วันศุกร์, ตุลาคม 09, 2563

ร.10 : รมว.ต่างประเทศเยอรมนีตอบกระทู้ส.ส.ในสภาฯ สถานะกษัตริย์ไทยในแคว้นบาวาเรีย "เราอธิบายไว้ชัดเจนว่าการดำเนินการทางการเมืองที่เกี่ยวกับประเทศไทยไม่ควรมาจากดินแดนของเยอรมนี"


REUTERS
กลุ่มผู้ประท้วงชาวไทยในต่างแดนชุมนุม เมื่อ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา ที่หน้าบ้านหลังใหญ่แห่งหนึ่งที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเยอรมนี

8 ตุลาคม 2020, 22:05 +07
ปรับปรุงแล้ว เมื่อ 2 ชั่วโมงที่แล้ว
บีบีซีไทบ

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานจากกรุงเบอร์ลินว่า นายไฮโก มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยอรมนี ได้ตอบกระทู้ของ ส.ส.จากพรรคกรีนส์ เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่แสดงความห่วงใยต่อการเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่ต่อต้านรัฐบาล รวมถึงการประทับอยู่ในเยอรมนีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

รอยเตอร์ รายงานเมื่อ 8 ต.ค. ว่า นายฟริตยอฟ ชมิดต์ ส.ส.พรรคกรีนส์ ได้ถาม รมว. ต่างประเทศในสภาฯ ถึงกรณีที่กษัตริย์ไทยทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการประทับอยู่ที่ในรัฐบาวาเรีย ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ประท้วงในประเทศไทยแสดงความไม่เห็นด้วยต่อค่าใช้จ่ายที่ทรงใช้ในการประทับอยู่ในต่างแดน และการที่ไม่ประทับอยู่ในประเทศ

"เหตุใดรัฐบาลเยอรมนีจึงยอมอดทนต่อพฤติกรรมที่แปลกประหลาดมากเช่นนี้ ซึ่งในความเห็นของผมเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ที่ประมุขของประเทศอื่นดำเนินงานการเมืองบนแผ่นดินเยอรมนี"

นายมาส ชี้แจงต่อคำถามนี้ว่า "เราอธิบายไว้ชัดเจนว่าการดำเนินการทางการเมืองที่เกี่ยวกับประเทศไทยไม่ควรมาจากดินแดนของเยอรมนี"

"หากมีแขกของประเทศเราเข้ามาดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับประเทศของพวกเขา เราจะดำเนินการคัดค้านอย่างแน่นนอน" รมว. ต่างประเทศกล่าวเสริม

โปรดเกล้าฯ คืนฐานันดรศักดิ์-เครื่องราชฯ เจ้าคุณพระสินีนาฏ
สรุปเนื้อหาอภิปรายของฝ่ายค้านเกี่ยวกับงบประมาณ 2564 ของสถาบันกษัตริย์
"ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" ยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อแก้ปัญหาว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ นัดชุมนุมอีกครั้ง 12 ส.ค.


REUTERS
ภาพอีกมุมหนึ่งของบ้านหลังใหญ่แห่งหนึ่งในเยอรมนี ที่ผู้ประท้วงชาวไทยในต่างแดนเชื่อว่าเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

รอยเตอร์รายงานด้วยว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ เกิดขึ้นในขณะที่บรรยากาศการเมืองในประเทศไทยกำลังร้อนแรง และมีประชาชนออกมาชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ และจัดการเลือกตั้งใหม่ ตลอดจนเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

อียูได้ระงับการติดต่อในทุกระดับกับทางการไทยหลังเกิดการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ. 2557 แต่ได้กลับมาเปิดการเจรจาอีกครั้งหลังการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ ได้กลับมาบริหารประเทศในฐานะนายกรัฐมนตรีพลเรือน

นายชมิดต์ ส.ส.พรรคกรีนส์ ได้ถามนายมาสว่า เยอรมนีได้เตรียมจะหารือกับสหภาพยุโรป (อียู) ถึงการระงับการเจรจาการค้าเสรีกับไทยอีกรอบหรือไม่ "ตราบที่รัฐบาลทหารยังคงสกัดกั้นวิถีสู่ประชาธิปไตยในประเทศไทย"

นายมาส ตอบเรื่องนี้ว่า การระงับการเจรจาเป็น "ตัวเลือกหนึ่ง" ที่จะเพิ่มแรงกดดัน แต่ควรต้องหารือเรื่องนี้กับรัฐบาลไทยเสียก่อน

โฆษกอัยการเยอรมันเผย ร.10 ทรงไม่ถือโทษ 2 เด็กชาย ใช้ปืนลมยิงใส่ขบวนจักรยาน
อัยการเยอรมันสั่งไม่ฟ้องเด็กชายใช้ปืนลมยิงใส่ขบวนเสด็จจักรยาน ร. 10

ถอดความบทถาม-ตอบ ในสภาเยอรมนี

นายฟริตยอฟ ชมิดต์ ส.ส.พรรคกรีนส์

"ในขณะนี้ ประชาชนนับหมื่นคนกำลังชุมนุมเรียกร้องหาประชาธิปไตยจากรัฐบาลทหารที่สกัดกั้นพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุด ก่อนหน้านี้ พฤติกรรมดังกล่าวของคณะรัฐประหารเป็นสาเหตุให้สภาพยุโรปปิดกั้นและระงับการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับไทย หลังจากรัฐบาลทหารประกาศจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่

"กระบวนการเจรจานี้ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งจากการที่ไทยกลับสู่แนวทางประชาธิปไตย ตอนนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศพร้อมที่จะหารือกับคณะมนตรียุโรปเพื่อระงับการเจรจาเหล่านี้อีกครั้งหรือไม่ ในขณะที่รัฐบาลทหารยังคงเป็นอุปสรรคต่อวิถีสู่ประชาธิปไตยในประเทศไทย"

นายไฮโก มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

"เราอธิบายไว้ชัดเจนว่าการดำเนินการทางการเมืองที่เกี่ยวกับประเทศไทยไม่ควรมาจากดินแดนของเยอรมนี เราได้รับรายงานว่าเกิดเหตุการณ์แปลกประหลาดขึ้นหลายครั้งที่นี่ ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลกลางเยอรมนีไม่เห็นด้วย และนี่แตกต่างจากกรณีที่เรามีเกี่ยวกับนายนาวาลนี (นายอเล็กเซ นาวาลนี แกนนำฝ่ายค้านรัสเซีย) หากมีแขกของประเทศเราเข้ามาดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับประเทศของพวกเขา เราจะดำเนินการคัดค้านอย่างแน่นนอน"

"ผมคิดว่านี่เป็นตัวเลือกหนึ่งที่เราจะหารือกับสหภาพยุโรป แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องคุยเรื่องนี้กับฝ่ายไทยอีกครั้ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ เพราะไทยมีผลประโยชน์จากข้อตกลงการค้าที่เหมาะสม และผมเชื่อว่าเราอาจใช้ข้อเรียกร้องของเราเป็นเครื่องต่อรองได้ แต่ผมไม่ตัด (ตัวเลือกการหารือกับอียู) หากรัฐบาลทหารยังคงพฤติกรรมแบบเดิม เราต้องรอดูเรื่องนี้ต่อไป และเราอาจต้องใช้มาตรการนั้น"


REUTERS
นายไฮโก มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงในสภาฯ