วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 20, 2561

สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วน เชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม และผู้สนับสนุนกว่า 7 ล้านคนทั่วโลกให้ร่วมกันส่งจดหมายเรียกร้องทางการไทยให้ยุติการดำเนินคดีอาญาต่อกลุ่มนักกิจกรรม MBK 39





แอมเนสตี้ชวนทั่วโลกส่งจดหมายเรียกร้องไทยยุติคดี MBK 39 ระบุละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก ขัดมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล


19 กุมภาพันธ์ 2561
Source: Amnesty International Thailand

สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วน เชิญชวนสมาชิก นักกิจกกรม และผู้สนับสนุนกว่า 7 ล้านคนทั่วโลกให้ร่วมกันส่งจดหมายเรียกร้องทางการไทยให้ยุติการดำเนินคดีอาญาต่อกลุ่มนักกิจกรรม MBK 39

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2561 ที่ผ่านมาหน้าศูนย์การค้า MBK ซึ่งเป็นการรวมตัวอย่างสันติของนักศึกษาและประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลทหาร เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและทวงสัญญาของรัฐบาลที่ระบุว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้ แต่หลังจากนั้นไม่นาน ตำรวจได้แจ้งดำเนินคดีต่อผู้เข้าร่วมไปจนถึงผู้สังเกตการณ์รวม 39 คน ซึ่งเป็นที่มาของชื่อเรียก MBK 39

ทั้ง 39 คนถูกแจ้งข้อหาฐานละเมิดคำสั่ง คสช. ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน และความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ที่ห้ามการชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐานตาม ซึ่งหากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง พวกเขาอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดหนึ่งปี

นอกจากนี้ เก้าคนในนั้นยังโดนแจ้งข้อหายุยงปลุกปั่นเพิ่มด้วย โดยถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้นำการชุมนุมดังกล่าว หากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง พวกเขาอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุดอีกคนละเจ็ดปี

แอมเนสตี้เชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม ผู้สนับสนุน ตลอดจนผู้ที่สนใจประเด็นสิทธิมนุษยชนทั่วโลก เขียนจดหมายเรียกร้องให้ทางการไทยยุติการดำเนินคดีต่อกลุ่ม MBK 39 และคนไทยทุกคนที่ถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสันติ ตลอดจนยกเลิกและปรับปรุงกฎหมาย ไปจนถึงคำสั่งต่างๆ ให้ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนด้วย

แอมเนสตี้พบว่าตลอดช่วงสามปีครึ่งหลังจากรัฐประหาร รัฐบาลทหารปราบปรามและจำกัดพื้นที่การใช้สิทธิมนุษยชนของประชาชนอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ เห็นได้จากผู้ที่แสดงความเห็นต่อต้านรัฐประหารหรือรัฐบาลทหารผ่านช่องทางต่างๆ หลายคนถูกควบคุมตัวโดยพลการ ถูกดำเนินคดีตามคำสั่งของรัฐบาลทหาร และถูกนำตัวขึ้นศาลทหาร ซึ่งไม่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างมาก