Bunnaroth Buaklee
15 hours ago
·
วิกฤตคือโอกาส : แปรภัยพิบัติ เป็น งบประมาณ
#ฝุ่นไฟ2568 ep9
19 มกราคม 2568
........
........
มติชนรายงานว่า กรมฝนหลวงของบประมาณ 350 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานผลิตน้ำแข็งแห้งไปเจาะบรรยากาศ ลดมลภาวะฝุ่นควัน pm2.5
การของบครั้งนี้ เจาะจงว่า เพื่อการแก้ปัญหา pm2.5 โดยตรง เพราะนักวิทยาศาสตร์ของกรมฝนหลวง คิดค้นวิธีเจาะบรรยากาศด้วยมวลความเย็นได้สำเร็จ
ส่วนรองอธิบดีกรมฝนหลวง ให้รายละเอียดยืนยันซ้ำไปอีก ว่าการเจาะชั้นบรรยากาศ จะทำให้ pm2.5 ลอยขึ้น อากาศข้างล่างจะถูกข้างบนดูดขึ้นไป
งบที่จะเสนอในข่าวก็คงไม่พ้นงบกลาง ระบบราชการแบบไทยนั้น มีงบปกติ หรือที่เรียกว่า งบฟังก์ชั่น และงบพิเศษ ซึ่งพอมีภัยพิบัติฝุ่นควันขึ้นมาหน่วยงานจะของบกลางไปทำงาน
ในปีก่อนๆ หน้ามีหลายหน่วยที่ใช้โอกาสภัยพิบัติเสนอขอไป (ทั้งแบบจำเป็นและขาดแคลนจริง และแบบฉวยโอกาสเสนอ)
........
........
กรมฝนหลวงเป็นหน่วยงานที่เติบโตเร็ว จากสำนักที่ปฏิบัติหน้าที่เฉพาะแค่ทำฝนหลวง กลายมาเป็นกรมที่ปฏิบัติการบิน และขยายภารกิจแก้ปัญหาพิบัติภัย pm2.5
ในแง่ของการแก้ฝุ่นควัน.... เมื่อปี 2566 กรมฝนหลวง ยังแถลงข่าวว่าปฏิบัติการแก้ปัญหาฝุ่นควันคือการพยายามทำฝนเทียม ก่อเมฆทำฝน แต่ผลปฏิบัติไม่ค่อยมีฝนตามเป้า เพราะการทำฝนเทียม ต้องอาศัยความชื้นในบรรยากาศ
มาถึงปี 2567 กรมฝนหลวงเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ แถลงว่า วิธีการแก้ปัญหาเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่ทำฝน แต่เปลี่ยนวิธีเป็นการก่อเมฆ และการเจาะชั้นอากาศ แปลความว่า เมื่อบินขึ้นแต่ละครั้ง อย่าได้คาดหวังว่าจะมีฝนตก แต่ให้รู้ว่า มันคือการบินไปเจาะอากาศ
ปี 2567 เป็นครั้งแรกที่สื่อมวลชนได้รับการแถลงว่า การเจาะอากาศจะสามารถลดฝุ่นลงได้ 50%
อย่างที่บอกแต่แรก ว่ากรมฝนหลวงเป็นหน่วยที่เติบโตเร็ว ปี 2558 ได้งบประมาณราวๆ 1.2 พันล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายประจำ ราว 500 ล้านบาท ที่เหลือ เป็นงบใช้จ่าย มีการจัดซื้อเครื่องบิน และเป็นค่าน้ำมันเดินทาง ค่าอุปกรณ์ค่าสารเคมี งบส่วนใหญ่อยู่ในหมวดนี้
จนปัจจุบันกรมฝนหลวงได้งบประมาณปีละร่วม 2.2 พันล้าน เป็นงบประจำราว 700 ล้าน ที่เหลือเป็นงบใช้จ่าย มีการกันเงินผูกพันซื้อเครื่องบิน ยังมีงบพิเศษนอกงบประมาณ นอกจากภารกิจทำฝนหลวง ยังเพิ่มภารกิจแก้ปัญหาฝุ่นควัน สามารถขึ้นบินตั้งแต่เดือนธันวาคมทั้งๆ ที่ตอนนั้นภาคเหนือยังอากาศดี
การอ้างอิงปัญหามลพิษฝุ่น ในรอบนี้ ยังจะขอเพิ่มอีก 350 ล้านบาท ขยายกิจกรรมของกรมต่อได้อีก ในนามของการเจาะชั้นอากาศ เจาะแล้วฝุ่นจากพื้นล่างถูกดูดขึ้นฟ้า ลดปริมาณลง 50%
........
........
อย่างที่เคยเล่าก่อนหน้าว่า เรื่องนี้เป็นที่สนใจของวงวิชาการ และในวงประชุมล่าสุด HTAPC ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญมลพิษอากาศได้ซักถามข้อสงสัยเชิงวิชาการว่า เทคนิคการโปรยสารเหนือชั้นบรรยากาศผกผันมันสามารถสลาย Inversion และดูดฝุ่นจากพื้นขึ้นไปได้จริงหรือไม่
ในจำนวนผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมประชุม มี ดร.เจน ชาญณรงค์ ชมรมนักเรียนทุนอานันทมหิดล ดีกรีด๊อกเตอร์ด้านวิศวกรรมศาสตร์จาก MIT และเคยประกอบกิจการด้านการบิน เข้าร่วม
ดร.เจน ตั้งข้อสงสัยว่ากระบวนการทดลองของกรมฝนหลวงยังมีข้อไม่สมบูรณ์และต้องพิสูจน์เพิ่ม ได้เขียนลง ฝ่าฝุ่น ที่ตนเป็นแอดมิน
"ได้อ่านผลการทดลองโดยละเอียดแล้ว แต่ก่อนที่กรมฝนหลวงจะไปลงทุน 350 ล้านบาทกับโรงน้ำแข้งแห้งนั้น ฝ่าฝุ่นเห็นว่าผลการทดลองนั้นยังควรปรับปรุงเพิ่มเติม เพราะตัวแปรหลักยังไม่ได้ควบคุมให้ครบถ้วน กล่าวคือเนื่องจากชั้นอินเวอร์ชั่นนั้นบางเพียง 200ฟิต หรือราว 70ม ที่น่าสนใจคือส่วนพื้นที่ที่ไม่ได้โปรยน้ำแข็งแห้งนั้น กลับพบว่ามีการเพิ่มของความเข้มข้นฝุ่นด้วยในปริมาณที่ใกล้เคียงกับพื้นที่ที่โปรยน้ำแข็งแห้ง ข้อมูลนี้ทำให้เกิดความสงสัยว่าการออกแบบการทดลองยังไม่ได้ควบคุมตัวแปรหลักให้ครบถ้วน เลยยังไม่ชัดเจนว่าการเจาะเปิดนั้นมาจากน้ำแข็งแห้งหรือจากกระแสอากาศปั่นป่วน (Wake Turbulence) ที่เกิดจากแรงยกของปีกอากาศยาน แนะนำว่าให้ทำการปรับการทดลองให้ดีขึ้นและควบคุมตัวแปรให้ดีจะได้จำแนกปัจจัยที่เจาะทะลุชั้นอินเวอร์ชั่นได้ต่อไป "
อธิบายความตรงนี้ ก็คือ กรมฝนหลวงใช้การวัดปริมาณอณูฝุ่นจิ๋วที่ฟุ้งขึ้นจากชั้นอากาศผกผันบริเวณที่โปรยสาร (เพื่อพิสูจน์ว่านี่ไง โปรยสารแล้ว มันทะลุนะ มีฝุ่นฟุ้งขึ้นมาเหนือบริเวณนั้นเพิ่มจากก่อนหน้าถึง 50%) แต่ ดร.เจน มองว่า การวัดแบบนั้นมันอาจไม่ใช่ฝุ่นที่ทะลุขึ้นมา มันอาจเป็นแค่คลื่นอากาศฟุ้งกระจายจากการบินกวน เพราะบริเวณที่ไม่ได้โปรยสารก็มี aerosolฟุ้งขึ้นมาเพิ่มเช่นกัน เอ๊ะ เป็นเพราะเครื่องบินหรือเหตุอื่นหรือเปล่า
ที่จริงการโปรยน้ำแข็งแห้งทำอากาศผกผันหายไปน่ะ พิสูจน์ตรงๆ กันเลยง่ายกว่ามั้ย แค่ไปวัดอุณหภูมิบริเวณชั้นที่โปรยสาร คือ รัศมี 10 กม. ตรงนั้นน่ะ...อุณหภูมิลดลงจริงมั้ย ลดลงเท่าไหร่ และอยู่นานขนาดไหน ...
นอกจากนั้นยังมีประเด็นก็คือ ขนาดของสารที่โปรยที่มันเพียงพอจะสลายชั้นบรรยากาศผกผัน มันควรโปรยขนาดไหน
นักเรียนทุนหลวง ดร. MIT คำนวณว่า...การลดอุณหภูมิของบรรยากาศปริมาตร 10x10x0.2กม ให้ลดลงราว 1C นั้นต้องใช้พลังงานราว 7 x10^9 kJ ซึ่งมากกว่าความร้อนแผงของน้ำแข็งแห้งขนาด 1ตันที่ 5.71x10^5 kJ อยู่ประมาณ 10,000 เท่า หมายความว่าทฤษฏีขี้ว่าต้องการน้ำแข็งแห้งเพิ่มเป็น 10,000 ตัน เท่ากับน้ำหนักบรรทุกของเครื่องบิน B747 ประมาณ 80 ลำพร้อมๆกัน
แปลเป็นไทยๆ ว่า ลำพังโปรยสารไม่กี่ตันน่ะ ไม่น่าพอนะครับ !
โชคดีที่ ดร.เจนเป็นนร.ทุนหลวง มีประจักษ์พยานว่าได้อาสาสนองพระราชดำริกรมสมเด็จพระเทพฯ ในการประชุมนร.ทุนหลวงว่า ปัญหามลพิษฝุ่นหนักหนามาก ชมรมนักเรียนทุนอานันทมหิดลจึงมีโครงการหลายๆ อย่างตามมาจากนั้น
การไปแตะกรมฝนหลวง อาจมีคนมองไปทางด้านการเมืองการอะไรต่อมิอะไร ทั้งๆ ที่กรมฝนหลวงในรอบ 10 ปีมานี้ ใกล้ชิดนักการเมืองมากกว่ายุคสมัยเดิมเยอะ
........
........
ปัญหามลพิษฝุ่นควันวิกฤตอากาศเรื้อรังมายาวนาน ยิ่งอยู่ยิ่งหนักหนาสาหัส ในหลายปีมานี้ มีผู้กระโดดเข้ามามากมาย ทั้งแบบเจตนาดีจริง ทั้งแบบสถานการณ์บังคับให้ทำ ทั้งแบบฉวยโอกาสเป็นประโยชน์ ในทำนองเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส
ภัยพิบัติของชาติบ้านเมืองเรา มักถูกแปรเป็นโครงการแปลกๆ ที่ยิ่งทำยิ่งเสียเงิน เช่น การทำเขื่อนพนังกันคลื่นทะเล ที่พอยกเลิกเงื่อนไข EIA หน่วยงานก็ระดมโครงการของบประมาณไปทำ
ภัยพิบัติเรื่องมลพิษฝุ่นควันก็ไม่ได้แตกต่างจากเรื่องอื่นเท่าไหร่หรอก มีทั้งหน่วยขาดแคลน หน่วยเอาจริงแต่ติดปัญหาระเบียบข้อกฎหมาย และหน่วยที่ตั้งงบสักแค่ทำๆ ไป ปัญหามี 3 เดือน ของบมาละเลงเล่นยืดเป็น 5 เดือน ผลงานที่ออกมาไม่มีอะไรเลยที่ไปช่วยแก้ปัญหา
วิกฤตนี้ ต้องการเนื้อหากิจกรรมที่เข้าไปแก้ที่ต้นเหตุเป็นลำดับแรก เช่น การตั้งจุดสกัด การลาดตระเวนในป่า หรือการเข้าไปยกระดับเทคโนโลยีวิธีการผลิต ในภาคเกษตรภาคอุตสาหกรรม priorty ที่ว่า มีงบน้อย เนื้องานน้อย ยาก หน่วยงานไม่ชอบแบก
ส่วนประเภทอีเวนท์ตีปี๊บเดี๋ยวด๋าว จัดงานรณรงค์ที่ห้องประชุมโรงแรมมันง่ายกว่า
ภารกิจเจาะบรรยากาศที่กรมฝนหลวงชูขึ้นมาเป็นเอิกเกริกนั้น มันควรอยู่ในลำดับ priority แก้ปลายเหตุ คือ ภารกิจบรรเทาความเข้มของฝุ่นที่เกิดขึ้นแล้ว
อยากรู้ว่า จนบัดนี้ กลุ่มงานลำดับเร่งด่วนที่ขาดแคลนแล้วขาดแคลนอยู่ และกำลังจะเข้าสู่ระยะเผชิญเหตุ ที่เขาของบกลางไปน่ะ ...ได้งบหรือยัง ?
•••
หมายเหตุ - ข่าวฝนหลวง ขอ350 ล้านเจาะชั้นบรรยากาศ
https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4944078
https://www.facebook.com/photo/?fbid=9666266163418039&set=a.102517406459677