วันเสาร์, พฤศจิกายน 02, 2567

ชั้นเชิง ‘รั้น’ ของสำนักวิจัย ทั้งกรรมาธิการ และ ครม.บอกให้เปิดรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน ก็เอาไปดองไว้เฉยๆ เกือบสองเดือนจึงอัปโหลดใหม่ ไฟล์เดิมและเนื้อหาเดิมทุกอย่าง

จะบอกว่านี่เป็นชั้นเชิง รั้น ของสำนักวิจัยก็ได้เหมือนกัน เพราะไม่มีการแจงเหตุผลว่าทำไม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ถึงได้ “นำร่างฯ เดิม ชื่อไฟล์เดิม เนื้อหาเดิม อัปโหลดเข้าสู่ระบบกลางทางกฎหมายเพื่อรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง”

และวันสุดท้ายที่เปิดรับฟังความคิดเห็น วันที่ ๓๑ ตุลาคม เวลาเที่ยงคืน ได้ผ่านไปแล้ว โดยที่ “ร่างกฎหมายนี้ยังมีปัญหาอยู่หลายประเด็น แต่โดยหลักการแล้วเป็นการทำหมันหรือ ควบคุมไม่ใช่ ส่งเสริมให้เกิดการวิจัยตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแม่”

พ.ร.บ.การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรมฯ “จึงมีความเสี่ยงเป็นการย้อนกลับไปสู่ยุคมืด ที่งานวิจัยที่ถูกอ้างว่าขัดหลักศาสนาต่างๆ ถูกกีดกัน นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการวิจัยถูกตีตราบาป” วาโย อัศวรุ่งเรือง สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ชี้

ไทม์ไลน์ของร่าง กม.ฉบับนี้ เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.เมื่อ ๒๗ สิงหาคม แล้ว ครม.ส่งต่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา หลังจากนั้นเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักวิชาการและนักวิจัย ว่าจะถูกใช้เป็นเครื่องมือจำกัดเสรีภาพในการค้นคว้า

ทำให้ ครม.จำต้องส่งร่างฯ ย้อนกลับไปที่ วช.เมื่อ ๓ กันยา เพื่อรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านอีกครั้ง จากนั้นกรรมาธิการอุดมศึกษาฯ (กมธ.อว.) ในวันที่ ๑๙ กันยาเปิดการหารือได้ข้อสรุปว่า วช.ควรจัดรับฟังความคิดเห็นจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

การหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ วช.นิ่งเงียบอยู่จนกระทั่ง ๗ ตุลาคม จึงนำร่างฯ เดิม ชื่อไฟล์เดิม เนื้อหาเดิม อัปโหลดเข้าสู่ระบบกลางทางกฎหมาย “โดยไม่ปรากฏว่าได้ดำเนินการใดๆ ตามที่พูดคุยหารือกัน” เช่นนี้หมอเก่งชี้อีกว่า

“บทกำหนดโทษนั้นรุนแรงเกินไป เป็นการตัดท่อน้ำเลี้ยงการวิจัย ทั้งที่กฎหมายดังกล่าวควรเป็นเพียงแนวทางให้นักวิจัยปฏิบัติ” ร่าง กม.ฉบับนี้จึงขัดเจตนารมณ์ของ กม.แม่ และ “ยังอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญซึ่งรับรองสิทธิและเสรีภาพในทางวิชาการไว้อีกด้วย”

(https://x.com/PPLEThai/status/1851951317243331062)