iLaw
10 hours ago
·
การคุยกันในแชทส่วนตัว แล้วสามารถ "แคป" เพื่อนำไปใช้ดำเนินคดี #มาตรา112 ได้จริงหรือไม่? คำตอบคือ ทำได้จริง มีคนเคยติดคุกจริง แต่หลักฐานเพียงภาพแคปอาจไม่เพียงพอ
.
มาตรา 112 หรือกฎหมายฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ เขียนว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ซึ่งกลายเป็นกฎหมายที่นำมาใช้ดำเนินคดีกับผู้ที่แสดงออกทางการเมือง และผู้ชุมนุมทางการเมืองจำนวนมาก บางครั้งก็ถูกนำมาใช้ "ใส่ร้าย" กันระหว่างคนที่มีปัญหาส่วนตัว ทำให้ต้องเผชิญกับโทษหนักและการเข้าเรือนจำ
การกระทำที่เข้าลักษณะ #หมิ่นประมาท คือใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม ในประการที่จะทำให้ผู้นั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หากประชาชนสองคนพูดคุยกันด้วยเนื้อหาที่อาจทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียชื่อเสียงก็เข้าข่ายความผิดมาตรา 112 ได้ โดยไม่แยกแยะว่าเป็นการคุยกันต่อหน้าหรือการคุยกันผ่านช่องแชท ผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ ก็เป็นความผิดได้ แต่โดยส่วนใหญ่หากคุยกันแค่สองคน และไม่มีใครนำข้อมูลไปเปิดเผยให้เจ้าหน้าที่รัฐก็ยากที่จะมีการดำเนินคดีเกิดขึ้น
ก่อนหน้านี้มีคดีมาตรา 112 ที่เกิดจากการคุยกันในช่องแชท อย่างน้อย 4 คดี ซึ่งล้วนเกิดขึ้นในยุครัฐบาล #คสช จากการรัฐประหาร ดังนี้
1. บุรินทร์
บุรินทร์ถูกจับกุมและถูกกล่าวหาว่า แชทคุยกันกับพัฒน์นรี มีข้อความว่า “อยู่ยากจริงๆ บ้านเมืองทุกวันนี้” มันจะยากยิ่งกว่านี้เพราะตอนนี้เขากำลัง….” และข้อความอื่นๆ อีกเกี่ยวกับการแย่งชิงราชบัลลังก์ และนอกจากการแชทยังมีการโพสข้อความบนเฟซบุ๊กด้วย ซึ่งเขาถูกจับกุมและถูกยึดโทรศัพท์ทำให้ตำรวจมีหลักฐานจากการเข้าถึงกล่องสนทนาของเขาได้
ศาลทหารพิพากษาว่าบุรินทร์มีความผิด 2 กรรม กรรมแรก คือ การโต้ตอบกันในกล่องสนทนา ลงโทษจำคุก 7 ปี เนื่องจากเคยต้องโทษจำคุกและพ้นโทษมาไม่ถึงห้าปี จึงให้เพิ่มโทษ 1 ใน 3 รวมเป็นจำคุก 9 ปี 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี 8 เดือน
กรรมที่สอง ลงโทษจำคุก 10 ปี เพิ่มโทษ 1 ใน 3 เป็นจำคุก 13 ปี 4 เดือน ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 6 ปี 8 เดือน รวมทั้งสองกรรมแล้วบุรินทร์จะต้องรับโทษจำคุก 10 ปี 16 เดือน https://www.ilaw.or.th/articles/case/23531
.
2. พัฒน์นรี
พัฒน์นรี หรือแม่ของ "นิว" ถูกกล่าวหาว่า คุยกับบุรินทร์ในกล่องสนทนาส่วนตัวของเฟซบุ๊ก หลังบุรินทร์สนทนาในลักษณะที่หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ พัฒน์นรีตอบรับว่า "จ้า" ในเชิงรับทราบ คาดการณ์ว่า ตำรวจมีหลักฐานการสนทนานี้จากการจับกุมบุรินทร์ที่เกิดขึ้นก่อน ทำให้พัฒน์นรีถูกจับกุมภายหลัง
ในชั้นศาลพัฒน์นรีให้การปฏิเสธ และต่อสู้คดีว่าการพูดว่า "จ้า" นั้นเป็นเพียงเพื่อการตัดบทสนทนา ไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ด้วย คดีนี้โอนกลับมาที่ศาลปกติ และศาลพิพากษานยกฟ้อง https://www.ilaw.or.th/articles/case/23851
.
3. ณัฏฐธิดา
ณัฏฐธิดา หรือแหวน พยาบาลอาสา ถูกจับกุมในเดือนมีนาคม 2558 ถูกกล่าวหาว่า ส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ว่า “ใครก่อความรุนแรง…ไม่ดีเลย แน่จริงต้องเอาไปชั้น 16 xxxโน่น” ลงในกลุ่มแชทชื่อ “DPN & เพื่อนเม้า” และถูกคุมขังในเรือนจำโดยไม่ได้ประกันตัว
ในชั้นศาลณัฏฐธิดา ให้การปฏิเสธว่าไม่เคยส่งข้อความดังกล่าว และไม่รู้จักกลุ่มแชทที่ถูกกล่าวหา ซึ่งทางฝ่ายทหารที่กล่าวหา และตำรวจที่ดำเนินคดี มีเพียงภาพหนึ่งภาพจากการ "แคปแชท" ดังกล่าวที่ปริ้นท์ลงบนแผ่นกระดาษและนำมาเสนอต่อศาล โดยตำรวจเบิกความว่าได้ภาพดังกล่าวมาจากทหาร แต่ไม่รู้ว่าทหารคนใดเป็นคน "แคป" ภาพมา ซึ้งณัฏฐธิดา บอกว่าเธอถูกใส่ร้ายจากบทบาทของเธอที่เรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนที่ถูกกระสุนทหารยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม
ช่วงแรกหลังถูกจับ ภายใต้ศาลทหารณัฏฐธิดาไม่ได้ประกันตัว ก่อนคดีโอนมาที่ศาลปกติ และศาลพิพากษายกฟ้อง กว่าจะถึงวันที่ได้ผลคำพิพากษาเธออยู่ในเรือนจำนานกว่า 3 ปี 6 เดือน https://www.ilaw.or.th/articles/case/23953
.
4. สุริยศักดิ์
สุริยศักดิ์ อดีตแกนนำนปช.สุรินทร์ ถูกจับกุมเมื่อเดือนมีนาคม 2560 สุริยศักดิ์ถูกกล่าวหาว่า ส่งข้อความพูดคุยกับสมาชิกในกลุ่มไลน์ ชื่อกลุ่มว่า "คนนอกกะลา" ด้วยไลน์บัญชีชื่อ “Suriyasak” ซึ่งมีรูปโปรไฟล์เป็นรูปของสุริยศักดิ์ ในทำนองโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ และคดีของเขาต้องขึ้นศาลทหาร เขาปฏิเสธว่า ก่อนถูกจับกุมไม่เคยใช้ไลน์เพราะไม่ถนัดเทคโนโลยี โดยเชื่อว่าการดำเนินคดีนี้มีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางการเมืองในช่วงเวลาที่ถูกจับกุม
ช่วงแรกหลังถูกจับ ภายใต้ศาลทหารสุริยศักดิ์ไม่ได้รับการประกันตัว ก่อนคดีโอนมาที่ศาลปกติ และศาลพิพากษายกฟ้อง ทั้งชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ โดยเขาต้องถูกคุมขังในเรือนจำไปแล้วเกือบสองปี https://www.ilaw.or.th/articles/case/23873
.
คดีของบุรินทร์และพัฒน์นรี แสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจเข้าถึงเครื่องมือสื่อสารและช่องทางการสื่อสารส่วนตัวในระหว่างที่กระบวนการดำเนินคดีทางการเมืองอยู่ภายใต้อำนาของทหาร และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และการหยิบเอาเนื้อหาเหล่านั้นมาใช้เป็นเครื่องมือดำเนินคดีคนที่ต่อต้านอำนาจของ คสช.
คดีของณัฏฐธิดา และสุริยศักดิ์ ก็มีลักษณะเช่นเดียวกันที่จำเลยมีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมืองชัดเจน ก่อนถูกจับกุมแบบ "ล็อตใหญ่" และตั้งข้อหาจากการแชทข้อความผ่านไลน์ ซึ่งมีหลักฐานเพียงการ "แคปแชท" ซึ่งหลักฐานนี้เมื่อนำส่งศาลเป็นภาพปริ้นท์บนกระดาษก็เป็นหลักฐานชั้นรองที่ไม่น่าเชื่อถือ อาจถูกปลอมแปลงขึ้นได้ง่าย เมื่อไม่มีพยานมายืนยันต่อศาลว่า เคยพบเห็นข้อความดังกล่าวจริง และรู้ว่าใครเป็นคนส่งจริงๆ ศาลก็พิพากษายกฟ้อง แต่ทั้งสองคดีมีลักษณะเหมือนกันที่เมื่อถูกจับด้วยข้อหามาตรา 112 ภายใต้การเอาพลเรือนขึ้นศาลทหาร จำเลยไม่ได้รับประกันตัว จึงต้องถูกคุมขังเป็นเวลานาน ก่อนที่จะได้คำพิพากษายกฟ้องโดยศาลปกติในภายหลัง
ยังไม่มีตัวอย่างคดีที่เกิดขึ้นจริง แต่หากมีการสนทนาในกล่องข้อความส่วนตัว แล้วคนที่คุยกัน "แคปแชท" นำมาเป็นหลักฐานดำเนินคดี โดยคนที่แคปนั้นมาเบิกความต่อศาลยืนยันได้ว่า เป็นคนแคปข้อความดังกล่าวมาจริง สามารถเปิดข้อความในระบบคอมพิวเตอร์แสดงให้ศาลดูได้ และสามารถยืนยันได้ว่า คนที่ส่งข้อความคือจำเลยจริงๆ ศาลก็สามารถพิพากษาลงโทษได้
https://www.facebook.com/photo?fbid=1015525400621079&set=a.625664036273886