iLaw
Yesterday
ร่วมลงชื่อ สนับสนุนยกเลิกประกาศกระทรวงดีอีปิดปากโซเชียล จำกัดเสรีภาพโลกออนไลน์
.
เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ กระทรวงดีอี ได้ออกประกาศ เรื่อง ขั้นตอนการแจ้งเตือนฯ ซึ่งจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นในโลกอินเทอร์เน็ตอย่างร้ายแรง เนื่องจากใครก็ได้สามารถแจ้งตำรวจและร้องเรียนไปยังผู้ให้บริการรวมถึงโซเชียลมีเดีย เช่น เว็บบอร์ด Facebook Twitter ให้ลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ "เห็นว่า" เป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ภายใน 24 ชั่วโมง อีกทั้ง ประกาศฉบับนี้ยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐออกคำสั่งไปยังผู้ให้บริการให้ลบเนื้อหาโดยไม่ต้องขอหมายจากศาล ถ้าฝ่าฝืนคำสั่ง ให้ "สันนิษฐาน" ไว้ก่อนว่าผู้ให้บริการทำผิดกฎหมาย
.
ประกาศฉบับนี้มีปัญหาอยู่มาก ทั้งทางกฎหมายและทางปฏิบัติ เช่น อาจทำให้บรรดา "นักร้อง(เรียน)" อาศัยช่องทางตามประกาศนี้ยื่นข้อร้องเรียนให้ปิดกั้นการแสดงความเห็นทางการเมืองที่ตนไม่ชอบได้อย่างง่ายดาย โดยอ้างว่า เนื้อหาต่างๆ บนเว็บไซต์ โพสต์ในเฟซบุ๊ก ทวีตในทวิตเตอร์ เป็นข้อมูลที่ผิดมาตรา 14
.
นอกจากนี้ ยังเป็นการออกประกาศที่นอกเหนืออำนาจตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ "ออกคำสั่ง" ให้ลบข้อมูลเช่นนี้ เป็นการ "ลัดขั้นตอน" เพราะตามมาตรา 20 ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กำหนดขั้นตอนให้การระงับการเข้าถึงข้อมูลใดๆ ต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรอง และต้องขออนุญาตจากศาลก่อน แต่ประกาศฉบับนี้กลับให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากไปกว่าพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่ "สั่ง" ได้เลย ทำให้ขั้นตอนการระงับข้อมูลตามมาตรา 20 ไม่มีที่ใช้บังคับอีกต่อไป
.
จึงนำมาสู่แคมเปญ #ยกเลิกประกาศปิดปาก ทาง change.org ที่มีข้อเสนอ 3 ข้อไปยังกระทรวงดีอี ดังนี้
.
1. ขอให้ยกเลิกประกาศฉบับดังกล่าวออกไปทันที เพื่อหยุดการลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางออนไลน์
.
2. เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไขประกาศฉบับดังกล่าวก่อนประกาศใช้
.
3. จัดให้มีตัวแทนภาคประชาชน ร่วมกำกับดูแลและพิจารณาเนื้อหาออนไลน์ ไม่ใช่เพียงแต่ใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐเพียงอย่างเดียว
.
ร่วมกันลงชื่อสนับสนุน #ยกเลิกประกาศปิดปาก ได้ที่ https://www.change.org/.../%E0%B8%A2%E0%B8%81%E0%B9%80%E0...
.
อ่านรายละเอียดของประกาศดีอีได้ที่ https://ilaw.or.th/node/6322
.
อ่านบทวิเคราะห์ปัญหาของประกาศดีอีได้ที่ https://ilaw.or.th/node/6334