วันศุกร์, กันยายน 20, 2567

2 ความทรงจำเล็กๆของอานนท์ นำภา ในวันที่ 19 กันยายน 2549



พอวันที่ 19 กันยายน ของทุกปีหลังจากปี 2549 หลายคนอาจหวนคำนึงถึงเหตุการณ์รัฐประหาร พ่อเองก็เป็นหนึ่งในนั้น หากแต่ในโชคชะตาบ้านเมืองยังคงมีโชคชะตาของคนอีกจำนวนหนึ่งซ่อนอยู่เป็นโชคชะตาที่ไม่ได้บันทึกในประวัติศาสตร์ ไม่เคยมีผู้ใดบันทึกแม้ในความทรงจำก็เป็นได้ แต่พ่ออาจเป็นข้อยกเว้น
.
18 กันยายน 2549 พวกเราทีมทนายความสำนักมีสิทธิ์ได้รับแจ้งให้เข้าช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่แรงงานชาวพม่าที่ถูกนายจ้างทารุณกรรมที่บ้านเพ จ.ระยอง ทั้งหมดถูกเจ้าหน้าที่เข้าทลายโรงงานนรกและส่งมอบตัวมาอยู่ที่ “บ้านเกร็ดตระการ” (เกาะเกร็ด นนทบุรี) “สำนักงานกฎหมายมีสิทธิ์” เป็นทีมทนายที่ให้ความช่วยเหลือแรงงานที่ถูกเอาเปรียบ ถูกกระทำทั้งการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม รวมทั้งถูกทารุณกรรมอย่างเหตุการณ์นี้
.
19 กันยายน 2549 พ่อและลุงเจี๊ยบ คือทีมทนายชุดแรกที่ถูกส่งไปให้คำปรึกษาและเก็บข้อมูลแรงงานชาวพม่าที่เข้ามาทำงานและถูกนายจ้างทารุณกรรม กักขัง และลงโทษด้วยการเฆี่ยนตี กร้อนผม ในการสอบข้อเท็จจริงมีล่ามคนหนึ่งคอยแปลภาษาให้ เป็นเธอที่ทำให้พ่อมีความทรงจำนี้ เป็นเธอที่ทำให้พ่อรู้จักคำว่าชื่นชมด้วยความบริสุทธิ์ใจ สาวพม่าที่ชื่อของเธอพ่อยังลืมไปแล้ว แต่ภาพของเธอพ่อยังจำได้ดีเหมือนเหตุการณ์เพิ่งเกินขึ้นเมื่อวาน
.
หญิงสาวผมยาวเกินครึ่งหลังมัดผมด้วยหนังยางธรรมดา สวมเสื้อยืดสีขาวไร้ยี่ห้อ นุ่งผ้าถุงคลุมยาวถึงน่อง บนใบหน้านอกจากรอยยิ้มของเธอยังมีลักยิ้มและรอยแป้งสีขาวนวลออกเหลืองๆ ปะเป็นแฉกๆ เข้าใจว่าเธอคือหนึ่งในแรงงานที่ถูกช่วยออกมาและพอพูดภาษาไทยได้ การทำงานในวันนั้นผ่านไปจนพลบค่ำ เสียงโทรศัพท์จากมิตรสหายดังขึ้น “ปฎิวัติแล้ว” ลุงเจี๊ยบเอ่ยขึ้นในเย็นวันนั้น
.
ระหว่างนั่งรถกลับ พ่อเห็นทหารเริ่มออกมาประจำจุดตามแยก ในโชคชะตาของประเทศ มีโชคชะตาของผู้คนซุกซ่อนอยู่ ทุกปีที่วันที่ 19 กันยายนมาถึง พ่อจะคิดถึงเหตุการณ์ทั้งสองระคนกันไป ไม่รู้ว่าป่านนี้เธอคนนั้นจะเป็นตายร้ายดีประการใดในภาวะสงคราม คนที่จิตใจดีงามคงมิอาจทนเห็นเพื่อนร่วมชาติถูกรังแก หวังว่าเธอจะยังคงมีชีวิตอยู่ ความทรงจำเล็กๆของพ่อ
.
อานนท์ นำภา
19 ก.ย. 67