เสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ
พสกนิกรผ่านพ้น ‘ความฝันอันสูงสุด’ กลับเข้าสู่ฝันกลางวันอันเป็นจริง
นอกเหนือจากธรรมชาติอันไม่แปรปรวนพาฝนมาถึงกลางกรุงวันนี้
(๒๗ ต.ค.) แล้วก็ “ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของความไม่แน่นอน ในประเทศที่หมักหมมไปด้วยความซ้ำซาก
แห่งการไร้เสถียรภาพและวัฒนธรรมการเมืองที่แบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย”
ดังถ้อยวิจารณ์ของ ดร.ไนเจิล กูลด์-เดวี่ส์
สมาชิกแห่งสถาบันการศึกษาสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบ็ธที่สอง เพื่อภาวะผู้นำในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ณ ชัทแธมเฮ้าส์ สหราชอาณาจักร เอ่ยไว้ในบทความตีพิมพ์เมื่อ ๒๕ ตุลาคม
ผู้เขียนชี้ว่าเกิดคำถามที่มีปฏิภาคต่อกันขึ้นมาสองข้อ
ทั้งคู่จะก่อผลกระทบอย่างสำคัญยิ่งกับเสถียรภาพและการปกครองของประเทศไทย
ประการแรกเกี่ยวข้องความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับทหาร
จะมีพัฒนาการไปในทางใดภายใต้พระเจ้าอยู่หัวองค์ใหม่
“ประการที่สองคือผลกระทบจากพัฒนาการในความสัมพันธ์ดังกล่าวข้างต้นนั้น
จะมีต่อความมั่นคงทางสังคมและความคาดหมายที่ประเทศจะได้กลับคืนสู่ประชาธิปไตยอย่างไร”
สำหรับข้อแรกนั้น ดร.ไนเจิลอ้างว่าในรัชกาลที่แล้วความสัมพันธ์นี้มิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่มองเห็นได้เด่นชัด
หากแต่ฟักตัวภายใต้กาลเวลาท่ามกลางผลพวงแห่งลำดับความจำเป็น การต่อรองในทางลับ
และพลังของปรากฏการณ์เฉพาะหน้า
ในรัชกาลนี้ “มีสัญญานปรากฏให้เห็นแล้วว่าสถาบันกษัตริย์กับกองทัพ
จำเป็นต้องหาเวลาทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน”
การที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑๐
มิได้ทรงรับคำกราบบังคมทูลจาก คสช. ให้เสด็จขึ้นทรงราชย์ในทันที
แต่ทรงยืดเวลาออกไปสองเดือน กับการที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้แก้ไขบัญญัติในรัฐธรรมนูญใหม่บางประการ
(ซึ่ง คสช. ก็น้อมถวาย) แม้นว่ารัฐธรรมนูญจะได้ผ่านการประชามติแล้วนั้น
“การที่ทรงแสดงออกซึ่งพระราชอำนาจตั้งแต่แรกเริ่มเช่นนี้”
บทความชี้ “อาจนำมาซึ่งยุคสมัยที่เต็มไปด้วยการต่อรองในขอบข่ายและอิทธิพลที่เกี่ยวเนื่องกันของสถาบันกษัตริย์กับกองทัพ”
ข้อสอง “ความชอบธรรมแห่งพระราชอำนาจ
จะยังคงมีบทบาทหลักในการผสานรอยแตกแยกในสังคมแบ่งขั้วอีกต่อไปหรือไม่
ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาชนชั้นกลางชาวกรุง ‘เสื้อเหลือง’ มักจะป้ายสีคนชนบทภาคเหนือ ‘เสื้อแดง’ ฝ่ายตรงข้าม ว่าต่อต้านกษัตริย์
ข้อกล่าวหาที่ฝ่ายนี้ปฏิเสธ
หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดพยายามที่จะใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือของตนในการเมืองแบ่งขั้วนี้
จะยิ่งแจ้งชัดเข้าไปอีกว่าสังคมนี้สั่นคลอน”
บทความกล่าวถึงท่าทีของกองทัพในอันที่จะยืดเวลาการครองอำนาจต่อไปอีกหน่อย
เพื่อความมั่นใจว่าสถาบันหลักๆ ของชนชั้นนำ (กษัตริย์ ทหาร ข้าราชการ และการเงิน)
ยังคงไว้ซึ่งอิทธิพลต่อไปอย่างเหนียวแน่น
“กองทัพอาจหาเหตุอื่นๆ
มาอ้างเพื่อยืดเวลาการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยออกไป
หลังจากที่เลื่อนกำหนดมาแล้วหลายครั้ง เพราะการเลือกตั้งก่อให้เกิดความไม่แน่นอนแก่พวกตน”
หนำซ้ำฝ่ายตรงข้ามมักชนะเลือกตั้งซ้ำแล้วซ้ำอีกมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ โน่นละ
ดร.ไนเจิลตั้งข้อสังเกตุด้วยว่าผลกระทบหลังการเปลี่ยนผ่านอาจมาจากเบื้องล่างก็ได้
“ตลอดแรมปีที่ผ่านมาพวกเสื้อแดงสงบเสงี่ยมเจียมตัวกันมาตลอด แม้แต่เมื่ออดีตนายกฯ
หญิง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องหนีออกไปนอกประเทศจากการถูกคุมขัง”
บทความอ้างมีข้อคิดที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ
นี้และกำลังขยายวงออกไปว่า เสร็จจากช่วงเวลาไว้อาลัยในหลวงองค์ก่อนแล้ว เสื้อแดงจะเริ่มรวมตัวเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งกันอีก
แต่ในเมื่อปราศจากผลการหยั่งเสียงใดที่เชื่อถือได้ ทำให้ไม่สามารถวัดพลังของพวกนี้ได้แน่นอน
การเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดหวังสำหรับปีนี้
๓.๕ เปอร์เซ็นต์ ก็ส่งผลลงไปถึงชนชั้นล่าง (trickled down) ได้แต่เพียงน้อยนิด ในทางตรงกันข้าม นับแต่ปี ๒๕๕๗ เป็นต้นมา ความมั่งมีเพิ่มขึ้น
๑/๖ ในหมู่ชนชั้นนำ เช่นเดียวกับงบประมาณทหาร ตามรายงานของฟอร์บ
“ในสังคมที่มีการแบ่งแยกอย่างฝังลึกเช่นนี้
การแก้ปัญหาด้วยหลักการ ‘ใครชนะกินรวบ’
หรือ ‘winner-take-all’ ที่เคยทำกันมาตลอดในสังคมไทยใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว”
บทวิจารณ์จากชัทแธมเฮ้าส์เตือน
มิฉะนั้นความแตกแยกร้าวฉานในสังคมจะก่อผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศไทยหนักเข้าไปใหญ่
(หมายเหตุ :ภาพประกอบ
‘ควันหลง’ แทรกและตลบท้ายควันไฟพระบรมศพเหนือพระเมรุมาศ)