วันอังคาร, มกราคม 21, 2568

เปิด 10 ปัญหาของ "มาตรา 112" + 10 อันดับ คดีมาตรา 112 ที่ลงโทษ “หนัก” ที่สุด


iLaw
February 5, 2021
·
มาตรา 112 หรือความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ถูกพูดถึงมานานแล้วภายใต้บริบทความขัดแย้งทางการเมือง และกำลังถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่มีการนำข้อหานี้กลับมาใช้กับผู้ชุมนุมระลอกใหม่อีกครั้งตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 และดูเหมือนว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่ปริมาณคดี และขอบเขตการกระทำที่ถูกดำเนินคดี
.
สถานการณ์เช่นนี้เองทำให้กระแสการเรียกร้องให้ "ยกเลิกมาตรา 112" ดังขึ้นอย่างต่อเนื่องเกือบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ผ่านการแสดงออกทางสัญลักษณ์หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะในการชุมนุมขนาดใหญ่ หรือการกระจายไปหลายๆพื้นที่ในรูปแบบของการติดป้ายผ้า การพ่นสีสเปรย์ หรือการฉายเลเซอร์บนอาคาร เป็นต้น
.
สาเหตุที่กฎหมาย "หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ" มีปัญหาและกลายเป็นประเด็นของความขัดแย้งอยู่หลายระลอก ไม่ใช่เพียงเพราะตัวบทกฎหมายหรือการบังคับใช้ที่มีปัญหาเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงปัญหาที่ส่งผลต่ออุดมการณ์และความคิดความเชื่อของคนในสังคมอีกด้วย
.
+++++ปัญหาของ "มาตรา 112" อย่างน้อย 10 ข้อ ที่เป็นประเด็นในการถกเถียงมากที่สุด ; โดยแบ่งเป็น 4 ปัญหาตัวบท 4 ปัญหาการใช้ และ 2 ปัญหาโครงสร้าง+++++
1. ปัญหาตัวบท : คนริเริ่มคดีเป็นใครก็ได้
.
ด้วยเหตุที่ มาตรา 112 เป็นความผิดในหมวด "ความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร" บุคคลทั่วไปสามารถเป็น "ผู้กล่าวโทษ" ได้ ทำให้คนที่เดินไปบอกกับตำรวจเพื่อให้ริเริ่มการดำเนินคดีนั้นจะเป็นใครก็ได้ ไม่ต้องให้ผู้เสียหายเป็นคนเริ่มต้นคดีเอง ส่งผลให้คดีตามมาตรา 112 มีจำนวนมาก และเกิดขึ้นได้ทุกหนแห่งขอเพียงแค่มีคนเดินไปกล่าวโทษกับตำรวจเท่านั้น
.
ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้กฎหมายนี้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้เพื่อกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรือกลั่นแกล้งคนที่มีความขัดแย้งกันในเรื่องส่วนตัว เช่น คดีของยุทธภูมิ เรื่องราวของพี่น้องที่อยู่บ้านเดียวกัน มีปัญหากัน และจุดยืนทางการเมืองไม่ตรงกัน พี่ชายจึงกล่าวโทษให้ตำรวจดำเนินคดีกับน้องชายตัวเองจากการสบถขณะดูทีวีภายในบ้าน
2. ปัญหาตัวบท : โทษหนักเกินไป
.
มาตรา 112 กำหนดอัตราโทษจำคุกไว้ที่สามถึงสิบห้าปี ซึ่งหมายความว่า เมื่อศาลตัดสินว่ากระทำความผิดจริงหนึ่งครั้ง โทษอย่างน้อยที่สุดที่ศาลจะลงโทษได้ คือ สามปี แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่เล็กน้อยเพียงใดศาลก็ไม่อาจลงโทษต่ำกว่านั้นได้ ซึ่งเป็นอัตราโทษเดียวกับความผิดฐานตระเตรียมการกบฏ หรือฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา
.
ถ้าหากเทียบกับความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคล จะพบว่ามีโทษจำคุกเพียงไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือเทียบกับในประเทศอื่นที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น ญี่ปุ่น ได้มีการยกเลิกกฎหมายฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหราชอาณาจักรและนอร์เวย์ การหมิ่นประมาทกษัตริย์และบุคคลธรรมดา ต่างก็ไม่มีโทษทางอาญา หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและบรูไน ก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
3. ปัญหาตัวบท : ไม่มีขอบเขตชัดเจน
.
ความผิดฐาน "หมิ่นประมาท" บุคคลธรรมดา มีบทนิยามที่ระบุองค์ประกอบชัดเจนในมาตรา 326 ซึ่งแยกต่างหากกับความผิดฐาน "ดูหมิ่น" และการ "แสดงความอาฆาตมาดร้าย" บุคคลธรรมดาก็ไม่เป็นความผิด แต่มาตรา 112 รวมทั้งการ "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย" เข้ามาเป็นความผิดในมาตราเดียวกันซึ่งกำหนดโทษเท่ากันทั้งหมด โดยประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าใจได้ทันทีเมื่ออ่านตัวบทว่า การแสดงความคิดเห็นเช่นใดจะเป็นความผิดบ้าง
4. ปัญหาตัวบท : ไม่ยกเว้นให้การแสดงความเห็นโดยสุจริต
.
ความผิดฐาน "หมิ่นประมาท" บุคคลธรรมดามีข้อยกเว้นในมาตรา 329-330 สำหรับการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ให้ไม่เป็นความผิด และการพูดความจริงในเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะไม่ต้องรับโทษ แต่มาตรา 112 ไม่ได้นำข้อยกเว้นเหล่านี้มาเขียนให้ชัดเจนด้วย ทำให้การแสดงความคิดเห็นที่แม้จะเป็นไปโดยสุจริต เป็นความจริง และเพื่อประโยชน์สาธารณะก็ไม่ได้รับความคุ้มครอง อย่างไรก็ดี กฎหมายลักษณะอาญาที่แก้ไขเมื่อปี 2477 เคยยกเว้นให้การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ แต่ก็ถูกตัดออกเมื่อประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาในปี 2499
5.ปัญหาการใช้ : ตีความกว้างขวางเกินไป
.
มาตรา 112 ถูกตีความและบังคับใช้อย่างกว้างขวาง เพื่อดำเนินคดีและเอาผิดกับการกระทำหลายรูปแบบอย่างไม่มีขอบเขต ประชาชนไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการกระทำแบบใดผิดกฎหมายบ้าง ยกตัวอย่าง กรณีที่ตีความกฎหมายกว้างขวางมาก เช่น การแต่งชุดไทยเดินแฟชั่น หรือการสวมเสื้อครอปท็อป หรืออย่างในอดีตที่ศาลเคยตีความและตัดสินเอาผิดจำเลยเกินตัวบท เช่น คำพิพากษาที่วินิจฉัยให้มาตรา 112 ครอบคลุมถึง รัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเทพฯ ทั้งที่สองพระองค์นี้ไม่ได้อยู่ในบุคคลที่มาตรา 112 บัญญัติคุ้มครองโดยตรงไว้
6. ปัญหาการใช้ : เจ้าหน้าที่ไม่ใช้ดุลพินิจให้เป็นประโยชน์แก่จำเลย
.
เมื่อประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเรื่องอ่อนไหว และมาตรา 112 กำหนดโทษไว้สูงในฐานะ "ข้อหาร้ายแรง" จึงส่งผลต่อดุลพินิจการตีความและบังคับใช้ของทั้งตำรวจ อัยการ และผู้พิพากษา แม้โดยหลักการแล้วการตีความและบังคับใช้กฎหมายต้องเป็นไปอย่างเคร่งครัดเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ถูกกล่าวหา
.
แต่ในคดีลักษณะนี้ เจ้าหน้าที่เองก็ได้รับแรงกดดันจนไม่กล้าใช้ดุลพินิจให้เป็นประโยชน์ต่อจำเลย เช่น การสั่งไม่ฟ้องคดี หรือการให้ผู้ต้องหาได้รับสิทธิประกันตัว หรือการพิพากษายกฟ้อง เพราะกลัวจะถูกตำหนิจากสังคม หรือกลัวส่งผลกระทบต่อตำแหน่งหน้าที่การงานของตัวเอง
.
สถิติคดีมาตรา 112 ช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 ถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2560 มีผู้ต้องหาหรือจำเลยเพียง 15 คนจากทั้งหมด 94 คนที่ได้ประกันตัว คิดเป็น 16 เปอร์เซ็นเท่านั้น โดยศาลมักจะให้เหตุผลในการไม่อนุญาตว่า เป็นเรื่องที่มีความร้ายแรง กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความรู้สึกของประชาชน
7. ปัญหาการใช้ : จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี
.
นอกจากจำเลยคดีมาตรา 112 จำนวนมากจะไม่ได้ประกันตัวในระหว่างการพิจารณาแล้ว การแสวงหาพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยมักเป็นไปได้ยาก พยานส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญมักไม่กล้ามาเบิกความเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ให้จำเลยเนื่องจากกลัวว่าจะมีผลกระทบถึงตัวเอง การหาหลักฐานข้อมูลทางคอมพิวเตอร์ก็เป็นอำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่เท่านั้น จำเลยไม่อาจขอข้อมูลจากผู้ให้บริการหรือเข้าถึงข้อมูลในความครอบครองของคนอื่นได้
.
นอกจากนี้ จำเลยหลายคนเมื่อต้องเจออุปสรรคต่างๆ ในการต่อสู้คดีก็ตกอยู่ในสภาวะ "จำยอม" ให้ต้องรับสารภาพ เพื่อหวังให้ศาลพิพากษา "ลดโทษ" ลงครึ่งหนึ่ง และหวังได้สิทธิ "ลดหย่อน" ระหว่างอยู่ในเรือนจำ รวมถึงหวังกระบวนการ "ขอพระราชทานอภัยโทษ" เพื่อให้ได้กลับสู่อิสรภาพโดยเร็วที่สุด โดยไม่อาจมุ่งมั่นกับการพิสูจน์ความจริงที่อาจต้องแลกมากับการจำคุกที่ยาวนานขึ้น
8. ปัญหาการใช้ : มากน้อย-หนักเบา ตามบรรยากาศการเมือง
.
การบังคับใช้มาตรา 112 ได้ทำลายหลักการปกครองด้วยกฎหมาย หรือหลักนิติธรรม เพราะเป็นการใช้กฎหมายที่ปริมาณการดำเนินคดีจะมากหรือน้อย และการลงโทษจะหนักหรือเบา แปรผันตามบรรยากาศทางการเมือง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกระทำที่ถูกกล่าวหาและตัวบทกฎหมายตามที่ควรจะเป็นเช่นเดียวกับคดีประเภทอื่น
.
กล่าวคือ มาตรา 112 เป็นที่รู้จักในสถานการณ์การเมืองหลังการรัฐประหารปี 2549 และเริ่มใช้กันมากท่ามกลางความขัดแย้ง "เสื้อเหลือง-เสื้อแดง" จนกระทั่งหลังการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 ก็มีการกวาดจับแนวร่วมผู้ชุมนุมดำเนินคดีอย่างน้อย 20 คน เมื่อเลือกตั้งและเปลี่ยนเป็นยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำนวนคดีก็ไม่เพิ่มขึ้นนัก แต่เมื่อการรัฐประหารโดย คสช. ช่วงปี 2557-2558 มีการจับกุมรายใหม่กว่า 60 คน คดีต้องขึ้นศาลทหารที่ตัดสินลงโทษอย่างรุนแรง ช่วงหลังเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ 9 ก็มีคดีเพิ่มขึ้นชุดใหญ่อีกครั้งก่อนที่นโยบายจะเปลี่ยน ทำให้ระหว่างเดือนมกราคม 2561 ถึงเดือนตุลาคม 2563 ไม่มีการจับกุมรายใหม่เลย จนกระทั่งพล.อ.ประยุทธ์ ประกาศว่าจะใช้กฎหมาย "ทุกบท ทุกมาตรา" ทำให้นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงสิ้นเดือนมกราคม 2564 มีคดีเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 42 คดี ผู้ต้องหาอย่างน้อย 55 คน
9. ปัญหาโครงสร้าง : สร้างผลกระทบต่อสังคม
.
การดำนินคดีมาตรา 112 สร้างบรรยากาศความหวาดกลัวขึ้นอย่างกว้างขวาง สังคมตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมที่เชื่อว่า สถาบันพระมหากษัตริย์นั้น "แตะต้องไม่ได้" ประชาชนต้องเซ็นเซอร์ตัวเองอย่างสูงสุด และหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงประเด็นนี้ ทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและในทางสาธารณะ สื่อมวลชนก็ไม่กล้ารายงานสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาทั้งข้อเรียกร้องของการชุมนุมทางการเมือง หรือรายละเอียดการดำเนินคดีมาตรา 112 ภาวะเช่นนี้เอง ทำให้ข้อเท็จจริงหรือความรู้เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยมีอยู่อย่างจำกัดอันจะส่งผลต่อความรับรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สำคัญของประชาชน
10. ปัญหาโครงสร้าง : สร้างผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
.
เมื่อปรากฏข่าวในทางสาธารณะว่า มีการดำเนินคดีมาตรา 112 กับประชาชนจำนวนมาก และมีการลงโทษหนัก ประชาชนจึงหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็ส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีภาพลักษณ์ที่ประกอบด้วยความหวาดกลัว ห่างไกลจากความรู้ความเข้าใจของสังคม ไม่อาจถูกตรวจสอบ และไม่สามารถปรับตัวเข้ากับโลกสมัยใหม่ได้ เมื่อมีข่าวการจับกุมดำเนินคดีสู่สายตาต่างประเทศ ชาวต่างชาติก็อาจเกิดความรู้สึกในแง่ลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ดังที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัส ไว้ว่า "....ไม่มีใครกล้าเอาคนที่ด่าพระมหากษัตริย์เข้าคุก เพราะพระมหากษัตริย์เดือดร้อน เขาหาว่าพระมหากษัตริย์เป็นคนที่ไม่ดี อย่างน้อยที่สุด ก็เป็นคนที่จั๊กจี้ ใครว่าไรซักนิด ก็บอกให้เข้าคุก ที่จริงพระมหากษัตริย์ไม่เคยบอกให้เข้าคุก..."
.
.
อ่านบทความฉบับเต็มได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/blog/10problems-on-Lese-Majeste


https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10165016536070551
.....

เปิด 10 อันดับ คดีมาตรา 112 ที่ลงโทษ “หนัก” ที่สุด

22/03/2024
iLAW

“มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

มาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ไม่มีอัตราโทษปรับหรือบทลงโทษอื่นๆ หมายความว่า สำหรับการกระทำความผิด 1 ครั้ง หรือในทางกฎหมายเรียกว่า 1 กรรม เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำใดเป็นความผิด ศาลมีดุลพินิจที่จะกำหนดโทษจำคุกให้กับจำเลยเป็นจำนวนเท่าไรก็ได้ระหว่าง 3-15 ปี น้อยกว่านั้นไม่ได้ และมากกว่านั้นไม่ได้ และหากมีการกระทำการหลายครั้ง ถูกดำเนินคดีแยกเป็นหลายกรรม การกำหนดโทษก็จะทวีคูณเพิ่มขึ้นตามจำนวนการกระทำ

ตลอดช่วงเวลาของความขัดแย้งทางการเมือง มาตรา 112 ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีในปริมาณมากอย่างมีนัยยะสำคัญ และในช่วงเวลาที่มีนโยบายการบังคับใช้กฎหมายอย่างรุนแรง ก็เป็นผลให้มีประชาชนที่ถูกพิพากษาว่า มีความผิดในข้อหามาตรา 112 ถูกตัดสินจำโทษมากที่สุด ดังนี้



1. มงคลโทษจำคุก 75 ปี ลดเหลือ 50 ปี

มงคล ถิระโคตร หรือ บัสบาส พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์และนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงรายวัย 30 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) ผู้ถูกฟ้องจากการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 27 โพสต์ ซึ่งการโพสเกิดขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2564 บัสบาสถูกจับกุมหลังจากการมานั่งอดอาหารประท้วงอยู่ที่หน้าศาลอาญา ศาลจังหวัดเชียงรายพิพากษาว่ามีความผิดใน 14 กรรม ที่เป็นข้อความเกี่ยวกับรัชกาลที่ 10 และยกฟ้องอีก 13 กรรม ที่เป็นข้อความเกี่ยวกับอดีตพระมหากษัตริย์หรือไม่สามารถระบุตัวบุคคลที่ถูกกล่าวถึงได้ พิพากษาจำคุกกระทงละ 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้เหลือกระทงละ 2 ปี รวมโทษจำคุก 28 ปี ต่อมาวันที่ 18 มกราคม 2567 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาเห็นว่า บัสบาสมีความผิดเพิ่มเติมอีก 11 กระทง ตามอุทธรณ์ของฝ่ายโจทก์ โดยเห็นว่ามีการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นอดีตพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดเหลือกระทงละ 2 ปี รวมจำคุกเพิ่มอีก 22 ปี รวมโทษจำคุกจากการโพสเฟซบุ๊ก 25 ข้อความ ทั้งหมดเป็น 75 ปี ลดเหลือ 50 ปี

2. อัญชัญโทษจำคุก 87 ปี ลดเหลือ 43 ปี 6 เดือน

อัญชัญ วัย 65 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) อดีตข้าราชการที่ใกล้เกษียณอายุก่อนถูกจับกุม ผู้ถูกฟ้องว่าได้กระทำผิดรวม 29 กรรม จากการอัพโหลดไฟล์และคลิปข้อความเสียงของผู้ใช้นามแฝงว่า ‘บรรพต’ จำนวน 19 คลิป ลงในยูทูบ 3 บัญชี รวม 23 ครั้ง และเฟซบุ๊กส่วนตัว 1 บัญชี รวม 6 ครั้ง ซึ่งไฟล์และคลิปข้อความเสียงดังกล่าวถูกพิพากษาว่ามีเนื้อหาดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ

ภายใต้กระบวนการยุติธรรมของคณะรัฐประหารคสช. อัญชัญถูกจับกุมในเดือนมกราคม 2558 และถูกควบคุมตัวในค่ายทหารที่จังหวัดกาญจนบุรีเป็นเวลา 5 วันในช่วงแรกซึ่งอยู่ภายใต้การพิจารณาของ “ศาลทหาร” เธอตัดสินใจต่อสู้คดี ซึ่งขณะนั้นคำขอประกันตัวของเธอถูกปฏิเสธซ้ำหลายครั้ง ทำให้ต้องถูกคุมขังเป็นเวลาทั้งสิ้น 3 ปี กับอีก 281 วัน ก่อนจะถูกปล่อยชั่วคราวในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 ด้วยหลักทรัพย์ 5 แสนบาท คดีตกอยู่ภายใต้ศาลทหารจนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2562 เมื่อย้ายคดีที่พลเรือนถูกพิจารณาคดีในศาลทหารไปยังศาลยุติธรรม อัญชัญให้การรับสารภาพ ศาลอาญาตัดสินโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี รวมเป็นจำคุก 87 ปี แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือกระทงละ 1 ปี 6 เดือน เท่ากับพิพากษาจำคุก 29 ปี 174 เดือน หรือประมาณ 43 ปี 6 เดือน

3. วิชัยโทษจำคุก 70 ปี ลดเหลือ 35 ปี

วิชัย พนักงานขายของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง วัย 35 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) ผู้ถูกฟ้องจากการนำชื่อและภาพถ่ายของเพื่อนร่วมงานคนหนึ่งมาใช้เปิดบัญชีเฟซบุ๊ก เพื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าเป็นเฟซบุ๊กของเพื่อนร่วมงานคนดังกล่าว ก่อนโพสต์ข้อความ ภาพ และคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จำนวน 10 ข้อความ วิชัยเล่าให้ทนายความฟังว่า เพื่อนร่วมงานคนดังกล่าวหลอกขายพระเครื่องปลอมให้เขา และเคยไปแจ้งความกับตำรวจไว้แล้ว แต่คดีไม่มีความคืบหน้า เขาจึงตัดสินใจใช้วิธีปลอมเฟซบุ๊กของเพื่อนร่วมงานที่หลอกขายพระเครื่องปลอมให้ แล้วโพสต์

ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาว่า วิชัยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ลงโทษจำคุกกรรมละ 7 ปี รวมทั้งหมด 70 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดเหลือจำคุก 35 ปี

4. พงษ์ศักดิ์โทษจำคุก 60 ปี ลดเหลือ 30 ปี

พงษ์ศักดิ์ หรือ Sam Parr” ชาวจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเคยทำงานภาคธุรกิจการท่องเที่ยว วัย 47 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) ผู้ถูกฟ้องว่าใช้เฟซบุ๊กชื่อบัญชี ‘Sam Parr’ โพสต์รูปภาพและข้อความพาดพิงพระมหากษัตริย์ฯ ในปี 2556 และ 2557 รวม 6 ข้อความ

เขาถูกคุมขังในเรือนจำจนกระทั่งคดีสิ้นสุดโดยไม่ได้ยื่นประกันตัว เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอ พงษ์ศักดิ์ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ตั้งแต่ในค่ายทหารจนถึงชั้นศาลศาลทหารกรุงเทพพิพากษาลงโทษจำคุกในข้อหากระทำผิดตาม มาตรา 112 กรรมละ 10 ปี รวม 60 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดเหลือจำคุก 30 ปี
 
5. ศศิพิมลโทษจำคุก 56 ปี ลดเหลือ 28 ปี

ศศิพิมล พนักงานโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ วัย 29 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) ผู้ถูกฟ้องว่าโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ในชื่อ ‘รุ่งนภา คำภิชัย’ จำนวน 7 ข้อความ ในช่วงระหว่างเดือนกันยายน 2557 และถูกจับกุมโดยทหารภายใต้กระบวนการยุติธรรมของคสช.

ศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่พิพากษาว่า ศศิพิมลมีความผิดตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และมาตรา 112 จำนวน 7 กรรม พิพากษาให้จำคุกกรรมละ 8 ปี รวมเป็นโทษจำคุก 56 ปี จำเลย ลดเหลือจำคุก 28 ปี

6. เธียรสุธรรมโทษจำคุก 50 ปี ลดเหลือ 25 ปี

เธียรสุธรรม ประกอบธุรกิจส่วนตัว วัย 58 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) ผู้ถูกฟ้องว่า ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “ใหญ่ แดงเดือด” โพสต์ภาพและข้อความที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จำนวน 5 ข้อความ

ในช่วงรัฐประหารโดยคสช. เธียรสุธรรมถูกควบคุมตัวในค่ายทหารด้วยอำนาจตามกฎอัยการศึก ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ลงโทษจำคุกรวม 5 กระทง กระทงละ 10 ปี รวมโทษทุกกระทงจำคุก 50 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดเหลือจำคุก 25 ปี
 
7. “แม็กกี้” โทษจำคุก 50 ปี ลดเหลือ 25 ปี

แม็กกี้” ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ชาวยโสธร วัย 26 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) ถูกฟ้องว่า ทวีต 18 ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ถึงเดือนตุลาคม 2566

ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาว่าแม็กกี้มีความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ รวม 18 ข้อความ โดยศาลพิพากษาให้ลงโทษฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จาก 14 ข้อความ จำคุกข้อความละ 3 ปี รวมเป็นจำคุก 42 ปี และให้ลงโทษฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อความอันน่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ จาก 4 ข้อความ จำคุกข้อความละ 2 ปี รวมเป็นจำคุก 8 ปี ทั้งสองฐานความผิดมีโทษจำคุกรวม 50 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดเหลือจำคุก 25 ปี

8. ธารา โทษจำคุก 30 ปี ลดเหลือ 18 ปี 24 เดือน

ธารา พ่อค้าขายสมุนไพรบนโลกออนไลน์ วัย 61 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) ผู้ถูกฟ้องจากการถูกกล่าวหาว่าเป็น “เครือข่ายบรรพต” เผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ จำนวน 6 คลิป ด้วยการฝังลิงก์ให้คลิกได้บนเว็บไซต์ okthai.com ซึ่งเขาเป็นเจ้าของ ระหว่างวันที่ 6-25 มกราคม 2558 ธาราถูกแยกดำเนินคดีและแยกฟ้องจากคนอื่น ๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “เครือข่ายบรรพต” เข่นเดียวกับอัญชัญ และถูกฟ้องถึง 6 กรรม ขณะที่จำเลยรายอื่นส่วนใหญ่ รวมทั้งตัว “บรรพต” เองถูกฟ้องเพียง 1 กรรม

ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาว่าการกระทำของธาราเป็นความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1), (3), และ (5) แต่ให้ลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด คือ มาตรา 112 ให้จำคุกกรรมละ 5 ปี แต่ลดโทษลง 1 ใน 3 เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ เหลือโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี 4 เดือน รวมความผิดทั้งสิ้น 6 กรรม ต้องโทษจำคุกรวม 18 ปี 24 เดือน หรือ 20 ปี
 
9. “วุฒิ” โทษจำคุก 36 ปี ลดเหลือ 12 ปี 72 เดือน

วุฒิ” ช่างเชื่อมชาวเพชรบูรณ์ วัย 51 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี) ผู้ถูกฟ้องจากกรณีถูกกล่าวหาจากการโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 12 ข้อความ ในช่วงปี 2564 ในคดีนี้เขาต้องการปฏิเสธเพื่อต่อสู้คดี แต่ศาลไม่รับคำให้การปฏิเสธและรับคำให้การเพียงที่เขารับสารภาพเท่านั้น

ศาลอาญามีนบุรีพิพากษาว่า การกระทำของ “วุฒิ” เป็นความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ลงโทษบทที่มีโทษหนักที่สุด คือ มาตรา 112 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 36 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 12 ปี 72 เดือน (หรือประมาณ 18 ปี)

10. บุรินทร์ โทษจำคุก 19 ปี 20 เดือน ลดเหลือ 10 ปี 16 เดือน

บุรินทร์ ช่างเชื่อมวัย 29 ปี (อายุ ณ วันพิพากษาคดี ผู้ที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ในฐานะมวลชนอย่างสม่ำเสมอ ถูกฟ้องว่า พูดคุยตอบโต้กับพัฒน์นรี (แม่จ่านิว)โดยการพิมพ์ข้อความโต้ตอบกันในกล่องสนทนาของเว็บไซต์ Facebook โดยมีข้อความว่า “อยู่ยากจริงๆ บ้านเมืองทุกวันนี้” “มันจะยากยิ่งกว่านี้เพราะตอนนี้เขากำลัง….” และข้อความอื่นๆ อีกเกี่ยวกับการแย่งชิงราชบัลลังก์และพิมพ์ข้อความในเฟซบุ๊กของเขาว่า “อยากให้มันรู้ว่ากูลำบากเพราะมึงไอ้…” เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2559

ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาว่าบุรินทร์มีความผิด 2 กรรม กรรมแรก คือ ฐานดูหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และองค์รัชทายาท จากการโต้ตอบกันในกล่องสนทนา ลงโทษจำคุก 7 ปี เนื่องจากบุรินทร์เคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษมาไม่ถึงห้าปี จึงให้เพิ่มโทษ 1 ใน 3 รวมเป็นจำคุก 9 ปี 4 เดือน เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี 8 เดือน กรรมที่สอง ความผิดฐานหมิ่นประมาณพระมหากษัตริย์ จากการโพสต์บนเฟซบุ๊ก ลงโทษจำคุก 10 ปี เพิ่มโทษ 1 ใน 3 เป็นจำคุก 13 ปี 4 เดือน ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 6 ปี 8 เดือน

รวมทั้งสองกรรมแล้วบุรินทร์ถูกตัดสินโทษจำคุก 10 ปี 16 เดือน




https://www.ilaw.or.th/articles/22168