วันศุกร์, มิถุนายน 21, 2567

Arms Scandal! เรือดำน้ำไทย-เครื่องจีน



Arms Scandal! เรือดำน้ำไทย-เครื่องจีน

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มิถุนายน 2567
ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข
19 มิถุนายน พ.ศ.2567

“การคอร์รัปชั่นในธุรกิจอาวุธบางประเภทเกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในกรณีของเรือดำน้ำ… เรือดำน้ำมีราคาแพงมากๆ และมีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ต้องการเรือดำน้ำจริงๆ เรือดำน้ำจึงเป็นอาวุธที่ดีที่สุดสำหรับการติดสินบนในการขาย”

The World Peace Foundation (2018)

องค์กรที่ติดตามเรื่อง “การคอร์รัปชั่นในธุรกิจอาวุธ” (arms trade corruption) พบว่า ธุรกิจนี้มีปัญหาในเรื่องของความโปร่งใสอย่างมาก เพราะมักจะพบว่าบริษัทผู้ผลิตอาวุธและ/หรือรัฐผู้ขายอาวุธมักจะใช้การดำเนินการที่ “ไม่ปกติ” เพื่อให้เกิดความได้เปรียบในกระบวนการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ของรัฐผู้ซื้อ ที่ต้องนำเข้าอาวุธจากภายนอก

การดำเนินการที่ไม่ปกติเช่นนี้จึงเกิดปัญหาทั้งทางฝ่ายผู้ซื้อและฝ่ายผู้ขาย อีกทั้งความไม่ปกติที่เกิดในกระบวนการดังกล่าวเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ยาก อาจเป็นเพราะเงื่อนไขทางการเมือง หรือเหตุผลในทางปฏิบัติที่ทำให้การตรวจสอบและติดตามเรื่องเหล่านี้เป็นไปได้ยากมาก

กระนั้น เรื่องราวดังกล่าวอาจถูกกล่าวหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นในสื่อ แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนก็ตาม และกลายเป็น “หัวข้อข่าว” ที่สังคมให้ความสนใจ จนทำให้การจัดซื้อที่เกิดขึ้นตกเป็น “เรื่องอื้อฉาวด้านอาวุธ” (arms scandal) ในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เรื่องอื้อฉาวด้านอาวุธเช่นนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศ และมักจะเกิดกับประเทศกำลังพัฒนา อันทำให้ประเด็นนี้เป็นด้านลบของการพัฒนากองทัพในประเทศดังกล่าว ที่ต้องการจัดหายุทโธปกรณ์มูลค่าสูงเข้าประจำการ

ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้น การจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในกรณีนี้ เพราะเป็นการจัดซื้อที่มีปัญหาตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ และการตัดสินใจสุดท้ายที่มีนัยสำคัญอย่างยิ่งคือ ปัญหาเครื่องยนต์ที่ไม่ตรงกับ “สเป๊ก” ในข้อตกลงการซื้อขาย (TOR)

เรื่องอื้อฉาว

การจัดซื้อจัดหาเรือดำน้ำของราชนาวีไทยกลายเป็นภาพสะท้อนของ “เรื่องอื้อฉาวด้านอาวุธ” (arms scandal) ใหญ่ และเป็นประเด็นที่ถูกจับตามองอย่างมาก

ไม่เพียงมีปัญหาจากความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อเท่านั้น หากแต่ยังมีปัญหาใหญ่ที่เกิดจากการผิดสัญญาของจีน เพราะทางการจีนโดยเงื่อนไขสัญญาไม่สามารถนำเอาเครื่องยนต์เยอรมันตามที่ตกลงไว้ มาใช้ในเรือดำน้ำที่กองทัพเรือไทยสั่งต่อได้

อันทำให้เกิดข้อถกเถียงว่า รัฐบาลไทยโดยกระทรวงกลาโหมจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร

ประเด็นนี้ในอีกด้านถูกจับตาจากเวทีระหว่างประเทศอย่างมากว่า รัฐบาลไทยจะหาทางออกจากปัญหานี้ได้อย่างไร แต่หลายฝ่ายคาดมาก่อนแล้วว่า ในที่สุดกองทัพเรือและกระทรวงกลาโหมไทยจะยอมตามข้อเสนอที่จะเปลี่ยนจาก “เครื่องยนต์เยอรมัน” เป็น “เครื่องยนต์จีน” เพราะมีข่าวในลักษณะนี้มาโดยตลอด จนเป็นเสมือนการ “วัดใจ” ผู้นำทั้งพลเรือนและทหารเรือว่า พวกเขาจะยอมรับข้อเสนอของจีน ด้วยข้ออ้างจากทางฝ่ายจีนว่า จีนได้ทำการทดลองเครื่องยนต์นี้แล้ว

ซึ่งทำให้เกิดคำถามตามมาอีกประการว่า รัฐผู้ซื้อควรรับเงื่อนไขของรัฐผู้ขายอย่างไรหรือไม่ เพราะเครื่องยนต์น่าจะเป็นส่วนสำคัญของสัญญาซื้อขาย

หากประเด็น “สัญชาติของเครื่องยนต์” ไม่มีความสำคัญจริงแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องระบุให้เกิดความชัดเจนในเบื้องต้นว่าต้องเป็น “เครื่องยนต์เยอรมัน” การเปลี่ยนสัญชาติของเครื่องมีนัยเท่ากับ “การแก้ไขข้อตกลง” (คือเป็นการแก้ TOR) หรือไม่

แต่ก็มีการ “โยนหินถามทาง” มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการสร้างกระแสให้เกิดการยอมรับเครื่องยนต์จีนมาโดยตลอด เช่น การอ้างถึงการจัดซื้อของ ทร.ปากีสถาน ที่ยอมใช้เครื่องยนต์จากจีน

แต่ทุกคนย่อมทราบดีว่า ปากีสถานอยู่ในสถานะของรัฐที่ต้องพึ่งพาจีนอย่างมาก จึงพร้อมที่จะยอมรับข้อเสนอจากจีนในกรณีนี้

ดังนั้น สำหรับในกรณีของไทย ในที่สุดแล้วเรื่องก็จบลงอย่างไม่ผิดคาดเท่าใดนัก กระทรวงกลาโหมไทยตัดสินใจยุติปัญหา ด้วยคำตอบสุดท้ายคือ “เรือดำน้ำจีน-เครื่องจีน”… อันเป็นการยอมรับสินค้าที่ผิดเงื่อนไขสัญญาใน TOR ได้อย่างง่ายๆ จนทำให้เกิดคำถามว่า การตัดสินใจของนายสุทิน คลังแสง ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้น จะกลายเป็น “บรรทัดฐานใหม่” ของการเปลี่ยน TOR ในการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ที่มีมูลค่าสูง (สูงมาก) จากต่างประเทศของรัฐบาลไทยในอนาคตหรือไม่

เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนด้วยการจัดซื้อสินค้าชุดเดิม แต่มีการเปลี่ยนองค์ประกอบที่มีนัยสำคัญ ซึ่งในกรณีนี้คือเครื่องยนต์ จึงทำให้ “เรื่องอื้อฉาว” เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะไม่มีความชัดเจนว่า เครื่องยนต์จีนจะมีประสิทธิภาพเท่ากับของเยอรมนีหรือไม่ (ในความหมายตรงๆ คือ ดีเท่ากันจริงหรือไม่?) และใครควรจะเป็นผู้ตอบคำถามดังกล่าว หรือเราจะยอมให้รัฐผู้ขายเป็นผู้ตอบ

ทางออก-ทางตัน?


หากย้อนกลับไปในช่วงต้นเมื่อการจัดตั้งรัฐบาลนั้น หลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการเรือดำน้ำจีน เริ่มมีความหวังว่าโครงการนี้น่าจะต้องยุติลง เพราะไม่เห็นประโยชน์และความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ที่จะเอาเรือดำน้ำจีนเข้ามาประจำการ

อีกทั้งท่าทีของรัฐมนตรีเองในระยะแรกที่เข้ามารับตำแหน่งก็ดูจะไปในแนวทาง “แลกเรือผิวน้ำ” น่าจะดีกว่า เนื่องจากโอกาสที่จะได้เครื่องยนต์เยอรมันภายใต้เงื่อนไขการเมืองโลกปัจจุบันนั้น เป็นไปไม่ได้เลย และไทยเองก็เคยมีปัญหาเช่นนี้มาแล้วในกรณีของรถถังยูเครน ที่ในข้อตกลงต้องใช้เครื่องเยอรมัน แต่ในที่สุดก็ไม่ได้

ต่อมาท่าทีและท่วงทำนองของกระทรวงกลาโหมไทยในการสัมภาษณ์เรื่องเรือดำน้ำดูจะเปลี่ยนไปอย่างมาก และสัญญาณของการเปลี่ยนเป็นเรือรบบนผิวน้ำค่อยๆ หายไป ซึ่งตอบได้ทันทีว่า กลุ่มผลประโยชน์ทั้งในและนอกกองทัพเรือที่แสวงประโยชน์กับเรือดำน้ำจีน ไม่มีทางยอมถอยอย่างแน่นอน

จนน่าสนใจที่จะตั้งคำถามในแบบสื่อมวลชนที่แสวงหาข้อมูลให้สังคมว่า ใครคือพ่อค้าอาวุธที่ขายเรือดำน้ำจีนให้แก่ราชนาวีไทย

การรับสัญญานี้มีการเปลี่ยนแปลงการใช้งบประมาณภายในกองทัพเรืออย่างไรหรือไม่ และใครได้ประโยชน์ตอบแทนในการจัดซื้อครั้งนี้

หากมองในภาพรวม เราคงต้องยอมรับถึงสิ่งที่เป็นปัญหาด้านลบในนโยบายการทหารของไทยคือการมีบทบาทและอิทธิพลของ “กลุ่มพ่อค้าอาวุธ”… ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพวกเขามีอิทธิพลมากทั้งในทางการเมืองและในกองทัพ

โดยพ่อค้าอาวุธเหล่านี้มีความแนบแน่นกับผู้นำทหารระดับสูงเสมอ ดังตัวอย่างของประเทศกำลังพัฒนาได้ว่า สัมพันธภาพในแบบ 3 เหลี่ยมของ “ผู้ขายอาวุธ-ผู้นำทางการเมือง-ผู้นำทางทหาร” มีความแข็งแกร่งเป็นอย่างยิ่ง และมักจะส่งผลให้เกิดเรื่องอื้อฉาวในการจัดหายุทโธปกรณ์อยู่เสมอ

ในอีกด้าน จีนเองจำเป็นต้องแสดงบทบาทและกดดันในฐานะ “รัฐผู้ผลิตอาวุธทันสมัย” ที่ต้องยืนยันถึงประสิทธิภาพของอาวุธตน เพราะวันนี้จีนเองเป็นหนึ่งในผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่ ที่ขายอาวุธในตลาดโลก ฉะนั้น จีนจึงต้องการนำเสนอภาพลักษณ์ของอาวุธจีนที่มีประสิทธิภาพ การปฏิเสธเครื่องยนต์จีนย่อมส่งผลต่อภาพลักษณ์ดังกล่าว และอาจกระทบต่อการทำการตลาดในการขายอาวุธของจีน

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ในที่สุดกระทรวงกลาโหมไทยก็ตอบรับ “เรือดำน้ำจีน-เครื่องยนต์จีน” อย่างไม่น่าแปลกใจ โดยมีคำแก้ต่างจากรัฐมนตรีกลาโหมไทยใน 3 ประการหลัก คือ

1) การตอบรับนี้เป็นการดำเนินการตามความต้องการของกองทัพเรือ

2) เป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศ

และ 3) เพื่อรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

แต่ข้อแก้ต่างนี้ทำให้เกิดคำถามบางประการตามมา ดังนี้

1) คำตอบดังกล่าวเท่ากับส่งสัญญาณว่า กระทรวงกลาโหมโดยนายสุทิน ไม่มียุทธศาสตร์อะไร จึงปล่อยให้การตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญเป็นเพียงการ “ตามน้ำ” ไปกับความต้องการอาวุธของฝ่ายทหาร โดยรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงไม่มีความสามารถเพียงพอที่ทำหน้าที่วินิจฉัยปัญหาได้จริง

การ “ลอยตามน้ำ” ไปกับกลุ่มอิทธิพลที่มีผลประโยชน์ทั้งในและนอกกองทัพเรือ จึงกลายเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุด ดังจะเห็นถึงท่าทีในแบบ “กองทัพเรือเอาอย่างไร กระทรวงกลาโหมเอาอย่างนั้น”

2) คำตอบว่าการยืนยันที่จะซื้อเรือดำน้ำจีนที่มีเงื่อนไขผิดสัญญาเรื่องเครื่องยนต์เป็นผลประโยชน์ของประเทศไทยนั้น ดูจะเป็นการตอบคำถามในแบบโฆษณาชวนเชื่อเป็นอย่างยิ่ง และการนำเสนอง่ายๆ ว่า ซื้อแล้วจะเป็นประโยชน์แก่ไทย ดูจะเป็นเรื่องที่รับฟังได้ยาก แต่น่าสนใจว่า การซื้อนี้เป็นประโยชน์แก่ใคร…

ปัญหาเช่นนี้คงต้องเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการทหารของรัฐสภาเร่งตรวจสอบ และเปิดเผยข้อมูลให้สังคมได้รับรู้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือไทย เป็นหนึ่งใน “เรื่องอื้อฉาวด้านอาวุธ” ทั้งในและนอกประเทศไทย เพราะการผิดเงื่อนไขเครื่องยนต์เรือดำน้ำ ทำให้บริษัทอาวุธในเวทีโลกเฝ้าดูถึงการตัดสินใจของรัฐบาลว่า จะเลือกเดินทางใด เพื่อที่จะแสดงถึงการเป็น “ผู้ซื้อที่ฉลาด” (smart buyer) ของไทยในตลาดอาวุธระหว่างประเทศ

เนื่องจากตลาดอาวุธในปัจจุบันไม่ใช่ “ตลาดผูกขาด” แบบในอดีต

3) แน่นอนว่าการผิดสัญญาเรื่องเครื่องยนต์นั้น ไทยไม่อาจใช้วิธียกเลิกสัญญากับจีนได้ ซึ่งจะเป็นการ “หักหน้าจีน” อย่างชัดเจน และอาจไม่เป็นทางเลือกที่ดีในความสัมพันธ์ไทย-จีน ซึ่งคงไม่มีรัฐบาลไทยชุดใดกล้าที่จะทำเช่นนั้นด้วย

แต่การหาทางออก ต้องมิใช่ “การยอมศิโรราบ” กับจีนทั้งหมด เพราะไทยไม่ใช่ “รัฐผู้พึ่งพา” กับจีน

การยอมรับเครื่องยนต์จีนตามที่จีนเสนอมาอย่างง่ายๆ ทั้งที่เป็นการผิดเงื่อนไขสำคัญนั้น เท่ากับเป็นคำตอบในตัวเองถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐมนตรีกลาโหมไทย และเป็นการยอมจำนนต่อจีนของราชนาวีไทย

4) การกระทำเช่นนี้ในอีกมุมหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามถึงการมี “ประเด็นซ่อนเร้น” เนื่องจากการยอมรับเงื่อนไขของจีนครั้งนี้ ถูกมองว่ามีการแลกสิ่งต่างตอบแทนหรือไม่ โดยเฉพาะคำกล่าวที่ว่า มีการแลกเปลี่ยนทางการค้า และได้นำมาเป็นประเด็นประกอบการเจรจาเรื่องเรือดำน้ำ ซึ่งกระทรวงกลาโหมควรแถลงให้ชัดเจนในกรณีนี้

สามพลังธุรกิจอาวุธ

วันนี้เรือดำน้ำไทยกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวที่เกิดตั้งแต่ต้นจนจบ และสะท้อนถึง “3 เหลี่ยมธุรกิจอาวุธ” ที่เป็นภาพสลัวๆ ของสังคมการเมืองไทยในการรวมพลังของ “พ่อค้า-นักการเมือง-ผู้นำทหาร” อีกทั้งยังเป็นภาพสะท้อนในอีกมุมหนึ่งถึงความสัมพันธ์ไทย-จีน ซึ่งปัญหาเกิดในภาวะที่จีนมีความเป็นรัฐมหาอำนาจใหญ่ที่กำลังขยายอิทธิพลในไทยและในเวทีโลกอย่างไม่หยุดยั้ง

แต่สำหรับทฤษฎีเปลี่ยนผ่านวิทยาของวิชารัฐศาสตร์แล้ว ผู้นำกลาโหมไทยปัจจุบันเป็นเพียงตัวแบบด้านลบของความเป็น “รัฐมนตรีกลาโหมพลเรือน” ในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเท่านั้นเอง!

(https://www.matichonweekly.com/column/article_774137)