วันศุกร์, มกราคม 02, 2558

เจ้าสัวสหพัฒน์ "บุณยสิทธิ์" มองศก.ไทยปีแพะอาการหนัก เสาหลักค้ำยันยังโคลงเคลง


ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

updated: 01 ม.ค. 2558 เวลา 13:05:03 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ

หมายเหตุ : นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ได้เปิดโอกาสให้ "มติชน" สัมภาษณ์พิเศษต่อมุมมองทางเศรษฐกิจ 2558 และข้อเสนอแนะต่อการผลักดันการส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ 4%

มองเศรษฐกิจไทยปี 2558 อย่างไร

เป็นโจทย์ที่ยาก ยังเห็นว่าเศรษฐกิจไทยปี 2558 อาการหนักอยู่ สถานการณ์คล้ายกับช่วงเกิดปัญหาต้มยำกุ้ง คนระดับล่างมีปัญหา รายได้ลดลง เงินไม่พอใช้ การว่างงานแยะ ตอนนั้นคนไทยต้องต่อสู้อย่างหนัก

เสาหลักค้ำยันเศรษฐกิจไทยก็ทำงานไม่เต็มที่ เรื่องแรก การส่งออกก็ยังมีปัญหา จากปัจจัยเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว เศรษฐกิจหลายประเทศก็ยังไม่ชัดเจน ตลาดญี่ปุ่นก็ไม่ค่อยดี นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นพยายามลดค่าเงินเยน จาก 80 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 100-120 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ยังเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 3% เงินเยนยิ่งอ่อนลง ทำให้กระทบต่อนำเข้าสินค้าไทยที่มีราคาแพงขึ้น แข่งขันได้ยากขึ้น โดยเยนอ่อนไม่ได้กระทบกับการลงทุนมากนัก เพราะญี่ปุ่นมีการผลักดันลงทุนนอกประเทศต่อเนื่อง ตลาดยุโรปคงไม่ฟื้นเร็วๆ นี้ อาจมีเพียงบางประเทศที่ยังดี

ตลาดสหรัฐอเมริกาน่าจะดีขึ้นแต่ยังไม่ชัดเจน อัตราว่างงานยังสูง กำลังซื้อเริ่มดีขึ้น ยังมีปัญหาขัดแย้งการเมืองอยู่กับรัสเซีย ส่วนจีน น่าจะเป็นตลาดที่ดี เช่นเดียวกับตลาดอาเซียนที่กำลังเป็นตลาดที่เข้ามาแทนที่ตลาดใหม่ ทั้งตะวันออกกลางและแอฟริกา ก็ต้องดูไปพร้อมกับตลาดอื่นๆ

อีกเรื่องใหญ่ที่ยังเป็นปัญหา คือ ราคาสินค้าเกษตรที่ยังไม่ดี ทั้งยางพารา ข้าว มีปัญหา ไม่รู้ว่าจะแก้ไขกันอย่างไร ราคาเกษตรไม่ดี ส่งออกได้ลดลง ทำให้รายได้เข้าประเทศไม่ค่อยดี เมื่อคนกลุ่มนี้ไม่มีรายได้ การใช้จ่ายก็ไม่มี ดูจากยอดขายมาม่า (บะหมี่สำเร็จรูป) แบบซองยอดขายไม่ขึ้นเลย และจากสำรวจตลาดรวมบะหมี่สำเร็จรูปพบว่าทุกยี่ห้ออื่นก็ไม่โตเหมือนกัน ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้น เป็นเรื่องน่าห่วงมาก ราคา 4-5 บาทยังยอดขายตก แล้วสินค้าอื่นจะเป็นอย่างไร

เรื่องต่อมาที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจ คือปัญหาค่าเงิน ตอนนี้ค่าบาทไทยยังแข็งค่าเกินไป เมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค ไทยห่างกว่า 10% สมัยก่อนการส่งออกไทยตลาดหลักคือสหรัฐ ต้องพึ่งพาเงินเหรียญสหรัฐ แต่ตอนนี้เราค้าขายกับประเทศในอาเซียนและจีนเป็นตลาดสำคัญ ก็ต้องปรับค่าเงินให้สอดคล้องกับตลาดนี้มากขึ้น

อีกอย่าง หลังการปฏิวัติก็คาดหวังเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐได้สะดวกขึ้น แต่ก็ยังพบความล่าช้ากว่าแผนที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ เดิมเงินนอกระบบเยอะ รากหญ้าก็มีเงินใช้แยะ แต่หลังการปฏิวัติการเมือง ก็มีการปราบปราม เงินนอกระบบก็ลดลง จึงยากที่เศรษฐกิจไทยจะโตสูง เพราะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศสำคัญยังเปราะบางและตกเร็วเกินไป เมื่อสินค้าโภคภัณฑ์ไม่ดี ทั้งข้าว ยาง น่าจะดี ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันลดลง

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนอีก ในเรื่องความขัดแย้งและสงครามนอกประเทศ อย่างรัสเซียกับยูเครน และสหรัฐกับรัสเซีย หากเกิดสงครามหรือขัดแย้งรุนแรงขึ้นอีกก็จะมีผลต่อราคาน้ำมันโลก กำลังซื้อ กระทบการเดินทาง เศรษฐกิจก็จะเสียหายมากขึ้นอีก สงครามนอกประเทศยังเป็นเรื่องน่าห่วงอยู่

ปัญหาภัยแล้งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องจับตามอง เพราะกระทบต่อผลผลิตและราคาสินค้า เรื่องราคาน้ำมันถูกลง คนใช้อาจแฮปปี้ แต่ธุรกิจค้าน้ำมันกระทบต่อรายได้เขา

ข่าวลือในประเทศก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันเศรษฐกิจในประเทศ เพราะอาจสร้างความวิตกทางธุรกิจและอารมณ์การใช้จ่ายของคน

ส่วนการเมืองในประเทศก็มีเสถียรภาพมากขึ้นแล้ว ไม่น่าจะมีอะไรรุนแรงอีก ก็เหลือแต่ต้องติดตามสถานการณ์การเมืองนอกประเทศ

จะมีแนวทางอย่างไรที่จะช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยปี 2558 ให้ฟื้นตัว และสามารถขยายตัวได้ 4% ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้

นโยบายการลงทุนก็ต้องใช้เวลา มีขั้นตอนมาก หรือการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐบาลก็ต้องใช้เวลา ก็เหลือการส่งออก ดังนั้นต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เงินถึงมือระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นกลุ่มใช้จ่ายสำคัญ ผมเห็นว่าวิธีการที่ดีที่สุดต่อการเพิ่มเงินในระบบเศรษฐกิจ คือ การทำให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอีก โดยคิดบนพื้นฐานใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งตอนนี้เราแข็งค่ากว่าถึง 4 บาท ตอนนี้ค่าบาทอยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก็น่าจะอ่อนถึง 36-37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เงินบาทอ่อนค่าควรนำมาใช้เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ซึ่งทุกบาทที่อ่อนค่าจะมีผลต่อการเพิ่มเงินเข้าระบบเป็นหมื่นเป็นแสนล้านบาท

"ค่าเงินแข็ง คนได้ประโยชน์คือคนระดับบน แต่เงินอ่อน คนได้ประโยชน์คือคนระดับรากหญ้า เมื่อเขามีเงินเพิ่มเขาก็จะใช้จ่ายทันที เศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวเร็ว ตอนนี้คนรวยก็รวย แต่ไม่ใช่เงิน แต่คนจนก็จนแบบไม่มีเงินเลย หากช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ได้จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้มาก"

ส่วนวิธีการแก้ค่าเงินอ่อนต้องไปคิดหาวิธี ซึ่งนายแบงก์เขาจะมีวิธีการคิดคำนวณ เหมือนเมื่อครั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง ธนาคารกลางสหรัฐก็แนะนำใช้เงินอ่อนในการเพิ่มเงินระบบเศรษฐกิจ

เงินอ่อน ตัวเลขขาดทุนสำรองเงินระหว่างประเทศก็จะไปโชว์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เงินทุนสำรองเงินระหว่างประเทศลดลง แต่ก็สามารถปรับตัวเลขได้ แต่เงินบาทจากส่งออกได้เพิ่มขึ้นจะช่วยกระจายไปถึงมือรากหญ้า ประโยชน์จะเกิดกับคนจำนวนมากกว่า บาทแข็งทำให้ดูเงินสำรองแยะ นโยบายที่ผ่านมาจึงนิยมใช้

ตอนนี้ไทยเสียเปรียบอินโดนีเซีย ที่ลดค่าเงินรูเปีย เสียเปรียบมาเลเซีย ลดค่าเงินริงกิต ซึ่งเขาใช้นโยบายเงินอ่อน หลายประเทศก็เริ่มทำเงินอ่อน หากยังแตกต่างกันมาก ระยะยาวส่งออกไทยก็เสียเปรียบ และจะใช้นโยบายบาทอ่อน ยิ่งทำให้บาทห่างเพื่อนบ้านไปเรื่อยๆ ผมเชื่อว่าแบงก์ชาติก็มีสูตรในการคำนวณและมาตรการรองรับ

ในแผนปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศไทยจะเสนออะไรบ้าง

เห็นด้วยในเรื่องการเร่งรัดลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ทำรางคู่ขนาน เพื่อลดค่าขนส่งผู้ประกอบการและการเดินทาง อีกเรื่องคือผลักดันส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ให้อยู่รอด รัฐต้องสร้างบรรยากาศให้อยากทำค้าขาย เดิมนั้นไทยมีแต่การผลิตและเกษตร ตอนนี้ภาคบริการมีจำนวนเพิ่มขึ้น และมีโอกาสขยายตัวได้มาก จะให้ขยายตัวได้เร็วก็ต้องปรับเงินเดือนขั้นต่ำ และภาคบริการ น่าจะมีชดเชยรายได้ที่หายไปจากภาคการเกษตร ภาคเกษตรยังจะมีปัญหายาวไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไรถึงปัญหาราคาตกต่ำและสินค้าอาจล้นตลาด ดังนั้น บาทอ่อนอย่างที่ได้กล่าวไว้ รัฐบาลก็ไม่ต้องอุดหนุน

นอกจากนี้จะต้องดูนโยบายที่สอดคล้องกัน ไม่ขัดความรู้สึก อย่างตอนนี้ราคาน้ำมันลดลง แต่ปล่อยให้ปรับเพิ่มค่ามิเตอร์แท็กซี่ หรือ แนวคิดว่าจะมีการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ซึ่งล้วนส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนรากหญ้า คนมีรายได้น้อย

"ผมยังเห็นว่าปี 2558 ทุกข์ยากกว่าปี 2557 รัฐบาลอาจไม่เห็นด้วย หากพูดไปอย่างนี้ก็เห็นแค่แนวทางควบคุมค่าบาทให้อยู่ในระดับอ่อน เพื่อให้การส่งออกได้เงินบาทเพิ่มขึ้น เหมือนรัฐบาลในอาเซียนหลายประเทศทำกัน ไม่อย่างนั้นอย่าหวังว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 4% ผมว่าขยายตัวได้ 2% ก็ยากแล้ว"

จะเสนออะไรเพิ่มเติมให้รัฐบาลผลักดันเศรษฐกิจ เพราะมองว่าไทยกำลังเป็นเสือทะยาน

หลายปีที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีของไทยไม่ค่อยรู้ด้านเศรษฐกิจที่ลึกซึ้ง ขณะนี้นายกรัฐมนตรีหลายประเทศในอาเซียนและประเทศคู่ค้าไทย รู้ด้านเศรษฐศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ อย่างอินโดนีเซีย หรือญี่ปุ่น ซึ่งก็ใช้นโยบายค่าเงินในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและเพิ่มกำลังซื้อ

ทำให้ที่ผ่านมาคุยกับ ธปท.ไม่รู้เรื่อง อย่างเรื่องค่าบาทอ่อนที่ได้นำเสนอ เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาที่เร็วที่สุด หากคุยกับแบงก์ชาติหรือ ธปท.และกระทรวงการคลังได้ ก็จะง่ายขึ้น

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีและกำลังซื้อยังไม่ฟื้น ในฐานะผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของประเทศ สหพัฒน์จะปรับตัวอย่างไร

คงทำธุรกิจแบบโลว์โปรไฟล์ ไม่หวือหวาอะไร พยายามทำธุรกิจให้มั่นคงมากกว่าจะมุ่งขยายตัวสูงๆ คงไม่มีการลงทุนใหญ่ๆ เน้นรักษาระดับยอดขายของปี 2558 ให้ใกล้เคียงปี 2557 ประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท ตอนนี้การทำธุรกิจจะมีการขยายตัวไม่ได้มากนัก การจะใช้ประโยชน์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ก็ต้องศึกษาว่าเหมาะสมแค่ไหน ซึ่งอาจใช้ไทยเป็นทางผ่านเท่านั้น

ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องใช้เวลา ทำให้เอกชนเข้าใจว่าจะใช้ประโยชน์เต็มที่ได้อย่างไร ต้องใช้เวลา ไม่น่าจะทำได้ปีหรือ 2 ปี

สำหรับบริษัทยังมองการลงทุนนอกประเทศ ทั้งในอาเซียนและนอกอาเซียน แต่ดูตามความเหมาะสม การทำธุรกิจ บริษัทยึดหลัก "คนดี สินค้าดี สังคมดี" เราเชื่อว่ายึดหลักการทำธุรกิจอย่างนี้ สังคมยอมรับ สินค้าก็จะขายได้

ที่มา : นสพ.มติชน