วันจันทร์, ตุลาคม 05, 2563

ข้อมูลที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ มีไอ้โล้นในสมัยนั้นได้ "ออกใบอนุญาตฆ่า" นักศึกษา-ประชาชนในธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยกล่าวว่า "ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป แต่ได้บุญ" หวังว่านรกมีจริง



สุชาติ สวัสดิ์ศรี
6h ·

ความระลึกย้อนหลัง
เท่าที่จำได้ ผมคิดว่าต้นกำเนิดของคำว่า "ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญ" นั้นมาจากบทสัมภาษณ์ที่พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร "จตุรัส" รายสัปดาห์" ปีที่ 2 ฉบับที่ 51 วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2519 ( ไม่แน่ใจว่า "กิตติวุฑโฒ" ไปให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นด้วยประโยคทำนองนี้อีกหรือเปล่า ) แต่ประโยคที่มักอ้างกันเสมอนั้น ผมคิดว่าคงจะมาจากนิตยสาร "จตุรัส" รายสัปดาห์" ฉบับที่อ้างนี้

ประโยคจริงๆในบทสัมภาษณ์ "กิตติวุฑโฒ" อันเป็นที่มาของข่าวพาดหัวในสมัยนั้น คือประโยคที่บอกว่า "ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าบาป"
นิตยสาร "จตุรัส" รายสัปดาห์" ได้นำประโยคนี้มาทำเรื่องขึ้นปก คนรุ่นนี้อาจจะไม่เคยได้ยินชื่อนิตยสารรายสัปดาห์ฉบับนี้ก็เป็นได้ ผมจะลองนึกดูว่าจำอะไรได้บ้าง

นิตยสาร "จตุรัส" รายสัปดาห์ ผู้ก่อเกิดนิตยสารฉบับนี้เมื่อปี พ.ศ.2518 คือ พันศักดิ์ วิญญรัตน์ และภรรยาแหม่มที่ชื่อ " ดีดี วิญญรัตน์ " การก่อเกิดนิตยสารฉบับนี้มีอยู่ 3 ช่วงด้วยกัน คือยุคแรก ก่อนเหตุการณ์ "14 ตุลาคม 2516" ยุคที่ 2 หลังเหตการณ์ "14 ตุลาคม 2516" ผมเคยร่วมอยู่ในกองบรรณาธิการทั้ง 2 ยุคนี้ คือเป็น " บรรณาธิการบทความ" ส่วนยุคที่ 3 ช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่นั้นไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่ก็ยังไปมาหาสู่กัน ความทรงจำของนิตยสาร "จตุรัส" รายสัปดาห์ในทั้ง 3 ยุคนี้ คุณ Pansak Vinyarath น่าจะเป็นผู้เล่ามากกว่าผม

"จตุรัส" ยุคแรก ถ้าจำไม่ผิดทำได้ 3 - 4 ฉบับ ในช่วงจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วก็ต้องยุติ เพราะถูกสันติบาลสั่งเก็บ
"จตุรัส" ยุคแรกจัดทำเป็นรายเดือน มีคำสิงห์ ศรีนอก วรพุทธ ชัยนาม เชิดชู โสภณพานิช และผมเข้าไปร่วม โดยมี ตั๊ก วงศ์รัฐปัญญา เป็นฝ่ายศิลป์

ส่วน "จตุรัส" ยุคที่ 2 กลับมาใหม่ช่วงหลังเหตุการณ์ "14 ตุลาคม 2516 " กลางปี พ.ศ.2518 โดยแสดงตัวบอกกับผู้อ่านว่าเป็น "นิตยสารข่าวกรองรายสัปดาห์" กองบรรณาธิการประกอบด้วยพิภพ ธงไชย นิวัต กองเพียร ธัญญา ผลอนันต์ เข้าไปร่วม แต่จัดทำในช่วงปีแรกได้ไม่กี่ฉบับก็เกิดปัญหาขัดแย้ง ยกทีมลาออก ( เรื่องอะไรจำไม่ได้ "ส.น.จ." น่าจะจำได้ ) ผมออกไปในระยะนี้อยู่ช่วงหนึ่ง เพราะไม่อยากขัดใจกับพิภพและธัญญา แล้วก็กลับเข้าไปช่วยพันศักดิ์อีกครั้ง ในฐานะ "บรรณาธิการบทความ" และเขียนคอลัมน์ประจำในหลายนามปากกา ( ส่วนหนึ่งที่กลับไปช่วย เพราะ Didi ภรรยาของคุณพันศักดิ์ เป็นมิตรที่ดีกันผม และอยากให้กลับไปช่วย - จนแม้ในช่วงหลังเหตุการณ์ " 6 ตุลาคม 2519 " Didi ก็ยังแสดงนํ้าใจแก่ผมและ "ศรีดาวเรือง" Didi โดยบอกว่าถ้าจำเป็นก็อยากให้เดินทางออกนอกประเทศ จะหาตั๋วเครื่องบินให้ แต่ผมก็ไม่ได้รบกวน )

นิตยสาร " จตุรัส" รายสัปดาห์ ยุคที่ 2 ในยุคนี้ได้กำลังสำคัญที่มาสานต่อให้เกิดความต่อเนื่องได้ คือ ปนัดดา เลิศลํ้าอำไพ ในฐานะหัวหน้ากองบรรณาธิการ รัศมี เผ่าเหลืองทอง ประจำกองบรรณาธิการ และยังมีนักข่าวรุ่นใหม่ๆที่เข้ามาช่วยในยุคนี้ เช่น รุ่งมณี เฆมโสภณ และ คำนูญ สิทธิสมาน ถ้าผมจำไม่ผิด คุณปนัดดาน่าจะเล่าให้ฟังได้ว่า บทสัมภาษณ์ " ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป แต่ได้บุญ" ชิ้นนี้ ใครคือผู้ทำสัมภาษณ์ อาจเป็น รุ่งมณี , คำนูญ หรืออาจเป็นผู้สื่อข่าวพิเศษคนอื่นๆ

ยังมีความทรงจำอื่นๆเกี่ยวกับ "จตุรัส" อีก แต่เอาเท่านี้ก่อน เพราะอยากให้รุ่นหลังๆได้ทราบที่มาของประโยคมหาโหดอำมหิตจากสิ่งมีชีวิตที่ครั้งหนึ่งมีชื่อว่า " พระเทพกิตติปัญญาคุณ ( นามเดิม นายกิตติศักดิ์ กิตติวุฑโฒ : 2479 - 2548 ) อดีตเจ้าอาวาสวัดจิตตภาวัน บางละมุง ชลบุรี ก่อนหน้านั้น "กิตติวุฑโฒ" เคยจำพรรษาอยู่ที่วัดมหาธาตุ ผมเดินสวนเป็นประจำสมัยมาเป็น "เด็กวัด" อยู่ที่วัดนี้ และทราบว่า "กิตติวุฑโฒ" เคยเป็นประธานมูลนิธิอภิธรรมวัดมหาธาตุ ที่ต่อมาเหมือนจะเสียท่า เพราะมอบนิตยสาร "ช่อฟ้า" รายเดือนของมูลนิธิอภิธรรมวัดมหาธาตุให้สุจิตต์ วงษ์เทศ และขรรค์ชัย บุนปาน ไปจัดทำ "สองกุมารสยาม" ก็เลยเบนแนวจากนิตยสารธรรมะเชยๆ มาเป็นนิตยสาร "แนววรรณกรรม" อันโด่งดังในช่วงทศวรรษ 2510 และเป็นต้นทางของนักเขียนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในกลุ่ม "หนุ่มเหน้าสาวสวย" และกลุ่ม "พระจันทร์เสี้ยว" ที่มักโคจรมาพบกันยามคํ่าคืน เพื่อดื่มดํำรํ่าสุราและสนทนาเรื่องบ้านเมืองในช่วงยุคเผด็จการ "ถนอม-ประภาส" ในแวดวงเวลานั้นนอกจากจะมี "สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์" และ "สังคมศาสตร์ปริทัศน์" แล้ว ก็ยังมีนิตยสาร "ช่อฟ้า" รายเดือน ของมูลนิธิอภิธรรมวัดมหาธาตุในสมัยนั้นรวมอยู่ด้วย

"ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป แต่ได้บุญ"
นี่คือประโยคที่ "ไอ้โล้น" ในสมัยนั้นได้ "ออกใบอนุญาตฆ่า" นักศึกษา-ประชาชนในธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คือหลังจากที่ให้สัมภาษาณ์ในเวลาอีกประมาณ 3 เดือนต่อมา

44 ปีผ่านมาแล้ว
ผลของการ "ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป แต่ได้บุญ" ของ "ไอ้โล้น" คนนี้ก็คือ ในเหตุการณ์ "ได้บุญ" ครั้งนั้น ตัวเลขทางการในเวลาต่อมาได้บันทึกไว้ว่า มีผู้เสียชีวิต 16 ราย บาดเจ็บสาหัส 145 ราย จากการระดมยิงด้วยอาวุธร้ายแรงของหน่วยตำรวจ ตชด. และกลุ่มจารีตนิยมขวาจัด เข้าใจว่าตัวเลขที่เป็นจริงอาจมีจำนวนมากกว่านั้น ส่วนนักศึกษาและผู้ร่วมชุมนุมที่ถูกจับกุมในครั้งนี้มีมากกว่า 2,000 คน 

https://www.facebook.com/photo/?fbid=2847903775486115&set=a.1385633111713196
...


Textbooks Foundation - มูลนิธิโครงการตำราฯ
June 25, 2011 ·

"6 ตุลา"
กับสถานะทางประวัติศาสตร์การเมือง (ใหม่)
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
E-book : https://docs.google.com/.../0B8TGG4oXxT1pS0FfN3BwQVM.../edit
เอกสารวิชาการตลาดวิชา ชุดตุลา/ตุลา/พฤษภา
(เอกสารหมายเลข 3/ใหม่)
มูลนิธิโครงการตำราฯ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 โดย ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ดำเนินงานภายใต้ปณิธาน "นัตถิ ปัญญา สมา อาภา" แสงสว่าง เสมอด้วยปัญญา ไม่มี
ข้อมูลเพ่ิมเติมเกี่ยวกับโครงการตำราฯ คลิ๊ก: www.textbooksproject.org