วันอาทิตย์, มกราคม 26, 2568

ไทยพบปัญหาอากาศและฝุ่นควันตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 หรือแม้แต่ใน พ.ศ. 2464 หนังสือพิมพ์บางกอกไทมส์ ถึงกับเคยออกข่าวว่า สยามเป็นเมืองที่มีฝุ่นเยอะที่สุดในเอเชีย ตัดภาพมาใน พ.ศ. 2568 คนไทยก็ยังต้องประสบปัญหาฝุ่นและหาวิธีรับมือกันต่อไป

บรรยากาศประเทศไทย ขณะเผชิญปัญหา PM 2.5 (ภาพจาก : มติชนออนไลน์)

“สิงคโปร์” กับการแก้ไขปัญหาฝุ่น “PM 2.5” ที่มาจากความเด็ดขาดของรัฐบาล

ผู้เขียน ปดิวลดา บวรศักดิ์
25 มกราคม พ.ศ.2568
ศิลปวัฒนธรรม

สิงคโปร์ กับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5

ไทยกับฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาที่เกิดมาเนิ่นนาน เรียกได้ว่าเรื้อรัง ถ้าให้นับย้อนไปในอดีต ไทยพบปัญหาอากาศและฝุ่นควันตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 จากเขม่าของโรงสีข้าว กลิ่นศพ หรือแม้แต่ใน พ.ศ. 2464 หนังสือพิมพ์บางกอกไทมส์ ถึงกับเคยออกข่าวว่า สยามเป็นเมืองที่มีฝุ่นเยอะที่สุดในเอเชีย

ตัดภาพมาใน พ.ศ. 2568 คนไทยก็ยังต้องประสบปัญหาฝุ่นและหาวิธีรับมือกันต่อไป

ขณะเดียวกันก็มีประเทศหนึ่งไม่ใกล้ไม่ไกลไทย คือ “สิงคโปร์” ซึ่งแต่ก่อนนี้ก็ประสบปัญหาไม่ต่างจากไทย เนื่องจากสิงคโปร์ได้รับผลกระทบจากการเผาป่าและพืชไร่ในเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย

ใน พ.ศ. 2556 “เมืองสิงโต” มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูงถึง 417 ไมโครกรัม สูงกว่าระดับที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ว่าปลอดภัยที่ 37.5 ไมโครกรัม

ทว่าปัจจุบันปัญหาฝุ่นหมอกควันในสิงคโปร์ลดลงมากกว่าแต่ก่อน

แม้ปัญหาของสิงคโปร์จะมาจากประเทศรอบข้างเป็นหลัก แต่รัฐบาลสิงคโปร์ก็ไม่นิ่งเฉย ออกมาตรการหลายอย่างเพื่อให้คนในประเทศของตนเองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และได้สูดอากาศบริสุทธิ์เท่าที่จะเป็นไปได้

รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มต้นด้วยการบีบบังคับบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศตนเอง ที่ให้การสนับสนุนบริษัทปาล์มน้ำมันและอุตสาหกรรมผลิตเยื่อกระดาษในต่างแดน และออก “กฎหมายหมอกควันข้ามพรมแดน” (Transboundary Haze Pollution Act) บังคับใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 เพื่อควบคุมการดำเนินธุรกิจสวนปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย ที่มีที่ตั้งในสิงคโปร์ โดยไม่ให้เผาป่าเพื่อบุกเบิกพื้นที่การเกษตร ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน

นอกจากนี้ บริษัทใดที่มีส่วนสร้างหมอกควันพิษดังกล่าวจะต้องรับผิดชอบในทางอาญาและแพ่ง รวมไปถึงบริษัทที่รับซื้อปาล์มน้ำมันหรือเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและอ้อม ชาวสิงคโปร์สามารถฟ้องได้


สิงคโปร์ เมื่อไม่มีฝุ่น ประกอบ สิงคโปร์ กับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 (ภาพจาก : pixabay)

ไม่เพียงแค่นั้น… สิงคโปร์ยังใช้มาตรการคว่ำบาตรสินค้าที่ทำลายสิ่งแวดล้อม อย่างในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2558 สภาสิ่งแวดล้อมแห่งสิงคโปร์ระงับการใช้ฉลากเขียวหรือฉลากสิ่งแวดล้อมของ Universal Sovereign Trading ผู้จัดจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวของบริษัท Asia Pulp & Paper Group (APP) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเยื่อและกระดาษของอินโดนีเซีย เนื่องจากบริษัทดังกล่าวมีข้อสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการเผาป่าในอินโดนีเซีย

นี่ยังไม่รวมกับการแก้ปัญหาอื่น ๆ อีก เช่น การสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาค ผ่านข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดน หรือสนับสนุนเรื่องเทคโนโลยีเกี่ยวกับไฟป่าหรือเกษตรกรรมให้เพื่อนบ้านอีกด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ ซึ่งได้ผลอย่างดีเยี่ยม เพราะฝุ่นควันในสิงคโปร์ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศไทยกลับกำลังเผชิญกับฝุ่นควันมากมายในระยะยาว ส่งผลเสียต่อสุขภาพของประชาชนและสัตว์ ซึ่งเป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ไม่ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัยแล้วก็ตาม

อ้างอิง :
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์. The Lost Forest ประวัติศาสตร์ (การทำลาย) สิ่งแวดล้อมไทยและสงครามแย่งชิงทรัพยากร. กรุงเทพฯ : มติชน, 2567.
https://www.prachachat.net/world-news/news-1738249

https://www.silpa-mag.com/history/article_147110