วันพุธ, ตุลาคม 07, 2563
Never Again ! เนื่องในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เรียนรู้ บทเรียนจากเยอรมันนี
Sarawut Hengsawad
18h ·
1
"Never Again" ประโยคสั้นๆ ที่ฝังอยู่ในใจหลังเดินออกจากเอาชวิทซ์-ค่ายกักกันนาซีที่คร่าชีวิตชาวยิวและชาวยุโรปจำนวนมหาศาลในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง บรรยากาศในนั้นเต็มไปด้วยความหดหู่ ห้องรมแก๊ส กำแพงที่เชลยโดยยิงเป้า กองเส้นผมของผู้คนที่ถูกจับกองถึงเพดาน สภาพห้องขังที่น่าทรมาน ล้วนแสดงให้เห็นว่ากาลครั้งหนึ่งไม่นานนี้ มนุษย์เคยกระทำการโหดร้ายทารุณต่อกันขนาดไหน การได้เข้าไปเห็นบรรยากาศและรับรู้เรื่องราวที่ถูกจัดแสดงเป็นนิทรรศการในสถานที่จริงกลายเป็นประสบการณ์ฝังแน่นในใจว่า "ระวังความเกลียดชังในใจตัวเองให้ดี" เพราะมันสามารถฆ่าคนที่แตกต่างจากเราได้อย่างไร้ความปรานี และนั่นคือเหตุผลที่มีข้อความทำนองว่า "เรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก" ติดไว้ในพิพิธภัณฑ์เช่นนี้เสมอ
2
ในค่ายกักกัน ผมเห็นครูพานักเรียนนักศึกษาเดินชมประกอบการบรรยาย พ่อแม่พาลูกๆ มา เห็นทั้งชาวยิว เยอรมัน และโปแลนด์ ต่างเดินทางมารับรู้เรื่องราวโศกนาฏกรรมในอดีตเมื่อ 70 กว่าปีก่อน แน่นอน มันไม่ใช่ 'สถานที่ท่องเที่ยว' แต่การดั้นด้นเดินทางมาถึงที่นี่มอบ 'สิ่งสำคัญ' ในการดำเนินชีวิตต่อไปในภายภาคหน้า - เรียนจากอดีตเพื่ออนาคตที่ดีกว่าเดิม
3
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซีเป็นอดีตอันเจ็บปวดของชาวเยอรมัน แต่แทนที่จะแสร้งลืมหรือปิดบัง พวกเขากลับปฏิบัติต่อมันอย่างตรงไปตรงมาและเปิดรับให้เหตุการณ์วิปโยคใหญ่กลายเป็น 'บทเรียน' ของประเทศชาติ
4
ในหนังสือ Upheaval จาเร็ต ไดมอนด์ เล่าถึงค่ายกักกันอีกแห่งที่เมืองดาเคา, เยอรมนี ซึ่งจัดแสดง 'อดีตอันโหดเหี้ยม' ของนาซีไว้อย่างชัดแจ้ง เห็นความเป็นไปและเบื้องหลังของค่ายแห่งนี้ การกวาดล้างชาวยิวและชาวเยอรมันที่ไม่ใช่นาซีในช่วงทศวรรษ 1930 โดยเล่าเรื่องแบบไม่มีการหลีกเลี่ยงปัดความรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น เอาชวิทต์นั้นอยู่ในประเทศโปแลนด์ แต่ที่ดาเคาเป็นการเล่าเรื่องน่าอับอายของชาวเยอรมันด้วยฝีมือชาวเยอรมันเอง
จาเร็ต ไดมอนด์บอกว่า นี่คือส่วนหนึ่งของสิ่งที่เด็กๆ ชาวเยอรมันทั้งหมดรับรู้ในช่วงทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา พวกเขาได้รับการอบรมสั่งสอนยาวนานในโรงเรียนเกี่ยวกับความโหดร้ายทารุณของนาซี และพวกเขาจำนวนมากถูกพาไปทัศนศึกษาที่อดีตค่ายกักกันเหมือนที่ดาเคาแห่งนี้ เขายังบอกอีกว่า ไม่มีประเทศใดยอมรับภาระความรับผิดชอบอย่างจริงดังเช่นเยอรมนี
5
ทศวรรษ 1960 เกิดการประท้วงมากมายขึ้นในโลก โดยเริ่มจากการประท้วงสงครามเวียดนามที่สหรัฐฯ คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นต่อต้านคนรุ่นเก่า คนที่เกิดหลังปี 1945 ผ่านประสบการณ์คนละแบบกับคนรุ่นก่อนหน้านั้นสิ้นเชิง พวกเขาไม่ได้โตมากับยุคนาซี ไม่ได้ถูกปลูกฝังทัศนคติโดยองค์กรยุวชนนาซี ไม่มีประสบการณ์สงครามหรือจดจำความยุ่งเหยิงวุ่นวายและทุกข์ยากหลังสงคราม พวกเขาเติบโตขึ้นภายหลังการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจซึ่งเยอรมนี (ตะวันตก) เริ่มมั่งคั่งแล้ว จาเร็ต ไดมอนด์เขียนว่า "พวกเขาไม่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด จึงมีเวลาว่างและความมั่นคงพอที่จะอุทิศตนเพื่อการประท้วง" ในปี 1968 พวกเขาอยู่ในวัย 20 ต้นๆ
6
พ่อแม่ของคนรุ่นปี 1945 ถูกลูกๆ มองว่าเป็นคนเยอรมันที่เคยลงคะแนนเสียงให้ฮิตเลอร์ เชื่อฟังฮิตเลอร์ ต่อสู้เพื่อฮิตเลอร์ และถูกปลูกฝังให้มีความคิดแบบนาซีผ่านโรงเรียนต่างๆ หลังแพ้สงครามบรรดาผู้ปกครองจึงไม่ยอมพูดถึงนาซี แต่หลบเข้าไปอยู่ในโลกแห่งหน้าที่การงานและความรุ่งเรืองของเศรษฐกิจยุคหลังสงครามแทน ผลคือคนเยอรมันที่เกิดช่วงปี 1945 ไม่เชื่อถือพ่อแม่ตนเอง
7
กระแสการประท้วงช่วง 1968 มีประเด็นร่วมกันกับ 'ฮิปปี้' ในอเมริกา คือสงครามเวียดนาม เจ้าหน้าที่รัฐ วิถีกระฎุมพี ทุนนิยม จักรวรรดินิยม ซึ่งหนุ่มสาวเยอรมันเทียบทุนนิยมเยอรมันว่าเหมือนลัทธิฟาสซิสต์ นอกจากนั้นพวกเขาก็ยังประท้วง 'อดีตนาซี' ทั้งหลายด้วยโดยเฉพาะที่ยังมีอำนาจอยู่ในรัฐบาล
8
หลังปี 1968 เสรีนิยมกระแสแรงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้พรรคอนุรักษนิยมซึ่งครองอำนาจแบบรัฐบาลผสมมา 20 ปีพ่ายแพ้ เป็นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ที่เห็นชัดคือเยอรมนีมีลักษณะอำนาจนิยมน้อยกว่าที่เคยเป็นในช่วงทศวรรษ 1950
การตีก้นเด็กกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย บทบาทสตรีเสมอภาคมากขึ้น ใช้สรรพนามที่แสดงความเท่าเทียมกันมากขึ้น
9
ปี 1969 วิลลี บรันท์ ขึ้นเป็นนายกฯ ที่มาจากฝ่ายซ้าย และเริ่มปฏิรูปสังคมโดยดำเนินนโยบายตามเป้าหมายของพวกนักศึกษา เช่น ลดความเป็นอำนาจนิยม ส่งเสริมสิทธิสตรี ฯลฯ แต่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาคืองานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยดำเนินนโยบายที่เป็นมิตรมากขึ้นกับเยอรมนีตะวันออก โปแลนด์ และกลุ่มประเทศตะวันออกอื่นๆ
10
โปแลนด์เป็นประเทศที่สัดส่วนของประชากรเสียชีวิตสูงสุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีเอาชวิตซ์เป็นค่ายกักกันของนาซีที่ใหญ่ที่สุด ไม่แปลกที่คนโปลเกลียดคนเยอรมัน และมองว่าเป็นนาซีไร้สำนึกผิดชอบชั่วดี
7 ธันวา 1970 ระหว่างบรันท์เดินทางไปเยี่ยมวอร์ซอเกตโตซึ่งเป็นสถานที่ของการลุกฮือขึ้นต่อต้านการยึดครองของนาซีในกรุงวอร์ซอ ขณะอยู่ต่อหน้าฝูงชนชาวโปแลนด์ เขาทรุดตัวลงคุกเข่า แสดงการยอมรับความจริงเรื่องเหยื่อนาซีนับล้านๆ คนและขออภัยสำหรับระบอบเผด็จการของฮิตเลอร์และสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นการกระทำที่ยากจะเห็นผู้นำกระทำต่อประเทศคู่กรณีในอดีต ไม่ว่าอเมริกากับเวียดนาม ญี่ปุ่นต่อเกาหลีหรือจีน ฯลฯ
11
การยอมรับอดีตและการประนีประนอมกับประเทศยุโรปตะวันออก และประเทศอื่นๆ ทำให้ฝั่งยุโรปตะวันตกและสหรัฐฯ ที่เคยทำสงครามด้วยก็รู้สึกไว้วางใจเยอรมนีตะวันตกมากขึ้นว่าไม่ใช่ภัยคุกคามอีกต่อไป นั่นทำให้เศรษฐกิจในเยอรมนีตะวันตกรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว เห็นความแตกต่างจากฝั่งตะวันออก ซึ่งค่อยๆ ล่มสลายลงพร้อมสหภาพโซเวียต นำไปสู่การรวมประเทศในที่สุด
12
หลังการยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่สองในปี 1945 คนเยอรมัน 7 ล้านคนเสียชีวิตจากการถูกทิ้งระเบิด จำนวนมากสูญหาย หลายสิบล้านคนบอบช้ำทางจิตใจ เมืองหลักๆ กลายเป็นเศษซากปรักหักพัง บ้านเรือนหนึ่งในสี่ถึงครึ่งหนึ่งของเมืองต่างๆ ถูกทำลาย หนึ่งในสี่ของพื้นที่เดิมเสียให้โปแลนด์และสหภาพโซเวียต สิบล้านคนไร้บ้าน ค่าเงินเสื่อมค่า ทุกสิ่งพินาศหมดสิ้น
13
ปัจจุบันเยอรมนีเป็นสังคมประชาธิปไตย เศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสี่ของโลก มีอิทธิพลมากที่สุดในยุโรปตะวันตกของรัสเซีย เงินตรามีเสถียรภาพ รวมก่อตั้งสหภาพยุโรปกับประเทศที่ตนเองเคยบุกโจมตีมาแล้ว และมีลักษณะอำนาจนิยมน้อยกว่าในยุคสมัยฮิตเลอร์มากมายนัก
14
'การจัดการกับอดีต' จึงสำคัญกับอนาคต การยอมรับความจริงในอดีตทำให้ประเทศไม่วนซ้ำกับความผิดพลาดเดิมๆ อย่างการใช้อำนาจ การใช้ความรุนแรง ความเกลียดชังอันนำไปสู่การฆ่ากัน และนำไปสู่ทางออกที่สร้างสรรค์ รวมถึงสังคมที่น่าอยู่และเปิดกว้างมากขึ้น
ตรงกันข้าม, การแกล้งลืมหรือไม่พูดถึงอดีตที่โหดร้ายหรืออัปลักษณ์ต่างหากที่สุ่มเสี่ยงต่อการวนกลับมาหรือวนอยู่ในอ่างเดิม ไม่พาสังคมไปไหน
15
ย้อนกลับมามองบ้านเรา เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งใหญ่ที่ทั้งรัฐกระทำต่อประชาชน และประชาชนกระทำต่อกัน สั่งสมความเกลียดชังผ่านความคิดและการสื่อสารต่างๆ แต่ในบทเรียนตามหลักสูตรนั้นพูดถึงเหตุการณ์นี้น้อยเหลือเกิน สักกี่สถานศึกษาที่จะพาไปทัศนศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างที่ธรรมศาสตร์และสนามหลวงในวันนั้น
เมื่อไม่เรียนรู้จากอดีตจึงเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต และทำให้ปัญหาหลายอย่างยังคงวนเวียน ใจที่ไม่เปิดกว้าง ความผิดที่ไม่แสดงความรับผิดชอบ คำขอโทษที่ไม่ถูกเอ่ย และความโหดร้ายที่ไม่มีการลงโทษผู้กระทำผิด เหล่านี้คือ 'การจัดการอดีต' ที่แตกต่างกัน
16
ภาพของนายกรัฐมนตรีเยอรมนีที่คุกเข่าขอโทษและแสดงความรับผิดด้วยความจริงใจนั้นส่งผลต่อความรู้สึกของฝ่ายตรงข้ามและผู้ได้รับผลกระทบอย่างยิ่ง การลืมตามองความจริงเต็มๆ ตานั้นสง่างาม และนำไปสู่การคลี่คลายปัญหา
ขณะที่การแกล้งลืมนั้นไม่ช่วยอะไร เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วนั้นเกิดขึ้นแล้ว
การยอมรับความจริงอาศัยความกล้าหาญอย่างมาก
แต่เมื่อยอมรับ, เราจะก้าวไปข้างหน้า และรับรู้ร่วมกันว่าจะไม่ยอมให้สิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นในอดีตเกิดขึ้นอีกแล้ว
https://www.facebook.com/photo/?fbid=10158922068654579&set=a.391558859578