วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 22, 2561

เปิด 5 คำถามบังคับที่วิทยากร "ไทยนิยม" ต้องถามประชาชน 66.18 ล้านคน - ปูพรมล้างสมองทั่วไทย ...



ooo

“ประชาธิปไตยไทยนิยม” ขวดใหม่ของเหล้าเก่า “ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ”



BBC THAI
คำบรรยายภาพพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โยนต้นกล้าข้าวนาโยน ระหว่างลงพื้นที่รับฟังปัญหาของชาวนครปฐม ตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน โดยมีชายคนหนึ่งตะโกนขอให้เป็นนายกฯ 20 ปี ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า "ไว้เชียร์เป็นการส่วนตัว เดี๋ยวคนด่าอีก"


โดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
21 กุมภาพันธ์ 2018


21 ก.พ. รัฐบาลทหาร ปล่อยตัว "ทีมไทยนิยม" พร้อมกันทั้งประเทศ-ปูพรมลงพื้นที่กว่า 7,600 ตำบล เพื่อ "รับฟัง" ปัญหาของประชาชน พร้อมชวนคนไทยทำความรู้จัก "ประชาธิปไตยไทยนิยม" ของหัวหน้าคณะรัฐประหาร ที่เป็นภาคต่อของ "ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ"

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศสถาปนา "ประชาธิปไตยไทยนิยม" ในสังคมไทย ยืนยันหลายกรรม-หลายวาระว่าประชาธิปไตยที่มีคำว่า "ไทยนิยม" ต่อท้าย ไม่ได้ละทิ้งหลักการสำคัญของ "ประชาธิปไตยสากล" ที่การเลือกตั้งนำมาซึ่งรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล แต่มีเจตนาอันบริสุทธิ์ในการทำให้บ้านเมืองปลอดภัย

"ต้องหาประชาธิปไตยที่คนไทยทั้งหมดทุกกลุ่มทุกฝ่ายเข้าใจ และมีอุดมการณ์อันเดียวกันที่จะทำให้ประเทศชาติเรามั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน นี่คือประชาธิปไตยแบบไทยนิยมของผม" นายกรัฐมนตรีกล่าวเมื่อ 16 ม.ค. 2561


ประยุทธ์ลั่น "ผมไม่ใช่นักการเมือง" 9 ครั้ง ก่อนเปิดตัวเป็นนักการเมือง
ส่อเลื่อนวันเลือกตั้งครั้งที่ 4 จะมีใครเป็น "โมฆะบุรุษ"


การทำให้ประชาชน "รู้รักประชาธิปไตยไทยนิยม" ถูกบรรจุเป็น 1 ใน 10 กรอบหลักในการดำเนินการเพื่อการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน รวม 7,663 ทีม จะดาวกระจายลงพื้นที่-เคาะประตูบ้านประชาชน 83,151 หมู่บ้าน/ชุมชน เริ่มคิกออฟพร้อมกันตำบลละ 1 หมู่บ้านตั้งแต่ 21 ก.พ. นี้


BBC THAI


พล.อ.ประยุทธ์ลงพื้นที่ จ.นครปฐมด้วยตัวเอง โดยกล่าวกับประชาชนที่มารอต้อนรับว่ารัฐบาลกำลัง "สู้กับความยากจนและสิ่งไม่ดี ดังนั้นเมื่อถึงเวลาเลือกตั้งขอให้เลือกให้ดี" พร้อมขอให้เข้าใจสถานการณ์ในบ้านเรา ส่วนเรื่องการเลือกตั้งก็ว่ากันไปตามกฎหมายตามขั้นตอน

"สิ่งสำคัญวันนี้จะได้รัฐบาลที่เป็นของปวงชนชาวไทย ถ้าเลือกรัฐบาลที่เป็นของใครของมัน จะเป็นปัญหาแบบเดิม ก็ตีกันอีก ต้องเลือกรัฐบาลที่ดูแลคนทั้งประเทศ ส.ส. ส่งความต้องการขึ้นไป รัฐบาลก็ดูว่าตรงไหนควรทำ ไม่ใช่หว่านไปเรื่อยแล้วเมื่อไรจะพอ วันนี้ก็ยังเข้มแข็งไม่พอ แสดงว่าต้องบริหารใหม่ ใจเย็น ๆ ได้ไหม" นายกรัฐมนตรีกล่าว


WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
คำบรรยายภาพกลุ่ม "คนอยากเลือกตั้ง" ชุมนุมเมื่อ 10 ก.พ. กดดันให้ คสช. ต้องจัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 ตามโรดแมปที่ พล.อ.ประยุทธ์ประกาศไว้


โรดแมปไทยนิยมของรัฐบาล คสช. ออกมาในจังหวะใกล้เคียงกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรม และประชาชนที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง" ซึ่งได้กางปฏิทินนัดชุมนุม-เปิดโรดแมปทวงวันเลือกตั้งภายในปีนี้

ทว่าสิ่งที่แตกต่างคือประชาธิปไตยแบบนักเคลื่อนไหวบนท้องถนนนั้น ชูหลักการสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน ขณะที่แผนเผยแพร่ประชาธิปไตยไทยนิยมถูกจัดให้เป็น "ภารกิจด้านความมั่นคง" ร่วมกับประเด็นอื่น ๆ ทั้ง "สัญญาประชาคมผูกใจไทยเป็นหนึ่ง", รู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้กฎหมาย, รู้กลไกการบริหารราชการ, รู้เท่าทันเทคโนโลยี และร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด





ในระหว่างประชุมมอบนโยบายและการขับเคลื่อนไทยนิยม ยั่งยืน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปรียบเปรยประชาธิปไตยเป็นเสมือนทุเรียนและสับปะรดที่มีเปลือกและเนื้อใน

"การเลือกตั้งคือเรื่องเปลือกซึ่งก็จำเป็น แต่เปลือกกับเนื้ออะไรสำคัญกว่ากัน เบื้องต้นก็สำคัญพอกัน แต่อะไรสำคัญกว่ากันก็ต้องไปบอกชาวบ้าน ถ้าพอใจแค่นี้ จะได้แต่ตาสับปะรดกับเปลือกทุเรียน ส่วนเนื้อในคือการเคารพเสียงส่วนมาก เคารพประชาชน การมีสิทธิเสรีภาพ การมีวัฒนธรรมทางการเมือง ความรักชาติ ความเสียสละ ความมีระเบียบวินัย ตรงนี้คือเนื้อหาของประชาธิปไตย" รองนายกรัฐมนตรีระบุ (9 ก.พ. 2561)

มือกฎหมายรัฐบาลที่สื่อมวลชนทำเนียบฯ ให้ฉายาว่า "เนติบริกร" ย้ำว่า แต่ละประเทศย่อมมีประชาธิปไตยในแบบของตัวเอง ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตจากคนแวดวงวิชาการว่าสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์กับพวกกำลังทำ คือการฟื้น "ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ" นั่นเอง

รัฐประหาร 6 ครั้งเพื่อกอบกู้ "ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ"



AFP/GETTY IMAGES

คำบรรยายภาพบรรยากาศ 1 วันหลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549

ถ้าย้อนดู 85 ปี หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จะพบว่า มีรัฐประหารอย่างน้อย 6 จาก 13 ครั้งที่ถูกก่อการขึ้นเพื่อกอบกู้-ส่งเสริมระบอบ "ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ"

แนวคิดนี้เกิดขึ้นหลังรัฐประหารปี 2490 โดยชนชั้นนำไทยได้วางกุศโลบาย "บัญญัติศัพท์" เพื่อรักษาเอกราชทางการเมือง ผดุงวัฒนธรรมของชาติ และวางหมากป้องกันฝรั่งบั่นทอนอำนาจปกครอง



ที่มา: ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ, รัฐประหารกับประชาธิปไตย, (2550) และ * ดัดแปลงจากคำกล่าวของ ศ.ดร.เกษียรในงานเสวนา Direk's Talk หัวข้อ "ทิศทางการเมืองโลก ทิศทางการเมืองไทย และนโยบายสาธารณะ" เมื่อ 19 มิ.ย. 2560


ทว่าผู้วางรากฐานทางความคิด "ประชาธิปไตยแบบไทย ๆ" ให้หยั่งลึกในสังคมไทย-ฝังอุดมการณ์การเมืองแก่นายทหารไทย หนีไม่พ้นผู้นำเผด็จการทหารที่ชื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งขึ้นสู่อำนาจหลังก่อรัฐประหารปี 2500 และ 2501


AFP/GETTY IMAGES


ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวไว้เมื่อปี 2558 ว่า จอมพลสฤษดิ์ได้ผูกอุดมการณ์ทหารไทยไว้กับ 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ ชาตินิยม-เสนานิยม-ต่อต้านคอมมิวนิสต์นิยม การเมืองในยุคสงครามเย็นทำให้กองทัพอยู่ในสถานะของการเป็น "ผู้พิทักษ์" คอยปกป้องและคุ้มครองสถาบันหลักของประเทศ ก่อนประสบความสำเร็จอย่างถึงขีดสุดในการทำหน้าที่ "ผู้ควบคุมการเมือง"

"ทหารปัจจุบันยังคงเชื่ออย่างมั่นใจว่ากองทัพคือผู้ควบคุมการเมือง และการเมืองจะต้องเดินไปในทิศทางที่ผู้นำทหารปรารถนา และอะไรที่ขัดแย้งกับกองทัพ สิ่งนั้นขัดแข้งกับความมั่นคงของรัฐ"ศ.ดร.สุรชาติระบุ

อย่างไรก็ตามการ "ปฏิวัติประชาชน" ในเดือน ต.ค. 2516 ถือเป็นสัญญาณการปิดฉากลงของการแสดงบทบาทเป็น "ผู้ปกครองเต็มตัว" ของกองทัพ ภายใต้การนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์


WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
คำบรรยายภาพพล.อ.เปรมครองตำแหน่งนายกฯ ยาวนาน 8 ปี (2523-2531) โดยไม่ได้ลงเลือกตั้ง ทำให้ผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เสนอให้ใช้ "เปรมโมเดล" เพื่อให้หัวหน้า คสช. กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย


เฉลิมเกียรติ ผิวนวล นักวิชาการรัฐศาสตร์ เขียนไว้เมื่อปี 2533 เรียกขานช่วงเวลานั้นว่า "ยุคตำนานประชาธิปไตย" ก่อนถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ใน "ระบอบปฏิรูป" โดย "รัฐบาลหอย" ของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร และกลายร่างเป็น "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

เฉลิมเกียรติชี้ว่า แก่นแท้ของประชาธิปไตยแบบนี้เน้นเรื่องความมั่นคงเชิงลบ ควบคู่กับลัทธิชาตินิยมที่เน้นขนบธรรมเนียมประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ ประกอบกับลัทธิผู้นำ โดยมีข้าราชการชั้นสูงและทหารรองรับอยู่ ซึ่ง "แนวความคิดนี้มองมนุษย์ในแง่ร้าย และปฏิเสธความเสมอภาคของปัจเจกชน" และ "วัตถุประสงค์อันดับแรกของภาระหน้าที่หลักของรัฐบาลคือเพื่อรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อย"

ประชาธิปไตยของ "คนดี"



GETTY IMAGES
คำบรรยายภาพหนึ่งในข้อเรียกร้องของ กปปส. ระหว่างชุมนุมการเมืองปี 2556-2557 ที่ชูธง "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" คือการตั้ง "สภาคนดี"


ความพยายามสถาปนา "ประชาธิปไตยไทยนิยม" ในปี 2561 เกิดขึ้นภายใต้คำอธิบายของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ว่า "ประเทศไทยจะแตกแยกกันต่อไปไม่ได้" ก่อนระดมกลไกรัฐทุกหมู่เหล่าไป "ขายตรง" ประชาธิปไตยในแบบ คสช. พร้อม "ปรับทัศนคติ" ประชาชนให้คิดเหมือนกันเพื่อความปรองดอง นี่คือปรากฏการณ์ที่เคยเกิดขึ้นแล้ว-ได้ผลแล้วในการส่งวิทยากรกระบวนการที่เรียกว่า ครู ก. ข. ค. หลายแสนคนไปโฆษณาชี้ชวนให้ประชาชนร่วมลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ฤชุพันธ์ เมื่อปี 2559



ขณะที่คู่มือการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของกระทรวงมหาดไทย ให้นิยามประชาธิปไตยไทยนิยมไว้ว่าคือการ "นิยมความดี ความงาม เป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนจะมุ่งมั่นในการทำความดี เพื่อประเทศชาติและบุตรหลานในอนาคต" พร้อมเรียกร้องให้คนไทยต้องมาร่วมกันแก้ปัญหาด้วยการ "เลือก 'คนดี' หรือ 'ผู้แทนที่ดี' โดยตั้งเกณฑ์การประเมิน "คนดี" ไว้เสร็จสรรพ หลัง คสช. กับผู้สนับสนุนร่วมกันเขียน "ผีนักการเมือง" ให้สังคมเกิดความหวาดกลัวตลอดเวลา 3 ปี 9 เดือนที่ผ่านมา

5 คำถามบังคับที่วิทยากร "ไทยนิยม" ต้องถามประชาชน 66.18 ล้านคน

  • ประชาธิปไตยคืออะไร/ ความเป็นไทยคืออะไร/ ประชาธิปไตยแบบไหนที่เหมาะสมกับสังคมไทย
  • อยากเห็นบ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้าหรือไม่
  • คนแบบไหนที่พึงประสงค์ เช่น พอเพียง มีวินัย ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ และมีจิตสาธารณะ
  • คนดีในหมู่บ้านเราเป็นอย่างไร
  • นักการเมืองที่ให้เงินชาวบ้านถือเป็นคนดีหรือไม่

ที่มา: คู่มือการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน จัดทำโดยกระทรวงมหาดไทย

จึงไม่แปลกหากนักวิชาการและนักเลือกตั้งจะตั้งคำถามว่าผู้นำ คสช. กำลังพาสังคมไทยย้อนยุคไปถึง 40 ปี ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรมหรือไม่ กล่าวคือ แม้มีเลือกตั้ง แต่ได้ขุนทหารเป็นนายกฯ หรือเป็น "เกรียงศักดิ์โมเดล" ที่กำหนดให้นายกฯ ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยมี ส.ว.แต่งตั้งเป็นฐานอำนาจหลัก โดยเฉพาะเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์เปิดตัวในฐานะ "เป็นนักการเมือง" ช่วงเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา
ที่มาข้อมูล:

1. เกษียร เตชะพีระ, รัฐประหารกับประชาธิปไตย, กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, 2550.

2. เฉลิมเกียรติ ผิวนวล, ประชาธิปไตยแบบไทย ความคิดทางการเมืองของทหารไทย (2519-2529), กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2533.

3. สุรชาติ บำรุงสุข, "Democracy 3.5 เมื่อลมประชาธิปไตยพัดหวน!," ใน KPI YEARBOOK 2558 ดุลอำนาจในการเมืองการปกครองไทย, กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2558.