วว่าในท้ายที่สุด การเลือกตั้งตามครรลองประชาธิปไตย คือการนำพาชาติพัฒนาที่ดีที่สุดชาติสุดท้ายในหมู่เพื่อนบ้านเราที่ตัดสินใจหันหน้ามาคุยกับพรรคการเมือง และค่อยๆ ปรับทัศนคติทหาร ให้ยอมรับกติการการเลือกตั้งกันมากขึ้น คือเผด็จการทหารของพม่าที่ครองอำนาจมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2500 ที่ทนแรงบีบคั้นทางเศรษฐกิจจากการปิดประเทศ และจากการคว่ำบาตรจากนานาชาติไม่ไหว จึงจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งแรกอีกครั้งเมื่อปี 2554 – 2555 (หลังจากการลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนในปี 2531 และทหารล้มการเลือกตั้งปี 2533 พร้อมกับจับแกนนำพรรค และนักศึกษากว่า 2000 คุมขังมายาวนาน) โดยยอมปล่อยตัวและยอมให้อองซานซูจี ที่ถูกทหารยึดอำนาจและจองจำเธอร่วม 20 ปี เข้าร่วมลงแข่งขันในการเลือกตั้งในท้ายที่สุด ในปี 2555 แม้ว่าการเลือกตั้งพม่าจะยังถูกคุมและอยู่ในอำนาจของรัฐบาลทหาร และยังไม่แฟร์และไม่ฟรีอย่างแท้จริง แต่กระบวนการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยของพม่าได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง
กลับมาดูประเทศไทย ประเทศที่มีที่ท่าว่าจะฉายแววแห่งการเป็นผู้นำ ทั้งทางเศรษฐกิจในภูมิภาค และทางด้านสิทธิเสรีภาพของประชาชน เมื่อประชาชนสามารถโค่นเผด็จการทหารสุจินดา คราประยูร ลงได้ในปี 2535 และจัดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนครั้งแรกในปี 2540 แต่กลับหกล้มคว่ำคะมำมาตลอดนับตั้งแต่นั้นมา แม้ว่าจะสามารถรับมือกับวิกฤตฟองสบู่แตกในปี 2540 ได้ก็ตาม ไปกับการถูกทำรัฐประหารช็อคโลกในปี 2549/2551 และรัฐประหารที่ทำให้โลกตาสว่างโร่ในปี 2557เพื่อแสดงความรักต่อองค์พระประมุข พรรคการเมืองทั้งค่ายชินวัตรและค่ายประชาธิปัตย์ ต่างก็งัดกฎหมายมาตรา 112 ขึ้นมาใช้แข่งกันแสดงความจงรักภักดี เพื่อชิงดีชิงเด่นกันว่าใครภักดีมากกว่ากัน ในหมู่ประชาชนก็เช่นกัน ก็ใช้มาตรา 112 มาห่ำหั่นกันเพื่อยืนยันว่าใครจงรักภักดีมากกว่ากัน ... จนทำให้คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพุ่งสูงขึ้นและพุ่งสูงสุดเกือบปีละ 500 คดีในช่วงปีแห่งการปราบปรามคนเสื้อแดงในปี 2553 ทั้งนี้ไม่รู้ว่า หลังจากรัฐประหาร 2557 นี้ การใช้มาตรา 112 ต่อผู้คนที่คิดต่างในประเทศไทยจะเพิ่มสูงขึ้นมากขนาดไหน แต่ที่แน่ๆ คณะรัฐประหารออกคำสั่งที่ี 37 ให้คดีมาตรา 112 ขึ้นตรงต่อศาลทหาร (ศาลปกติธรรมดาคดีมาตรา 112 ก็แทบไม่มีโอกาสแก้ต่าง ในศาลทหารนี่คงพูดได้ว่า หมดโอกาสแก้ต่างกันเลยทีเดียว)
ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ได้พยายามกระเสือกกระสน ขอมีพื้นที่หายใจภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร แต่ก็พ่ายแพ้ต่ออำนาจกระบอกปืนภายใต้พระปรมาภิไธยอีกจนได้ มันจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ผู้คนที่มีหมายจับเพราะมาตรา 112 หรือหมายเรียกไปรายงานตัวกับรัฐประหาร ที่ไม่ต้องการไปรายงานตัว จำต้องเลือกที่จะลี้ภัยการเมืองไปอยู่ต่างประเทศ
ผาขอแบ่งปันเรื่องราวการอยู่สู้การเมืองไทยที่ต่างประเทศ และการขอลี้ภัย เพื่อว่าอาจจะมีประโยชน์กับผู้ที่ต้องการลี้ภัยจากเมืองไทยบ้างไม่มากก็น้อย
2553 – 2556
เหตุการณ์ทหารปราบปรามประชาชนจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากในปี 2553 ทำให้ผู้คนเริ่มตั้งคำถามเรื่องนิยามและความหมายแห่ง "ความรักฯ" ช่วงนั้นผมได้รับเชิญมาพูดเรื่องปัญหาคนงานเบอร์รี่ที่สวีเดนและฟินแลนด์ จึงเดินทางออกจากประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2553 เมื่อทนเห็นความโหดร้ายของทหารในการปราบปรามประชาชนไม่ได้ 16 พฤษภาคม ผมจึงทำการรณรงค์รายชื่อยื่นสหประชาชาติเรียกร้องให้ทหารหยุดการสังหารประชาชน และตัดสินใจเขียน "ทำไมถึงไม่รักฯ" ซึ่งเป็นบทความที่แรงมากในตอนนี้ จนหลายคนเตือนผมเรื่องกลับประเทศไทย ผมจึงตัดสินใจอยู่รอดูท่าทีทางการเมืองที่ยุโรปจนกว่าวีซ่าจะหมด ... แต่เมื่อเห็นผู้คนทยอยถูกจับเข้ากรงขังในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุาภาพมาตรา 112 หลายคนในช่วงนั้น ผมจึงทำเรื่องต่อวีซ่าอยู่ต่อที่ประเทศฟินแลนด์เนื่องจากผมเดินทางเข้าออกยุโรปเกือบทุกปี นับตั้งแต่ปี 2542 เพื่อมาร่วมประชุมกับองค์กรที่นี่ มาประท้วงการละเมิดสิทธิแรงงานไทย หรือ มาบรรยายเรื่องปัญหาแรงงานในเวทีนานาชาติ ทำให้ผมเข้าใจเรื่องการขอวีซ่ายุโรป เป็นอย่างดี ผมจึงตัดสินใจไม่ขอลี้ภัยทางการเมืองในทันที และใช้เวลาทั้งหมดไปกับการพยายามรณรงค์เรื่องปล่อยนักโทษการเมือง ยกเลิกมาตรา 112 พร้อมกับเฝ้ารอว่าพลังประชาชนเสื้อแดงจะเอาชนะและส่งพรรคค่ายพลังประชาชนเข้าสู่การเมืองได้สำเร็จหรือไม่
นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2553 จนถึงกันยายน 2556 ผมจึงอยู่ด้วยวีซาประเภท "อยู่อาศัยชั่วคราว ประเภทอื่น" ซึ่งผมระบุว่าเป็น "นักเขียนพึ่งตัวเอง" และผมก็ไม่เดือดร้อนเรื่องสถานภาพ ยังเป็นพลเมืองไทยเต็มขั้น ที่อยู่อาศัยในประเทศฟินแลนด์เพื่อทำงานเขียนและวิพากษ์การเมืองไทยโดยไม่เซนเซอร์ และเดินทางได้ทั่วทุกประเทศยุโรปเพื่อพยายามพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาและผลกระทบจากมาตรา 112
เมื่อ ครม. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นมาเป็นรัฐบาลโดยชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย (อีกแล้ว) ในการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 แต่กลับเมินเฉยต่อกระแสเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมือง ให้ยกเลิกมาตรา 112 และให้ปฏิรูปโครงสร้างการเมืองโดยให้เป็นประชาธิปไตยโดยทันที และทุ่มเวลาซื้อใจฝ่ายเจ้า ตลอดจนเดินสาย 40 ประเทศทั่วโลกในระยะ 2 ปี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและหาเงินกู้มาพัฒนาประเทศ ... พวกเราทั้งหลายทั้งเมืองไทยและที่ต่างประเทศจึงยังคงต้องรณรงค์กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เรียกร้องให้ปล่อยนักโทษการเมืองและยกเลิกมาตรา 112 กันต่อไป
ทั้งนี้ผมได้วิพากษ์มาตลอดนับตั้งแต่ยิ่งลักษณ์ ขึ้นบริหารประเทศว่า นโยบาย "เศรษฐกิจก่อนประชาธิปไตยทีหลัง" เป็นการดำเนินยุทธศาสตร์การเมืองที่ผิดพลาดของพรรคเพื่อไทย และเงินกู้ต่างๆ ที่เธอไปทำเรื่องเจรจากู้มา จะเป็นการกู้มาให้รัฐประหารใช้เท่านั้นเอง
กันยายน 2556 สุดที่จะยื้อ ต้องทำเรื่องขอลี้ภัยการเมือง
เนื่องจากในปลายปี 2555 และต้นปี 2556 มีเพื่อนฝูง 3 กลุ่มที่ช่วยเหลือในการจัดพิมพ์หนังสือ "แรงงานอุ้มชาติ" ถูก DSI เชิญตัวไปสอบปากคำในความสัมพันธ์กับผม เพราะว่าผมมีคดีมาตรา 112 โดยเจ้าของคดีคือกระทรวง MICTดังนั้นก่อนที่วีซ่าจะหมดอายุ ผมจึงขอให้ผู้ที่นับถือในเมืองไทยให้ช่วยเช็คว่าผมมีคดีความตามมาตรา 112 หรือไม่ ก็ทราบว่ามีหมายจับผมออกมาในวันที่ 26 เมษายน 2556ในการขอวีซ่าครั้งที่ 3 ในเดือนกันยายน 2556 ผมจึงจำเป็นต้องระบุระบุว่า ผมมีหมายจับตามมาตรา 112 ของไทย เพราะการใช้เสรีภาพในการเขียนหนังสือวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทย
หนึ่งเดือนหลังจากนั้น มีจดหมายจากกองวีซาของฟินแลนด์ แนะนำว่าในวีซาทั่วไปอาจจะไม่คุ้มครองผมได้เพียงพอ ผมควรจะขอวีซาที่ให้การคุ้มครองทางนานาชาติด้วย (International Protection) ซึ่งก็คือการขอลี้ภัยการเมืองนั่นเอง
ก่อนตัดสินใจ ผมได้เดินทางไปที่ศูนย์พักพิงผู้ขอลี้ภัยเพื่อปรึกษา และได้เบอร์ทนายความที่เชี่ยวชาญเรื่องคดีลี้ภัยการเมือง ผมไปพบทนายที่สำนักงาน ซึ่งเธอก็แนะนำอย่างแข็งขันว่าผมควรเข้าสู่กระบวนการขอลี้ภัยทางการเมือง และเธอรับดำเนินคดีให้ การพบทนายก่อนดำเนินเรื่องช่วยผมได้มาก เพราะทนายจะแนะนำทุกขั้นตอนว่าควรจะทำอย่างไร และควรจะพูดอะไรแค่ไหน
ผมแนะนำทุกคนที่ต้องการข้อลี้ภัยการเมืองจริงๆ นะฮะว่า เดินทางเข้าไปที่ศูนย์พักพิงผู้ขอลี้ภัย หรือหน่วยงาน UNHCR ในประเทศนั้นๆ เพื่อขอคำปรึกษาเบื้องต้น ก่อนที่จะดำเนินเรื่องขอลี้ภัยฯ
เข้าสู่กระบวนการขอลี้ภัยการเมือง
แม้ว่าจะขอวีซ่าได้มาตลอด แต่การเปลี่ยนสถานภาพจากวีซ่าชั่วคราวรายปี มาเป็น "ผู้ลี้ภัยการเมือง" เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ของประเทศฟินแลนด์ (และทุกประเทศ) ที่มีสวัสดิการให้ประชาชนครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตาย รวมทั้งทุนอุดหนุนเพื่อการเพิ่มศักยภาพชีวิตอีกมากมาย ต้องรอบคอบเช่นกัน เพราะเขาต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายของการจะต้องดูแลคนเพิ่มอีก 1 คน (อาจจะ) ตลอดชีวิตนี่เป็นเรื่องที่คนที่ต้องการลี้ภัยก็จำต้องตระหนักยิ่งว่า ในการขอลี้ภัยในประเทศใดก็ตาม ถ้าเราไม่มีศักยภาพที่จะดูแลตัวเอง นั่นก็หมายความว่า ประเทศที่สอง หรือประเทศที่สาม จะมีศักยภาพดูแลเราได้อย่างดีแค่ไหน
การยอมรับผู้ลี้ภัยของทุกประเทศจะต้องอิงกับหลักปฏิญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 14 คือ จะพิจารณาอยู่บนฐานหลักๆ ว่า ... ชีวิตของผู้ขอลี้ภัยทางการเมือง (ที่ไม่ใช่อาชญากร) จะไม่ปลอดภัย และจะถูกริดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์อย่างไรบ้าง อันเนื่องมาจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเมืองในประเทศ ถ้าต้องถูกส่งกลับประเทศ ส่วนการดูแลจะดีมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับนโยบายและฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศผู้รับเป็นหลัก
ขั้นตอนการขอลี้ภัยเริ่มเมื่อกลางเดือนตุลาคม 2556 โดยมีขั้นตอนคร่าวๆ ดังนี้คือ
ขั้นตอนที่ 1. แจ้งความจำนงกับตำรวจ พร้อมจดหมายที่แผนกวีซ่าส่งมาให้ ผมเดินทางไปแจ้งความประสงค์ขอลี้ภัยกับสถานีตำรวจ ขั้นตอนนี้จะหมายความว่า ตำรวจจะรับเรื่องของผมไว้ เพื่อส่งเรื่องต่อไปให้แผนกตรวจคนเข้าเมืองต่อไป ในขั้นตอนนี้ ตำรวจจะให้ผมพิมพ์นิ้วมือทุกนิ้ว สัมภาษณ์เก็บข้อมูลเบื้องต้น และยึดพาสปอร์ตผมไว้
เป็นวันที่เศร้าสำหรับผมที่สุดวันหนึ่งทีเดียว ที่มีพาสปอร์ต 3 เล่มที่อัดแน่นไปด้วยประวัติวีซ่าเดินทางเข้าออกหลายสิบประเทศ แล้วมาเหลือหลักฐานยืนยันความเป็นพลเมืองโลกเพียงกระดาษรับรองจากตำรวจเพียงแผ่นเดียว
คำแนะนำ ในขั้นตอนแรกนี้ เตรียมใจให้พร้อม เตรียมแฟ้มเอกสารเรื่องราวของเราไว้ในระดับหนึ่งที่มีน้ำหนักพอ แม้จะเป็นคนที่คิดว่ามีชื่อเสียงที่เมืองไทย ก็ให้ระลึกไว้ด้วยว่า คนที่เมืองนอกเขาไม่รู้จักเรา เพราะฉะนั้นต้องเตรียมตัวไว้ก่อน ขอให้ถ่ายเอกสารพาสปอร์ตของเราเก็บไว้ เพราะในขั้นตอนนี้ตำรวจจะยึดพาสปอร์ตไว้ ... ถ้ามีหนังสือรับรองจากหน่วยงานหรือบุคคลที่มีเครดิตรับรองเราได้จะช่วยได้เยอะ ... ทั้งนี้ ตำรวจจะทำหน้าที่เพียงรับเรื่อง รับเอกสารของเราพร้อมหลักฐานต่างๆ เพื่อส่งเรื่องต่อไปยังแผนกวีซ่า ขั้นตอนนี้ขอให้ปากคำเท่าที่จำเป็น เพราะตำรวจชุดแรกนี้ ทำหน้าที่เพียงรับเรื่องราวของเราเพื่อส่งต่อ
ตำรวจและเจ้าหน้าที่ทุกคน ในทุกขั้นตอน จะแจ้งสิทธิเราว่า ขอให้พูดความจริง ถ้าพบว่าให้การเท็จ เจ้าหน้าที่มีสิทธิส่งเรากลับประเทศและห้ามเดินทางเข้ามาประเทศนี้อีกตลอดไป และก็บอกเราว่าเรามีสิทธิจะอุทธรณ์คำตัดสิน
ขั้นตอนที่ 2. รายงานตัวที่ศูนย์พักพิงผู้ขอลี้ภัย เมื่อรับเรื่องราวของผมเสร็จแล้ว ตำรวจทำเอกสารให้ผม1 แผ่น ซึ่งเป็นหลักฐานการอนุญาตอยู่ในประเทศฟินแลนด์ในระหว่างดำเนินเรื่อง โดยให้ผมนำไปยื่นรายงานตัวยังศูนย์พักพิงผู้ขอลี้ภัย
ที่ศูนย์พักพึงผู้ขอลี้ภัยแห่งนี้ จะมีเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ขอลี้ภัยแบบครอบคลุม มีทั้งนักสังคมสงเคราห์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สำนักงานต่างๆ ... เนื่องจากผมพักอาศัยอยู่กับเพื่อน จึงขอไม่เข้ามาพักอาศัยที่ศูนย์ฯ ในระหว่างการดำเนินเรื่อง แต่ผมต้องยืนสำเนาเอกสารสำเนาทะเบียนบ้านที่ผมมีชื่อพักอาศัยอยู่ให้กับศูนย์ฯ และเดินทางมาพบกับเจ้าหน้าที่ตามนัดหมาย (หลักๆ คือ มาพบนักสังคมสงเคราะห์ มาพบพยาบาล)
คำแนะนำ แม้ศูนย์พักพิงที่ฟินแลนด์นี่จะได้ชื่อว่าไม่แน่นขนัด และสะอาดสะอ้านแล้วก็ตาม แต่คำแนะนำสำหรับผู้ลี้ภัยคือ ถ้ามีแหล่งพักพิงหรือมีคนให้อยู่อาศัยโดยไม่ต้องไปอยู่ศูนย์พักพิงฯ จะเป็นเรื่องที่ดีมากต่อสุขภาพจิต เรื่องนี้ผู้ขอลี้ภัยที่มีทางเลือก ควรจะเตรียมตัวหาแหล่งพักพิงไว้ก่อนที่จะดำเนินเรื่องขอลี้ภัย เพื่อขอใช้สิทธิอยู่เอง โดยไม่ต้องเข้าพักที่ศูนย์ฯ ถ้าไม่มีรายได้ ต้องยื่นบัญชีธนาคารให้เห็นว่าไม่มีศักยภาพทางการเงินพอ ทางศูนย์จะจ่ายเงินสนับสนุนให้ผู้ขอลี้ภัยใช้ประจำเดือน (ประมาณ 1 ใน 3 ของเงินสนับสนุนขั้นต่ำ)
ขึ้นตอนที่ 3 ตรวจโรค พยาบาลที่ศูนย์ฯ ทำเรื่องนัดแพทย์เพื่อส่งตัวผมไปตรวจสุขภาพ (จริงๆ คือ ตรวจว่าผมเป็นโรคร้ายอะไรหรือเปล่านั่นล่ะ)
ขั้นตอนที่ 4 ให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประมาณหนึ่งเดือนหลังเข้าแจ้งความจำนงกับตำรวจ ผมก็ได้รับการติดต่อมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ไปให้ปากคำ โดยเจ้าหน้าที่ถามผมว่าต้องการล่ามไหม ผมยืนยันว่าไม่ต้องการล่าม ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจสื่อสารภาษาอังกฤษได้ (ข้าราชการฟินน์พูดอังกฤษกันได้คล่องปร๋อทุกคน) ขั้นตอนนี้ ก็อีกเช่นกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงที่สัมภาษณ์ผม เธอก็บอกว่า ตำรวจทำตามขั้นตอน เพื่อสอบปากคำตามพิธีการเพื่อส่งแนบไปกับเอกสารต่างๆ เพื่อส่งเรื่องต่อไปให้กับเจ้าหน้าที่แผนกตรวจคนเข้าเมือง โดยย้ำว่า การตัดสินใจทั้งหมดขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ ตม. และขึ้นอยู่กับการสัมภาษณ์กับเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมือง เธอย้ำอีกรอบว่า ต้องพูดความจริงเท่านั้น เมื่อให้ปากคำเสร็จ เจ้าหน้าที่ก็อ่านทวนให้ผมฟัง มอบสำเนาให้ผม 1 แผ่นและส่งการบันทึกปากคำไปให้ทนายของผมเอง
คำแนะนำ ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดูมีมนุษยสัมพันธ์ดีแค่ไหนก็ตาม คำแนะนำก็คือ อย่าพูดเล่น อย่าพูดเกินจริง เตรียมข้อมูลที่สำคัญ ทางประเทศปลายทางต้องการรู้เพียงว่า ชีวิตเราไม่ปลอดภัยอย่างไรที่เมืองไทย และจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเรากลับประเทศไทย
หลังจากขั้นตอนที่ 4 เสร็จแล้ว ก็เตรียมตัวรอจดหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่แผนกกองตรวจคนเข้าเมือง เรียกไปสอบสัมภาษณ์อย่างเดียวเลยฮะ ขั้นตอนนี้อาจจะกินเวลาหลายเดือน
ขั้นตอนที่ 5 วันให้สัมภาษณ์กับเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมือง ประมาณ 5 เดือนหลังจากดำเนินเรื่อง ผมก็ได้รับแจ้งจากศูนย์ฯ ว่า ทางเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ส่งจดหมายนัดให้ผมไปสัมภาษณ์ในวันที่ 2 เมษายน 2557 ซึ่งผมก็รีบนัดหมายเพื่อพบกับทนายความ เพื่อการเตรียมตัว ซึ่งจริงๆ ก็ไม่มีอะไรมาก เพราะนับตั้งแต่เริ่มดำเนินเรื่อง ผมได้ทยอยส่งเอกสารให้ทนายเกี่ยวกับงานและกรณีปัญหาของผมอ่านอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทนายก็ส่งไปให้เจ้าหน้าที่ ตม. รับทราบในระดับหนึ่งแล้ว แม้พวกเราจะไม่กังวลมาก เนื่องจากมั่นใจในความชัดเจนของคดี แต่เราก็ไม่ประมาท
คำแนะนำ ในขั้นตอนนี้ ให้เตรียมทำแฟ้มข้อมูล (แบบพิมพ์ใส่แฟ้มไว้) โดยเน้นประเด็นเรื่องผลกระทบที่เกิดจากการเมืองไทย และ/หรือจากมาตรา 112 ที่ชี้ที่ให้เห็นว่าคนที่อยู่ในอันตรายจากการเมืองไทยนั้น จะไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างไรบ้าง รวบรวมหลักฐานการถูกขู่ฆ่าทำร้ายร่างกาย รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตัวเองและครอบครัวประกอบ ถ้ามีหลักฐานที่เป็นคดีฟ้องร้องหรือหมายจับก็ยิ่งมีประโยชน์ ให้เตรียมหาเก็บเอาไว้
ขั้นตอนสุดท้าย การสัมภาษณ์ (อาจจะกินเวลาหลายเดือน และอาจจะมีการสัมภาษณ์หลายครั้ง)
ในวันสัมภาษณ์ 2 เมษายน 2557 เจ้าหน้าที่เตรียมล่ามไว้ให้ ผมได้บอกไปก่อนแล้วว่าขอล่ามอังกฤษ-ฟินน์ ทางเจ้าหน้าที่เตรียมเวลาไว้ทั้งวันสำหรับการสัมภาษณ์ ตั้งแต่ 9 โมงเช้าจนถึงบ่ายสามครึ่ง ซึ่งทนายก็แนะนำผมไว้ก่อนแล้วว่า ให้พูดอย่างกระชับ เพื่อให้การสัมภาษณ์มันจบในครั้งเดียวเลย เพราะถ้าไม่จบต้องนัดใหม่ และเราก็ไม่รู้ว่าจะต้องรออีกกี่เดือน เมื่อพวกเราพร้อม เจ้าหน้าที่เริ่มด้วยการอ่านสิทธิต่างๆ ให้ผมฟัง ย้ำอีกแล้วว่า ต้องพูดความจริงห้ามโกหก บอกผมว่าทุกคำให้การจะถูกบันทึกเทปไว้ และก็ถามว่า ถ้าถูกปฏิเสธ ผมจะทำอย่างไร ซึ่งผมก็บอกว่าถ้าฟินแลนด์ปฏิเสธรับรองสถานภาพผู้ลี้ภัยของผม ผมก็จะอุทธรณ์ไปยังศาลของอียู
เพื่อให้ผู้ขอลี้ภัยสามารถเล่าปัญหาได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกลัว เจ้าหน้าที่หนักแน่นในการให้ความมั่นใจกับผมว่า ข้อมูลการให้ปากคำทั้งหมดจะถือเป็นความลับระหว่างผู้ขอลี้ภัยกับเจ้าหน้าที่เท่านั้น (แม้แต่ทนายความก็อยู่ในจรรยาบรรณทนายความ เรื่องการรักษาความลับของลูกความ) เจ้าหน้าที่ก็ให้ผมเล่าเรื่องราวของผมไป - เล่าได้ยาวเลยล่ะที่นี้ เจ้าหน้าที่ไม่ได้ซักถามอะไรมาก แต่จะทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวไว้ - เนื่องจากประเด็นของผมมันชัดเจน และผมเตรียมเล่าอย่างเป็นขั้นตอน ... เร่ิมตั้งแต่ตัวผมเป็นใคร เกิดอะไรขึ้นถึงต้องลุกขึ้นมาเขียนบทความที่เป็นกรณีปัญหา จนไม่อาจกลับบ้านได้ และผมได้พยายามทำอะไรเพื่อเมืองไทยและเพื่อคนงานไทยมาก่อน และทำอะไรบ้างนับตั้งแต่ปี 2553 ที่ต้องลี้ภัย ที่สำคัญคือผมจะต้องพบเจอปัญหาและอันตรายอย่างไรบ้างถ้ากลับเมืองไทย ฯลฯ
ครึ่งวันแรกก็ให้การเสร็จ ในส่วนครึ่งวันหลังก็มาฟังการอ่านบันทึกคำให้การ และแก้ไขในส่วนที่มันคลาดเคลื่อน แก้ไขเสร็จแล้วเจ้าหน้าที่ก็จะพิมพ์ออกมาและอ่านทวนในส่วนแก้ไขให้ผมทราบอีกครั้ง เมื่อไม่มีอะไรแก้ไขอีก ก็พิมพ์ฉบับสุดท้ายออกมาให้ผมเซ็นรับรองเอกสาร และเจ้าหน้าที่จะให้สำเนาผมถือไว้ 1 ชุดด้วย
ทั้งนี้มีเอกสารที่ทางเจ้าหน้าที่บอกให้ผมส่งไปให้เพิ่มเติม โดยส่งผ่านทางทนาย เป็นเอกสารสองสามชิ้นที่ผมอ้างถึงในตอนสัมภาษณ์แล้วไม่ได้เตรียมไปยื่น รวมทั้งเอกสารการข่มขู่ที่ผมได้รับ และเรื่องคดีฟ้องร้องที่เมืองไทย พร้อมทั้งใบรับรองแพทย์เกี่ยวกับโรคประจำตัวของผมด้วย ซึ่งผมก็รีบทำส่งให้ทนายส่งเพิ่มเติมให้เจ้าหน้าที่อย่างรวดเร็ว
คำแนะนำ สำหรับคนที่พูดอังกฤษได้ ในวันสัมภาษณ์นี้ ผมแนะนำให้ใช้ล่ามอังกฤษกับภาษาเจ้าบ้าน เพราะเจ้าหน้าที่และทนายจะได้ฟังออกด้วย ถ้าล่ามแปลตกหล่นทนายก็จะช่วยได้ ซึ่งกรณีของผม ทนายก็ช่วยเก็บประเด็นที่ล่ามตกหล่นไปสองสามหน ซึ่งถ้าเป็นล่ามไทย-ฟินน์ ผมและทนายและเจ้าหน้าที่ ก็ไม่อาจรับรู้ได้ว่าล่ามแปลตรงและครบถ้วนหรือไม่
ประเด็นสำคัญคือ เตรียมประเด็นให้การให้แม่นยำและถูกต้อง เพราะในขั้นตอนนี้ เจ้าหน้าที่เขามีสิทธิตรวจสอบข้อมูลของผู้ขอลี้ภัยด้วย ถ้าคำให้การเราพลาดเยอะ ก็จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของตัวเราด้วย ถ้าเตรียมแฟ้มเอกสารไปล่วงหน้าก็ดี (ในส่วนผมทนายพิมพ์บทความเจ้าปัญหา รวมทั้งหลักฐานว่าผมเป็นใคร ทำงานอะไรมาบ้าง ติดมาด้วย ไม่รวมส่วนที่ส่งไปให้ก่อนหน้านี้แล้ว รวมทั้ง ตม. ก็ยังมีหนังสือรับรอง 5 ฉบับที่องค์กรและบุคคลที่มีเครดิตเขียนรับรองให้ผมไว้แล้วด้วย)
อ้อ เตรียมลำดับการเล่าให้ดีนะฮะ อย่าวกไปวนมา เล่าประเด็นสำคัญๆ เป็นขั้นตอนไปว่า ว่า 1. เราคือใคร 2. เพราะอะไรต้องขอลี้ภัย 3. ถ้าทาง ตม. ส่งเรากลับบ้านจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา 4. หลักฐานแวดล้อมอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่า นักโทษการเมืองหรือนักโทษมาตรา 112 จะต้องเผชิญอันตรายและการเลือกปฏิบัติอย่างไรบ้างในประเทศไทย ในกระบวนการศาลไทย หรือ ในคุกไทย เป็นต้น
หนึ่งเดือนหลังจากการสัมภาษณ์ ผมได้รับแจ้งให้ไปฟังผล และรับทราบว่าทางแผนกตรวจคนเข้าเมืองฟินแลนด์อนุญาติให้ผมอยู่ฟินแลนด์ในฐานะผู้ลี้ภัยการเมือง และให้บัตรประจำตัวผู้อยู่อาศัยถาวรที่มีระยะเวลาครอบคลุม 4 ปี
ผมคือคนไทยคนแรกๆ ก็ว่าได้ ที่ขอลี้ภัยทางการเมืองที่ฟินแลนด์ ตลอดช่วงเวลาแห่งการดำเนินเรื่อง ผมได้รับการปฏิบัติจากทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ศูนย์พักพิงผู้ขอลี้ภัย ทนายความ หมอ และเจ้าหน้าที่กองตรวจคนเข้าเมือง ด้วยความเคารพในความเป็นมนุษย์ ไม่มีแม้แต่ครั้งเดียว ที่ผมจะรู้สึกว่าถูกดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีหรือถูกเลือกปฏิบัติ จากกระบวนการพิจารณาการขอลี้ภัยของผมครั้งนี้ - ผมขอขอบคุณฟินแลนด์เป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี้ ที่เคารพหลักการแห่งปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
- - - - - - - -
ก่อนตัดสินใจลี้ภัย ขอแนะนำให้เตรียมในประเด็นต่อไปนี้คือ
เตรียมใจและเตรียมตัว การขอลี้ภัยการเมืองไม่ใช่เรื่องเล็ก มันคือการขอเป็นประชากรของพลเมืองอีกประเทศหนึ่ง เพราะอยู่ในประเทศบ้านเกิดตัวเองไม่ได้ ถ้าไม่มีฐานะทางการเงินที่ดีพอ มันหมายถึงเราจะต้องเป็นภาระในการดูแลของประเทศผู้รับ หรือของหน่วยงาน UNHCR ที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้นๆ ดังนั้น การพิจารณารับเป็นผู้ลี้ภัยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเชื่อถือในน้ำหนักแห่งเหตุผลที่ผู้ขอนำเสนอไป และมีเงื่อนไขที่ต้องตระหนักว่า ถ้าไม่ได้รับรองสถานภาพ ผู้ขอลี้ภัยจะถูกส่งกลับประเทศบ้านเกิด และจะถูกแบนจากการเข้าประเทศนั้นตลอดไป ทั้งนี้ถ้าเคยถูกปฏิเสธการลี้ภัยในประเทศหนึ่งแล้ว การจะไปดำเนินเรื่องไปอีกประเทศหนึ่งยิ่งเป็นเรื่องยากขึ้นไปอีก ดังนั้น ถ้าจะขอลี้ภัยต้องมั่นใจในระดับหนึ่งว่าเราจะสามารถนำเสนอเหตุผลและหลักฐานได้มีน้ำหนักเพียงพอ โดยเฉพาะถ้าต้องการให้ได้รับการอนุมัติในเวลาไม่นานนักทุกขั้นตอน เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ ตม. จะเน้นย้ำมากว่า ต้องให้ปากคำตามข้อเท็จจริง - การเตรียมการให้ปากคำจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก แนะนำว่าต้องปรึกษาทนายความหรือมีทนายความดำเนินคดี (ในกรณีที่มีการจัดหาทนายให้ฟรีให้ใช้บริการ กรณีของประเทศฟินแลนด์ รัฐบาลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของทนายในกรณีให้ความช่วยเหลือผู้ขอลี้ภัย และผมโชคดีมาก ที่ได้ความช่วยเหลือจากทนายที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ระดับต้นๆ ของประเทศ มันช่วยได้เยอะเลย)
ถ้าท่านขอลี้ภัยผ่านทางองค์กร UNHCR ที่ตั้งอยู่ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนด้วยกัน ควรจะมีศักยภาพทางการเงินที่จะอยู่อาศัยในประเทศนั้นได้ การจะลี้ภัยไปประเทศที่สามจากกลุ่มประเทศอาเซียน เป็นไปได้ช้ามากหรืออาจจะไม่สำเร็จเลย ถ้าไม่มีเจ้าภาพหรือผู้ที่สนใจจะรับรองในประเทศที่ 3
ทุกประเทศในโลกนี้ที่ให้สัตยาบันปฏิญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่เป็นสมาชิกสหประชาติ มีภาระผูกพันตามบทบัญญัติมาตรา 14 ที่จะต้องดูแลผู้ลี้ภัยการเมือง
ดูรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติม http://www.unhcr.org/cgi-bin/texis/vtx/home