วันศุกร์, มกราคม 06, 2566

ความภูมิใจของคนเกาหลีต่อแบรนด์ฮุนได เริ่มจากชายหนุ่มผู้ที่ไม่ยอมแพ้ ชีวิตที่น่าสนใจ


The People
20h

ชุง จู-ยุง: หนีออกจากบ้าน ขโมยวัวครอบครัวไปขายเพื่อซื้อตั๋วรถไฟไปโซล ก่อนเริ่มต้นมาเป็น ‘ฮุนได’ บริษัทมูลค่า 5 หมื่นล้านเหรียญฯ
.
ครั้งหนึ่งตอนที่ผู้เขียนใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกา เพื่อนชาวเกาหลีใต้คนหนึ่งต้องไปรับพ่อแม่ที่สนามบินช่วงตอนเช้า เรานัดกันกินอาหารเที่ยงในวันเดียวกัน แต่ปรากฏว่าเพื่อนต้องโทรฯ มาแคนเซิลเลื่อนนัดไปเป็นกินอาหารเย็นแทน เพราะว่าบริษัทเช่ารถไม่มี ‘ฮุนได’ ให้ยืม และจะไม่ขับยี่ห้ออื่น เพราะนี่คือความภูมิใจของชาวเกาหลี
.
อะไรคือความภูมิใจของคนเกาหลีที่มีต่อแบรนด์ ‘ฮุนได’?
.
ฮุนได (Hyundai) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลี ในเว็บไซต์ Forbes ประเมินมูลค่าบริษัทราว 54,000 ล้านเหรียญฯ (ประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2021) เริ่มมีชื่อเสียงมาตั้งแต่ช่วงปลายยุค 70’s จากรถยนต์รุ่น Hyundai Pony ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี และช่วยทำให้พวกเขาเติบโตผ่านพ้นวิกฤตช่วงการเงินของเอเชียในปี 1997 (ที่บ้านเรารู้จักกันในชื่อวิกฤตการเงินต้มยำกุ้ง) แถมยังถือหุ้นของบริษัทรถยนต์รวมชาติอย่าง KIA ที่โตเป็นอันดับสองในประเทศในสัดส่วนถึง 33.88% อีกด้วย
.
แม้เบื้องหน้าจะมองเห็นความสำเร็จ เรื่องราวของฮุนไดไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ บนการเติบโตนี้มีความท้าทายและอุปสรรคเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า บางทีแทบจะไร้ซึ่งความหวังด้วยซ้ำ
.
และเรื่องราวของฮุนไดเริ่มต้นจากชายหนุ่มผู้ไม่เคยยอมแพ้ชื่อ ชุง จู-ยุง (Chung Ju-yung) เขาเกิดในครอบครัวชาวนาที่ยากจนในเมืองเล็ก ๆ ทางเกาหลีเหนือ กับการพยายามหนีออกจากบ้านถึง 4 ครั้งพร้อมกับวัวของครอบครัวที่ถูกขโมยไปขายเพื่อซื้อตั๋วรถไฟไปกรุงโซล
.
#ครอบครัวที่ยากจน
.
ชุง จู-ยุง เป็นลูกชายคนโตของครอบครัวเกษตรกรที่มีลูก 7 คนในเมือง Asan เมืองเล็ก ๆ ทางตอนเหนือของประเทศเกาหลีในช่วงเวลาที่ยังไม่แบ่งเป็นเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ (ห่างจากเส้นแบ่งเขตของเกาหลีประมาณ 45 กิโลเมตรไปทางเหนือ ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของเกาหลีเหนือนั่นเอง) เขาเกิดในปี 1915 ซึ่งเวลานั้นประเทศเกาหลีอยู่ภายใต้การปกครองอันเข้มงวดของญี่ปุ่น พ่อของเขาเป็นชาวนา ทำงานหามรุ่งหามค่ำ ส่วนแม่ดูแลลูก ๆ ที่บ้านและหารายได้เสริมเล็กน้อยด้วยการเลี้ยงหนอนไหมขาย สถานะทางบ้านต้องเรียกว่าปากกัดตีนถีบพอสมควร
.
แม้ฐานะการเงินทางบ้านไม่สู้ดีนัก ชุง จู-ยุง ก็ยังมีความฝันที่จะเป็นอาจารย์เมื่อโตขึ้น แต่สุดท้ายครอบครัวของเขาก็ส่งเรียนได้ถึงเกรด 5 เท่านั้น (เทียบระบบการศึกษาไทยคือประถมศึกษาปีที่ 6 ) ซึ่งในสมัยนั้นต้องนับว่าเป็นความสำเร็จที่น้อยคนจะทำได้ โดยเฉพาะในเมืองที่เขาอยู่) ความฝันของเขาก็ต้องจบไป เขาต้องออกมาทำงานเลี้ยงสัตว์ ทำฟาร์มเกษตร ทำนากับพ่อ ในฐานะลูกชายคนโต เขาถูกคาดหวังว่าต้องดูแลงานตรงนี้ต่อและเลี้ยงดูน้อง ๆ อีก 6 คน แต่ในช่วงวันที่เขาพอจะมีเวลาว่างจากการทำงาน เขามักแวะเวียนไปที่โรงเรียนสอนปรัชญาขงจื๊อที่ปู่ของเขาสอนอยู่เสมอ
.
ชุง จู-ยุงค้นพบว่าตนเองชื่นชอบในเรื่องธุรกิจตอนที่เริ่มแบกฟืนไปขายในเมืองเพื่อหาเงินมาจุนเจือครอบครัว เขาเห็นว่าในเมืองมีธุรกิจมากมายที่เติบโต มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าฟาร์มในชนบทที่เขาอยู่ เขาได้อ่านหนังสือพิมพ์ ทำให้รู้จักเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย จนกลายเป็นแรงบันดาลใจในการเริ่มทำธุรกิจของตัวเอง
.
สุดท้ายเขาก็เริ่มทนไม่ไหวกับความเป็นอยู่ของครอบครัวที่ยากจน ในตอนนั้นเขาคิดเพียงว่า ตอนนี้มีทางเลือกแค่สองทาง หนึ่ง, คือ อยู่ตรงนี้และเป็นชาวนาต่อไป หรือสอง, หนีออกจากตรงนี้ไปเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัวให้ร่ำรวยเพื่อมาดูแลครอบครัวของเขาให้ได้
.
เขาตัดสินใจเลือกทางที่สอง ซึ่งทำให้เขาต้องวางแผนการหนีออกจากบ้านเป็นครั้งแรก
.
#หนีออกจากบ้าน
.
ด้วยวัยเพียง 16 ปี เขาชวนเพื่อนคนหนึ่งแบกเสื้อผ้าเดินเท้าข้ามเขาหนีออกจากบ้านเพื่อไปหางานที่เมือง Kowon ซึ่งห่างจากเมืองที่เขาอยู่ประมาณ 25 กิโลเมตร ด้วยความรู้ที่ติดตัวเพียงน้อยนิดและไม่รู้จักใครเลยที่นั่น ทั้งคู่พยายามหางานอะไรก็ได้ที่เริ่มได้ทันทีโดยไม่ต้องมีเส้นสาย และสุดท้ายได้งานเป็นคนงานก่อสร้างในเมือง
.
แม้ว่าจะเหน็ดเหนื่อยเพียงใดเพื่อแลกกับรายได้ที่ได้มาเพียงน้อยนิด แต่ชุง จู-ยุง กลับรู้สึกพอใจกับชีวิตที่เขามีในเวลานั้น เขารู้สึกเป็นอิสระจากทางบ้าน เพราะเขาสามารถทำงานหาเลี้ยงตัวเองได้แทนที่จะทำสวนทำไร่ทำนาอยู่ที่บ้าน
.
ณ ที่แห่งนั้นเอง เขาเริ่มหลงใหลเกี่ยวกับวิศวกรรมโยธา สนุกกับการเรียนรู้เกี่ยวกับการสร้างตึก สะพาน ถนนหนทาง ระบบขนส่ง รวมไปถึงระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ อย่างเขื่อนและคลอง
.
ทุกอย่างไปได้สวยประมาณสองเดือน จนพ่อของเขาทราบข่าวว่าเขาอยู่ที่ไหนและมาตามตัวเขากลับบ้านไปในที่สุด
.
แต่ ชุง จู-ยุง ก็กลับมาอยู่ที่บ้านได้ไม่นาน ก่อนจะวางแผนกับเพื่อนอีกสองคนหนีออกจากบ้านอีกครั้งเพื่อจะเดินทางไปยังโซล แต่หลังจากเริ่มออกเดินทางได้ไม่นาน เพื่อนคนหนึ่งก็ถูกญาติมาตามกลับไปยัง Asan ทำให้เหลือเพียงสองคนที่ยังมุ่งมั่นเดินหน้าไปต่อ แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้ราบรื่นอีกเช่นกัน ต่อมาไม่นานระหว่างทางที่พวกเขาหางานทำแต่กลับเจอสิบแปดมงกุฎมาหลอกเอาเงินที่ติดตัวของทั้งคู่ไปจนหมด ยังไม่พอ สุดท้ายเขาเจอพ่อจับได้และพาเขากลับไปที่ Asan อีกครั้ง
.
ครั้งนี้เขาอยู่บ้านประมาณหนึ่งปี กลับมาทำงานที่ฟาร์มกับพ่อ แต่ในหัวก็วางแผนการหนีออกจากบ้านเป็นครั้งที่สาม
.
#วัวของพ่อ_กรุงโซล_และร้านขายข้าว
.
ในปี 1933 ตอนนั้น ชุง จู-ยุง อายุได้ประมาณ 18 ปี หลังจากทำงานที่บ้านมาได้สักพักใหญ่ เขาคิดว่าครั้งนี้ต้องหนีไปยังเมืองหลวงอย่างโซลให้ได้ แต่การหาเงินเพื่อซื้อตั๋วรถไฟไม่ใช่เรื่องง่าย เขาจึงคิดแผนการหนึ่งขึ้นมา นั่นคือการขโมยวัวของพ่อตัวหนึ่งไปขายเพื่อเอาเงินมาซื้อตั๋วและหนีออกไปยังโซล
.
เมื่อเขาทำได้สำเร็จ ได้เดินทางไปที่นั่น เขาก็หวังว่าจะได้ทำงานเป็นนักบัญชีและสมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนในเมืองหลวง แต่สุดท้ายพ่อก็มาตามเขากลับไปอีกครั้ง
.
แต่การกลับมาครั้งนี้ เขาอยู่ที่บ้านเกิดได้ไม่นาน พ่อของเขาเห็นความตั้งใจของลูกชายที่ต้องการออกไปเผชิญโลกกว้าง ที่ไม่ว่าจะไปตามกลับมาอีกกี่ครั้ง สุดท้าย ชุง จู-ยุง ก็จะหนีออกไปอีกอยู่ดี การออกจากบ้านครั้งที่สี่ ซึ่งถือเป็นครั้งสุดท้ายในปี 1935 พ่อของเขาตัดสินใจปล่อย ชุง จู-ยุง ไปตามหาความฝันของตัวเองจริง ๆ
.
คราวนี้ ชุง จู-ยุง ขึ้นรถไฟไปยังโซล เขามีโอกาสได้ทำงานที่หลากหลาย ตั้งแต่กรรมกรแบกหาม คนงานก่อสร้าง ช่างซ่อมในโรงงาน จนสุดท้ายมาเป็นพนักงานปั่นจักรยานส่งข้าวที่ร้านขายข้าวแห่งหนึ่งในโซล ซึ่งตอนที่เข้าทำงานเขายังปั่นจักรยานไม่เป็นด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่ลดละความพยายาม เขาทำงานอย่างหนักและทุ่มเทให้กับสิ่งที่ทำ จนไต่เต้าขึ้นเป็นหัวหน้าในร้านได้ภายในเวลาไม่นาน กลายเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าและเจ้าของร้านอย่างมาก
.
สองปีต่อมาในปี 1937 ตอนอายุ 22 ปี เขาตัดสินใจกู้เงินเพื่อเข้าซื้อกิจการร้านขายข้าวจากเจ้าของที่ล้มป่วย ธุรกิจของเขาเป็นไปได้ด้วยดีอยู่หลายปี จนกระทั่งปี 1939 ญี่ปุ่นเริ่มมีกฎหมายควบคุมการซื้อขายข้าวเพื่อกักตุนสำหรับสงครามและเหล่ากองทัพของพวกเขา จึงทำให้ร้านขายข้าวของ ชุง จู-ยุง ต้องปิดตัวลงในที่สุด เขาจึงตัดสินใจย้ายกลับมาตั้งหลักที่บ้านเกิดอีกครั้ง จนกระทั่งปี 1940 เขาพยายามหาโอกาสทางธุรกิจที่ยังไม่มีกฎข้อบังคับจากรัฐบาลญี่ปุ่น และสามารถลงทุนได้ด้วยเงินไม่มากและสร้างกำไรได้เยอะ
.
สุดท้ายก็เจอ ซึ่งก็คืออุตสาหกรรมรถยนต์นั่นเอง
.
ชุง จู-ยุง กลับไปที่โซลอีกครั้งเพื่อเริ่มธุรกิจอู่ซ่อมรถยนต์ โดยเซ้งกิจการต่อจากเพื่อนอีกที เขาเปิดอู่ชื่อว่า ‘A-do Service Garage’ นี่เป็นครั้งแรกที่เขาก้าวเท้ามาสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ และภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี พนักงานของอู่ก็เพิ่มจาก 20 คนเป็น 70 คน เติบโตอย่างรวดเร็ว และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เขาให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า “บางงานที่อู่ปกติใช้เวลาซ่อม 20 วัน ของเราใช้เวลาแค่ 5 วันเท่านั้น”
.
ชุง จู-ยุง เริ่มมีชีวิตที่ดีขึ้น และพี่น้องของเขาหลายคนก็เริ่มย้ายมาอยู่ด้วยกันที่โซล
.
แต่แล้วในปี 1943 รัฐบาลญี่ปุ่นก็ออกกฎบังคับให้อู่ซ่อมรถของเขาไปรวมกับโรงงานทำเหล็กเพื่อสนับสนุนสงครามโลกครั้งที่ 2 และนั่นก็เป็นอีกครั้งที่เขาต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่
.
#จุดกำเนิดของฮุนได
.
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงไป ตอนนี้เกาหลีใต้กลายเป็นอิสระจากญี่ปุ่นแล้ว ชุง จู-ยุง ก็เริ่มต้นอีกครั้งกับธุรกิจอู่ซ่อมรถยนต์ ครั้งนี้เขาตั้งชื่อมันว่า ‘Hyundai’ (ฮุนได) ที่แปลว่า ‘ทันสมัย’ ในภาษาอังกฤษ และในปี 1947 เขาก่อตั้งบริษัท Hyundai Civil Industries (บริษัทรับเหมาก่อสร้าง) โดยคาดการณ์ว่าต่อไปเกาหลีจะต้องมีความต้องการทางด้านงานก่อสร้างเพิ่มมากขึ้นหลังจากสงคราม และเขาก็คิดถูก
.
นี่คือช่วงเวลาที่เกาหลีกำลังฟื้นฟูประเทศ และก้าวไปข้างหน้า นำไปสู่การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในสังคมครั้งใหญ่เพื่อรองรับการเติบโตของประเทศในอนาคต
.
ด้วยความช่วยเหลือจากน้องชายของเขาคนหนึ่งที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี บริษัทของเขาได้รับสัญญาจ้างหลายงานจากรัฐบาลทหารสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ แต่ก็เหมือนโชคชะตายังเล่นตลกไม่เลิก ธุรกิจของเขาต้องมาหยุดชะงักอีกครั้งเพราะสงครามเกาหลีที่แบ่งขั้วเหนือ-ใต้ในปี 1950 ตอนนั้นเขาและน้องชายต้องทิ้งธุรกิจทุกอย่างและหลบหนีไปซ่อนตัวเพื่อความปลอดภัย
.
เมื่อสงครามสิ้นสุดลงในปี 1953 เกาหลีถูกแบ่งออกเป็นสองขั้ว เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ เขากลับไปที่โซลอีกครั้ง และบริษัทฮุนไดก็กลับมาตั้งต้นกันใหม่อีกรอบ ครั้งนี้เขาได้รับสัญญาจ้างมากขึ้นเรื่อย ๆ บริษัทเติบโตอย่างเห็นได้ชัด ไม่นานฮุนไดก็กลายเป็นหนึ่งในบริษัทรับเหมาก่อสร้างงานใหญ่ ๆ ในเกาหลีใต้
.
ในปี 1967 ฮุนไดรับงานสร้างเขื่อนโซยัง (Soyang) ที่เป็นเขื่อนสำคัญของประเทศ เพื่อใช้สำหรับการกักเก็บน้ำ สร้างพลังงาน และป้องกันน้ำท่วม (ก่อสร้างเสร็จในปี 1973)
.
ต่อมาในปี 1968 ฮุนไดได้รับงานสร้างทางด่วนคย็องบู (Gyeongbu Expressway) ซึ่งเป็นทางด่วนเก่าแก่อันดับสอง และเป็นทางด่วนที่มีการใช้งานมากที่สุดที่เกาหลีใต้ในตอนนี้ พวกเขาใช้เวลา 2 ปีในการก่อสร้างทั้งหมด ตอนนั้น ชุง จู-ยุง เริ่มเห็นว่า “ถ้าถนนคือเส้นเลือดของประเทศ รถยนต์ก็คือเลือดที่อยู่ในนั้น”
.
เส้นทางชีวิตของเขาถึงตรงนี้ ก็มาสู่จุดที่ไปไกลกว่าการมีอู่ซ่อมรถ เมื่อชุง จู-ยุง อยากผลิตรถยนต์เสียเอง
.
#Hyundai_Pony_และ_วัวที่ขโมยไปถูกนำไปคืน
.
เป้าหมายอย่างหนึ่งของชุง จู-ยุง คือความพยายามลดการพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างชาติ เขาเลยสร้างโรงงานผลิตอะไหล่รถยนต์ที่เมืองอุลซันขึ้นมา หลังจากนั้นเพียง 6 เดือน พวกเขาเริ่มผลิตอะไหล่สำหรับรถยนต์เพื่อขายให้กับลูกค้าในประเทศ
.
รถยนต์รุ่นแรกที่ถูกประกอบขึ้นโดยโรงงานของฮุนไดคือ Ford Cortina ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
.
จนกระทั่งในปี 1974 ฮุนไดก็ตัดสินใจที่จะผลิตรถยนต์คันแรกของตัวเองขึ้นมา โดยการว่าจ้างวิศวกรชาวอังกฤษชื่อ George Turnbull อดีตกรรมการผู้จัดการของ Austin Morris มาช่วยงาน โดย Turnbull ได้นำวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตรถยนต์อีก 5 คนจากอังกฤษมาช่วยทำให้โปรเจกต์นี้เป็นความจริงขึ้นมาได้
.
พวกเขาใช้ประสบการณ์ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในการผลิตอะไหล่รถยนต์ที่ฮุนไดทำให้กับฟอร์ดเพื่อสร้างรถยนต์ในแบรนด์ตัวเองขึ้นมา
.
ในปี 1975 Hyundai Pony รถยนต์คันแรกของฮุนไดและคันแรกของเกาหลีใต้ก็ถือกำเนิดขึ้นในที่สุด
.
ในปี 1980 ฮุนไดเติบโตอย่างรวดเร็ว บริษัทกลายเป็นผู้เล่นระดับสากลและเริ่มแข่งขันกับผู้ผลิตรถยนต์แบบดั้งเดิม (ที่เน้นเรื่องของแรงม้า โครงสร้างที่ใหญ่ หนัก และราคาสูง) เราเห็น Hyundai Sonata รุ่นแรกเปิดตัวในปี 1985 และในปี 1986 Pony Excel ก็ได้กลายเป็นรถยนต์ฮุนไดรุ่นแรกที่จำหน่ายในอเมริกา เสียงตอบรับกลับมาดีมาก เพราะรถยนต์ในแบรนด์ฮุนไดราคาประหยัดและเข้าถึงได้ง่าย แตกต่างจากรถยนต์ที่มีในตลาดเวลานั้น
.
เมื่อประสบความสำเร็จทางด้านธุรกิจแล้ว ชุง จู-ยุง เริ่มคิดถึงเรื่องราวในอดีตที่เคยขโมยวัว เขาอยากแก้ไขเรื่องที่เขาทำเมื่อวันวาน ผ่านเป้าหมายหนึ่งของชีวิต
.
ในช่วงท้ายของชีวิต เขามีเป้าหมายหนึ่งในชีวิต นั่นคือ การผสานรอยร้าวระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ เขาจึงลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดี แต่สุดท้ายแพ้ไปในปี 1992 แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม เขายังคงมุ่งหน้าทำตามความฝันนี้และพยายามสานความสัมพันธ์ให้เกาหลีกลับมาเป็นประเทศเดียวกันให้ได้ ในปี 1998 ชุง จู-ยุง เป็นคนแรกในฐานะประชาชนของเกาหลีใต้ที่เดินทางข้ามเส้นแบ่งเขตประเทศหลังจากสงครามเกาหลีสิ้นสุดลง เพื่อจะแสดงน้ำใจต่อประชาชนที่ทุกข์ยากในเกาหลีเหนือ โดยนำวัวจำนวน 1,001 ตัวมอบเป็นของขวัญให้กับประชาชน เพื่อชดเชยให้กับการกระทำของเขาในอดีตที่เคยขโมยวัวของพ่อ
.
ชุง จู-ยุง เสียชีวิตลงในวันที่ 21 มีนาคม 2001 ถึงแม้ว่าเป้าหมายในการทำให้เกาหลีเป็นหนึ่งเดียวกันนั้นไม่ได้เกิดขึ้น แต่ทุกอย่างที่เขาสร้างขึ้นมา อุปสรรคที่เอาชนะผ่านมาได้ สำหรับชาวเกาหลีใต้แล้วเขาคือความภูมิใจอันยิ่งใหญ่ เลือดนักสู้ที่อยู่ในตัวของลูกชายชาวนาที่เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน ไม่มีแต้มต่อในชีวิต เผชิญอุปสรรคกี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็ยังกลับมาสู้ใหม่ กลายเป็นแรงบันดาลใจของทุกคนที่ได้ยินเรื่องเล่าของเขา
.
จึงไม่น่าแปลกใจที่ตอนนี้ฮุนไดกลายเป็นสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณแห่งนักสู้ของชาวเกาหลีใต้ เป็นความภาคภูมิใจที่แสดงให้เห็นว่าประชาชนและประเทศนี้มีศักยภาพมากมายขนาดไหน ผ่านการทำให้เห็นว่า สามารถผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพแข่งขันกับเจ้าอื่นในตลาดได้อย่างไม่น้อยหน้า
.
ฮุนไดกลายเป็นบริษัทชั้นนำของโลก นอกจากรถยนต์แล้ว พวกเขายังมีสินค้าและบริการมากมาย มูลค่าของแต่ละหน่วยธุรกิจของบริษัทมีมูลค่าหลายหมื่นล้านเหรียญฯ ในตอนนี้
.
ถ้าย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้น มันเป็นอะไรที่น่าเหลือเชื่อมากว่าทุกอย่างจะเริ่มต้นขึ้นจากเด็กผู้ชายลูกชาวนาคนหนึ่งที่มีความฝันอันยิ่งใหญ่ พยายามหนีออกจากบ้านครั้งแล้วครั้งเล่ากับวัวที่ขโมยของพ่อมาอีกหนึ่งตัว
.
เรื่อง: โสภณ ศุภมั่งมี
ภาพ: Getty Images
.
หมายเหตุ: เนื้อหานี้เผยแพร่เมื่อสิงหาคม 2021