วันจันทร์, ตุลาคม 12, 2563

บทสัมภาษณ์ อ.นิธิ หลังพูดคุยกับณัฐวุฒิในคุก เรื่องขบวนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา



นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
12h ·

“ณัฐวุฒิจะแพ้หรือชนะก็แล้วแต่ แต่สิ่งที่ณัฐวุฒิกับคนเสื้อแดงเคลื่อนไหวกลายเป็นประเด็นที่ไม่ตายไปแล้ว คือความเสมอภาคและการดูแลเอาใจใส่จากภาครัฐแก่คนเล็กๆ” ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์

เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 63 ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์และอาจารย์สุชาดา จักรพิสุทธิ์ เดินทางไปเยี่ยมณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ซึ่งถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่ 26 มิ.ย. 63 คดีการชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์เมื่อปี 50 โดยได้พูดคุยผ่านลูกกรงขังในห้องเยี่ยมช่วงเช้า ก่อนอาจารย์นิธิจะเดินทางกลับ จ.เชียงใหม่ในช่วงบ่าย

สำหรับการเดินทางมากรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 9 - 10 ต.ค. 63 ครั้งนี้ อาจารย์ได้ร่วมเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 63 โดยเป็นผู้กล่าวนำหัวข้อ ‘จุดกำเนิดของระบอบเผด็จการอำนาจนิยมแบบไทยในยุคสมัยสงครามเย็น’ เนื่องในโอกาสตีพิมพ์หนังสือ ‘ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี’ โดย ‘ณัฐพล ใจจริง’ งานเสวนาจัดโดยศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมกับสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 63 หลังจากเยี่ยมณัฐวุฒิและพูดคุยกับครอบครัวของณัฐวุฒิซึ่งเข้าเยี่ยมในเวลาเดียวกันช่วงเช้าแล้ว อาจารย์นิธิได้ให้ความกรุณาให้สัมภาษณ์ถึงณัฐวุฒิและการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา เพื่อเผยแพร่ทางแฟนเพจ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ดังนี้

-อาจารย์มองพัฒนาการของณัฐวุฒิในการเมืองไทยในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมาอย่างไร

ผมคิดว่าคุณณัฐวุฒิได้พิสูจน์ตัวเองให้เห็นว่า แกเป็นแกนนำคนหนึ่งในการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงที่มีความจริงใจต่อคนเสื้อแดงมาก รวมถึงตอนพ่ายแพ้ในปี 53 แกเป็นคนหนึ่งที่พยายามจะคำนึงถึงสวัสดิภาพทั้งทางกายและทางใจของคนเสื้อแดงซึ่งในที่สุดต้องกลับบ้านอย่างคนพ่ายแพ้

แกก็ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ซึ่งก็ทำได้ไม่มากเพราะตอนนั้นถูกจับติดคุกด้วย แต่มีความพยายาม เช่น สื่อสารกับคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ ขอให้ไปทำกิจกรรมพบปะคนเสื้อแดงในต่างจังหวัด

แล้วหลังจากนั้นมา ในช่วงที่แกมาเป็นรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย ผมว่าแกพิสูจน์ตัวเองอีกครั้งหนึ่งก็คือเมื่อตอนที่ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้าสภา แกเป็น 1 ในจำนวนน้อยคนของสมาชิกพรรคเพื่อไทยที่กล้างดออกเสียง

อันนี้ผมว่าเป็นการพิสูจน์ที่เห็นชัดเจนมากว่าแกมีความซื่อสัตย์ต่อหลักการที่ถูกต้องมากกว่าการที่จะเพียงเอาใจคนที่ใหญ่กว่าเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือว่าช่วยพรรคพวกอย่างเดียว

-การที่อาจารย์ให้ความกรุณามาเยี่ยมณัฐวุฒิ มีความหมายว่าอย่างไร

ก็ไม่มีอะไร นอกจากผมมีความศรัทธา มีความนับถือคุณณัฐวุฒิในแง่นี้ ในแง่ของการเป็นนักการเมืองที่มีหลักการแบบนี้ ผมก็รู้สึกว่าอะไรที่ผมจะช่วยคุณณัฐวุฒิแม้แต่เพียงนิดหน่อย เช่นเป็นต้นว่าใช้เวลาพบปะพูดคุยกัน (ในเรือนจำ) ก็ดีก็อยากจะทำ ด้วยความรู้สึกนับถือศรัทธาคุณณัฐวุฒิ

-ได้พูดคุยกันอย่างไรระหว่างเยี่ยมในเรือนจำ

คุยกันว่าคุณณัฐวุฒิใช้ชีวิตยังไงในช่วงเวลานี้ แล้วคุณณัฐวุฒิก็ถามถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายนอกเพราะคนที่อยู่ข้างในจะไม่ค่อยรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นภายนอก

-สำหรับการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาในปัจจุบันมีการกล่าวถึงคำปราศรัยของณัฐวุฒิเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว อาจารย์มองว่าสะท้อนอะไร

หลังจากนักศึกษาประกาศยอมรับการกระทำของคนเสื้อแดงว่าคนเสื้อแดงเป็นคนที่บุกเบิกเข้ามาก่อน ผมคิดว่าเขาก็ยอมรับสิ่งที่คุณณัฐวุฒิพูดเมื่อ 10 กว่าปีมาแล้วแน่นอน

-การที่คนเสื้อแดงเข้าร่วมชุมนุมกับนิสิตนักศึกษา จะทำลายความชอบธรรมการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่อย่างที่มีการกล่าวหากันหรือไม่

ผมคิดว่าตรงกันข้ามด้วยซ้ำไป เพราะถ้านักศึกษายอมรับว่ามันมีคนอื่นๆ ที่เคยเคลื่อนไหวในเรื่องเหล่านี้มาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเสื้อแดงซึ่งเป็นปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวที่ในทัศนะผมมองว่าแตกต่างจากการเคลื่อนไหวที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ถ้าคุณไม่ยอมรับสิ่งนี้ การเคลื่อนไหวของคุณก็ดูไม่จริงใจยังไงพิกลอยู่ เพราะฉะนั้น ในทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำ การที่เค้าประกาศยอมรับคนเสื้อแดงและอ้าแขนรับความร่วมมือจากคนเสื้อแดง ผมว่านี่เป็นการแสดงความจริงใจให้รู้ว่า ถ้าเราจะเปลี่ยนประเทศเรา ไม่ใช่เปลี่ยนเฉพาะเพื่อกลุ่มลูกหลานชนชั้นกลางได้ประโยชน์เท่านั้น มันต้องเปิดให้กับทุกๆ คน

นักศึกษาพูดถึงเรื่องความเสมอภาคบ่อยมาก ก็ต้องหมายถึงความเสมอภาคไม่ใช่เพียงเราต้องเสมอกับคนที่อยู่เหนือกว่าเราอย่างเดียว ต้องหมายถึงคนที่อยู่ต่ำกว่าเราก็ต้องเสมอกับเราด้วย

-อาจารย์มองบทบาท นปช. ตั้งแต่หลัง 19 กันยา 49 จนถึงปัจจุบันเป็นอย่างไร

เท่าที่ผมเข้าใจ นปช.เค้าก็รู้ตัวนะว่าเค้าไม่ใช่แกนนำอีกแล้ว เค้าก็หนุนช่วยเท่านั้นเอง เค้าจึงไม่มีบทบาทเป็นพิเศษนอกจากการหนุนช่วยเท่าที่เค้าจะทำได้

แต่ว่า แน่นอนในช่วงหนึ่งที่ นปช.เคลื่อนไหว เมื่อสมัยปี 53 หรือก่อนหน้านั้น ยังมีนักการเมืองที่ให้การสนับสนุนอยู่ หมายความว่าช่วยเกี่ยวกับเรื่องค่าอาหาร ค่าเดินทางบ้าง

อันนี้ก็ทำให้เขาสามารถเคลื่อนไหวได้ในระดับที่กว้างขวางใหญ่โตขนาดนั้นได้ แต่ปัจจุบันจะไม่มีอีกแล้ว เค้าจะต้องเคลื่อนไหวด้วยตัวเค้าเองแล้วทีนี้ จะให้ใหญ่เท่าตอนนั้นคงเป็นไปไม่ได้

อันนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่านักศึกษาต้องคิดให้ดีๆ เพราะว่าเวลานี้นักศึกษาใช้ยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวพร้อมเพรียงกันทั่วทั้งประเทศ ทำยังไงจะให้ในต่างจังหวัดไม่ใช่เฉพาะแต่ในส่วนกลางที่จะไปเชื่อมโยงกับคนเสื้อแดง แต่ในต่างจังหวัดเองทำยังไงถึงจะให้เป็นส่วนหนึ่งของเวทีการประท้วงคัดค้านซึ่งคนเสื้อแดงสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ ไม่จำเป็นที่พวกเค้าต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ทุกครั้งเพราะมันแพงสำหรับเขานะ

-หลังการเคลื่อนไหวผ่านไป 10 กว่าปี ณัฐวุฒิติดคุกคดีชุมนุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์เมื่อปี 50 อาจารย์มองว่าชะตากรรมเช่นนี้เป็นการบ่งบอกว่าแพ้หรือชนะได้หรือไม่

ผมกลับรู้สึกว่าอย่างนี้นะ คุณณัฐวุฒิจะแพ้หรือชนะก็แล้วแต่ แต่สิ่งที่คุณณัฐวุฒิกับกลุ่มคนเสื้อแดงเคลื่อนไหว เช่น เรียกร้องความเสมอภาค เรียกร้องการดูแลเอาใจใส่ของภาครัฐมาให้แก่คนเล็กๆ ผมว่ามันกลายเป็นประเด็นที่ไม่ตายไปแล้ว ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโตก็แล้วแต่ โดยการรัฐประหารหรือโดยการเลือกตั้งก็แล้วแต่ คุณทิ้ง 2 ประเด็นนี้ไม่ได้

สมัยหนึ่งความเสมอภาคของคนบ้านนอกกับคนในกรุงหรือคนที่มีการศึกษาสูงๆ ไม่มีใครสนใจหรอก แต่การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงมันทำให้ความเสมอภาคกลับมีความหมายขึ้นมาในการเมืองไทย

เพราะฉะนั้น ผมเชื่อว่า ถ้าเราดูแพ้ชนะเป็นแต่เพียงว่าใครติดคุก ใครได้เป็นรัฐมนตรี ถ้าแค่นั้นเนี่ยมันก็เหมือนกับการเมืองสมัยก่อน

แต่ว่าถ้าดูว่า ไม่ว่าเขาจะติดคุกหรือเป็นรัฐมนตรี เค้าได้ทิ้งอะไรให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงบ้าง ผมว่าคนเสื้อแดงทำ ทำให้สังคมไทยเปลี่ยนไปแยะ

(ทีมงาน) 

https://www.facebook.com/Nattawut.UDD/photos/a.861047093952899/3637538342970413/