วันเสาร์, พฤษภาคม 31, 2557

ชี้ขบวนล่าแม่มดปลดทูตอเมริกัน พันพัวสาวกบลูสกาย



ได้ปรากฏมีเอกสาร แถลงการณ์กลุ่มคนไทยผู้รักประชาธิปไตยในสหรัฐ ชี้ให้เห็นความไม่ชอบมาพากลของการรณรงค์ให้คนไปลงชื่อสนับสนุน คำร้องให้ทำเนียบขาวเรียกตัวเอกอัคราชทูต สหรัฐประจำประเทศไทย คริสตี้ เค็นนี่ย์ กลับออกจากการดำรงตำแหน่งในกรุงเทพฯ

เอกสารแถลงการณ์ดังกล่าวบอกว่านั่นเป็นการรณรงค์ที่หวังผลเพียงประชาสัมพันธ์ให้ร้ายเอกอัคราชทูตหญิงชาวอเมริกัน (ดุจดังขบวนการล่าแม่มด) เนื่องจากไม่มีหลักฐาน และเหตุผลสนับสนุนประกอบให้คำร้องเกิดความน่าเชื่อถือแต่อย่างใด

อีกทั้งยังระบุว่าการร่วมลงชื่อให้ทำเนียบขาวเรียกตัวทูตคริสตี้กลับโดยไม่มีเหตุผลอันควรเช่นนี้จะเป็นเหตุให้สามารถถูกฟ้องร้องฐานแจ้งความเท็จได้ กลุ่มคนไทยผู้รักประชาธิปไตยดังกล่าวจึงร่วมกันแถลงขอให้ “โปรดอย่าได้ให้การสนับสนุน หรือคล้อยตามไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการ”
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวพิเศษไทยอีนิวส์ในท้องที่มลรัฐแคลิฟอร์เนียชี้แจงว่า ขบวนการล่าแม่มดต่อเอกอัคราชทูตคริสตี้นี้ก่อตัวขึ้นในหมู่ผู้สนับสนุนการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และผู้ติดตามรายการ บลูสกาย ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งดำเนินต่อเนื่องมาตลอดการสร้างวิกฤตปิดกรุงเทพฯ ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. จากภายในประเทศไทยและรับช่วงประสานกันมาโดยกลุ่ม พธม. (เดิม) ในแคลิฟอร์เนียภาคใต้ ซึ่งเปลี่ยนบทบาทมาส่งเสริมการประท้วงของ กปปส. พร้อมกับรองรับยุทธวิธีบ่อนทำลายฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของบลูสกาย

แนวคิดต่อต้านทูตคริสตี้น่าจะมาจากท่าทีท่านทูตแสดงการญาติดีกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ตามนโยบายของรัฐบาลโอบาม่า หัวหอกในการเรียกร้องให้ปลดทูตคริสตี้คนหนึ่งคือนายไมเคิล ยอน ช่างภาพอิสระวัย ๕๐ ปี เขาเป็นอดีตทหารอเมริกันในสงครามอิรักที่มาใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยมุ่งหมายเอาดีทางด้าน งานข่าวหนังสือพิมพ์ เคยติดตามนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับทีมงานผู้ช่วยของนายอภิสิทธิ์เมื่อครั้งนายอภิสิทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

นายไมเคิล ยอน เขียนความเห็นบนหน้าเฟชบุ๊คของเขาให้ นสพ. แนวหน้านำไปใช้ขยายผลว่า “วันเวลาการทำงานของคุณในประเทศไทยได้จบลง ถึงเวลาที่ต้องกลับบ้านแล้ว แม้เขาจะนำข่าวนั้นมาโพสต์ซ้ำด้วยคำนำว่า Misleading ทำให้เข้าใจผิด ก็ตามที จุดที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดคงจะเป็นกรณีนายไมเคิลไม่ใช่ผู้สื่อข่าวสงครามของเดอะนิวยอร์คไทมส์ดังที่ หนังสือพิมพ์แนวหน้า อ้างแต่อย่างใด
ไมเคิล ยอน ตอนติดตามนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ครั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรี
ถึงอย่างไรนายไมเคิลก็จัดเป็นตัวการสำคัญคนหนึ่งในการชักนำให้คนไทยที่ชื่นชอบเขาบนหน้าเฟชบุ๊ค (ซึ่งปัจจุบันลงข้อความด้วยภาษาไทยมากกว่าภาษาอังกฤษ) เข้าไปยังเว็บไซ้ท์ เราประชาชนของทำเนียบขาว เพื่อลงชื่อสนับสนุนคำร้องปลดทูตคริสตี้ดังกล่าวด้วยข้อความที่บอกว่า 

“คุณไม่จำเป็นต้องมีสัญชาติอเมริกัน หรือ อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ เพื่อที่จะลงชื่อในคำร้องนี้ และ รหัสไปรษณีย์ก็ไม่จำเป็น”

ซึ่งโดยข้อเท็จจริงก็เป็นเช่นนั้นเนื่องจากเว็บไซ้ท์ของทำเนียบขาวแห่งนี้มีไว้เพื่อให้ประชาชนได้ระบายความในใจต่อปัญหากิจการสาธารณะ ผู้เข้าไปยื่นคำร้องหรือสนับสนุนคำร้องเดิมเพียงให้ชื่อนามสกุล เมืองและมลรัฐที่อยู่อาศัย กับที่อยู่อีเมลเท่านั้น ทั้งยังไม่ต้องแจ้งรหัสไปรษณีย์ซึ่งมักใช้เพื่อการตรวจสอบที่อยู่จริงด้วย

โดยระเบียบการมีว่า คำร้องแต่ละอันจะต้องได้รับการสนับสนุนถึง ๑ แสนภายในเวลา ๑ เดือน จึงจะได้รับการหยิบไปตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเหตุผลอ้างอิงสนับสนุนว่าฟังขึ้นแล้วจึงมีกระบวนการพิจารณา ทั้งนี้ตัวอย่างที่นายไมเคิล ยอน ใช้บนเฟชบุ๊คของเขาเพื่อชักนำให้คนไทยแห่ไปลงชื่อสนับสนุนแบบ Flood Web ดังระบุในเอกสารต้านนั้น

กรณีเรียกร้องให้ถอนใบอนุญาตอยู่อาศัยถาวรในสหรัฐ (ใบเขียว) ของนักร้องวัยรุ่นชาวแคนาดา จัสติน บีเบอร์ แม้ว่าจะได้รับรายชื่อสนับสนุนถึงกว่าสองแสนนาม ครั้นเมื่อทำเนียบขาวพิจารณารายละเอียดข้อเท็จจริงถี่ถ้วนแล้วก็วินิจฉัยว่าไม่สามารถทำได้เพราะจัสตินไม่ได้ประพฤติผิดใดๆ 

ทว่าเรื่องนั้นก็ได้กลายเป็นข่าวใหญ่กระจายออกไปทั่วโลก นี่คงเป็นเจตนาที่นายไมเคิล ยอน นสพ.แนวหน้า และกลุ่มคนไทยที่สนับสนุนบลูสกายในอเมริกาต้องการ และหวังผลมากกว่าที่จะมีการเรียกตัวทูตคริสตี้กลับจริงๆ

แต่กระนั้นผู้ที่ยื่นคำร้องต่อทำเนียบขาวเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ศกนี้ ซึ่งให้นามอันปรากฏเป็นอักษรย่อว่า T.D. ใช้ที่อยู่ในเมืองการ์เด็น โกร๊ฟ แคลิฟอร์เนีย (ภาคใต้) อันเป็นแหล่งที่อดีต พธม. กลุ่มสนับสนุนบลูสกาย และ กปปส. เคยจัดงานต้อนรับนายสนธิ ลิ้มทองกุล และนายสนธิญาน ชื่นฤทัยในธรรม ก็น่าจะเป็นคนไทยในสหรัฐที่มีสถานะเป็นพลเมืองอเมริกันอันถูกต้อง ซึ่งย่อมสามารถชี้ตัวได้ง่ายหากมีการแจ้งความกลับต่อเขา