Khwan Saeng
18 hours ago
·
ในฐานะที่เติบโตมาในโรงงานผลิตเครื่องจักรกลเกษตรในจังหวัดที่มีไร่อ้อยเยอะมากๆ จนต่อมาได้ทุนรัฐบาลญี่ปุ่นไปเรียนต่อ แล้วเลือกไปที่ okinawa เพราะอยากจะทำรถตัดอ้อยขนาดเล็กช่วยชาวไร่จะได้ไม่ต้องเผา จนกลับมาเป็นอาจารย์ที่สาขาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่เริ่มทำงานจนปัจจุบันก็ยังทำวิจัยเกี่ยวกับเครื่องจักรกลเกษตรในไร่อ้อยมาตลอด 14 ปี
วันนี้ขอมาตอบคำถามที่หลายคนที่ไม่คุ้นเคยกับอ้อยสงสัยว่า "ทำไมต้องเผาอ้อย" เท่าที่ตัวเองมีความรู้ที่จะตอบได้นะคะ
----------------------------------------
ทำไมต้องเผาอ้อยก่อนตัดอ้อย?
ใช้เครื่องจักรแทนได้ไหม ?
ใช้เครื่องจักรเล็กๆได้มั้ย ? คนไทยเก่งทำขึ้นมาหน่อย
ทำไมต้องรีบ รอคิวรถตัด คนงานหาไม่ได้ก็ค่อยๆ ทำไปเท่าที่ได้ อย่าเพิ่งเก็บเกี่ยว อย่าเพิ่งเผา ?
แล้วเราต้องอยู่กับการเผาตลอดไปงั้นหรือ ?
-----------------------------------------
ทำไมต้องเผาอ้อยก่อนตัดอ้อย ?
1. ไม่เผาแล้วคนงานไม่ตัด หญ้ารก มีหมามุ่ย ใบอ้อยบาดตัว ขนใบอ้อยเข้าตา ต้องสางใบอ้อย ใช้เวลานานขึ้น 3-4 เท่า บางทีมีเงินจ้างก็หาแรงงานมาตัดไม่ได้
2. ค่าจ้างแรงงานตัดอ้อยกอง 100 ลำ ค่าตัดอ้อยสด 15-18 บาทต่อกอง แต่ถ้าตัดอ้อยเผา 5 บาทต่อกอง ต้นทุนต่างกันถึง 3 เท่า ส่วนต่างคิดเป็น 10-15% ของราคาอ้อย
3. เจ้าของแปลงเล็กๆ ไม่มีแรงงาน ไม่มีรถตัดอ้อย ต้องขายเหมาแปลง หรือให้โควต้ารายใหญ่มาตัดให้ ไม่มีอำนาจต่อรอง บางทีไม่ยินยอมก็โดนลักลอบจุดไฟเผา ซึ่งถ้าอ้อยถูกเผาแล้วต้องรีบตัดไม่งั้นจะเน่า ต้องส่งโรงงานภายใน 24 ชม. เลยเหมือนถูกบังคับขายไปด้วย
4. พ่อค้าอ้อยซื้อเหมาอ้อย บางคนมีความคิดว่าต้องลดต้นทุนให้มากที่สุด ไม่งั้นก็ให้ราคาซื้ออ้อยสูงสู้คนอื่นไม่ได้ เจ้าของแปลงก็ไปขายคนอื่นที่ให้ราคาดีกว่า
5. คนตัดไม่ใช่เจ้าของแปลง เจ้าของแปลงไม่มีกำลังพอจะตัดเอง กลายเป็น การตัดเลยอยู่บนแนวคิดที่ "ทำให้ต้นทุนต่ำที่สุด" ไม่สนใจเรื่องอินทรีย์วัตถุในดินในระยะยาว ไม่ได้สนใจเรื่องระบบนิเวศน์แมลงในแปลงถูกทำลาย (แปลงที่เผาจะมีปัญหาแมลงศัตรูพืชมากกว่าแปลงที่ไม่เผา เพราะไม่มีแมลงอื่นเหลือรอดมาช่วยจำกัดประชากร) เจ้าของแปลงต้องยอมอย่างเดียว
----------------------------------------
งั้นใช้เครื่องจักรแทนสิ ?
6. อ้อยเป็นพืชที่โตเป็นกอ จะตัดโคน+แยกใบออกจากลำได้ ต้องสับ และต้องเป่าแยกใบหลายรอบ เจออ้อยล้มก็ต้องจัดให้มันตั้งขึ้นมาได้ด้วย จะทำงานได้งานดี ทันเวลา กำลังต้องพอ เครื่องจักรต้องใหญ่
7. รถตัดอ้อยใหญ่ที่ทำได้ครบกระบวนการ ราคา 12 ล้าน ส่วนรุ่นกลางๆ หรือมือสอง ราคาประมาณ 5-6 ล้าน มาพร้อมข้อจำกัดและการตัดที่ช้าลง
8. รถตัดใหญ่จะเข้าได้ แปลงต้องไม่มีคันนา (ที่เช่าที่เป็นที่นาเดิมหมดสิทธิ์) ระยะระหว่างแถวต้องกว้าง ต้องมีถนนเข้าถึงได้
9. เปิดแปลงใหม่ทีหมดไปครึ่งวัน (การทำแปลงให้รถสิบล้อเข้าไปขนอ้อยได้) ต้องตัดๆ ถอยๆ เพื่อทยอยเอาอ้อยมาใส่รถบรรทุกที่จอดนอกแปลง ต้องตัดแบบ super slow ไปแบบนี้ 4 แถว รถบรรทุกถึงจะเข้าไปวิ่งขนาบรถตัดรับอ้อยในแปลงได้
....เพราะแบบนี้ แปลงเล็กๆไม่ต้องเรียก รถตัดใหญ่ไม่ไปจ้า เสียเวลาเปิดแปลง ทำยอดไม่ได้ เงินไม่พอไปผ่อนรถอีก (ผ่อนรถตัดปีละ 2 ล้าน)
-----------------------------------------
งั้นใช้เครื่องจักรเล็กๆ ได้มั้ย ? คนไทยเก่งทำขึ้นมาหน่อย
10. รถตัดเล็ก-มี
เครื่องสางใบ-มี
เครื่องตัดโคนติดรถไถ-มี
เครื่องตัดวางกองติดรถไถ-มี
รถคีบขึ้นรถบรรทุก-มี
เครื่องมือมีเยอะนะคะ นักวิจัย และ หลายๆบริษัททำกันเยอะมาก ทาง สอน. (สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กระทรวงอุตสาหกรรม) มีโครงการให้ยืมเครื่องสางใบด้วยค่ะ
แต่....เพ-ลานี้ต้องกราบใจคนขับรถไถติดเครื่องสางใบ ต้องขับรถไถเปิดประทุน แทรกตัวไปในป่าอ้อยแล้วให้เส้นในลอนตีใบจนขาดกระจายลอยฟุ้งแบบมองอะไรไม่เห็น ทั้งฝุ่นทั้งร้อน ขนใบอ้อย เศษใบอ้อย เข้าหน้าเข้าตาเข้าคอ ชาวไร่หลายๆ คนยอมทำ ต้องขอบคุณมากๆ
....ขับลุยมาครึ่งทาง อนิจจาเจออ้อยล้มกลางแปลง ไปต่อไม่ได้ จบกันที่ทนมา หาจ้างคนมาตัดเหมือนเดิม จ้างตอนนี้จ่าย 300 บาท ไม่มาแล้วด้วย ถ้าไม่เพิ่มเงิน กลางคืนก็ต้องมีเหล้าขาวล่ะ
....ถ้าโชคดีสางใบเสร็จ ก็มาใช้เครื่องตัดวางราย หรือเครื่องตัดรวมกองต่อ แล้วก็ต้องใช้รถคีบมาคีบลงรถบรรทุก พร้อมคนเรียงอ้อยอีก 2 คนบนรถ สรุปว่าใช้คนเยอะเกือบจะพอๆกับใช้คนตัดทั้งหมด แต่ดีหน่อยที่ไม่ต้องใช้แรงเยอะเท่า เครื่องทุนแรงได้บ้าง
....ไม่ว่าจะใช้วิธีไหนในการตัดอ้อยสด ต้นทุนก็ไม่มีทางต่ำกว่า "ไฟแช็ค ราคา 6 บาท" ไปได้ ถ้ามองในแง่ต้นทุนอย่างเดียว ตัดอ้อยสดแพ้กระจุย!!
**แต่แน่นอนว่า ต้นทุนการตัดอ้อยไฟไหม้ที่ราคาถูกกว่า แต่มันก็แลกมาด้วย ต้องเสียอินทรีย์วัตถุในดิน เสียค่าปุ๋ยมากขึ้น ผลผลิตอ้อยตอปีต่อมาแย่ลง ไว้ตอได้น้อยลง ปัญหาแมลงและวัชพืชมากขึ้น และที่สำคัญคือการสร้างมลพิษ PM 2.5 จากการเผาในที่โล่ง
..แต่ก็วนกลับไปข้างบน หลายๆ ครั้ง คนตัด (เผา) ไม่ใช่เจ้าของแปลงไง**
---------------------------------------
งั้นรอก่อนได้มั้ย ทำไมต้องรีบ รอคิวรถตัด คนงานหาไม่ได้ก็ค่อยๆทำไปเท่าที่ได้ อย่าเพิ่งเก็บเกี่ยว อย่าเพิ่งเผา ?
11. โรงงานน้ำตาลเป็นโรงงานที่ใช้ระบบเครื่องจักรขนาดใหญ่ ใช้วงจรไอน้ำในการทำงาน เดินเครื่องทีแล้วต้องรันยาวๆไม่หยุดไม่พัก ต้องให้มีอ้อยป้อนเข้าต่อเนื่อง เต็ม capacity ไม่งั้นขาดทุน เลยมีวันเปิดหีบ และวันปิดหีบ ชาวไร่ต้องขายอ้อยช่วงนี้เท่านั้น
12. อ้อยเป็นพืชไร่อายุยาว ตัดขายปีละครั้ง เหมือนเราทำงานบริษัทหนึ่งทุ่มเททำงานทั้งปี งานนี้จ่ายเงินเรารวบยอดปีละครั้งเดียวเท่านั้น ถ้ามีคนมาบอกว่า ส่งงานนี้ให้ทันวันนี้ๆ นะ ถ้าส่งไม่ทัน เงินเดือนทั้งปีที่ผ่านมาจะสูญทั้งหมด แล้วมีอีกคนยื่นมือมาบอกว่าทำแบบนี้สิ ส่งงานทันแน่นอน ได้เงินแน่ ถึงจะรู้อยู่ว่าวิธีนั้นมันมีผลเสียยังไง ส่งผลต่อส่วนรวมยังไง ก็คงไม่แปลกถ้าจะมีคนหวั่นไหวบ้าง ในเมื่อหันไปก็เจอลูกเมียและเจ้าหนี้!
**ไม่ใช่ว่าอยากให้เห็นใจคนที่เผานะคะ การจงใจลักลอบเผาอ้อยนั้นผิดอย่างแน่นอน และมีชาวไร่อีกเยอะมากๆ เป็นส่วนใหญ่เลยที่เขาก็ใส่ใจและพยายามที่จะไม่เผามาตั้งนานแล้ว**
....อ้อยไฟไหม้ตอนนี้ ก็มีทั้งคนที่จงใจ คนที่จำใจ และคนที่น่าเห็นใจที่โดนลูกหลงไฟลามมา....
-----------------------------------------
แล้วเราต้องอยู่กับการเผาตลอดไป?
คนในวงการอ้อยเขาก็ไม่ได้อยากอยู่กับการเผาตลอดไปหรอกค่ะ ชาวไร่ด้วยกันหลายคนก็เดือดร้อนมากจากไฟที่ลามมา ปัญหานี้มันจะต้องถูกแก้ เช่นมาตรการที่มีแล้วตอนนี้
จำกัดการรับซื้ออ้อยไฟไหม้ ไม่เกิน 25% และลดลงเรื่อยๆ
ให้อ้อยสดได้คิวเทอ้อยก่อน อ้อยไฟไหม้รอๆๆๆ
ให้เงินเพิ่ม/รางวัล อ้อยสดสะอาด ให้มีส่วนต่าง cover ต้นทุน ตรงนี้หลายๆ โรงงานให้เงินเพิ่มเอง
เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับรถตัดอ้อย/โครงการให้ยืมเครื่องสางใบ
การรับซื้อใบอ้อยมาผลิตพลังงาน
การรวมกลุ่มเกษตรกรแปลงเล็กที่ติดกันเป็นแปลงใหญ่ ร่วมกันวางแผนปลูกอ้อยและวางแนวแถวไปทางเดียวกัน เพื่อให้ตัดอ้อยด้วยรถตัดอ้อยได้
**ในส่วนของงานวิจัยจาก วิศวะ ม.ขอนแก่นเองที่พยายามช่วยลดการเผาทั้งในทางช่วยเพิ่มรายได้ให้ชาวไร่ และเครื่องมือให้รัฐในทางป้องปราม เช่น**
แนวทางการส่งเสริมชุดเครื่องจักรเก็บเกี่ยวลดการเผา
โดรนประเมินผลผลิตและความหวานของอ้อยในแปลง เพื่อให้สามารถใช้รถตัดอ้อยแบบรวมแปลงเล็กหลายๆแปลงเป็นแปลงใหญ่
เครื่องสับกลบใบอ้อยในอ้อยตอ
เครื่องอัดใบอ้อย เป็นก้อนเต๋า 1 นิ้ว ให้ง่ายต่อการขนย้ายและใช้เป็นเชื้อเพลิง
ผลิตภัณฑ์ต่างๆจากใบอ้อยเพื่อเพิ่มมูลค่า Bio-plastic, Bio-char, ปุ๋ย, น้ำมันเชื้อเพลิง
การวางแผน Logistic ใบอ้อยให้สามารถขยายพื้นที่รับซื้อใบอ้อย
โดรนอัตโนมัติ บินเก็บหลักฐานร่องรอยการเผา จากจุดความร้อนที่ได้จากภาพถ่ายดาวเทียม
AI ประมวลผลภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิด ช่วยจำแนกอ้อยสดและอ้อยเผาที่โรงงาน
ทั้งมาตรการต่างๆ และผลจากงานวิจัย ได้เอามาใช้และขยายพื้นที่ตัดอ้อยสดมากขึ้นมาก ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา
ที่ยังขาดอยู่และทำได้ยากมาก คือ การบังคับใช้กฏหมายอย่างจริงจัง กับการติดตาม จับกุม ปรับ ขัง คนที่จุดไฟวางเพลิง แล้วกรณีที่เจ้าของแปลงไม่ได้จุด แล้วจะไปตามจับคนที่จุดจริงๆได้ยังไง ท่ามกลางความมืด และกลางป่าอ้อย ?? ในหลายพื้นที่มีการให้รางวัลนำจับ แต่ก็ช่วยได้บ้าง ไม่ได้บ้าง มีเรื่องของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นมาเกี่ยวข้องก็มี
สรุปแล้ว..การที่โรงงานรับซื้ออ้อยสดราคาสูงและไม่รับซื้ออ้อยเผา ช่วยลดการเผาก่อนตัดได้ แต่การเผาใบเคลียร์แปลงหลังตัด ยังคงจะเป็นปัญหาไปอีกสักพัก เพราะการรับซื้อใบอ้อยยังไม่ทั่วถึง และยังไม่คุ้มค่าในพื้นที่ที่ต้องขนส่งไกล
ใบอ้อยย่อยสลายยาก และเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีที่พร้อมจะติดไฟ ชาวไร่หลายรายเลือกจะสับกลบฝังลงดิน ถึงจะต้องแลกมาด้วยค่าแรง ค่าเครื่องมือและค่าน้ำมันไม่น้อย หลายๆคนก็ยอมแลกเพื่อจะได้ไม่ต้องเผาอ้อย ไม่สร้างมลพิษ
และยังมีชาวไร่อีกเยอะมากเลือกที่จะทิ้งใบไว้คลุมดินรักษาความชื้น และคุมวัชพืช แต่ก็ต้องมาแบกรับความเสี่ยงว่าไฟจะลามมาไหม้อ้อยตอนที่อ้อยงอกขึ้นมาแล้วหรือเปล่า เพราะนั่นหมายถึงเงินลงทุนที่ผ่านมาทั้งหมดจะสูญเปล่า ไม่เหลืออ้อยให้ขาย ยืนต้นตายเพราะไฟ
การที่จะควบคุมต้นทุนผลผลิตเกษตรให้ต่ำ ไม่เคยเป็นเรื่องง่าย โดยเฉพาะในเวลาที่ค่าน้ำมันพุ่ง ค่าปุ๋ยแพงแบบปัจจุบัน แค่เรื่องใบอ้อยก็เป็นมหากาพย์ขนาดนี้
การจะแก้ปัญหานี้ได้ เรายังคงต้องช่วยกันหาทางสร้าง "มูลค่าเพิ่ม" ให้ใบอ้อย หาทางลดค่าขนส่งใบอ้อย ซึ่งทั้งมหาวิทยาลัยขอนแก่นและนักวิจัยจากหลายภาคส่วนมากๆ กำลังทำงานวิจัยด้านนี้อยู่ บางอย่างก็สำเร็จแล้วรอนำไปขยายสเกล บางส่วนก็เริ่มทดลองจริงในบางพื้นที่
สิ่งสำคัญไม่แพ้กัน คือ
- แผนงานที่ชัดเจนและต่อเนื่อง (ตัวอย่างเช่นที่บราซิล)
- กลไกการบังคับใช้กฏหมายที่จริงจังจากภาครัฐที่จริงใจ
- กลไกทางสังคม ชุมชนที่เข้มแข็งที่ทุกคนต้องมีจุดยืนร่วมกันว่า "ไม่เอาคนจุดไฟเผาอ้อย" ผ่านการจูงใจรูปแบบต่างๆ
Cr.ภาพจากช่องของเพื่อนๆ + ถ่ายเอง+ infographic จากงานวิจัยค่ะ
#ทำไมต้องเผาอ้อย #PM25 #เผาอ้อย #ฝุ่นพิษ #วิศวกรรมเกษตร
https://www.facebook.com/khwantri/posts/9308948805792564