...
“การเรียกร้องค่าเสียหายเหมืองทองคำคืบหน้า”
ผู้ที่อ่านเพจนี้ย่อมทราบว่า ผมเคยโพสต์ความเห็นต่อต้านการทำเหมืองทองคำในไทยหลายครั้ง
สายแร่ทองในไทยมีลักษณะตื้น ที่ครอบคลุมหน้าดินเป็นบริเวณพื้นที่กว้างมาก ผิดกับเหมืองในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ที่อยู่ลึก หน้าเหมืองแคบนิดเดียว
สภาพเช่นนี้ ถึงแม้เหมืองจะพยายามป้องกันอย่างไรก็ตาม การเปิดหน้าดินกว้างย่อมมีสารปนเปื้อนหลุดออกมาได้ ไม่ว่าโดยสายลม หรือสายฝน
แต่ปัญหาใหญ่สุดของไทยก็คือสถานที่ตั้งของเหมือง
เนื่องจากเหมืองทองคำมีการใช้สารเคมีอันตรายหลายตัว โดยเฉพาะสารไซยาไนด์ ซึ่งเป็นยาพิษตรงๆ การที่เหมืองในประเทศอื่นหลบอยู่ตามภูเขาลึก หรืออยู่ในทะเลทราย ก็อาจจะมีความเสี่ยงต่ำ
แต่เหมืองชาตรีนั้น ตั้งอยู่กลางพื้นที่เกษตรกรรม และมีชุมชนล้อมรอบจำนวนมาก จึงมีความเสี่ยงการเจ็บป่วย และจะกระทบภาพพจน์แหล่งอาหารปลอดภัยของไทยในที่สุด
ดังนั้น การที่หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจ ม. 44 ระงับเหมืองดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสมแล้ว ถึงแม้บริษัทคิงส์เกทจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อคณะอนุญาโตตุลาการก็ตาม
โอกาสที่ไทยจะชนะคดีก็มีอยู่มาก โดยรัฐบาลจะต้องประสานงานทุกกระทรวงเพื่อรวบรวมหลักฐานการดำเนินงานโดยบริษัทที่เป็นอันตราย ไม่ว่าโดยเจตนา หรือโดยไม่มีเจตนา
แต่ล่าสุดมีนักกฎหมายวิเคราะห์ว่า การที่ กกต. และผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. ไม่เป็น ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ นั้น อาจจะเป็นการเปิดประเด็นที่ทำให้ไทยเสียเปรียบ
พูดง่ายๆ คู่ต่อสู้อาจจะยกว่า การที่หัวหน้า คสช. ไม่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐนั้น อาจจะเข้าข่ายเป็นการรอนสิทธิของบริษัทคิงส์เกทที่มิชอบ
อันที่จริง ก่อนสมัครเป็นแคนดิเดท ถ้าหากพล.อ.ประยุทธ์จะได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้า คสช. ปล่อยให้คนอื่นหรือรุ่นน้องเป็นแทน ก็จะไม่มีปัญหานี้
นักกฎหมายวิจารณ์ต่อไปอีกด้วยว่า ถ้าหากไทยแพ้คดี สมมุติต้องจ่ายบริษัทคิงส์เกท 3 หมื่นล้านบาท ถ้าหากพล.อ.ประยุทธ์มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ รัฐก็ต้องรับค่าเสียหายนี้ไว้เอง
แต่การที่พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ รัฐก็อาจจะต้องเรียกให้พล.อ.ประยุทธ์ต้องรับผิดชอบตรงนี้เป็นการส่วนตัว
ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2562 บริษัทคิงส์เกทได้แถลงข่าวว่า ได้บรรลุข้อตกลงกับบริษัทประกันภัยแล้ว เป็นเงิน 1,850 ล้านบาท ซึ่งจะใช้ชดเชยความเสียหายบางส่วนที่บริษัทต้องหาทางเรียกจากรัฐบาลไทย (ดูรูป)
ทั้งนี้ ทั้งบริษัทคิงส์เกทกับบริษัทประกันภัย จะร่วมกันรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในอนุญาโตตุลาการ และเมื่อเรียกเงินได้จากรัฐบาลไทย บริษัทคิงส์เกทก็จะแบ่งให้บริษัทประกันภัยบางส่วน
ดังนั้น เหตุการณ์ล่าสุดแสดงถึงความเสี่ยงจากการตีความสถานะของหัวหน้า คสช. อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้นแล้ว
ผมเองไม่ใช่นักกฎหมาย แต่เห็นเป็นเรื่องสำคัญจึงนำมาเผยแพร่ เพื่อผู้อ่านที่มีความรู้จะได้เสนอแนะเพื่อช่วยรัฐป้องกันความเสี่ยง
อนึ่ง สำหรับท่านผู้อ่านที่เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์มีความเสี่ยงจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายเอง แล้วคิดว่าค่าเสียหายนี้จะไม่เป็นภาระของประชาชน นั้น
ขอเรียนว่า ถ้าแพ้คดี รัฐบาลไทยจะต้องเป็นผู้จ่ายค่าเสียหายไปก่อน ส่วนจะเรียกเอาจากพล.อ.ประยุทธ์นั้น ก็คงได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ที่เหลือก็จะเป็นภาระการคลังของประเทศอยู่ดี
Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล