วันพุธ, ตุลาคม 18, 2560

ปากคำ 'ชายชุดดำ' ผู้ลี้ภัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อปลายธันวาคม ๒๕๕๔

บันทึกนักโทษคดีการเมือง ตอนที่ 7 :ปากคำของชายชุดดำ

มันเป็นวันที่ 13 ธันวาคม 2554 เวลาเย็นหลังเลิกงาน ภรรยาผมได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนบ้านเก่าว่ามีตำรวจถือหมายค้นมา แล้วก็มีรูปพรรณสัณฐานของผม มาถามหาว่าอยู่บ้านนี้มั้ย?

เราย้ายออกจากบ้านหลังเก่ามาหลายปีแล้ว แต่โบราณว่าการสร้างสานสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน ย่อมดีกว่าสร้างรั้วที่แข็งแกร่งมั่นคง...เขาเลยโทรมาบอกว่าตำรวจมาหาผม
...

บ้านเมืองตอนนั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาจัดเลือกตั้งใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทย โดยคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวและเป็นนอมินีของทักษิณ ชินวัตร ใช้เวลาบนรถกระบะหาเสียงเพียง 39วันก็ชนะเลือกตั้งก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี

ยิ่งลักษณ์ชนะเลือกตั้งด้วยแรงสนับสนุนท่วมท้นของกลุ่มคนที่สนับสนุนทักษิณ ขบวนการมวลชนเสื้อแดงที่บาดเจ็บ ล้มตาย บอบช้ำมาจากการถูกปราบปรามเข่นฆ่าในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ทุ่มเทสนับสนุน

และฝ่ายสนับสนุนรณรงค์เคลื่อนไหวประชาธิปไตย

ตอนแรกๆ ที่จัดตั้งรัฐบาลยิ่งลักษณ์ รัฐบาลของเธอยุ่งยากและใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใหญ่ และเมื่อน้ำท่วมเบาบางลง รัฐบาลก็ไปมุ่งเน้นงานนโยบายประชานิยม เช่่น จำนำข้าว ค่าแรงวันละ300 บาท เงินเดือนปริญญาตรี 15,000 รถคันแรกฯลฯ..

ในเวลานั้น เวบไทยอีนิวส์ที่มีอิทธิพลต่อฝ่ายประชาธิปไตยทั้งในไทยและทั่วทุกมุมโลก มีคนติดตามอ่านเฉลี่ย 5 หมื่นเพจวิวต่อวัน มีคนขนานนามว่าเป็น "ปราการที่แข็งแกร่งของขบวนการประชาธิปไตยเสื้อแดง"รณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาล รวมถึงแกนนำ นปช. และทักษิณ ได้ตระหนักว่ายิ่งลักษณ์ขึ้นมาเป็๋นนายกฯ ชนะเลือกตั้งท่วมท้นนั้นก็ด้วยขบวนประชาชนเสื้อแดงและฝ่ายประชาธิปไตย ต้องการให้มีการชำระสะสางความอยุติธรรมทั้งมวลในระยะที่ผ่านมา อาทิเช่น

-ต้องรื้อฟื้นคืนเกียรติยศแก่คนตาย คนเจ็บ คนพิการ ถูกสังหารในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ว่าพวกเขาไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย แต่เป็นผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ถูกอำนาจรัฐเวลานั้น ขจัดกวาดล้างและตีตราบาปให้เป็นผู้ร้าย ต้องมีการเยียวยาอย่างยุติธรรม ปลดปล่อยผู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ถูกจับกุมคุมขังโดยมิชอบและไม่ยุติธรรมทั้งหมด รวมทั้งบรรดาเหยื่ออยุติธรรมในคดีที่เรียกว่า "คดีเผาศาลากลาง" หลายจังหวัดด้วย

-ต้องเร่งดำเนินคดีบรรดาผู้มีส่วนในการสังหารเข่นฆ่าในการชุมนุมครั้งนั้น ต้องมีการรับผิดชอบ ให้เลิกวัฒนธรรมปล่อยผู้บงการลอยนวล คัดค้านการนิรโทษกรรมที่จะทำให้มีการกระทำผิดซ้ำซากของบรรดาผู้เผด็จการ

-ต้องยุติความพยายามดึงและดองคดีพันธมิตรก่อการร้ายยึดสนามบิน และปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมเดินหน้าอย่างปกติ

สรุปง่ายๆ คือ "ปลดปล่อยนักโทษการเมืองเสื้อแดงที่ถูกคุมขังในเหตุการณ์พฤษภา 53, ลงโทษบรรดาผู้บงการสังหารเข่นฆ่าในเหตุการณ์นั้น โดยไม่สมควรนิรโทษกรรม และเร่งเอาผิดพันธมิตรยึดสนามบิน"

การรณรงค์ในแคมเปญนี้ค่อยทวีความร้อนแรงดุเดือดยิ่งขึ้น เมื่อพบว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังดูดายไม่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาสู่การพิจารณา เริ่มมีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล รวมทั้งแกนนำ นปช.และทักษิณหนักขึ้น ในทำนองว่าเหยียบซากศพวีรชนกลับสู่อำนาจ ด้วยการที่ฝ่ายประชาธิปไตยทุ่มเทและต้องหลั่งเลือด แต่ดูเหมือนรัฐบาลไม่ได้ใช้่อำนาจไปในทางอำนวยความยุติธรรมให้แก่ขบวนการมวลชนที่สนับสนุนค้ำจุนตนเองเลย...

จังหวะนั้นพอดีกับที่คนในพรรคประชาธิปัตย์ชี้เป้าว่า พวกสื่อออนไลน์มีพฤติการณ์นำเสนอข่าวพาดพิงเบื้องสูงขอให้มีการจัดการด้วย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีที่กำกับดูแลงานด้านตำรวจเวลานั้นจึงประกาศกับสื่อมวลชนว่าจะจัดการดำเนินคดีพวกเวบไซต์และสื่ออ่อนไลน์

ผมมาทราบภายหลังว่าในเย็นวันที่ 13 ธันวาคม 2554 มีผู้ถูกควบคุมตัวไป 3 ราย เป็นเจ้าของเว็บบล็อกเล็กๆทั้งหมด ส่วนผมรอดมาได้หวุดหวิดเพราะเพื่อนบ้านโทรมาแจ้งข่าวซะก่อน

ผมหลบลงใต้ดินลึกลงไปอีกด้วยการย้ายที่นอนไปเรื่อยๆ บางวันอาจจะ 2-3 ที่ อาการหวาดระแวงว่าตำรวจจะจับตัวได้ ทำเอาน้ำหนักทรุดฮวบในเวลาไม่กี่วัน

กระทั่งปลายเดือนธันวาคมปีนั้น ผมจึงได้เล็ดลอดออกจากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการนั่งรถสุดทรหดและหวาดระแวงไปตลอดทาง กว่าจะผ่านแดนประเทศไทยออกไปได้โดยใช้เวลาเริ่มเดินทางจากตีห้าเศษไปถึงที่หมายเกือบ 3 ทุ่ม เล่นเอาตูดด้านไปเลย

ณ ที่หมาย ผมได้พบอดีตรัฐมนตรีหนุ่มที่ลี้ภัยมาก่อนหน้านี้ 3 ปีเศษมาแล้ว

เขาเคยเป็นคนหนุ่มอนาคตไกล เช่นเดียวกับชนชั้นกลางการศึกษาดีโดยทั่วไปที่อยู่ภายใต้ระบอบปกครองแบบไทยๆ แต่เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเขามาเคลื่อนไหวรณรงค์ประชาธิปไตย และร่วมปรากฎการณ์วิพากษ์วิจารณ์ "อำนาจนำ" ในประเทศไทย...

เขาต้อนรับขับสู้ผมด้วยมิตรไมตรีและว่าผมจะไปช่่วยกิจการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในต่างประเทศได้ดี

แต่ผมอธิบายว่า ที่ผมจำต้องลี้ภัยมานี้ผมคิดว่าไม่ใช่เพราะ "อำนาจนำ" หรือใครหรอก แต่เป็นพวกโปรทักษิณนั่นแหละ เพราะเวลานั้นเรากำลังวิพากษ์ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์อย่างหนักว่า "ใจจืด" ต่อเหยื่ออยุติธรรมที่ถูกเข่นฆ่า และยังติดคุกอยู่เต็ม

เราเป็นสื่อที่อิสระและยืนหยัดอยู่ข้างประชาธิปไตยและประชาชน ไม่ได้มีหน้าที่จะต้องไปเป็นกระบอกเสียงอะไรให้ทักษิณหรือยิ่งลักษณ์ หรือพรรคเพื่อไทย และที่เราเรียกร้องรณรงค์นั้่นก็ชอบธรรมทุกประการ...การเอามาตรา 112 หาเรื่องจะเอาผมไปยัดคุก เพราะเหตุว่าผมกับไทยอีนิวส์วิพากษ์ทักษิณนั้นจึงเป็นอะไรที่แย่มากๆ...ถ้าเป็นไปได้ ผมขอให้คุณเป็นไปรษณีย์แจ้งข่าวไปด้วยว่า เรื่องนี้ไม่ไหวจริงๆ
...

ระหว่างที่พำนักอยู่ประเทศนั้นเป็นเวลาสั้นๆ ผมมีโอกาสได้เดินทางไปพบสนทนาผู้ลี้ภัยอีกราย โดยเรารู้จักเขาแต่ในนาม "ชายชุดดำ" ซึ่งต้องสงสัยว่าอาจจะเป็นคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณียิงปะทะกับทหารที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและสี่แยกคอกวัว ในเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมเสื้อแดงกับทหาร เมื่อ 10 เมษายน 2553 เป็นเหตุให้มีทหารเสียชีวิตราว 20 นาย รวมทั้งพันเอกร่มเกล้า ธุวธรรม

เขาเป็นชายฉกรรจ์สูงรูปร่างขาวเหลือง หน้าตาดีทีเดียว แต่แววตาหม่นๆ มีอาการโฮมซิกอยู่พอควรแม้จะได้ลี้ภัยออกมาปีเศษแล้วในเวลานั้น

เขาเล่าว่า เขาเป็นชาวบ้านธรรมดา ต่อมามีเหตุการณ์ทางการเมืองแล้วไม่เห็นด้วยกับพันธมิตร โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่พันธมิตรบุกเข้าโจมตีสถานีวิทยุชุมชนแห่งหนึ่งที่เป็นกระบอกเสียงให้เสื้อแดงย่านถนนวิภาวดีรังสิต ก่อนเคลื่อนพลไปยึดสนามบินสุวรรณภูมิในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2551

ต่อมาในการชุมนุมใหญ่ของเสื้อแดง เพื่อเรียกร้องกดดันให้นายอภิสิทธิ์พ้นตำแหน่งในช่วงสงกรานต์ปี 2552นีั้น เขาก็พบเหตุการณ์ทหารทำร้ายประชาชนผู้ชุมนุมบริเวณที่ลงทางด่วนวิภาวดีฯ

จึงคิดว่าจะต้องมีอาวุธป้องกันตัว แล้วรวบรวบพรรคพวกได้ 6 คน มีอาวุธกันทุกคน เขาเป็นคนฝึกอาวุธให้พรรคพวก และวันเกิดเหตุ 10 เมษายน 2553 นั้น มีข่าวรายงานว่ากองกำลังทหารบุกเข้ามาโอบล้อมผู้ชุมนุมเสื้อแดงบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน จึงอยากให้บทเรียนพวกทหารว่า อย่าดีแต่ใช้อาวุธทำร้ายคนมือเปล่า ถ้าเจอคนมีอาวุธสู้คืนไปบ้างจะว่ายังไง

เขาย้ำว่าตัวเขาและพรรคพวกนั้นเป็นพวกที่คับแค้นขมขื่น ทนเห็นพันธมิตรกระทำผิดแล้วลอยนวลไม่ไหว ทางทหารแทนที่จะเอาผิดกับคนทำผิดก็มาเอาผิดคนเสื้อแดงมือเปล่า ใส่่ร้ายว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ขบวนการล้มเจ้า และเป็นเขมรติดอาวุธ เขาจึงรวบรวมอาวุธและคนคิดแบบเดียวกันมา ไม่ได้ขึ้นตรงกับใคร เขาเองเป็นหัวหน้า ไม่ขึ้นกับแกนนำเสื้อแดงและนปช. "พวกนี้ก็พูดแต่ว่าอหิงสาๆ ปราศจากอาวุธ แต่โดนฝ่ายเขาเข่นฆ่าทำทารุณสารพัด ผมเกลียดพวกนี้จริงๆ"

อาวุธที่พวกเขาใช้และยังผลให้ฝ่ายทหารสูญเสียมากคือเครื่องยิงระเบิด M204 ปฏิบัติการเกิดขึ้นชัวแปล๊บเดียวแล้วพวกเขาก็แยกย้ายออกมาจากที่เกิดเหตุ แต่ที่กลายเป็นหลักฐานและมีพยานก็คือ ระหว่างขับออกจากที่เกิดเหตุ สวนทางกับรถทหารนั้น ตัวเขาได้โผล่หน้ายกนิ้วกลางให้รถทหาร
"ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ผมจะไม่ทำเรื่องนี้แน่นอน ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใครตาย มารู้จากข่าวในภายหลังว่าพันเอกร่มเกล้าตาย ผมก็ได้แต่เสียใจ และอยากกล่าวขอโทษต่อท่านและครอบครัวด้วย" เขากล่าวและว่าสิ่งที่เขาทำมานั้นไม่คุ้มค่าเลย ได้รัฐบาลยิ่งลักษณ์มาแต่บรรดาผู้บงการเข่นฆ่าประชาชนก็ยังลอยนวลอยู่ ส่วนชีวิตของเขาพังหมด และคงกลับไปอยู่กับครอบครัวที่ไทยไม่ได้อีกแล้ว ต้องอยู่ต่างประเทศแบบหลบๆ ซ่อน ๆ และต้องทำงานเป็นเกษตรกร ใช้แรงงาน จากที่เคยเป็นช่างฝีมือมีอาชีพและรายได้ดี
...

ผมพำนักอยู่ประเทศนั้นได้ไม่นานนัก ก็มีโทรศัพท์มาจากทางบ้านว่า ตอนวันสิ้นปี 2554 พ่อของผมเกิดปุบปับล้มป่้วยลงกระทันหัน คงจะสิ้นบุญในวันสองวัน ให้มาดูใจด่วน

ผมเลยคิดว่าเป็นไงเป็นกันช่างหัวมันเถิด เดินทางกลับประเทศไทย โดยสลัดความกลัวทิ้งไป เดินทางกลับบ้านไปดูใจพ่อครั้งสุดท้าย ซึ่งเมื่อผมเดินทางมาถึงพ่อก็สิ้นลมอย่างสงบ
...

ผู้ถูกควบคุมตัวรายอื่นอีก 3 รายในคราวเดียวกันนั้น ถูกปล่อยตัวกลับบ้าน เพราะไม่มีหลักฐานพอฟ้องว่ากระทำผิด ส่วนผมประสานงานกับเพื่ือนมิตรที่เห็นอกเห็นใจ เข้าพบรายงานตัวต่อพลตำรวจโทเจ้าของกรณีนี้ พอสอบสวนทวนความดูแล้วไม่ได้พบว่ากระทำผิดตามข้อกล่าวหามาตรา 112 ก็เลยไม่มีการดำเนินคดีใดๆ

"ตำรวจเราตรวจสอบละเอียดแล้ว คุณไม่เข้าข่าย แต่เมื่อไหร่ทหารมา ก็ไม่แน่..!" เขากล่าวตอนผมกราบลามา
....

คำกล่าวของพลตำรวจโทรายนี้เป็นจริง หลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เพียง 3 วัน ผมก็ถูกควบคุมตัวที่บ้าน

การรัฐประหารเกิดขึ้นหลัง กปปส.ชุมนุมประท้วงการออกกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์(ซึ่งผมเองและขบวนประชาธิปไตยก็พากันช็อกกับการออกพรบ.สุดซอย เพราะนั่่นตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับข้อเรียกร้องของเรา)

มาตรา 112 นั้นใช้ได้กับทุกโอกาส และทุกฝ่ายก็คงใช้กันหมด กับใครก็ตามที่เป็นภัยทางการเมืองการปกครองของพวกเขา แต่คนที่ใช้จะบอกว่ามันเป็นอาชญากรรมไม่ใช่คดีการเมือง

เมื่อผมเข้าคุกมาแล้วก็ได้เจอทั้งคนที่ผมเคยรณรงค์ช่วยเหลือ พวกเขาคือนักโทษจากเหตุการณ์ 19พฤษภาคม 2553 และกลุ่มนักโทษ "ชายชุดดำ" ที่ถูกคดีกล่าวหาว่าปะทะกับทหารในหตุการณ์ 10 เมษายน2553

รวมทั้งคนที่ยึดสนามบินอย่าง ร.ต.แซมดิน เลิศบุษย์ ที่มาแป๊บเดียวแล้วได้ประกันตัวกลับบ้าน เหมือนคุณสนธิ ลิ้มทองกุล
...

ผมไม่ได้ไปร่วมงานฌาปณกิจศพพ่อที่จัดขึ้นกลางเดือนมิถุนายน 2557 เวลานั้นเสียงตามสายในคุกเปิดเพลงนี้ซ้ำไปซ้ำมา "เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงาม จะคืนกลับมา.."

ผมบอกตัวเองว่าอีกไม่นาน คงได้กลับบ้านไปกราบกระดูกพ่อ