.webp)
"ไม่มีโรงพยาบาล ก็แทบไม่เหลือความหวัง" สำรวจวิกฤตสาธารณสุขชายแดนไทย-เมียนมา หลังสหรัฐฯ ตัดงบ USAID
ปณิศา เอมโอชา
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
19 กุมภาพันธ์ 2025
ชีวิตของผู้ลี้ภัยในไทย หรือหากว่ากันตามกฎหมายที่แท้จริง คือกลุ่มคนที่มีสถานะเป็น "ผู้หนีภัยการสู้รบ" ซึ่งอาศัยอยู่ในไทยมาแล้วกว่า 40 ปี กลับมาถูกพูดถึงอย่างมากอีกครั้ง เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีเพื่อหยุดจ่ายงบประมาณของหน่วยงานอย่าง องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ หรือ USAID (The United States Agency for International Development)
จากวิกฤตสาธารณสุขเร่งด่วนในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา บีบีซีไทยชวนตั้งคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลและคนไทยควรหันมามองและหาทางออกให้กับพวกเขาเหล่านี้
บีบีซีไทยลงพื้นที่ จ.ตาก ซึ่งเป็นที่ตั้งของค่ายผู้หนีภัยการสู้รบในเมียนมาสามแห่งเพื่อสำรวจผลกระทบทางสาธารณสุขและการใช้ชีวิตของผู้หนีภัยการสู้รบเหล่านี้ หลังมีคำสั่งตัดงบ USAID ของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ค่ายผู้หนีภัยทั้งสามแห่งที่บีบีซีไทยเดินทางไปสำรวจประกอบด้วย ศูนย์พักพิงชั่วคราวแม่หละใน อ.ท่าสองยาง ซึ่งเป็นศูนย์ที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2527 และยังเป็นศูนย์ที่รองรับผู้หนีภัยสงครามมากถึงราว 37,000 คน นอกจากนี้ยังมีศูนย์อุ้มเปี้ยมใน อ.พบพระ และศูนย์นุโพที่ อ.อุ้มผาง
"คนป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลถูกบอกให้กลับบ้าน และแม้ว่าจะมียาอยู่ แต่พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้มัน" ผู้หนีภัยการสู้รบในเมียนมาคนหนึ่งจากศูนย์พักพิงชั่วคราวอุ้มเปี้ยม บอกกับบีบีซีไทยในการสัมภาษณ์พิเศษ
ในบทสัมภาษณ์นี้ เราเรียกชื่อเขาว่า โมซาน (นามสมมติ)
บีบีซีไทยไม่อาจเปิดเผยตัวตนของเขาได้ เนื่องจากสถานะของผู้หนีภัยการสู้รบ แม้หลายครั้งจะถูกทับศัพท์ด้วยคำว่า "ผู้ลี้ภัย" แต่ที่จริงพวกเขาเป็นเพียง "ผู้หนีภัยสงคราม" และไม่ได้มีสิทธิทางกฎหมายเทียบเท่ากับผู้ลี้ภัย
ตลอดระยะเวลา 41 ปี ผู้ที่หลบหนีภัยสงครามเมียนมาในไทย หรือบางคนที่เกิดในค่ายเหล่านี้ รวมถึงกลุ่มที่ย้ายมาภายหลัง ไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากศูนย์พักพิงของตัวเองเพื่อไปหางานทำ และไม่สามารถใช้ชีวิตปกตินอกค่ายฯ อย่างถูกกฎหมายได้

โมซาน (นามสมมติ) ผู้หนีภัยการสู้รบในเมียนมาคนหนึ่ง ซึ่งอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวอุ้มเปี้ยม
คำสั่งทรัมป์และจุดเริ่มต้นของวิกฤตสุขภาพ
หลังโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่สองอย่างเป็นทางการ เขาได้ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีฉบับหนึ่งที่มีชื่อว่า "การประเมินใหม่และปรับแนวทางความช่วยเหลือต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา"
สาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าวคือการระงับความช่วยเหลือด้านการพัฒนาต่างประเทศของสหรัฐฯ เป็นเวลา 90 วัน เพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่ประเมินว่าโครงการต่าง ๆ สอดคล้องกับนโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน" ของทรัมป์หรือไม่

ประกาศดังกล่าวส่งผลให้คณะกรรมการช่วยเหลือและกู้ภัยนานาชาติ (International Rescue Committee หรือ IRC ) ออกประกาศในวันที่ 28 ม.ค. ว่าพวกเขาจำเป็นต้องหยุดกิจกรรมทั้งหมดที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นเวลาสามเดือนในพื้นที่พักพิงชั่วคราวของผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาทั้งสิ้น 7 แห่ง
ที่ผ่านมาองค์กร IRC เป็นผู้รับผิดชอบหลักต่อโรงพยาบาลในศูนย์พักพิงทั้ง 7 แห่งนี้ ซึ่งนั่นรวมถึงบริการแผนกผู้ป่วยนอก บริการฉีดวัคซีน การดูแลการฝากครรภ์ การคลอด หลังคลอด รวมไปถึงบริการด้านสุขภาพอื่น ๆ

"ตอนนี้พวกเราไม่มีคุณหมอแล้ว [หมอทำคลอด] ก็ไม่มีแล้ว มีแต่หมอตำแย มีแบบนี้ อันนี้ก็ยาก" ซอ บเว เซ เลขาธิการคณะกรรมการผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยง (Karen Refugee Committee - KRC) บอกกับบีบีซีไทย
"มันเป็นเรื่องที่บีบหัวใจ ไม่รู้จะพูดอะไร รู้สึกหมดหวัง เวลาต้องเจ็บป่วยแต่ไม่มีเงิน ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีโรงพยาบาล ก็แทบไม่เหลือความหวังอะไรเลย" โมซานบอกกับเรา
ช่วงตลอดสองสัปดาห์แรก หลัง IRC ถอนเจ้าหน้าที่ออกไปจากค่ายผู้พักพิง ซอ บเว เซ บอกกับบีบีซีไทยว่ามีความพยายามจากคณะกรรมการผู้ลี้ภัย หัวหน้าค่ายผู้พักพิง และเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดและอำเภอในการจัดตั้งสถานที่ทางการแพทย์ชั่วคราวขึ้นมาในค่ายแม่หละ แทนที่โรงพยาบาลของ IRC ที่ถูกล็อคอยู่

ภาพถ่ายสถานที่ทางการแพทย์ชั่วคราว สำหรับผู้ป่วยภายในค่ายแม่หละ ซึ่งบีบีซีไทยได้รับมาเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2568

ภาพด้านนอกสถานที่ทางการแพทย์ชั่วคราวสำหรับผู้ป่วยในค่ายแม่หละ ซึ่งบีบีซีไทยได้รับมาเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2568
สำหรับค่ายอุ้มเปี้ยม โมซานเปิดเผยว่า เขาทราบข่าวว่า "ทางการและผู้นำค่ายกำลังหารือกันเพื่อวางแผนแก้ไขปัญหา แต่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง"
"พวกเขายังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไปในอนาคต คุณไม่ได้รับอนุญาตให้แตะต้องสิ่งใด และไม่มีใครได้รับอนุญาตให้เข้าไป [ในโรงพยาบาลของ IRC]" โมซานกล่าวกับบีบีซีไทย
เมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา บีบีซีไทยได้รับฟุตเทจวิดีโอซึ่งถูกถ่ายจากภายในค่ายอุ้มเปี้ยม และพบว่าโรงพยาบาลของ IRC ยังคงถูกปิดอยู่
ทั้งนี้ บีบีซีไทยไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปตรวจสอบภายในพื้นที่ศูนย์พักพิงของผู้ลี้ภัยใน จ.ตาก

โรงพยาบาลของ IRC ในค่ายอุ้มเปี้ยม ปิดให้บริการนับตั้งแต่ถูกตัดเงินช่วยเหลือจากสหรัฐฯ บีบีซีไทยได้รับบันทึกภาพดังกล่าวมาเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2568
เมื่อความช่วยเหลือ 40 ปี หยุดชะงักลงทันที
"ต้องบอกว่าเราก็ช็อก เพราะ 40 ปีที่ผ่านมา ไม่ใครคิดว่าจะหยุดการช่วยเหลือแบบเฉียบพลันขนาดนี้มาก่อน เราก็นึกว่าอาจจะค่อย ๆ ชะลอตัวลง มันเป็นความเปลี่ยนแปลงแบบรวดเร็วมาก" แพทย์หญิงณัฐกานต์ ชื่นชม หรือ "หมอเบียร์" อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลแม่สอด บอกกับบีบีซีไทย
หมอเบียร์ เล่าว่าตลอด 21 ปีที่เธอทำงานในโรงพยาบาลแม่สอด เธอได้เห็นบทบาทสำคัญขององค์กรระหว่างประเทศที่เข้ามาดูแลกลุ่มผู้ลี้ภัย และได้ทำงานร่วมกันมาโดยตลอด โดยที่ผ่านมาโรงพยาบาลแม่สอดทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนรายเล็กมากกว่า 20 ราย และรายใหญ่อีก 5 ราย
เมื่อถามถึงความสำคัญของ IRC เธอบอกว่า "นี่คือองค์กรหลักในการดูแลคนไข้ในค่ายอพยพ"
เธออธิบายว่า ในค่ายจะมีโรงพยาบาลขนาดประมาณ 60-100 เตียง และจะมีแพทย์ของทาง IRC รวมไปถึงพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินการแพทย์ชาวกะเหรี่ยงซึ่งได้รับการฝึกสอนให้ปฏิบัติงานได้
พญ.ณัฐกานต์ บอกด้วยว่าที่ผ่านมาจะมีการส่งต่อผู้ป่วยออกมายังโรงพยาบาลในพื้นที่นอกค่ายอพยพ สำหรับกรณีที่ "เกินศักยภาพของเขา" หรือโรงพยาบาลด้านในค่าย อาทิ เมื่อเกิดภาวะการคลอดติดขัด หรือโรคด้านอายุรกรรมอื่น ๆ เช่น เมื่อต้องใส่ท่อช่วยหายใจ หรือภาวะหัวใจวาย
อีกหนึ่งหัวใจสำคัญของหน่วย IRC คือเมื่อมีผู้ป่วยเร่งด่วนที่จะต้องส่งต่อจากโรงพยาบาลในค่ายออกมาที่โรงพยาบาลด้านนอก พวกเขาจะมีรถยนต์ส่งตัวคนไข้เป็นของตัวเอง
"ปกติที่ชายแดนมันจะเป็นการแพทย์ที่มาช้าอยู่แล้ว บางทีป่วยมาเป็นอาทิตย์แล้ว หาสมุนไพรกิน ไปทำไสยศาสตร์กันบ้าง กว่าจะมาถึงเราคือแย่งอมมาแล้ว ถ้าเป็นศูนย์อพยพ การออกมาของเขาก็ยากแล้ว การขนส่งก็มีปัญหา จากเดิมมีรถขนส่งมา อันนี้ต้องเอารถเราเข้าไปรับเป็น 2 เที่ยว" พญ.ณัฐกานต์ กล่าวถึงสถานการณ์เมื่อหน่วย IRC ไม่สามารถปฏิบัติงานได้

ภาพทีมบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก
เธอยกตัวอย่างว่า ไม่กี่วันก่อนที่บีบีซีไทยจะลงพื้นที่สัมภาษณ์เธอในช่วงต้นเดือน ก.พ. ที่โรงพยาบาลแม่สอด มีกรณีหนึ่งเป็นคุณป้ามีอายุเกิดอาการเจ็บหน้าอกเป็นเวลาหลายชั่วโมงแล้ว จึงมีการเรียกรถจากโรงพยาบาลท่าสองยางให้ไปรับตัว เมื่อไปถึงโรงพยาบาลคนไข้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นและต้องปั๊มหัวใจขึ้นมา พร้อมใส่ท่อช่วยหายใจ ทว่าระหว่างเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลท่าสองยาง เธอก็เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดก่อนที่จะหัวใจวาย
"สุดท้าย ส่งมาที่โรงพยาบาลแม่สอด เข้าไอซียูไปแล้วไม่ตื่น เพราะปั๊มหัวใจใช้เวลานาน เป็นโคม่าและเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อวานนี้"
"เคสนี้อาจจะไม่ได้เป็นการสะท้อนภาพทั้งหมดในตอนนี้ แต่เราก็คาดเดาได้ถ้าเราอยู่ที่นี่มานาน ว่าถ้าภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป มันก็ต้องเป็นการแพทย์ที่มาช้าไปอีก เนื่องจากเขาเข้าถึงบริการช้า" พญ.ณัฐกานต์ กล่าว
ด้าน นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง จ.ตาก ระบุถึงความน่ากังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้ป่วยในค่ายผู้ลี้ภัยแม่หละ โดยพบว่าการดูแลทางการแพทย์ยังขาดแคลน เช่น กรณีผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกทางเดินอาหารได้รับเพียงน้ำเกลือโดยไม่มีการตรวจเลือดหรือให้เลือดตามความจำเป็น
นอกจากนี้ ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ อาทิ เครื่องอัลตราซาวด์ที่มีการแจ้งว่ามี แต่เจ้าหน้าที่กลับระบุว่าไม่มี รวมถึงการเฝ้าระวังโรคระบาด เช่น อหิวาตกโรค ที่แม้ IRC จะส่งชุดตรวจมาแล้ว แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่ทราบว่ามีชุดดังกล่าว สะท้อนถึงปัญหาการสื่อสารและความไม่พร้อมในระบบสาธารณสุขของค่ายผู้ลี้ภัย
เมื่อการรักษาชีวิตมนุษย์ ต้องแลกมากับภาระบนบ่าหมอ
แพทย์หญิงณัฐกานต์ ชื่นชม หรือ "หมอเบียร์" อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลแม่สอด จ.ตาก
ในวันที่บีบีซีไทยลงไปสัมภาษณ์ พญ.ณัฐกานต์ เธอได้จรดปากกาเซ็นใบลาออกไปเรียบร้อยแล้ว
"เหตุผลของเราน่าจะเป็น 'เบิร์นเอาท์' เพราะภาระงานเยอะ สุขภาพกาย สุขภาพใจมันเครียด แต่ที่เรายังอยู่ เพราะเราคิดว่าเรายังมีประโยชน์กับชายแดน แล้ว ณ จุดหนึ่ง เรารู้สึกว่าเราช่วยระบบราชการมาเยอะแล้ว ตอนนี้ขอออกไปพักก่อน ออกไปบำรุงสุขภาพกาย สุขภาพใจ ให้เรากลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม แล้วก็อาจจะรอวันให้มีการจัดสรรงานให้มันเหมาะมากขึ้น"
ในมุมมองของแพทย์หญิงคนนี้ โรงพยาบาลแม่สอดกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์อย่างหนัก
"เดิมมี [แพทย์] 80 คน ปีนี้ลาออกไปบ้าง ย้ายบ้าง เหลือ 72 คน ต้องดูแลคนไข้ในพื้นที่ประมาณ 400,000-500,000 คน" พญ.ณัฐกานต์ ระบุ
เมื่อดูภาระงานของแพทย์ในโรงพยาบาลแม่สอด พญ.ณัฐกานต์ บอกว่า แพทย์อายุรกรรมหนึ่งคนต้องตรวจผู้ป่วยนอก 15,000-20,000 ครั้ง/ปี และผู้ป่วยในประมาณ 1,500-2,000 คน/ปี หรือคิดเป็นผู้ป่วยนอกราว 40-50 คน/วัน และผู้ป่วยในอีกวันละ 4-5 คน
"อย่างหมอผ่าตัดสมองเรา ก่อนหน้านี้เคยมี 1 คน ลาออกไป เพราะว่าไม่ไหวค่ะ เบิร์นเอาท์ ผ่าอยู่คนเดียว คนหนึ่งคนภาระงานเยอะมาก ทำคนเดียวไม่ไหว เพราะฉะนั้น หมอที่ยังอยู่ได้ ส่วนใหญ่จะมีหลายคนในแต่ละแผนก"
นอกจากหมอแล้ว พยาบาลก็รับภาระหนักไม่แพ้กัน ภาวะบุคลากรไม่เพียงพอส่งผลให้พยาบาลบางแผนกต้องทำงาน "เกือบทุกวันในเดือนหนึ่ง"
"ปกติคนเราควรทำงาน 5 วัน หยุด 2 วันใช่ไหมคะ แต่พยาบาลบางวอร์ด เดือนหนึ่งได้พักแค่ 1 วัน ต้องทำ 29 วัน ซึ่งรวมทั้งเวรปกติและโอที"
"บางคนบอกว่าไม่ต้องการเงินแล้ว เขาต้องการเวลามากกว่า บางคนมีครอบครัว มีพ่อแม่ป่วย ลูกป่วย สามีป่วย แต่ก็ต้องมาขึ้นเวร บางทีต้องเห็นพยาบาลแลกเวรกัน ต้องร้องไห้ เพราะไม่มีใครมาทำแทนจริง ๆ"
บีบีซีไทยได้ติดต่อไปยัง นพ.รเมศ ว่องวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด เพื่อสอบถามถึงสถานการณ์ของแพทย์ในโรงพยาบาลจากภาวะบุคลากรไม่เพียงพอ แต่เมื่อถึงวันสัมภาษณ์เกิดเหตุการณ์ด่วนจึงไม่สามารถให้สัมภาษณ์ได้
อย่างไรก็ดี เมื่อสอบถามไปยัง นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 ซึ่งลงพื้นที่ค่ายผู้อพยพใน จ.ตาก เขาบอกกับบีบีซีไทยว่าในการมาตรวจพื้นที่ครั้งนี้ "บุคลากรของเราในโรงพยาบาลชายแดนทั้งหมด ก็มีความเข้าใจดี และก็มีขวัญกำลังใจดี"
"คนไทยต้องมาก่อน" หรือเป็น "หน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องลงมาจัดการ"
นับตั้งแต่ที่มีกระแสข่าวเรื่องผู้ลี้ภัยเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในเชิงสาธารณสุข ซึ่งออกมาพร้อมกับเรื่องภาระงานที่ล้นเกินของบุคลากรทางการแพทย์
ความคิดเห็นบนโลกออกไลน์จำนวนไม่น้อยแสดงความเห็นและตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ถึงไม่เลือกช่วยคนไทย "ที่เสียภาษี" ก่อน
นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผอ.โรงพยาบาลท่าสองยาง ขอให้สังคมไทยเห็นใจคนทำงานเพราะเป็นหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ตามหลักมนุษยธรรม
"เวลาเราเจอสุนัขโดนรถชน เรายังอยากไปช่วยเขาเลย อันนี้คนตาดำ ๆ เห็นเด็ก เห็นแม่ เราจะไม่ช่วยเขาเหรอครับ คือคุณไม่อยู่หน้างาน เราพูดไม่ออกครับ เราไม่ช่วยแล้วปล่อยให้เขาตาย มันใจร้ายไปไหม" นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผอ.โรงพยาบาลท่าสองยาง กล่าว
"ผมว่าคนไทยควรจะยินดี ที่เรามีหมออย่างนี้... ผมคิดว่าไม่ใช่ว่าคนไทยเราไม่ได้ดูแล คือใครมาหาเรา เราดูแลหมด คือผมอยากให้สังคมไทยเห็นใจคนที่เขาทำงานด้วยครับ คือเราก็ถูกสอนมาให้ช่วยคน คุณเป็นคนอะไร เราก็ช่วยครับ"
ในวันที่บีบีซีไทยลงไปสัมภาษณ์ พญ.ณัฐกานต์ เธอได้จรดปากกาเซ็นใบลาออกไปเรียบร้อยแล้ว
"เหตุผลของเราน่าจะเป็น 'เบิร์นเอาท์' เพราะภาระงานเยอะ สุขภาพกาย สุขภาพใจมันเครียด แต่ที่เรายังอยู่ เพราะเราคิดว่าเรายังมีประโยชน์กับชายแดน แล้ว ณ จุดหนึ่ง เรารู้สึกว่าเราช่วยระบบราชการมาเยอะแล้ว ตอนนี้ขอออกไปพักก่อน ออกไปบำรุงสุขภาพกาย สุขภาพใจ ให้เรากลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม แล้วก็อาจจะรอวันให้มีการจัดสรรงานให้มันเหมาะมากขึ้น"
ในมุมมองของแพทย์หญิงคนนี้ โรงพยาบาลแม่สอดกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์อย่างหนัก
"เดิมมี [แพทย์] 80 คน ปีนี้ลาออกไปบ้าง ย้ายบ้าง เหลือ 72 คน ต้องดูแลคนไข้ในพื้นที่ประมาณ 400,000-500,000 คน" พญ.ณัฐกานต์ ระบุ
เมื่อดูภาระงานของแพทย์ในโรงพยาบาลแม่สอด พญ.ณัฐกานต์ บอกว่า แพทย์อายุรกรรมหนึ่งคนต้องตรวจผู้ป่วยนอก 15,000-20,000 ครั้ง/ปี และผู้ป่วยในประมาณ 1,500-2,000 คน/ปี หรือคิดเป็นผู้ป่วยนอกราว 40-50 คน/วัน และผู้ป่วยในอีกวันละ 4-5 คน
"อย่างหมอผ่าตัดสมองเรา ก่อนหน้านี้เคยมี 1 คน ลาออกไป เพราะว่าไม่ไหวค่ะ เบิร์นเอาท์ ผ่าอยู่คนเดียว คนหนึ่งคนภาระงานเยอะมาก ทำคนเดียวไม่ไหว เพราะฉะนั้น หมอที่ยังอยู่ได้ ส่วนใหญ่จะมีหลายคนในแต่ละแผนก"
นอกจากหมอแล้ว พยาบาลก็รับภาระหนักไม่แพ้กัน ภาวะบุคลากรไม่เพียงพอส่งผลให้พยาบาลบางแผนกต้องทำงาน "เกือบทุกวันในเดือนหนึ่ง"
"ปกติคนเราควรทำงาน 5 วัน หยุด 2 วันใช่ไหมคะ แต่พยาบาลบางวอร์ด เดือนหนึ่งได้พักแค่ 1 วัน ต้องทำ 29 วัน ซึ่งรวมทั้งเวรปกติและโอที"
"บางคนบอกว่าไม่ต้องการเงินแล้ว เขาต้องการเวลามากกว่า บางคนมีครอบครัว มีพ่อแม่ป่วย ลูกป่วย สามีป่วย แต่ก็ต้องมาขึ้นเวร บางทีต้องเห็นพยาบาลแลกเวรกัน ต้องร้องไห้ เพราะไม่มีใครมาทำแทนจริง ๆ"
บีบีซีไทยได้ติดต่อไปยัง นพ.รเมศ ว่องวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด เพื่อสอบถามถึงสถานการณ์ของแพทย์ในโรงพยาบาลจากภาวะบุคลากรไม่เพียงพอ แต่เมื่อถึงวันสัมภาษณ์เกิดเหตุการณ์ด่วนจึงไม่สามารถให้สัมภาษณ์ได้
อย่างไรก็ดี เมื่อสอบถามไปยัง นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 ซึ่งลงพื้นที่ค่ายผู้อพยพใน จ.ตาก เขาบอกกับบีบีซีไทยว่าในการมาตรวจพื้นที่ครั้งนี้ "บุคลากรของเราในโรงพยาบาลชายแดนทั้งหมด ก็มีความเข้าใจดี และก็มีขวัญกำลังใจดี"
"คนไทยต้องมาก่อน" หรือเป็น "หน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องลงมาจัดการ"
นับตั้งแต่ที่มีกระแสข่าวเรื่องผู้ลี้ภัยเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในเชิงสาธารณสุข ซึ่งออกมาพร้อมกับเรื่องภาระงานที่ล้นเกินของบุคลากรทางการแพทย์
ความคิดเห็นบนโลกออกไลน์จำนวนไม่น้อยแสดงความเห็นและตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ถึงไม่เลือกช่วยคนไทย "ที่เสียภาษี" ก่อน
นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผอ.โรงพยาบาลท่าสองยาง ขอให้สังคมไทยเห็นใจคนทำงานเพราะเป็นหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ตามหลักมนุษยธรรม
"เวลาเราเจอสุนัขโดนรถชน เรายังอยากไปช่วยเขาเลย อันนี้คนตาดำ ๆ เห็นเด็ก เห็นแม่ เราจะไม่ช่วยเขาเหรอครับ คือคุณไม่อยู่หน้างาน เราพูดไม่ออกครับ เราไม่ช่วยแล้วปล่อยให้เขาตาย มันใจร้ายไปไหม" นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผอ.โรงพยาบาลท่าสองยาง กล่าว
"ผมว่าคนไทยควรจะยินดี ที่เรามีหมออย่างนี้... ผมคิดว่าไม่ใช่ว่าคนไทยเราไม่ได้ดูแล คือใครมาหาเรา เราดูแลหมด คือผมอยากให้สังคมไทยเห็นใจคนที่เขาทำงานด้วยครับ คือเราก็ถูกสอนมาให้ช่วยคน คุณเป็นคนอะไร เราก็ช่วยครับ"

นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผอ.โรงพยาบาลท่าสองยาง
สำหรับ นพ.ธวัชชัย ปัญหาไม่ได้อยู่ที่แพทย์ต้องมาช่วยรักษาคน แต่คือการที่ทรัพยากรจากส่วนกลาง โดยเฉพาะงบประมาณมีลงมาถึงโรงพยาบาลชายแดนไม่เพียงพอ
"ตอนนี้ทางรัฐบาลเองยังไม่ได้จัดสรรงบลงมา ให้เราใช้เงินบำรุง ถ้าไม่เพียงพอก็จะขอสนับสนุนจากโรงพยาบาลแม่สอดก่อน" นพ.ธวัชชัย กล่าวกับบีบีซีไทยเมื่อต้นเดือน ก.พ.
ในวันที่เข้าไปสัมภาษณ์ นพ.ธวัชชัย บีบีซีไทยได้รับอนุญาตจากทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ป่วยเพื่อเข้าไปดูสภาพความเป็นอยู่และการรักษาของโรงพยาบาลท่าสองยาง
ในวอร์ดผู้ป่วยผู้ใหญ่ เมื่อเดินขึ้นบันไดมาจะพบว่าโถงทางเดิน ซึ่งควรมีไว้ใช้เป็นทางเดิน เต็มไปด้วยเตียงคนไข้ที่อาการไม่หนัก พร้อมกับญาติ ๆ ที่กำลังนอนหลับอยู่บนเตียงเดียวกับผู้ป่วยบ้าง ฟุบหน้าอยู่ข้าง ๆ บ้าง

เมื่อเดินถัดเข้ามาด้านใน จะพบกับวอร์ดที่มีผู้ป่วยนอนเรียงกันแถวละ 5 คน หันหน้าเข้าหากันเต็มพื้นที่ ห้องที่เคยถูกใช้เป็นห้องไอซียูก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่วางเตียงคนไข้ที่ถูกเสริมเข้ามา เหตุที่สภาพของโรงพยาบาลเป็นเช่นนี้ก็เพราะ "ที่ไม่พอ" นพ.ธวัชชัย บอก
หนึ่งในผู้ป่วยที่บีบีซีไทยมีโอกาสได้พูดคุยด้วยกับญาติที่มาเฝ้าไข้ผ่านล่ามภาษากะเหรี่ยง เล่าให้เราฟังว่า ชายหนุ่มวัย 26 ปี ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในค่ายแม่หละ พบก้อนเนื้อร้ายเมื่อ 3 ปีก่อน และมีการผ่าตัดชิ้นเนื้อออกแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น ช่วงที่ผ่านมาก็มีการรักษาในโรงพยาบาลในค่ายผู้ลี้ภัย ก่อนที่สุดท้ายจะถูกส่งตัวมายังโรงพยาบาลท่าสองยาง

ผู้ป่วยชายหนุ่มกะเหรี่ยงที่กำลังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลท่าสองยาง
"ผมเข้าใจว่าเราไม่ได้มีงบประมาณเพียงพอที่จะช่วยได้ทุกคนขนาดนั้น แต่คนที่เขาลำบากมาหาเรา จะตาย เราก็ต้องช่วยเขาไว้ก่อน" นพ.ธวัชชัย กล่าว
ไม่ใช่แค่ปัญหาผู้ลี้ภัย นี่คือปัญหาของไทยด้วย
ค่ายผู้ลี้ภัยจากเมียนมาในประเทศไทยก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2527 ตามมติของรัฐบาลไทยในสมัยนั้น โดยมีจุดประสงค์ให้เป็นที่พักพิงชั่วคราวแก่ผู้หนีภัยสงคราม
อย่างไรก็ตาม เวลาผ่านไปกว่า 40 ปี ผู้ลี้ภัยหลายหมื่นหรือนับแสนคนยังคงอาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ เนื่องจากเมียนมาประสบสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 80 ปี ทำให้การส่งกลับประเทศต้นทางแทบเป็นไปไม่ได้
วรัตน์ ชวรางกูร ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Thailand Migration Reform และอนุกรรมาธิการในคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนต่อการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ สภาผู้แทนราษฎร บอกกับบีบีซีไทยว่า แม้การตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามจะเป็นอีกทางออก แต่จำนวนผู้อพยพที่ได้รับการรับรองโดยประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ กลับลดลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งหยุดรับไปในยุคของโดนัลด์ ทรัมป์ สมัยที่สอง ส่งผลให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศลดลง ค่ายผู้ลี้ภัยหลายแห่งประสบปัญหาด้านสาธารณสุขและสวัสดิการขั้นพื้นฐาน

ผู้ลี้ภัยส่วนมากเป็นชนกลุ่มน้อยชาวกะเหรี่ยงและกะเรนนี
ตามข้อมูลจากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ผู้ลี้ภัยกว่า 120,000 คน จากค่ายพักพิงทั้ง 9 แห่งในประเทศไทย ถูกส่งไปตั้งรกรากใหม่ในสหรัฐฯ แคนาดา หรือออสเตรเลียแล้ว
เมื่อทางเลือกทั้งสองไม่อาจเป็นไปได้อีกต่อไป นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวบางส่วนจึงเสนอให้รัฐบาลไทยพิจารณาแนวทางใหม่ คือการให้สถานะทางกฎหมายแก่ผู้ลี้ภัยเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระและพึ่งพาตนเองได้
"มันสามารถมองได้หลายมุม เราต้องมองว่าการช่วยเหลือเชิงมนุษยธรรม คนกลุ่มนี้เขามาตั้งแต่ 40 ปีที่แล้ว เขารับความช่วยเหลืออย่างเดียว งานก็ทำไม่ได้ ดังนั้น การที่เราเอาเขาไว้อย่างนั้น 40 ปี ให้พึ่งความช่วยเหลืออย่างเดียว ระดับความต้องการการพึ่งพาของเขามากแค่ไหน มันก็ไม่แปลก เราก็ต้องให้ความช่วยเหลือเขา มันเป็นลูกโซ่ของกรอบที่รัฐได้วางเอาไว้"
เมื่ออ้างอิงจากเอกสารรายงานการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร พบว่าที่ผ่านมาไทย "ไม่ได้มีการตั้งงบประมาณเป็นการเฉพาะที่ช่วยเหลือคนต่างชาติและไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเกิดขึ้น"
ขณะที่นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม (ปธ.) ในฐานะกรรมาธิการว่าด้วยการส่งเสริมกฎหมายมนุษยธรรม กล่าวกับดิ แอคทีฟ ไทยพีบีเอสว่า ว่า ก่อนหน้านี้ค่ายผู้ลี้ภัยทั้งหมด 9 แห่งของไทย ใช้งบประมาณจากเงินบริจาคของต่างประเทศ 100%
เมื่อวันนี้สหรัฐฯ สั่งให้มีการชะลอความช่วยเหลือ คำถามคือถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลไทยจะเข้ามาจัดการปัญหานี้โดยตรง
"จริง ๆ วิกฤตนี้มันเกิดขึ้นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว แต่เราเพิ่งมาคุยกัน เพราะเราเอาเขาไว้ใต้พรมมาตลอด" วรัตน์ กล่าวกับบีบีซีไทย
ชีวิตผู้ลี้ภัย บางคนเกิดที่ไทย แล้วต้องตายที่ไหน ?
สำหรับ ซอ บเว เซ ซึ่งปัจจุบันมีบัตรประชาชนไทย เขาบอกกับบีบีซีไทยว่า "ขอบคุณ… พวกเรามาอยู่ประเทศไทยจะครบ 50 ปี แล้ว สมมติว่าอยู่ในบ้านนะ อยู่ 50 ปีแล้ว ในบ้านนี่พวกเราอาจจะทำดีก็มี ทำไม่ดีก็มี ถ้าตามกฎหมายก็มีความผิดเยอะ แต่พวกเราอยู่ได้เพราะความเห็นอกเห็นใจ อยากจะขอบคุณคนไทย รัฐบาล พระเจ้าอยู่หัว"
เขาบอกว่า ผู้ลี้ภัยหลายคนที่อยู่ที่นี่มาหลายสิบปีหรือบางคนที่เกิดและโตในค่ายนั้น เหลือเพียงส่วนน้อยแล้วที่อยากจะกลับมาตุภูมิ เพราะหลายคนไม่ได้มีความยึดโยงกับแผ่นดินเมียนมาอีกแล้ว ขณะที่การเดินทางไปประเทศที่สามก็เป็นโอกาสที่ไม่ได้มีไว้สำหรับทุกคน

ซอ บเว เซ เลขาธิการคณะกรรมการผู้ลี้ภัยกะเหรี่ยง หรือ Karen Refugee Committee (KRC)
"ตอนนี้คนที่อยู่ใกล้ที่สุดกับพวกเราเป็นรัฐบาลไทย รัฐบาลไทยนี่พวกเราขาดเขาไม่ได้หรอก พวกเราต้องพึ่งพารัฐบาลไทย"
สำหรับ ซอ บเว เซ สิ่งสำคัญที่สุดคืออยากให้คนในศูนย์หรือในค่ายได้มีโอกาสออกมาทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ด้านโมซาน เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า ผู้ลี้ภัยหนึ่งคนต้องใช้เงินยังชีพประมาณ 800-1,200 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่จำเป็นต้องมีเพื่อความอยู่รอด
ก่อนหน้านี้ โมซานเคยมีโอกาสทำงานกับองค์กรเอ็นจีโอที่เข้ามาในค่าย โดยได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเดือนละ 800 บาท และบางองค์กรจ่ายสูงสุดถึง 2,500 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ผู้ลี้ภัยทุกคนที่จะมีโอกาสได้ทำงาน และปัจจุบันงานประเภทนี้ก็ไม่มีเหลือแล้ว
ผู้ลี้ภัยหลายคนอาศัยอยู่ในค่ายมานานหลายสิบปี และบางคนเกิดและเติบโตที่นี่ พวกเขาไม่มีเอกสาร และไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตนอกค่ายได้เหมือนบุคคลทั่วไป
ลูก ๆ ของโมซานเองก็เช่นกัน
"ลูก ๆ ของผมไม่มีเอกสารอะไรเลย เราเคยหวังว่าจะสามารถย้ายไปอยู่ประเทศที่สามได้ แต่ตอนนี้ทุกอย่างหยุดชะงัก และเราไม่รู้ว่าต้องอยู่ที่นี่ไปอีกนานแค่ไหน"
ก่อนจะหนีมาไทยในปี 2550 โมซานเป็นครูในโรงเรียนประถมในเมียนมา วันนี้เขากลายเป็นผู้หนีภัยสงคราม
"ถ้าเมียนมาสงบเมื่อไหร่ ผมเชื่อว่าหลายคนอยากกลับบ้าน แต่เรามองไม่เห็นภาพว่ามันจะเกิดสันติภาพในเร็ววันได้เลย"
"เพราะเรายังอยู่ในประเทศไทย เราหวังว่าทางการไทยจะหาทางแก้ปัญหา และช่วยเหลือพวกเราในแง่มนุษยธรรม"
https://www.bbc.com/thai/articles/cpqlgdvwyleo