วันจันทร์, ตุลาคม 19, 2563

มารู้จักแอปพลิเคชัน "เทเลแกรม" (Telegram) แอปพลิเคชันขับเคลื่อน "การประท้วงไร้ผู้นำ" ของชาวฮ่องกงได้อย่างไร


...
ประท้วงฮ่องกง : เทเลแกรม แอปพลิเคชันขับเคลื่อน "การประท้วงไร้ผู้นำ" ของชาวฮ่องกงได้อย่างไร


GETTY IMAGES

แดนนี วินเซนต์
บีบีซีนิวส์ ฮ่องกง
1 กรกฎาคม 2019
ปรับปรุงแล้ว เมื่อ 9 ชั่วโมงที่แล้ว

หลังจากเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมและเยาวชนปลดแอกออกมาเปิดเผยในวันที่ 18 ต.ค. ว่ามีความพยายามจะปิดกั้นการสื่อสารผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ พวกเขาจึงเรียกร้องให้ผู้ติดตามเข้าร่วมแอปพลิเคชัน "เทเลแกรม" เพื่อใช้เป็นช่องทางในการสื่อสารเพิ่มเติม

แอปพลิเคชั่นนี้ทำงานอย่างไร และเคยมีบทบาทขับเคลื่อนการประท้วงในฮ่องกงอย่างไร

ในห้องเล็ก ๆ ริมหน้าต่างของกลุ่มอาคารธรรมดาสามัญแห่งหนึ่ง โทนี่ (นามสมมติ) ชายผู้ที่ดูแล้วไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นหนึ่งในสมาชิกร่วมขบวนการประท้วงของชาวฮ่องกง กำลังนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์แล็ปท็อป คอยจับตาดูความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่าง ๆ ในแอปพลิเคชันส่งข้อความ "เทเลแกรม" (Telegram) และในเว็บบอร์ดแลกเปลี่ยนสนทนาทางออนไลน์หลายแห่ง

บรรดาผู้ริเริ่มจัดการประท้วงของฮ่องกงบอกว่า คนอย่างโทนี่ช่วยบริหารกลุ่มสมาชิกในแอปพลิเคชันเทเลแกรมจำนวนหลายร้อยกลุ่ม โดยผู้ใช้แอปพลิเคชันเหล่านี้คือผู้ขับเคลื่อนการชุมนุมประท้วง ซึ่งต่อมาได้พัฒนาไปเป็นการรณรงค์ "อารยะขัดขืน" ต่อทางการจีนในที่สุด

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประท้วงอ้างว่ามีชาวฮ่องกงออกมาร่วมชุมนุมกันตามท้องถนนแล้วกว่า 2 ล้านคน เพื่อแสดงพลังต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนอันอื้อฉาว การประท้วงขนาดใหญ่เกิดขึ้นหลายครั้ง เนื่องจากเหตุที่นักวิจารณ์การเมืองชี้ว่าร่างกฎหมายนี้จะทำให้ความเป็นอิสระของกระบวนการยุติธรรมในฮ่องกงต้องสิ้นสุดลง

ในวันนี้ (1 ก.ค.) มีมวลชนออกมาชุมนุมประท้วงกันเป็นจำนวนมากอีกครั้ง เนื่องในโอกาสครบรอบ 22 ปีที่ฮ่องกงคืนสู่การเป็นดินแดนใต้ปกครองของจีน

ลงมติออกเสียงแบบเรียลไทม์

การส่งข้อความออนไลน์เรียกร้องให้ผู้คนออกมาชุมนุมประท้วงมีขึ้นบ่อยครั้ง โดยไม่เปิดเผยชื่อผู้ส่งข้อความ แต่จะกระจายข่าวสารไปตามกระดานและกลุ่มสนทนา (กรุ๊ปแชต) ผ่านแอปพลิเคชันส่งข้อความที่เข้ารหัสไว้เพื่อความปลอดภัย

กลุ่มออนไลน์เหล่านี้ บางกลุ่มมีสมาชิกที่ยังใช้งานอยู่มากถึง 7 หมื่นคน ซึ่งคิดเป็นราว 1% ของประชากรฮ่องกงทั้งหมดเลยทีเดียว กลุ่มในแอปพลิเคชันดังกล่าวช่วยอัพเดตข้อมูลข่าวสารการชุมนุมที่เกิดขึ้นล่าสุด รวมทั้งเผยแพร่รายงานจากผู้เห็นเหตุการณ์โดยตรงในที่ชุมนุมให้ได้ทราบทั่วกันอีกด้วย บางกลุ่มก็ทำหน้าที่เป็นแนวร่วมช่วยกันสอดส่องรักษาความปลอดภัยในที่ชุมนุม เฝ้าระวังตำรวจ และเตือนผู้ชุมนุมถึงความเคลื่อนไหวในบริเวณใกล้เคียง

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มย่อยของผู้ใช้แอปพลิเคชันเทเลแกรมที่สมาชิกล้วนเป็นนักกฎหมาย หรือบุคลากรของหน่วยกู้ภัยและปฐมพยาบาล ซึ่งเขาเหล่านี้จะคอยให้คำปรึกษาทางกฎหมาย และจัดหาสิ่งของจำเป็นให้แก่ผู้ชุมนุมประท้วงที่อยู่แนวหน้า

กลุ่มผู้ประท้วงบอกว่า การประสานงานออนไลน์นี้ช่วยให้ส่งต่อและแพร่กระจายข้อมูลข่าวสารออกไปได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ส่วนกลุ่มสนทนาหรือกรุ๊ปแชตนั้นก็ช่วยให้บรรดาผู้ชุมนุมสามารถออกเสียงลงมติในเรื่องต่าง ๆ เช่นวางแผนการขั้นต่อไปได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งเป็นการตัดสินใจพร้อมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง

มีการลงมติในกลุ่มนิรนามของแอปพลิเคชันเทเลแกรม โดยสมาชิก 61% ออกเสียงให้เลิกการชุมนุมก่อน แต่อีก 39% เห็นว่าควรย้ายไปชุมนุมที่สำนักงานตำรวจฮ่องกง

โทนี่บอกว่า "การลงมติแบบเรียลไทม์อย่างนี้ มักจะใช้ได้กับกรณีที่มีตัวเลือกจำกัดและชัดเจนเท่านั้น เหมาะสมกับสถานการณ์ซึ่งต้องเลือกระหว่างสิ่งที่แตกต่างกันมาก ๆ เหมือนสีดำกับสีขาว"

ช่วงค่ำของวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประท้วงเกือบ 4 พันคนได้ลงมติในกลุ่มทางแอปพลิเคชันเทเลแกรม เพื่อตัดสินใจว่าจะเลิกการชุมนุมและแยกย้ายกันกลับบ้านก่อน หรือจะเดินหน้าต่อไปโดยเคลื่อนขบวนไปปักหลักที่สำนักงานตำรวจฮ่องกงแทน

มีผู้ประท้วงส่วนน้อยเพียง 39% ลงคะแนนให้ย้ายที่ชุมนุมไปยังสำนักงานตำรวจฮ่องกง แต่ในที่สุดก็ยังเกิดการปิดล้อมอาคารสำนักงานดังกล่าวขึ้นเป็นเวลาทั้งสิ้น 6 ชั่วโมง

นอกจากเทเลแกรมแล้ว แอปพลิเคชันและบริการทางออนไลน์อื่น ๆ ก็ช่วยบริหารจัดการกิจกรรมความเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมประท้วงชาวฮ่องกงด้วย เช่นเมื่อพวกเขาอยู่ในสถานที่สาธารณะ โปสเตอร์และใบปลิวประชาสัมพันธ์ถึงกิจกรรมที่กำลังจะมีขึ้น จะถูกแจกจ่ายไปตามช่องทางออนไลน์ เช่น กระจายผ่านแอร์ดรอป (AirDrop) ซึ่งเป็นบริการรับส่งไฟล์ระหว่างเครื่องไอโฟนและไอแพดที่อยู่ใกล้กัน

ในสัปดาห์นี้กลุ่มนักเคลื่อนไหวนิรนามสามารถระดมทุนสาธารณะผ่านทางเว็บไซต์ได้เป็นเงินถึงกว่า 5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีแผนจะนำเงินไปซื้อพื้นที่โฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ระดับโลก เพื่อลงข้อความเรียกร้องให้บรรดาผู้นำชาติต่าง ๆ หยิบยกประเด็นร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของฮ่องกงขึ้นมาหารือกันในที่ประชุมสุดยอดจี 20 ด้วย กลุ่มผู้ประท้วงบอกว่า เรื่องนี้นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการที่เทคโนโลยีสามารถทำให้การชุมนุมเป็น "การประท้วงที่ไร้ผู้นำ" ได้อย่างแท้จริง

ปกปิดตัวตน

ศาสตราจารย์เอ็ดมันด์ เจิ้ง จากมหาวิทยาลัยฮ่องกงแบปติสต์บอกว่า "การชุมนุมประท้วงแบบปกปิดตัวตนนี้ เป็นผลมาจากความหวาดระแวงไม่เชื่อใจเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้นำหลายคนในขบวนการร่มที่เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อปี 2014 ต่างก็ถูกลงโทษและถูกจับกุมคุมขังหมด"

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผู้นำการประท้วง 9 คนถูกศาลตัดสินให้มีความผิดฐานยุยงปลุกปั่นให้ผู้คนลุกฮือก่อความไม่สงบ "มีข้อหาอยู่หลายข้อที่ใช้เอาผิดคุณได้ หากเข้าร่วมกับขบวนการประท้วงต่อต้านที่มีการจัดตั้งองค์กรและมีตัวตนชัดเจน" โทนี่กล่าว


EPA / GETTY IMAGES

ผู้ประท้วงชาวฮ่องกงหลายคนพยายามอย่างยิ่งที่จะปกปิดร่องรอยของตนในโลกดิจิทัล ตัวอย่างเช่นจอห์นนี่ หนุ่มวัย 25 ปีที่เข้าร่วมการประท้วงมาแล้วหลายครั้งพร้อมกับแฟนของเขา โดยจอห์นนี่จะใช้โทรศัพท์มือถือแบบเครื่องมือสองเก่า ๆ และซื้อซิมการ์ดใหม่ทุกครั้งเมื่อร่วมกิจกรรมทางการเมือง "พวกเราใช้เงินสด ไม่ใช้แม้แต่บัตรเอทีเอ็มระหว่างที่กำลังชุมนุมอยู่"

ผู้ดูแลจัดการกลุ่มสนทนาหรือแอดมินบางรายที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อบอกว่า ผู้ประท้วงบางคนมีชื่อบัญชีที่ใช้สื่อสารทางออนไลน์หลายชื่อ โดยจะใช้สลับกันไปมาเพื่อกลบเกลื่อนร่องรอยในโลกดิจิทัลซึ่งอาจจะชี้ไปถึงตัวตนที่แท้จริงได้

"พวกเราบางคนมีมือถือ 3-4 เครื่อง รวมทั้งไอแพด โน้ตบุ๊ก และคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ คนเดียวอาจมีบัญชีสื่อสารทางออนไลน์ถึง 5-6 ชื่อ โดยไม่มีใครรู้ว่าทั้งหมดคือคนเดียวกัน และยังมีกรณีที่หลายคนร่วมกันใช้ชื่อบัญชีเดียวอีกด้วย"

เกราะป้องกัน

โทนี่เชื่อว่าการตัดสินใจของผู้ประท้วงผ่านการลงมติทางกลุ่มออนไลน์นั้น สามารถจะป้องกันไม่ให้คนใดคนหนึ่งถูกตั้งข้อหาเอาผิดได้ ส่วนแอดมินของกลุ่มสนทนานั้นก็ไม่มีสายสัมพันธ์กับพรรคการเมือง รวมทั้งไม่มีอำนาจควบคุมข้อความหรือสิ่งที่สมาชิกโพสต์ลงในกลุ่มอีกด้วย

"ทางการจะไม่มาจับกุมสมาชิกทุกคนในขบวนการนี้หรอก มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว" โทนี่กล่าว "แต่เจ้าหน้าที่อาจเลือกมุ่งเป้าไปยังสมาชิกที่มีอิทธิพลหรือผู้นำทางความคิด เพื่อลงโทษให้เป็นตัวอย่าง และเป็นการเตือนไม่ให้ผู้คนเข้าร่วมด้วย"

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา แอดมินของกลุ่มในแอปพลิเคชันเทเลแกรมคนหนึ่งถูกจับกุม ในข้อหาสมคบคิดกับผู้ประท้วงคนอื่นบุกเข้าอาคารของสภานิติบัญญัติและปิดกั้นถนนโดยรอบ

บอนด์ อึ้ง ทนายความซึ่งเป็นตัวแทนให้กับผู้ประท้วงที่ถูกจับกุมหลายคนบอกว่า "เจ้าหน้าที่รัฐบาลอยากให้คนทั่วไปรู้ว่า ถึงคุณจะซ่อนตัวอยู่ในอินเทอร์เน็ต แต่พวกเขาก็สามารถจะมาจับคุณถึงบ้านได้"

หมายเหตุ- บทความนี้ได้รับการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมจากต้นฉบับที่เผยแพร่ครั้งแรกในวันที่ 1 กรกฎาคม 2562