ประเด็นคาใจกับใครบางคน เรื่องการชุมนุมใหญ่ระดับ ‘ราษฎร’ (ไม่เพียงแค่ขบวนการนักเรียนนักศึกษา) ในวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๖๓ ณ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและถนนราชดำเนิน จะทำให้การเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีที่วัดพระแก้วตอนบ่ายคล้อยวันนั้น ‘ขัดข้อง’ ไหม อย่างไร
วันนี้มีคำตอบจาก อานนท์ นำภา หลังจากคณะแกนนำนั่งเรียงหน้าแถลงข่าวที่ท้องสนามหลวงเสร็จสิ้นแล้ว ใจความตามโพสต์ว่า “ถ้าเกิดความวุ่นวายขึ้น ต้องถือว่าตำรวจจงใจให้เกิดขึ้นเอง จะมาโทษผู้ชุมนุมไม่ได้เลย”
เขาอธิบายเกริ่นไว้ก่อนว่า “จริงๆ เรื่องขบวนเสด็จที่ตำรวจจงใจจัดให้ตรงกับการชุมนุมขนาดใหญ่ ทั้งที่รู้ว่าประเด็นหลักใหญ่ใจความของการชุมนุมคือการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์...รู้ทั้งรู้ว่าคนรุ่นใหม่เขาเคยแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับขบวนเสด็จจนติดเทรนทวิตเตอร์มาแล้ว”
ถ้าตามนั้นเป็นอันว่า เจ้าหน้าที่ ‘ลองของ’ กับประชาชนคนรุ่นใหม่ “รู้ทั้งรู้ว่าถ้ามีขบวนเสด็จผ่านที่ชุมนุมมันจะเกิดความวุ่นวายขนาดไหน ยังดึงดันที่จะจัดขบวนเสด็จผ่านที่ชุมนุมให้ได้...ต้องถือว่าเป็นการหาเรื่องผู้ชุมนุม”
จึงเป็นอันว่าวันที่ ๑๔ มีแน่ ทั้งตั้งเวทีอภิปรายประกาศข้อเรียกร้อง ๓ อย่าง คือให้ประยุทธ์และองคาพยพ สืบทอดอำนาจ ‘ออกไป’ สภาเปิดการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบ ‘รื้อทั้งฉบับ’ ให้ สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งร่างใหม่ และมีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ดังที่อานนท์ตอบข้อซักถามจากนักข่าว จะทำอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างใดก่อนหรือหลัง ‘ต้องทำ’ ส่วน ‘ไทม์ไลน์’ และรายละเอียด ‘มาคุยกันได้’ ในที่ชุมนุม ดูเหมือนพวกเขาตั้งใจกันมั่นแม่น “ให้มันจบที่รุ่นเรา” ในเมื่อเสียงตอบรับร่วมชุมนุมล้นหลาม
ไม่ว่า ขบวนการนักเรียนนักศึกษาทั่วประเทศ #ประชาชนปลดแอกในกรุง #แรงงานภาคตะวันออก #เสื้อแดงอีสาน และ ‘พี่น้อง’ ทั้งหลายจากต่างจังหวัด ทุกสายเตรียมพร้อมและเตรียมตัวเข้ากรุง มุ่งหน้าสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ซึ่งอานนท์อ้างว่าจะ ‘สะอาด’ หมดจดในวันนั้น บรรดากระถางต้นไม้ไม่งาม จะถูกยกออก ‘คืน กทม.’ และท้ายที่สุดหากขบวนเสด็จยังจะมาก็ไม่เห็นเป็นไร ในเมื่อการชุมนุมบนถนนราชดำเนินที่ผ่านมาทุกครั้ง ยวดยานก็ยังสัญจรผ่านกันได้ ไม่ใช่ปัญหา
ปัญหาเวลานี้อยู่ที่ ‘ด๊อยแลนด์’ มากกว่า ในเมื่อการอภิปรายในสภาเยอรมนีวันที่ ๗ ตุลา ผู้แทนราษฎรของประเทศนั้นเขา ‘เอาจริงเอาจัง’ ถกกันถึงแก่นปม “กษัตริย์ไทยทรงประทับอยู่ที่นี่เป็นส่วนใหญ่” และ “ไม่ควรที่จะตัดสินใจทางการเมืองใดๆ ขณะอยู่ที่นี่”
เรื่องนี้เริ่มจากมี ส.ส.พรรคกรีน ดร.ฟริธจอฟ ชมิดท์ ลุกขึ้นอภิปรายกรณีเกิดการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยต่อรัฐบาล (ที่มาจากการยึดอำนาจของ) ทหาร เช่นประเทศไทย ซึ่งหลังรัฐประหารสหภาพยุโรปได้หยุดเจรจาการค้าเสรี
แต่ขณะนี้กลับมาเจรจาอีกเพื่อให้ประเทศนั้นกลับคืนสู่ประชาธิปไตย การไม่ได้เป็นไปดังหวังเมื่อรัฐบาล (สืบทอดอำนาจ) ทหารไทยยังขัดขวางการคืนสู่ประชาธิปไตยอยู่ ส.ส.ผู้นี้เรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมนียับยั้งการเจรจาการค้านี้อีกครั้ง
อีกทั้ง “ขอเพิ่มอีกคำถาม กษัตริย์ไทยมักประทับในเยอรมนีเป็นเวลานาน ทรงเป็นเจ้าของวิลลาที่นี่ด้วย...แต่ยังทรงงานตัดสินใจทางการเมืองระหว่างอยู่ที่นี่ด้วย ยกตัวอย่างการที่ทรงยับยั้งการเข้าแข่งขันเป็นนายกรัฐมนตรีของพระเชษฐภคิณี”
ดร.ชมิดท์ถาม “ทำไมรัฐบาลเยอรมนีจึงได้ทนยอมให้เกิดการกระทำไม่ธรรมดา และในความเห็นของผมเป็นการประพฤติอย่างผิดกฎหมาย ที่ประมุขของต่างประเทศมาดำเนินการทางการเมืองบนแผ่นดินเยอรมัน” ทำให้รัฐมนตรีต่างประเทศ ไฮโก ม้าส ลุกขึ้นตอบ
“เราได้แจ้งให้กระจ่างแล้วว่า การตัดสินใจทางการเมืองใดๆ ที่มีผลต่อประเทศไทย จะมาทำระหว่างอยู่บนผืนแผ่นดินเยอรมันไม่ได้ นอกจากนั้นยังมีรายงานเกี่ยวกับเรื่องพิลึกกึกกือซึ่งเกิดขึ้นที่นั่น มันไม่ใช่แนวทางของรัฐบาลเยอรมัน”
รัฐมนตรีต่างประเทศยืนยันว่า “เราจะคัดค้านการกระทำเยี่ยงนั้นเสมอ” โดยเอ่ยถึงกรณีนายเนาวัลนี่ นักการเมืองฝ่ายค้านของรัสเซีย เคยมาเป็นแขกของเยอรมนีแล้วปฎิบัติการทางการเมืองระหว่างอาศัยอยู่ที่นั่น
ข้อคิดง่ายๆ ตื้นๆ ขณะนี้ แทนที่จะทำให้เกิดเรื่อง ‘พิลึกพิลั่น’ ในประเทศของตนเองมากไปกว่าเก่า จนรัฐมนตรีเยอรมันอาจจะเอาไปอ้างเป็นเหตุหมองหมางทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มากกว่า ‘สัพยอก’ ละก็
ทำให้การเสด็จพระราชดำเนินผ่านการชุมนุม ไม่ ‘เกิดความวุ่นวาย’ ขึ้นได้ จะดีไหม
(https://twitter.com/mpeer/status/1314062905659154433?s=20 และ https://www.facebook.com/watch/live/?v=363814584738701&ref=watch_permalink)