อันที่จริงการแสดงความเห็นออกสื่อสังคมของนายนิติพงษ์
ห่อนาค นักแต่งเพลงผู้โด่งดังในนาม ‘ดี้’ ล่าสุดนี้นั้น ไม่น่าจะได้ราคาค่าควรแก่การใส่ใจมากไป
แต่เพราะความคิดแบบต้องการกลับไปหากรอบ ‘พ่อขุนรามคำแหง’ อย่างเขานี่
มีคนเห็นชอบอยู่ด้วยไม่น้อยจำนวนหนึ่ง จึงได้มีครู (สองคน)
อุตส่าห์สละเวลามาสั่งสอน ให้ดี้รู้ตระหนักถึงการอยู่ร่วมในสังคมมนุษย์ ที่ต้องมี ‘จินตนาการ’ และ ‘ความหวัง’ ต่อทางเลือกให้เหมาะควรและสมานฉันท์
ครูคนแรกที่ขอเอ่ยถึงนี่เป็นอาจารย์สอนกฎหมายแบบเน้นประชาธิปไตยมากกว่า
‘กฎพ่อกู’ ของดี้ อจ.ปิยบุตร
แสงกนกกุล ให้ข้อคิดต่อความเห็นของดี้ ที่บริภาษณ์ฝ่ายต่อต้านเผด็จการว่า “อยากเลือกตั้ง...ซ้ำๆ
ซากๆ” นั้น
“เป็นภาพแทนความคิดของคนจำนวนไม่น้อยในสังคมไทย
โดยเฉพาะคนในเมือง...คนกลุ่มนี้ถึงยอมสนับสนุนเผด็จการทหาร
หันหลังให้กับการเมืองแบบรัฐสภา” และ “คสช.อยู่ได้จนทุกวันนี้เพราะมีพลัง
มีความคิดทำนองนี้สนับสนุน”
ความคิดทำนองนี้ก็คือ “เขาเห็นว่าการเมืองแบบรัฐสภาถูก ‘บิดผัน’ ไป
และไม่ให้คำตอบอีกแล้ว หันไปทางไหนก็ไม่มีทางเลือก ไม่มีทางออก ภาพหลอนแบบ ๑๐ ปีกว่าตามมาหลอกหลอน
อย่ากระนั้นเลย ทนอยู่กับ คสช. ดีกว่า”
ข้อสำคัญแม้คนเหล่านี้เริ่มที่จะ
‘ทนไม่ไหว...ไม่พอใจ’
เริ่มบ่นกันดังๆ บ้างแล้ว แต่สุดท้ายจนปัญญา “ไม่มีทางออกนี่โว้ย”
เลยมุดกลับเข้าไปในครอบกะลาพ่อขุนแบบที่ดี้แสดง
อะไรบ้างที่ดี้แสดง เขาอ้างว่าเป็น ‘คำถาม’ ๙ ข้อ (นี่ก็เป็นการแสดงสัญญลักษณ์ของการไม่กล้าก้าวไปข้างหน้าผ่านทางตัวเลข)
ซึ่งเป็นคำถามจริงๆ ไม่ถึงเก้า หรือถ้าจะเหมาเอาเป็นคำถามทั้งหมดน่าจะสิบ
ที่บอกว่าเลือกมาแล้วหลายทีไม่เห็นมีแตกต่าง
นั่นก็ผิด มีการเลือกตั้งที่ผู้ชนะได้เสียงสนับสนุนถล่มทลาย
แต่พลังพ่อขุนของพวกดี้ไม่ชอบก็เลยคว่ำมันเสียต่างหาก
อ้างว่ารัฐธรรมนูญทำให้เกิดเผด็จการในพรรคการเมือง
นั้นขอถามกลับว่า รธน.นี้พ่อขุนของพวกคุณเขียนมันขึ้นมาไม่ใช่หรือ เอาละ คุณเอง (ที่สับสนไม่รู้จะเรียกตัวเองว่า
‘มึง’ หรือ ‘กู’ ดี ก็เลยมั่วเป็นทั้งกูและมึง)
ยอมรับว่าเผด็จการตัวนี้ ‘หน่อมแน้ม’ “จะเด็ดขาดก็ไม่กล้าเด็ดขาด
แถมยังเฟอะฟะอีกหลายเรื่อง”
แต่ประชาธิปไตยที่พวกนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ออกมายืนยงเรียกร้องกันอยู่ขณะนี้นั้น
“คือเผด็จการอีกรูปแบบหนึ่งที่ห่อหุ้มแพกเกจให้ดูงดงาม”
ซ้ำมุสาหาว่าการเรียกร้องของพวกเขานั้น “ไม่มีข้อเสนออะไรเลย…ย้ำ ไม่มีข้อเสนออะไรเลย นอกจากอยากจะมีเลือกตั้ง”
นั่นก็ผิดบรรลัยไปอีกประเด็นหนึ่งแล้ว
ถ้าไม่รู้อย่าสักแต่ด่า ต้อง ‘เรียน’ เสียก่อนแล้วค่อยพูดนะ ‘ดี้’
ฟังที่ครูอีกคนเธอสอนนี่สิ จะทำให้ชีวิตดี้มีค่าควรแก่การไปหาความหมายได้บ้าง
‘โบว์’
ณัฏฐา มหัทธนา เป็นครูสอนสังคมวิทยาเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม รักษาสิทธิและเสียงซึ่งกันและกัน
ชวนกันมองไปข้างหน้า สู่ความเป็นอยู่ที่ดีกว่า ไม่ใช่จมปลักอยู่กับมโนคติเก่าแก่อย่างดี้
เธอคิด เธอสอน
แล้วยังปฏิบัติเพื่อเปิดเส้นทางไปหาจุดหมาย ไม่ใช่ อึดอัดขัดใจ หาทางออกไม่ได้
มุดกลับรูเก่าแล้วยังแว้งเห่าพวกเพื่อนที่เขาพยายามเปิดกะลาออกไปหาโลกกว้าง
น.ส.ณัฏฐา หนึ่งใน ๗ แกนนำ ‘คนอยากเลือกตั้ง’ เขียนเฟชบุ๊คตอบดี้ด้วยความปราณี “พี่ดี้และเพื่อนควรพิจารณาตั้งต้นบนจุดใหม่
จุดที่เชื่อว่าชาวไทยทุกคนล้วนอยากมีอนาคตที่ดี เมื่อเชื่อได้อย่างนี้จะเห็นความเป็นไปได้อีกมากมาย
ใครอยากตั้งพรรคการเมืองใหม่หากมีไอเดียที่ดีพอ
ย่อมสามารถโน้มน้าวผู้คนและระดมทุนให้มาร่วมกันสร้างความฝันนั้นได้
แต่หากทำไม่ได้ให้ประเมินตนและพิจารณาความได้เรื่องได้ราวของไอเดียตัวเอง ก่อนจะโทษทุนนิยม”
จำเพาะอย่างยิ่งกับประเด็นที่ดี้
‘ดิ้น’
“แม้แต่รัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการที่ทำให้หลายคนสิ้นหวัง
ก็ไม่อาจอยู่ชั่วฟ้าดินสลาย หากคนในชาติชัดเจนในความต้องการของตนที่จะแก้ไข
มนุษย์เคยพาตัวเองไปได้ไกลกว่าดวงจันทร์
จะกลัวอะไรกับการหาวิธีแก้ตัวอักษรบนกระดาษ”
เหล่านั้นที่ น.ส.ณัฏฐาอุตส่าห์พร่ำสอนนายนิติพงษ์
เธอเรียกว่า ‘จินตนาการใหม่’ “ความหวาดระแวงประชาธิปไตยคือความหวาดระแวงในเพื่อนร่วมชาติ”
โบว์ว่า
“คนไทยใจเสาะหรือใจสู้
จะสร้างอนาคตแบบไหนให้ตัวเอง เราก็จะได้เห็นไปด้วยกัน” จะไปอย่างไรต้องย้อนไปฟัง
อจ.ปิยบุตรเสนอ
"เราต้องสร้าง 'ทางเลือกใหม่' ให้สำเร็จให้จงได้"
นักนิติศาสตร์ที่บางครั้งยอมรับว่าระบบกฎหมายไทยไม่
‘เอื้อ’ หรือแม้แต่ตั้งอยู่บนรากฐานของความยุติธรรมในสังคม เน้นให้
“ต้องทำให้ผู้คนมี
‘ความหวัง’
กับการเมือง หันกลับมาในเส้นทางที่ถูกต้อง
ให้พวกเขาตระหนักว่าเผด็จการทหารไม่ใช่ทางออก แต่เป็นทางตัน”
ท้ายที่สุดแล้ว
“การเมืองแบบใหม่
ประชาชนสร้างได้ ความขัดแย้งกันเป็นเรื่องปกติในประชาธิปไตย
และประชาชนจัดการกันเองได้”