Thweep Ake Rittinaphakorn
Yesterday
· Bangkok, Thailand ·
ผมคิดมานานแล้วว่าจะเขียนโพสต์นี้ดีไหม ยังก้ำกึ่งและชั่งใจอยู่ว่าควรหรือไม่ควร จนกระทั่งล่าสุดในวันนี้ ที่ได้ไปเดินชมพิพิธภัณฑ์อีกครั้ง จึงได้ตัดสินใจว่าขอเขียนแสดงความคิดเห็นบางอย่างไว้สักหน่อยเถอะ
ทั้งนี้ ขอออกตัวด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า เนื้อหานี้ไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะด้อยค่า จับผิด หรือมีเจตนาเป็นลบแต่อย่างใด หากแต่มุ่งเน้นอยากให้เกิดแรงกระเพื่อม เพื่อให้เรื่องที่ควรต้องปรับปรุง มีการแก้ไขอย่างจริงจัง และขอผู้มีอำนาจในองค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
ภาพนี้เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่าง ในการเขียนคำอธิบายภาษาอังกฤษ ของวัตถุจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อ่านภาษาอังกฤษแล้วชวนให้ตกใจ การแปลความจากข้อความคำอธิบายเดิมในภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ทำไมถึงเป็นไปได้ขนาดนี้
พระมาลัยโปรดสวรรค์
Disciple Malai please heaven
ไม่แน่ใจว่าคนอื่นอ่านแล้วจะตกใจเหมือนผมไหม !!!!!!!
ชาวต่างชาติอ่านแล้วคงงง…
หากลองสุ่มอ่านป้ายข้อมูลไปเรื่อยๆ จะพบปัญหาของการแปลความในป้ายเหล่านี้มากมาย เท่าที่ผมพยายามวิเคราะห์ดูจะพบว่าผู้แปลน่าจะไม่มีความรู้เฉพาะทางในเรื่องศิลปะวัฒนะวัฒนธรรมเพียงพอ และมักจะเป็นการแปลแบบ “แปลตรงๆ” ตามคำภาษาไทยโดยไม่ได้รู้ถึงความหมายที่แท้จริง พอออกเป็นภาษาอังกฤษ ความหมายจึงเพี้ยนไปหมด อ่านแล้วไม่เข้าใจ สุดท้ายเราจึงได้ Malai please heaven มาแบบนี้
เรื่องนี้ทำให้ผมรู้สึกอายแทน ฝรั่งมาอ่านจะคิดว่าประเทศเรามีผู้รู้เรื่องภาษาอังกฤษในเชิงวิชาการ เรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะแค่นี้เองหรืออย่างไร ?
ภาษาอังกฤษมีการใช้ศัพท์เฉพาะในหัวข้อเหล่านี้ ทั้งในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ หรือเรื่องตำนานเทพเจ้าฮินดูต่างๆ เรื่องราชสำนัก รวมถึงศัพท์เทคนิคที่ใช้ในการอธิบายงานประณีตศิลป์หลายประเภท แต่เมื่อดูจากการแปลแล้วทำให้อดรู้สึกไม่ได้ว่าผู้แปลไม่ได้มีความรู้ในเรื่องเหล่านี้เลย คำศัพท์มากมายก็ใช้ผสมปนเป ไม่เป็นเอกภาพ ภาษาไทยคำเดียวกัน ความหมายเดียวกัน ในหลายป้ายก็แปลเป็นภาษาอังกฤษใช้คำไม่เหมือนกัน
ผมเคยได้แจ้งผ่านทางผู้ที่รู้จักหลายท่านซึ่งทำงานในองค์กรนั้น ก็ได้รับคำอธิบายว่า เป็นการจัดจ้างแปล โดยงานแปลเป็นส่วนหนึ่งของการจัดทำนิทรรศการ พูดง่ายๆก็คือใช้ Outsource ในการทำ จึงได้ผลงานออกมาแบบนี้
ผมคิดว่าที่นี่คือหน้าตาของประเทศชาติ เป็นพิพิธภัณฑ์หลักของไทย ทุกวันนี้มีชาวต่างชาติเข้ามาเยี่ยมชมวันหนึ่งๆเป็นจำนวนมาก การมีป้ายข้อมูลอธิบายที่มีคุณภาพ อธิบายความหมายด้วยภาษาอังกฤษที่ถูกต้อง เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง จะได้ช่วยให้ผู้มาเยี่ยมชมเข้าใจประวัติศาสตร์ ศิลปะและวัฒนธรรมของเราได้อย่างลึกซึ้งและถูกต้องมากขึ้น
สิ่งนี้เป็นมาตรฐานขั้นต้นที่พิพิธภัณฑ์ควรจะมี หากจะมองว่าเราไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก เลยไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ก็เห็นจะไม่ถูกต้องนะครับ
จึงได้แต่หวังใจว่าปัญหาเรื่องนี้จะได้รับการแก้ไขโดยเร็ว เท่าที่สังเกตมาเป็นเวลานานปีแล้วก็ยังมีป้ายคำแปลที่เป็นปัญหาเหล่านี้อยู่เป็นจำนวนมาก ไหนๆทางพิพิธภัณฑ์อุตสาห์ปรับปรุงห้องจัดแสดงใหม่ทั้งหมดจนสวยงามเป็นมาตรฐาน ดูเป็นสากลแล้ว ใคร่ขอความกรุณาช่วยให้ความสำคัญกับเรื่องป้ายคำอธิบายเหล่านี้ด้วยเถอะครับ
See less
— at National Museum Bangkok : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร.
Lode Nandhivajrin
ต้องแก้ไขอย่างจริงจังจริง ๆ
https://www.facebook.com/photo/?fbid=10164755545069908&set=a.10150667282004908