iLaw
Yesterday at 9:43 AM ·
‘กิ๊ฟ’ สู้กลับการคุกคาม เปิดโปงมาตรการตำรวจบุกบ้านกดดันแม่จี้ลูกลบโพสต์
.
วันที่ 4 ตุลาคม 2563 มีผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “Chaiwat” โพสต์แจ้งข่าวในกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวงว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปเยี่ยมบ้าน ขณะที่ตนเองอยู่ต่างจังหวัด ตำรวจได้พูดคุยกับแม่ของเขาและขอให้เขาลบโพสต์ในเฟซบุ๊กที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ท้ายที่สุดเขาได้ทำตามที่แม่ร้องขอ
.
+++ สันติบาล-ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ฟ้องแม่ถึงบ้าน +++
.
ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวใช้ชื่อแทนตัวเองว่าชื่อ “กิ๊ฟ” ให้สัมภาษณ์ว่า มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดขอนแก่น โดยที่บ้านมีพ่อและแม่อยู่อาศัยกันสองคน ส่วนกิ๊ฟมาอาศัยและประกอบอาชีพอิสระอยู่ในจังหวัดสระบุรี
วันเกิดเหตุคือวันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม 2563 เวลาประมาณ 4-5 โมงเย็น ขณะที่กำลังสอนพิเศษ แม่โทรมาหาด้วยความตกใจ สอบถามพร้อมกับร้องไห้ไปด้วยว่าไปโพสต์อะไรในเฟซบุ๊กจนเจ้าหน้าที่มาหาที่บ้านมาขอให้ลบโพสต์
แม่เล่าให้กิ๊ฟฟังว่า ตำรวจที่มาพบระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่สันติบาล มากันประมาณ 2-3 คน แต่งกายนอกเครื่องแบบ และมาพร้อมกับผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน โดยตำรวจแจ้งกับแม่ว่า ได้รวบรวมข้อมูลและรู้ว่ากิ๊ฟทำงานอยู่ที่จังหวัดสระบุรีและพักอาศัยอยู่ที่ใด จากนั้นนำกระดาษที่บันทึกภาพสเตตัสเฟซบุ๊กที่อ้างว่าเป็นของกิ๊ฟมาให้แม่ดู แล้วแจ้งว่าโพสต์ลักษณะนี้เข้าข่ายหมิ่นสถาบัน อยากขอร้องให้กิ๊ฟลบโพสต์ออกไป ไม่เช่นนั้นจะเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีได้
ส่วนลักษณะการพูดคุยของเจ้าหน้าที่นั้น แม่บอกว่าเจ้าหน้าที่พูดจาดี ขอความร่วมมือด้วยดี ไม่มีการข่มขู่แม่แต่อย่างใด และเมื่อเสร็จธุระก็พากันออกจากบ้านไป
กระนั้นก็ตาม กิ๊ฟเล่าว่า ต้องรับมือกับอารมณ์อันหนักหนาของแม่ เพราะในวันเกิดแหตุแม่ตกใจมากด้วยความที่เป็นข้าราชการที่มีความคิดเห็นทางการเมืองไม่ตรงกับกิ๊ฟเสียทีเดียว อีกทั้งเป็นครั้งแรกที่มีเจ้าหน้าที่มาหาถึงบ้าน แม่จึงระเบิดอารมณ์ออกมาทั้งร้องไห้ด้วยความโมโหและเสียใจ
“แม่มองว่าเราทำผิดและเจ้าหน้าที่จะเอาผิดเราด้วย แม่ขอร้องให้เราลบโพสต์อย่างเดียว ซึ่งเราก็ยอมลบโพสต์เหล่านั้นออกไปเพื่อความสบายใจของแม่ แล้วแม่ก็ตัดพ้อว่าทำไมเราไม่เหมือนคนอื่นในบ้าน ทำไมมีความคิดเห็นแบบนั้น” กิ๊ฟกล่าว
.
+++ ใช้ชื่อจริง โพสต์สาธารณะ - คาดเดา 3 ประเด็นต้นเหตุ +++
.
เมื่อสอบถามเกี่ยวกับโพสต์ที่เป็นต้นเหตุให้ตำรวจมาหาที่บ้าน กิ๊ฟระบุว่า ตนเองเป็นคนเปิดเผย ในเฟซบุ๊กก็ใช้ชื่อจริงและเปิดเผยประวัติทุกอย่าง เวลาโพสต์เฟซบุ๊กก็ตั้งค่าเป็นสาธารณะตลอด และไม่รู้แน่ชัดว่าเจ้าหน้าที่นำโพสต์ใดไปแจ้งกับแม่ว่าเข้าข่ายผิดกฎหมาย แต่หากให้คาดความเป็นไปได้ก็มีอยู่ 3 โพสต์ คือ
1.โพสต์การไปร่วมชุมนุมที่ลพบุรี วันที่ 13 กันยายน ซึ่งเขียนสรุปเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 10 ข้อ
2.โพสต์เกี่ยวกับการไม่ลุกขึ้นยืนเคารพเพลงสรรเสริญในโรงหนัง
3.โพสต์เกี่ยวกับงานรับปริญญาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กิ๊ฟยืนยันว่า ไม่เคยโพสต์เฟซบุ๊กด้วยถ้อยคำหยาบคายเลย เป็นเพียงคำพูดตรงๆ เช่น สรุปข้อเรียกร้อง 10 ข้อแบบเข้าใจง่าย เพราะเพื่อนในเฟซบุ๊กของกิ๊ฟก็มีคนที่ความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันหลากหลายเฉด การโพสต์แต่ละครั้งจึงต้องระมัดระวังความเข้าใจผิดหรือความกราดเกรี้ยวของฝ่ายตรงข้ามตลอด
“เราจะไม่ใส่คำหยาบคายลงไปเลย แม้แต่ที่คุยกับแม่หลังจากถูกเจ้าหน้าที่มาที่บ้านแล้ว แม่บอกว่า เอาจริงๆ แม่ก็เห็นโพสต์ต่างๆ ของกิ๊ฟตลอด ไม่เห็นจะมีคำไหนที่คิดว่าจะเอาผิดกิ๊ฟได้เลย” กิ๊ฟกล่าว
สำหรับการติดตามตัว กิ๊ฟคาดว่าตำรวจค้นหาทะเบียนบ้านจากชื่อจริงที่ใช้ในเฟสบุ๊ก อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่เจ้าหน้าที่จะมาที่บ้านพวกเขาได้เข้าไปแจ้งผู้ใหญ่บ้านก่อน และผู้ใหญ่บ้านก็ร่วมเดินทางกับตำรวจมาหาแม่ที่บ้านด้วย
.
+++ ความรู้สึกหลังถูกคุกคาม “ไม่ได้กลัว แต่เกรงใจครอบครัว” +++
.
หลังจากที่คุยกับแม่เสร็จกิ๊ฟก็ลบโพสต์ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันทั้งหมด แต่ในความคิดส่วนตัวก็ยังเห็นว่าสิ่งที่ทำไป ไม่ได้กระทำเกินขอบเขตของกฎหมาย และหากได้รับรู้รับฟังสิ่งใดมาก็ยังยืนยันที่จะใช้เฟสบุ๊กเป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางความคิดอีกเช่นเดิม “แต่อาจจะใช้คำที่ไม่ตรงเกินไปนัก”
“ที่เรายอมลบโพสต์ เรายอมทำตามที่เขาขอทั้งหมด เป็นเพราะเราเป็นห่วงครอบครัวต้องมารับเรื่องแบบนี้ เราไม่ได้กลัวสิ่งที่ตำรวจจะทำกับเรา ตอนเปิดเฟซบุ๊กไล่ลบโพสต์ เราคิดอยู่ตลอดว่าโพสต์เราผิดจริงเหรอ ควรลบดีไหม แต่เมื่อคิดถึงความสบายใจของพ่อแม่ก็ตัดสินใจลบไป เรายังเชื่อว่าโพสต์ของเรามันไม่ผิด จะเอาผิดจากโพสต์เราได้ขนาดไหนกันเชียว เราไม่ได้กระทำการเกินขอบเขตที่ควรจะเป็น เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องของความเชื่อส่วนบุคคล เราไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมาบังคับให้เชื่อเหมือนกันหมด”
“ที่ตลกคือ ตำรวจรู้ประวัติของเรา รู้ถึงที่อยู่ที่ทำงานของเราและอายุเราก็ตั้ง 35 แล้ว ทำไมไม่มาหาเราเองที่บ้านของเรา เราพร้อมอยู่แล้ว ไปที่บ้านแม่ทำไม ทำให้ทั้งพ่อและแม่ที่เขาอยู่กันสงบๆ เกิดความกังวลใจ หรือเป็นเพราะพ่อแม่รับราชการหรือเปล่า นี่เป็นวิธีการที่ไม่โอเคและไม่แฟร์มากๆ”
“บ้านเราเป็นครอบครัวใหญ่ ญาติๆ เป็นข้าราชการกันหลายคน ทหารก็ยังมี ปกติเขาก็รู้กันว่าเราแสดงความคิดเห็นอะไรไป แต่ก็ไม่เคยห้าม พอเป็นแบบนี้ ญาติๆ ก็จะคอยปรามเราให้หยุดแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างน้อยในช่วงนี้ เขาเป็นห่วงกัน เราเข้าใจ แต่อีกด้านก็คือ เรากับแม่พูดคุยกันมากขึ้น เช่น แม่ถามว่าทำไมเราถึงมีความคิดเห็นแบบนี้ มันเป็นสิ่งที่แม่อยากรู้มานานแล้ว ไม่คิดแบบนี้ได้ไหม”
กิ๊ฟ เป็นประชาชนธรรมดาที่สนใจการเมืองมานานแล้ว เคยไปร่วมเป่านกหวีดกับกลุ่ม กปปส. จนเกิดการรัฐประหารที่คณะรัฐประหารอยู่ในอำนาจยาวนาน บริหารงานแย่ มีปัญหาทุจริต ไม่ต่างจากรัฐบาลทักษิณที่เคยต่อต้าน รวมถึงความเปลี่ยนแปลงอื่นๆ จึงเริ่มศึกษาการเมืองมากขึ้นและเปลี่ยนความคิด เมื่อมีการชุมนุมทางการเมืองครั้งหลังๆ ก็ไปร่วมตลอด ล่าสุดวันที่ 13 กันยายนก็ไปร่วมการชุมนุมที่จังหวัดลพบุรีซึ่งอยู่ใกล้กับจังหวัดที่ทำงานอยู่ กิ๊ฟยืนยันว่าไม่เคยเป็นผู้จัดหรือแกนนำ เป็นเพียงคนเข้าร่วม และไม่เคยชักชวนใครไปชุมนุม มีเพื่อนไปก็ดี ไม่มีก็ไปคนเดียว
.
+++ การสู้กลับด้วยการหาเพื่อน เปิดเผยมาตรการตำรวจ +++
.
โดยปกติแล้วกิ๊ฟไม่เคยไปโพสต์อะไรในกลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง และไม่ใช่ขาประจำที่จะโพสต์เรื่องการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ การโพสต์บอกเล่าการคุกคามที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นครั้งแรก กิ๊ฟระบุว่าต้องการให้คนอื่นเห็นว่ามีการคุกคามของเจ้าหน้าที่เกิดขึ้น เพราะมั่นใจว่าตัวเองไม่ใช่คนแรก จึงอยากให้คนอื่นที่โดนได้รู้ว่าตัวเขาไม่ได้ถูกกระทำคนเดียว ยังมีเพื่อนที่ถูกคุกคามเหมือนกัน
“แต่ก็มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นว่าเราส่งต่อความกลัวบ้าง ทำไมไม่ใช้เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อปลอมแสดงความคิดเห็นบ้าง เราไม่ได้อยากส่งต่อความกลัวให้กับคนอื่น แต่อยากให้คนอื่นรู้ว่าคุณไม่ได้โดดเดี่ยว เราก็โดนเหมือนกัน และเผื่อว่าจะมีคนเข้ามาร่วมแชร์การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำกับประชาชนแบบนี้ เพราะก่อนหน้านี้ก็เห็นมีคนเล่าเรื่องที่เขาเล่นทวิตเตอร์แล้วถูกคุกคามเหมือนกัน เราเลยตัดสินใจเล่าเรื่องของเราบ้าง เราเชื่อว่ายิ่งเรากลัว ยิ่งเราไม่พูดถึง มันจะยิ่งหล่อเลี้ยงความกลัวของเราหนักเข้าไปอีก เราจึงตัดสินใจเล่าเรื่องของเราและอยากให้ทุกคนที่ถูกคุกคามช่วยกันเล่าเรื่องของตัวเองออกมา มาพูดคุยกัน มาเป็นเพื่อนกัน เผื่อมันจะเป็นพลังที่ทำให้ฝ่ายกระทำรู้ว่า เราไม่ได้กลัวเขาอย่างที่เขาต้องการ”
================
สำหรับผู้ที่ถูกคุกคามหรือทราบข้อมูลการคุกคามประชาชนที่แสดงออกในประเด็นสาธารณะต่างๆ ด้วยรูปแบบใดก็ตาม โดยเจ้าหน้าที่รัฐหรืออื่นๆ สามารถติดต่อให้ข้อมูลกับไอลอว์ได้ทางโทรศัพท์ 02 002 7878 / อีเมล ilaw@ilaw.or.th / message มาที่เพจเฟซบุ๊ก iLaw / direct message ทาง twitter iLawFX
https://www.facebook.com/iLawClub/photos/a.10150540436460551/10164476135945551/