วันอาทิตย์, ตุลาคม 11, 2563

และแล้ว "คณะราษฏร" ก็เกิดใหม่ คืนศักดิ์ศรีให้เสื้อแดง คืนความจริงให้ 6 ตุลา



14 ตุลา : ประจักษ์ ก้องกีรติ มองการเกิดใหม่ของ “คณะราษฎร” กับภารกิจคืนศักดิ์ศรีให้เสื้อแดง คืนความจริงให้ 6 ตุลา



(Excerpt) 
ที่มา บีบีไทย

การนัดหมายชุมนุมใหญ่ของเครือข่ายนักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่เรียกตัวเองว่า "คณะราษฎร 2563" ในวันที่ 14 ตุลา ทำให้เหตุการณ์เมื่อ 47 ปีก่อนถูกพูดถึงเป็นครั้งแรก ๆ ในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยรุ่นปัจจุบัน ซึ่งนักวิชาการฝ่ายก้าวหน้าถอดรหัสว่าเป็นเพราะขบวนการนักศึกษา 2563 ไม่พึงปรารถนา "ฉากจบ" แบบเดิม เพราะไม่ใช่ "ชัยชนะที่แท้จริง" และ "ถูกชี้นำโดยอุดมการณ์ที่ผิดพลาด"


หาก 14 ตุลา 2516 คือจุดสิ้นสุดการครองอำนาจที่ยาวนานกว่าทศวรรษของ "ระบอบสฤษดิ์-ถนอม"

14 ตุลา 2563 ก็เป็นอีกหนึ่งวันที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลประกาศรื้อถอน "ระบอบประยุทธ์" และองคาพยพ ทว่าจะไม่ใช่การชุมนุมครั้งสุดท้ายของ "คณะราษฎร" ตามข้อวิเคราะห์ของ ผศ.ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่มองว่าความเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาประชาชนรอบนี้จะเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อ เพราะเป็นการสู้ในเชิงอุดมการณ์

คณะราษฎร: ประกาศ 3 ข้อเรียกร้องก่อนชุมนุมใหญ่ 14 ตุลา ประยุทธ์ลาออก-เปิดสภาแก้ รธน.-ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
14 ตุลา 63 "คณะราษฎร" ชุมนุมใหญ่ ไล่ "ศักดินา-เผด็จการ"
มองทะลุปรากฏการณ์ "ขยายเพดาน" จาก 10 สิงหา ถึง 19 กันยา

ในฐานะเจ้าของวิทยานิพนธ์ดีเด่น "ก่อนจะถึง 14 ตุลาฯ' : ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร (พ.ศ. 2506-2516)" ที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือ "และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ" ผศ.ดร. ประจักษ์เห็นทั้งความเหมือนและความต่างของขบวนการนักศึกษา 2 ยุค ซึ่งตั้งต้นจากความตื่นตัวต่อสภาพปัญหาบ้านเมือง ตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวอิสระ สร้างเครือข่ายนักศึกษาแบบหลวม ๆ พัฒนาสู่ขบวนการประชาชน และชูธงมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้อง

"การต่อสู้ในโจทย์เรื่องรัฐธรรมนูญ... ในแง่นี้ พล.อ. ประยุทธ์ (จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม) แกก็เลยอยู่ในระนาบเดียวกับจอมพลถนอม (กิตติขจร อดีตผู้นำเผด็จการทหารยุค 14 ตุลา 2516) พล.อ. ประยุทธ์ ก็คือจอมพลถนอม ใน พ.ศ. ปัจจุบัน ขบวนการนักศึกษาเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แกก็พยายามยื้อเวลาเอาไว้ให้นานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ตอนนั้นก็เหมือนกัน รัฐบาลถนอมไม่ยอมให้แก้เลย ไม่ยอมให้มีรัฐธรรมนูญ" ผศ.ดร. ประจักษ์กล่าวกับบีบีซีไทย
.
การเกิดใหม่ของคณะราษฎร

อย่างไรก็ตามคณะราษฎรได้ "กลับมาเกิดใหม่" ในขบวนการนักศึกษา 2563 ซึ่งอาจารย์ประจักษ์อธิบายว่า นักศึกษายุคปัจจุบันได้เชื่อมโยงตัวเองกับคณะราษฎรอย่างใกล้ชิด นับตัวเองเป็นลูกหลานคณะราษฎร และกลับไปรื้อฟื้นทุกอย่างเกี่ยวกับคณะราษฎรขึ้นมาทั้งหมุด มีม รวมถึงประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ก็ถูกเอามาอ่าน-เขียนใหม่ในแบบฉบับของนักศึกษารุ่นปัจจุบัน

"มันทำให้คณะราษฎรกลับมามีที่ยืนอีกครั้งในสังคมไทย อาจจะเรียกได้ว่าคณะราษฎร และการปฏิวัติ 24 มิถุนา 2475 มีภาพจำในเชิงบวกมากที่สุดแล้วในประวัติศาสตร์ไทย เผลอ ๆ อาจจะมากกว่ายุคสมัยของคณะราษฎรด้วยซ้ำ" ผศ.ดร. ประจักษ์ให้ความเห็น

ไม่ว่า "1 ความฝัน" ในการมีระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "ประชาชนปลดแอก" หรือ "10 ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์" ของกลุ่ม "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นักวิชาการรายนี้เห็นว่า "ไม่ได้ไปไกลกว่าคณะราษฎร และยังอยู่ภายใต้หลักการของคณะราษฎร" ทั้งหมดนี้เพื่อสานต่อภารกิจของคณะราษฎรให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง

คืนศักดิ์ศรีให้เสื้อแดง คืนความจริงให้ 6 ตุลา

นอกจาก "คืนสถานะทางประวัติศาสตร์" ให้แก่คณะราษฎร ขบวนการนักศึกษา 2563 ยัง "คืนศักดิ์ศรี" ให้คนเสื้อแดงในเหตุการณ์พฤษภา 2553 และ "คืนความจริง" ให้เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 สะท้อนผ่านคำปราศรัยบนเวทีและการเลือกใช้สื่อสัญลักษณ์ต่าง ๆ

6 ตุลา : ภารกิจ "สืบต่อความทรงจำ" กับวาระ "รื้อคิดความเป็นไทย" ของ 2 ผู้รอดชีวิต
ธงชัย วินิจจะกูล มองทะลุประวัติศาสตร์ "ราชาชาตินิยม" และ "ผี" ในการเมืองไทย
ธงชัย วินิจจะกูล สำรวจ "ประวัติศาสตร์กฎหมายไทย" เมื่อความมั่นคงของชาติก่อให้เกิด "สภาวะยกเว้นจนแทบจะเป็นปกติ"
10 ปีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง : มองเมษา-พฤษภา 53 ผ่านวาทกรรม "จำไม่ลง"
10 ปีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง : สำรวจชีวิต "ตัวละครเอก" ของ ศอฉ. และ นปช. ใน 5 ฉากสำคัญการเมืองไทย

ในฐานะผู้สังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวของนักเรียกร้องประชาธิปไตยรุ่นใหม่ ผศ.ดร. ประจักษ์มองว่า ขบวนการนักศึกษาได้ยกให้คน 3 กลุ่มเป็น "วีรชนประชาธิปไตย" ประกอบด้วย คณะราษฎร, แกนนำนักศึกษาปี 2519 และขบวนการเสื้อแดง

"จริง ๆ แล้วทั้ง 3 ขบวนการเป็นขบวนการที่พ่ายแพ้ทางการเมืองนะ และถูกวาดภาพในเชิงลบทั้งสิ้น คณะราษฎรถูกวาดภาพให้เป็นผู้ร้ายในเวลาอันยาวนาน 6 ตุลาไม่ต้องพูดถึง ขบวนการเสื้อแดงก็ถูกมองว่าเผาบ้านเผาเมือง กลายเป็นว่านักศึกษาไปตีความใหม่หมด แล้วยกย่องคนเหล่านี้เป็นวีรชนประชาธิปไตย ต่อให้แพ้ แต่ได้ก่อร่างเป็นผู้วางอิฐก้อนแรกให้กับการสร้างประชาธิปไตยในสังคมนี้" ผศ.ดร. ประจักษ์กล่าว

ขณะเดียวกัน "วีรชน" ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 กับพฤษภา 2535 ที่ถูกเชิดชูตามเรื่องเล่าประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยกระแสหลัก ดูเลือนลางในความเคลื่อนไหวของนักศึกษายุคปัจจุบัน สะท้อนผ่านการไม่ถูกหยิบยกมาพูดถึงบนเวทีปราศรัย

"สองเหตุการณ์ที่ถูกยกย่องจากกระแสหลักว่าเป็นหมุดหมายสำคัญของประชาธิปไตย นักศึกษากลับมองว่าเป็นชัยชนะที่ไม่แท้จริง สองเหตุการณ์ที่ถูกมองว่าเป็นชัยชนะของนักศึกษาประชาชน เมื่อเขากลับไปทบทวนแล้วเห็นว่ามันไม่ยั่งยืน และเป็นการต่อสู้ที่ถูกชี้นำโดยอุดมการณ์ที่ผิดพลาดด้วยซ้ำ" ผศ.ดร. ประจักษ์กล่าว

ฉากจบแบบ 14 ตุลา และพฤษภา 2535 ไม่ใช่รูปแบบที่พึงปรารถนา

เมื่อการตั้งโจทย์ปัญหาการเมืองไทยของนักศึกษาเปลี่ยนไป ประวัติศาสตร์หน้าเดิมจึงถูกตีความใหม่

"ประชาธิปไตยของเขา เป็นประชาธิปไตยแบบที่อำนาจต้องเป็นของปวงชนจริง ๆ พอเป็นแบบนี้ เขาเลยมองว่า 14 ตุลา 2516 กับพฤษภา 2535 มันเป็นประชาธิปไตยแบบชนชั้นนำ ไม่ยั่งยืน เพราะทั้งสองเหตุการณ์ไม่ได้ชนะด้วยชัยชนะของประชาชนจริง ๆ คุณไปหวังพึ่งชนชั้นนำกลุ่มหนึ่ง เอาชนชั้นนำจารีตมาสู้กับชนชั้นนำเผด็จการทหาร แล้วทั้งสองเหตุการณ์ยุติลงไม่ใช่เพราะเผด็จการทหารพ่ายแพ้ต่อคลื่นมวลมหามวลชนจริง ๆ แต่เพราะมีความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำจารีตกับชนชั้นนำทหาร ในที่สุดชนชั้นนำทหารถูกเขี่ยออกไป แต่โครงสร้างอำนาจไม่ได้เปลี่ยน" อาจารย์ผู้สอนวิชาการเมืองการปกครองไทยกล่าว

หากเปรียบสังคมการเมืองไทยเป็นบ้าน 1 หลัง ผศ.ดร. ประจักษ์เทียบต่อไปว่าการกำจัด "3 ทรราช" ถนอม-ประภาส-ณรงค์ ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 จึงเหมือนกับ "กระเบื้องมุงหลังคาบ้าน 3 แผ่นหลุดออกไป" ไม่ต่างจากเหตุการณ์พฤษภา 2535 "กระเบื้องหลุดไปแค่แผ่นเดียว" คือ พล.อ. สุจินดา คราประยูร แกนนำคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ขณะที่โครงสร้างบ้านทั้งหลังที่เป็นเผด็จการอำนาจนิยมยังอยู่

"นักศึกษาปัจจุบันเห็นโครงสร้างที่เป็นปัญหา มากกว่ากำจัดผู้นำทหาร เขาจึงพูดเสมอว่าลำพัง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกหรือหมดอำนาจไป การต่อสู้ยังไม่จบ เพราะเขาต้องการเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ เปลี่ยนกติกาในการเล่น ไม่ใช่แค่เปลี่ยนผู้เล่น อันนี้ทำให้ 14 ตุลา และพฤษภาทมิฬ ที่จบด้วยการมีชนชั้นนำมาแทรกแซงแล้วยุติความขัดแย้ง ไม่ใช่รูปแบบที่พึงปรารถนาแล้วสำหรับขบวนการนักศึกษาในปัจจุบัน" อาจารย์ประจักษ์วิเคราะห์

ภารกิจที่ยากของ นศ. กับเครื่องมือที่จำกัดของชนชั้นนำ

โจทย์การเมืองใหม่ที่ขบวนการนักศึกษา 2563 ตั้งขึ้น ทำให้จุดชี้ขาดชัยชนะในการต่อสู้เป็นเรื่องยากจะคาดเดา แม้แต่ปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าก็ยังยอมรับว่า "เป็นภารกิจที่ยาก" เพราะนักศึกษาต้องเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่

"เขาไม่ต้องการต่อสู้แล้วไปจบแบบ 14 ตุลา หรือพฤษภาทมิฬ จริง ๆ ทั้งสองเหตุการณ์จบที่การมีนายกฯ คนนอกนะ 14 ตุลา เป็นนายกฯ พระราชทาน (สัญญา ธรรมศักดิ์) ส่วน อานันท์ ปันยารชุน ที่ก็กลับมารอบสองก็แบบรัฐบาลแบบพิเศษ นักศึกษาปัจุบันเขาปฏิเสธการจบแบบนั้นแล้วที่ทหารออกไป แต่ได้นายกฯ พระราชทาน หรือรัฐบาลแห่งชาติ หรือรัฐบาลพิเศษมาแทนที่" ผศ.ดร. ประจักษ์กล่าว

เมื่อหันไปดูแผนรับมือ-รุกกลับของฝ่ายชนชั้นนำ ผศ.ดร. ประจักษ์พบ "เครื่องมือที่จำกัดในการจัดการกับม็อบ" เพราะการปราบปรามด้วยความรุนแรงเป็นไปไม่ได้ใน พ.ศ. นี้ หรือถึงปราบได้ก็ปกครองไม่ได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมตื่นตัวทางการเมืองสูงขึ้น และเหมือนมีฉันทามติกลาย ๆ ต่อต้านการใช้ความรุนแรงของรัฐต่อประชาชน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงสร้างชนชั้นนำไทยเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

"อย่าลืมว่าชนชั้นในปัจจุบันไม่เหมือนเดิมแล้ว เพราะไม่มีอำนาจนำที่จะให้ทุกฝ่ายมาศรัทธา ยอมรับ และอยู่ภายใต้อำนาจตัวเอง ดังนั้นยิ่งใช้ความรุนแรงหนักขึ้น ก็จะยิ่งปกครองไม่ได้"

"ผมมองดูแล้วว่าเราจะไม่เห็นฉากจบทั้งแบบ 14 ตุลา 2516 และพฤษภา 2535 และในขณะเดียวกันเราก็จะไม่เห็นฉากจบแบบ 6 ตุลา 2519 และพฤษภา 2553 ที่ปราบด้วยความรุนแรง นองเลือด ฆ่าคนเป็นร้อยแบบทารุณขนาดนั้น ไม่เกิดขึ้นง่าย ๆ แล้วในปัจจุบัน" นักวิชาการสำนักธรรมศาสตร์พยากรณ์

14 ตุลา 2563 จึงไม่ใช่วันสุดท้ายของ "คณะราษฎร 2563" ในทัศนะของอาจารย์ประจักษ์ นี่ไม่ใช่การต่อสู้แบบม้วนเดียวจบ แต่เป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อ เพราะเป็นการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ และเป็นสงครามของความชอบธรรม หากฝ่ายไหนสูญเสียความชอบธรรม เคลื่อนไหวผิดพลาด สูญเสียแนวร่วมและการสนับสนุนจากสังคมก่อน ฝ่ายนั้นก็มีโอกาสพ่ายแพ้

"ฝ่ายอนุรักษนิยมไม่มีปัญญาชนของตัวเองในปัจจุบัน"

ในขณะที่ขบวนการนักศึกษายกระดับเพดานทางอุดมการณ์ ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษนิยมกลับเผชิญปัญหาขาดนักคิดและปัญญาชนผู้เล่นบท "ปูพื้นฐานทางปัญญาเพื่อไปรองรับอำนาจแบบจารีต" ต่างจากยุคก่อน 14 ตุลา และ 6 ตุลา ที่ ผศ.ดร. ประจักษ์ สามารถไล่เลียงรายชื่อได้หลายคน อาทิ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช, ม.ร.ว.คึกฤทธิ ปราโมช, สัญญา ธรรมศักดิ์, พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร (พระองค์เจ้าธานีนิวัติ)

"ชนชั้นนำแบบนี้ก็ค่อย ๆ ล้มหายตายจากไป แล้วมันไม่มีรุ่นใหม่มาทดแทน... ฝ่ายอนุรักษนิยมไม่มีปัญญาชนของตัวเองในปัจจุบัน รูปแบบการใช้อำนาจ เลยใช้กำลังเยอะ ใช้อำนาจกดบังคับเสียเยอะ แต่ไม่ได้สามารถครองใจคนจริง ๆ ที่ทำให้คนเห็นว่าอุดมการณ์นี้มีความชอบธรรม" เขาตั้งข้อสังเกต

เมื่อการล้อมปราบไม่ใช่เครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพอีกต่อไป โจทย์ของชนชั้นนำ ณ วันนี้จึงอยู่ที่จะปรับตัวและและปรับอุดมการณ์อย่างไรให้สอดรับกับยุคสมัย

"นักศึกษาเขาเปิดมาแล้ว ไม่มีอะไรปิดบังซ่อนเร้น เป็นขบวนการที่มีความโปร่งใสมากโดยเฉพาะในแง่ข้อเรียกร้อง ความคิด ความเชื่อ มันอยู่บนโต๊ะหมดแล้ว ตอน 6 ตุลา 2619 ขนาดเป็นขบวนการฝ่ายซ้ายนะ เวลาพูดถึงปัญหาสังคมไทยต่าง ๆ ก็ยังต้องใส่รหัส 'นายทุน-ขุนศึก-ศักดินา' เวลาพูดถึงประวัติศาสตร์ไทยก็บอกว่า 'โฉมหน้าศักดินาไทย' แต่ปัจจุบันขบวนการนักศึกษาประชาชนนำเสนออุดมการณ์โดยไม่ใส่รหัสแล้ว พูดตรงไปตรงมาว่ามีข้อเรียกร้องอะไร พอเป็นแบบนี้ก็ขึ้นอยู่กับชนชั้นนำว่าจะตอบสนองอย่างไร ถ้าไม่ยอมปรับตัวเลย แน่นอนว่าก็น่าเป็นห่วง ก็จะนำไปสู่การปะทะจากประวัติศาสตร์ทั่วโลก"

นักรัฐศาสตร์-ประวัติศาสตร์เห็นว่า ขณะนี้มีทั้งวิกฤตการเมืองซ้อนกับวิกฤตเศรษฐกิจ และยังมีวิกฤตทางวัฒนธรรมซึ่งไม่เคยเป็นมาก่อน จากช่องว่างทางความคิดความเชื่อที่แตกต่างกันมาก ทำให้พ่อแม่ทะเลาะกับลูก ครูทะเลาะกับนักเรียน

"ขณะนี้เป็นทางแพร่งของสังคมไทย หากเลี้ยวผิดก็อาจลงเหว เกิดวิกฤตหนักกว่าเดิม" คือบทสรุปส่งท้ายจาก ผศ.ดร. ประจักษ์

อ่านบทความเต็มที่
https://www.bbc.com/thai/thailand-54491617