คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นคำร้อง ตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรครัฐบาล ว่า พรบ.คำสั่งเรียกบุคคลไปให้การต่อกรรมาธิการสภาฯ ขัดกับรัฐธรรมนูญ นั้นเป็นลักษณะแห่งการ ‘สืบทอดอำนาจรัฐประหาร’ อย่างจะแจ้ง
ในเมื่อ พรบ.ดังกล่าวบัญญัติและบังคับใช้อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ แต่ถูกคณะบุคคลที่ต่ออายุราชการและแต่งตั้ง (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) โดยคณะทหารที่ยึดอำนาจการปกครองเมื่อปี ๒๕๕๗ แล้ว ‘สั่ง’ ให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันขึ้น
ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ชื่อว่า ‘ออกแบบ’ มาเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของคณะยึดอำนาจ ตั้งแต่มีการเลือกตั้งจนกระทั่งการตั้งรัฐบาล เรื่อยมาถึงการบริหารประเทศ มากกว่าที่จะก่อเกิดความเสมอภาคและกินดีอยู่ดีของประชาชน
กลุ่มบุคคลดังกล่าวซึ่งใช้อำนาจวินิจฉัยตามที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบไว้ จึงไม่ใช่ศาลสถิตย์ยุติธรรมในความหมายทางนิติรัฐและนิติธรรม หากจะยังคงเรียกว่า ‘ศาล’ ก็ต้องเรียกให้เต็มตามถ้อยความตามจริงว่า ‘ศาลพิทักษ์รัฐธรรมนูญ คสช.’
ไม่ต่างอะไรกับศาลเจ้าพ่อ เจ้าแม่ และศาลพระภูมิ เมื่อใช้อำนาจวิเศษอย่างภูติผีปีศาจสั่งการให้เกิดประโยชน์ต่อ และต้องตามความต้องการของผู้จัดตั้งศาลนี้เป็นหลักใหญ่ โดยคดีที่วินิจฉัยมาจากการฝ่าฝืนของนายกรัฐมนตรี ต่อกฎหมายฉบับที่อ้าง
คำสั่ง กมธ.ปราบทุจริตสภาผู้แทนฯ อันมี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นประธาน ตามอำนาจมาตรา ๕,๘ และ ๑๓ เรียกให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาชี้แจงกรณีการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน ถูก ส.ส.พรรคพลังประชารัฐร้องค้านผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน
ศาล รธน.รับพิจารณาทันใดว่า “ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๒๙” และวินิจฉัยในเบื้องต้นตามแถลงเมื่อ ๗ ตุลาคมนี้ว่า พรบ.ปี ๕๔ ฉบับที่ให้อำนาจกรรมาธิการรัฐสภานั้น ‘ขัดต่อรัฐธรรมนูญ’ แสดงถึงอำนาจอันวิเศษของศาลในการตีตกกฎหมายใดๆ
บรรดานักกฎหมายที่มองเห็นว่านี่เป็นการที่ ตลก.รธน.ก้าวล้ำสิทธิและเสรีภาพประชาชนอีกครั้งหนึ่ง ต่างรอที่จะตรวจสอบคำวินิจฉัยเต็ม ซึ่งจะต้องออกตามมาในไม่ช้า ว่าคราวนี้ ตลก.จะใช้ข้ออ้างอิงอย่างไรในการสนับสนุนคำวินิจฉัยเพื่อเอาใจอดีตหัวหน้า คสช.คนนี้
เพราะโดยปกติของระบบการปกครองบ้านเมืองทางรัฐสภาแล้ว นายกรัฐมนตรีควรจะต้องไปตอบข้อซักถามของกรรมาธิการ อันเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ศาล รธน.กลับเอออวยให้ประยุทธ์คัดง้างได้
เช่นนี้เท่ากับว่าบ้านเมืองยังตกอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการของคณะรัฐประหาร
ที่ผันตัวมาเป็นรัฐบาลพลเรือน มันยิ่งเห็นชัดเมื่อประจวบกับวิธีการใช้ทหารตำรวจนอกเครื่องแบบ
ไปไล่ตามบีบคั้นกดดันครอบครัวของบรรดานักเรียนนักศึกษาที่ออกมาทำกิจกรรม
แรงกดดันซึ่ง ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ เวลานี้ใส่ลงไปยังนักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ ร่ำๆ ที่จะเกิดแรงสะท้อนดันกลับบ้างได้ไม่ช้าก็เร็ว อาจเป็นในวันที่ ๑๔ ตุลาคมซึ่งมีการนัดหมายชุมนุมของ ‘คณะราษฎร ๖๓’ บนถนนราชดำเนิน ตั้งแต่บ่ายสองโมงเป็นต้นไป
เนื่องเพราะเกิดมีหมายกำหนดการ เสด็จพระราชดำเนินทรงตั้งเปรียญธรรมฯ ต่อภิกษุสามเณรที่สอบได้ ณ อุโบสถวัดพระแก้ว ในพระบรมมหาราชวัง ในวันที่ ๑๔ ตุลาเช่นกันมาแทรก ในเวลา ๑๗.๐๐ น. การนี้ โตโต้ ปิยรัฐ - Piyarat Chongthep แจ้งว่า
“ฝ่ายความมั่นคงพยายามติดต่อผมจากหลายช่องทาง เพื่อขอให้ทางผู้ชุมนุมหลีกเลี่ยงเส้นทางราชดำเนิน...ผมขอเรียนตามตรง...ปัญหานี้แก้ง่ายนิดเดียว ถนนในประเทศนี้มีหลายเส้น หลายสาย โดยมารยาทคนมาทีหลังก็ควรเลี่ยงไปใช้เส้นทางอื่นซะ
หรือจะใช้ร่วมกันก็ยังได้ ไม่ใช่ใครต้องเสียสละให้ใครใช้คณะเดียว” การที่อาจมีตำรวจหรือ ‘เจ้าหน้าที่’ อื่นๆ ไปผลักดันผู้คนออกจากเส้นทางถนนราชดำเนินในละก็ อาจก่อเกิดปัญหาความ ‘ไม่เรียบร้อย’ ขึ้นได้ ทางการควรหาทางให้เส้นทางสามารถใช้ร่วมกันได้ทั้งสองงาน
เนื่องเพราะ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หนึ่งในแกนนำเปิดเผยว่าการชุมนุมวันนั้น “เป็นหลากหลายกลุ่มที่เคลื่อนไหวในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า ๑๐ กลุ่มมารวมกัน และจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงใช้ชื่อว่าเป็นคณะราษฎร” จึงยากที่จะยกเลิกการชุมนุมเพื่อการเสด็จพระราชดำเนิน
เว้นแต่ว่า การแถลงของกลุ่มแกนนำที่สนามหลวงฝั่งตรงข้ามธรรมศาสตร์ เวลาสองโมงครึ่งวันนี้ จะเปลี่ยนแปลงกำหนดชุมนุม ให้เป็นไปตามที่ฝ่ายความมั่นคงต้องการได้ ไม่เช่นนั้นเมื่อเวลาใกล้ห้าโมงวันที่ ๑๔ เจ้าหน้าที่ต้องอลุ่มอล่วยอย่างเต็มที่
ในเมื่อการชุมนุมย่อมีการชูป้ายและส่งเสียงอึกทึก การใช้ความเด็ดขาดอาจกลายเป็นเชื้อไฟสุมให้เกิดการระเบิดได้ ยิ่งถ้ามีพวกห่ามสุดโต่งฝ่ายตรงข้ามเหมือนที่ไปขู่ฆ่า อานนท์ นำภา ถ้าอภิปรายเรื่องสถาบันกัตริย์ในวันที่ ๑๔ ตุลา โผล่ไปด้วยละก็
มันจะไม่งามสำหรับพวกเจ้าหน้าที่ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นต่อหน้าพระพักตร์ขณะเสด็จพระราชดำเนิน
(https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=4501325546575473&id=100000942179021…, https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_354589 และ https://prachatai.com/journal/2020/10/89854)