วันอังคาร, เมษายน 08, 2568

ย้อนดูประวัติศาสตร์ร่วมสมัย คดี 112 ในบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 เรื่อยมา เมื่อขบวนการ "คนเสื้อแดง" และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยตกเป็นเป้าหมายอย่างหนัก


iLaw
5 hours ago
·
ในปี 2568 ภายใต้รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ข้อถกเถียงเรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีจากเหตุความขัดแย้งทางการเมืองกลับมาอีกครั้ง โดยเป็นอดีต "ฝ่ายตรงข้าม" กับพรรคเพื่อไทยที่เร่งการเสนอร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข เข้าสู่สภา เพื่อยกเลิกคดีย้อนหลังไปก่อนรัฐประหาร 2549 ซึ่งก็คือการยกเลิกการดำเนินคดีความให้กับการชุมนุม "ไล่ทักษิณ" ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือ "เสื้อเหลือง" ช่วงปี 2548-2549, 2550-2551 และการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ช่วงปี 2556-2557 ซึ่งเป็นเงื่อนไขให้เกิดการรัฐประหารทั้งสองครั้ง
ขณะที่ฝ่ายประชาชนเห็นว่า คดีที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งส่งผลให้มีคนต้องเข้าเรือนจำจำนวนมาก และต้องลี้ภัยจำนวนมาก ที่จริงแล้วคือ คดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงเข้าชื่อกันเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เข้าสู่การพิจารณาควบคู่กันด้วย แต่ด้านพรรคเพื่อไทยเองก็มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการนิรโทษกรรมเพียงคดีของผู้ชุมนุมที่เคยต่อต้านพรรคเพื่อไทยเท่านั้น แต่ไม่รวมคดีมาตรา 112 ด้วย
ชวนไล่ย้อนดูประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ในบรรยากาศความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 เรื่อยมา เมื่อมาตรา 112 ถูกนำมาใช้เป็นระลอกๆ ตามสถานการณ์การเมือง และเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งการใช้งานมาตรา 112 ชัดเจนว่า ขบวนการ "คนเสื้อแดง" และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยตกเป็นเป้าหมายอย่างหนักมาตลอด ดังนี้ [ มีลิงก์อ้างอิงทุกคดี ดูที่นี่ https://www.ilaw.or.th/articles/52109 ]
.
1. บรรยากาศหลังการรัฐประหาร 2549
ก่อนการรัฐประหาร 2549 ประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมืองไทยยังไม่ถูกพูดถึงมากนัก และคดีมาตรา 112 เกิดขึ้นน้อยมาก จนกระทั่งหลังการรัฐประหารมีการเกิดขึ้นของแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ใช้สีแดงในการเคลื่อนไหว ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นขบวนการ "คนเสื้อแดง" โดยมีการอธิบายถึงบทบาทของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี และเริ่มมีการปราศรัยที่ดุเดือดมากขึ้น
คดีมาตรา 112 จำนวนมากในยุคนั้นเกิดจากการปราศรัยบนเวทีของกลุ่มนปช. ที่ใช้พื้นที่ท้องสนามหลวงเป็นพื้นที่ชุมนุมหลัก มีการชุมนุมตั้งแต่ยุคหลังการรัฐประหาร ในชื่อ "กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ" จนกระทั่งยุคสมัยที่กลุ่มเสื้อเหลืองลุกขึ้นขับไล่รัฐบาลพรรคพลังประชาชน ท้องสนามหลวงก็ยังเป็นพื้นที่ของการชุมนุมโดยกลุ่มคนที่ใส่เสื้อสีแดงต่อต้านคนใส่เสื้อสีเหลือง และตามมาด้วยคดีความ เช่น
คดีมาตรา 112 ของบุญยืน จากการปราศรัยที่สนามหลวงซึ่งศาลพิพากษาให้จำคุก 12 ปี, คดีมาตรา 112 ของดา ตอร์ปิโด จากการปราศรัยที่สนามหลวงหลายครั้งที่เธอพยายามอธิบายว่าเป็นการโจมตีพลเอกเปรม ศาลพิพากษาจำคุกรวม 15 ปี หรือคดีมาตรา 112 ของสุชาติ นาคบางไทร จากการปราศรัยที่สนามหลวง ซึ่งศาลพิพากษาให้จำคุกสามปี รวมทั้งคดีดังของสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำเสื้อเหลืองที่เอาคำของดา ตอร์ปิโดมาอ่านซ้ำบนเวทีการชุมนุมของเสื้อเหลือง ก็เกิดในยุคนี้ด้วย
.
2. ทักษิณ และนักการเมืองเป็นเป้าหมายหลัก
ในยุคสมัยที่มีการชุมนุมขับไล่ทักษิณ ชินวัตร ให้ออกจากอำนาจ ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2548 มาจนถึงปี 2551 มีการชุมนุมของกลุ่มเสื้อเหลืองในฐานะฝ่ายต่อต้านทักษิณและเสื้อแดงในฐานะฝ่ายสนับสนุนทักษิณ มาตรา 112 ปรากฏตัวในฐานะเครื่องมือทางการเมืองที่ชัดเจนว่า มุ่งโจมตีฝ่ายทักษิณและนักการเมืองในสังกัดเป็นหลัก จนเกิดคดีความมากมาย จนกระทั่งพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นรัฐบาลในปี 2551 ก็มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงต่อเนื่องมา มาตรา 112 ก็ถูกนำมาใช้กับฝ่ายคนเสื้อแดงต่อเนื่อง
ตัวของทักษิณ ชินวัตรเอง เคยถูกยื่นฟ้องคดีโดยตรงต่อศาลในข้อหามาตรา 112 แต่ศาลมีคำพิพากษาบรรทัดฐานไว้ในคดีที่ อ.4153/2549 ว่า คดีตามมาตรา 112 นั้นประชาชนยื่นฟ้องเองต่อศาลโดยตรงไม่ได้ เนื่องจากเป็นความผิดต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร ต้องให้อัยการเป็นผู้ฟ้อง แต่หลังจากนั้นทักษิณยังถูกดำเนินคดีโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษอีกหลายครั้ง เช่น คดีวิดีโอลิงก์มาพูดในการชุมนุมที่เชียงใหม่เมื่อปี 2554 คดีแจกแถลงการณ์ต่อสื่อต่างประเทศในปี 2554 หรือคดีให้สัมภาษณ์กับนิตยสารต่างประเทศ เมื่อปี 2553 ที่ยังคงดำเนินคดีอยู่ถึงปี 2568
ด้านจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เคยถูกดำเนินคดีจากการกล่าวปาฐกถาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เมื่อปี 2550 เรื่อง ประชาธิปไตยกับระบบอุปถัมภ์ จากนั้นจักรภพตัดสินใจลี้ภัยไปต่างประเทศแต่ยังคงเคลื่อนไหวและวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ในประเทศไทย จนถูกตั้งเรื่องเป็นคดีของดีเอสไออีกจากการกล่าวปาฐกถาที่สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2553
ก่อแก้ว พิกุลทอง และจตุพร พรหมพันธุ์ สองแกนนำกลุ่มนปช. และสส.พรรคเพื่อไทย ต่างก็เคยถูกตั้งข้อหาโดยดีเอสไอ จากการกล่าวปราศรัยในที่ชุมนุมนปช. ช่วงปี 2554 ทั้งคู่
.
3. ผังล้มเจ้า และการกวาดจับคนเสื้อแดงในปี 2553
ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 ขบวนการคนเสื้อแดงจัดการชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพฯ เรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ แต่ถูกตอบโต้ด้วยการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้กำลังทหารกับอาวุธสงครามเข้าสลายการชุมนุมทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 99 คน ด้านฝ่ายทหารก็สร้างคำอธิบายว่า สาเหตุที่ต้องสลายการชุมนุมนั้นเพราะในหมู่ผู้ชุมนุมมี "ขบวนการล้มเจ้า" และสร้าง "ผังล้มเจ้า" นำเสนอต่อสาธารณะคล้ายข้ออ้างในการสังหารประชาชน
ในแผนผังของฝ่ายทหารนี้แม้ภายหลังจะถูกยอมรับแล้วว่า ไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงได้ แต่ก็เห็นวิธีการกล่าวหาของทหารที่เอาชื่อของทักษิณ ไว้เป็นใจกลางของแผนผัง พร้อมกับกลุ่มนปช. และพรรคเพื่อไทย เป็นองค์กรหลักที่เชื่อมโยงหลากหลายกลุ่มเข้าหากัน พร้อมกับชื่อของบุคคลสำคัญในพรรคเพื่อไทย เช่น สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ, สุธรรม แสงประทุม, อดิศร เพียงเกษ ที่ยังคงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคเพื่อไทย และบางคนเป็นรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยอยู่ในปี 2568
ควบคู่ไปกับช่วงเวลาที่ทหารใช้กำลังสลายการชุมนุม จึงมีการจับกุมประชาชนด้วยข้อหามาตรา 112 ที่ร่วมการชุมนุมกับขบวนการคนเสื้อแดงเป็นคดีไม่น้อยกว่า 30 คดี ซึ่งคนเหล่านี้หลายคนมีชื่อปรากฏอยู่ในแผนผังดังกล่าวด้วย และชัดเจนว่า คนกลุ่มนี้เคลื่อนไหวและนิยามตัวเองร่วมกับขบวนการคนเสื้อแดง เช่น สมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาให้จำคุกหกปีจากการเป็นบรรณาธิการนิตยสารชื่อ Voice of Taksin ซึ่งเผยแพร่บทความของจักรภพ เพ็ญแข หรือธันย์ฐวุฒิ ที่มีนามแฝงว่า “หนุ่มเรดนนท์” ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ชื่อ นปช.ยูเอสเอ ถูกดำเนินคดีจากภาพที่โพสถามหาความรับผิดชอบหากคนเสื้อแดงเสียชีวิต เขาถูกศาลพิพากษาจำคุก 13 ปี
สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ จากกลุ่มแดงสยาม เคยเป็นอดีตแกนนำรุ่น 2 ของกลุ่มนปช. และเป็นนักปราศรัยฝีปากกล้า ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ถึงห้าคดี จากการปราศรัยบนเวทีคนเสื้อแดงตั้งแต่ช่วงปี 2551-2554 ที่ท้องสนามหลวง ที่วัดสามัคคีธรรมสองครั้ง ที่เชียงใหม่ ที่อุดรธานี และถูกพิพากษาให้จำคุกรวม 12 ปี 6 เดือน ขณะที่ปภัสสนัญญ์ หรือ “เจ๊แดง โคราช” ก็ถูกพิพากษาให้จำคุก 3 ปี 10 วัน จากการชุมนุมในปี 2552 และเผาโลงศพประธานองคมนตรี
ใจ อึ๊งภากรณ์ นักวิชาการที่ต่อต้านการรัฐประหาร 2549 และประกาศเข้าร่วมกับคนเสื้อแดงถูกตั้งข้อหามาตรา 112 จากการเขียนหนังสือ A Coup for the Rich และลี้ภัยในปี 2552 เอกชัย หงษ์กังวาน ผู้ชื่นชอบในนโยบายของทักษิณ ชินวัตร และประกาศตัวเป็นคนเสื้อแดง ถูกจับจากการขายแผ่นซีดีที่บรรจุรายงานข่าวสำนักข่าวต่างประเทศในการชุมนุมที่ท้องสนามหลวง หรือกรณีของ สุริยันต์ ผู้ถูกพิพากษาให้จำคุกหนึ่งปี 10 เดือนจากการโทรศัพท์ขู่วางระเบิด ขณะถูกจับตำรวจค้นเจอเสื้อยืดคอกลมแขนสั้นสีแดง มีปัก “ความจริงวันนี้” 1 ตัว เสื้อยืดสีชมพู ปัก “ไม่ต้องจ้างกูมาเอง” 1 ตัว
วันที่ 29 มีนาคม 2553 ยศวริศ หรือ “เจ๋ง ดอกจิก” ปราศรัยบนเวที นปช. ที่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน โดยตอนหนึ่งของการปราศรัยเขาพูดพร้อมทำท่าประกอบเอามือชี้ขึ้นฟ้า ศาลพิพากษาให้เจ๋งต้องรับโทษจำคุกสองปี ตามมาตรา 112
.
4. "คนเสื้อแดง" เป็นกำลังหลักรณรงค์แก้ไข/ยกเลิก มาตรา112
หลังความขัดแย้งทางการเมืองช่วงปี 2549-2554 "ยกระดับ" ไปถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในบางมุม และมาตรา 112 ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางโดยมีกลุ่มเป้าหมายที่ตกเป็นเหยื่อของมาตรานี้ คือ คนเสื้อแดง ก็เกิดเป็นข้อเรียกร้องให้แก้ไขมาตรา 112 โดยกลุ่มนักวิชาการด้านกฎหมายนำโดยวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ตั้งชื่อกลุ่มตัวเองว่า คณะนิติราษฎร์ ได้นำเสนอข้อเรียกร้องในการแก้ไขมาตรา 112 ครั้งแรกที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีคนที่พร้อมใจกันสวมเสื้อสีแดงไปเข้าฟังกันหลายร้อยคนจนล้นหอประชุม
ไอลอว์มีส่วนร่วมในกิจกรรมรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอข้อเรียกร้องแก้ไขมาตรา 112 สู่รัฐสภา ซึ่งในช่วงปี 2555 การเข้าชื่อเสนอกฎหมายต้องใช้ทั้งสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ไม่สามารถลงชื่อทางออนไลน์ได้ แต่ก็มีกลุ่มคนเสื้อแดงจากหลายจังหวัดโดยเฉพาะในภาคอีสาน เช่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ที่นำเอกสารไปรวบรวมรายชื่อจากในพื้นที่มาเป็นกล่องๆ พื้นที่ละหลายร้อยจนได้รายชื่อไม่น้อยกว่า 26,968 รายชื่อ และนำไปยื่นต่อรัฐสภาในวันที่ 30 พฤษภาคม 2555 โดยมีประชาชนหลายร้อยคนร่วมเดินขบวนขนกล่องรายชื่อจากหมุดคณะราษฎร ไปยังอาคารรัฐสภาหลังเก่า ซึ่งหลายคนพร้อมใจกันใส่เสื้อสีแดงมาโดยไม่ได้นัดหมาย
นอกจากความเคลื่อนไหวเพื่อเสนอแก้ไขมาตรา 112 แล้ว ยังมีคนเสื้อแดงอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข แต่ยืนยันว่าต้องเสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 เท่านั้น รวมตัวกันในนามเครือข่ายประชาธิปไตย หรือ คปต. ประกอบด้วยกลุ่มนักกิจกรรมกว่า 30 กลุ่ม เช่น กลุ่ม 24 มิถุนาฯ, สนนท., แดงสยาม, สมัชชาสังคมก้าวหน้า ฯลฯ นำโดยเยี่ยมยอด ศรีมันตะ, บริบูรณ์ เกรียงวรางกูร และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้ตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอยกเลิกมาตรา 112 ในการชุมนุมหลายๆ ครั้งโดยผู้เข้าร่วมการชุมนุมสวมเสื้อสีแดง แต่การรวบรวมรายชื่อครั้งนี้ไม่สำเร็จเพราะสมยศ ถูกจับกุมเสียก่อน และหลังจากนั้นก็มีการรัฐประหารทำให้สิทธิของประชาชนที่จะเสนอกฎหมายถูกยกเลิกไป
.
5. รัฐประหารคสช. กวาดเรียบเสื้อแดงก้าวหน้า
ในช่วงที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาล ยังไม่มีข้อเสนอแก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แม้แต่ข้อเสนอนิรโทษกรรมฉบับ “เหมาเข่ง” และนิรโทษกรรมอีกหลายฉบับที่เสนอเข้าสู่สภาในช่วงปี 2556 ก็ไม่มีฉบับใดที่รวมคดีมาตรา 112 ให้ได้รับการนิรโทษกรรมด้วย จึงชัดเจนว่า แม้คนเสื้อแดงและผู้สนับสนุนของพรรคเพื่อไทยจะตกเป็นเหยื่อของคดีมาตรา 112 แต่พรรคเพื่อไทยก็ไม่เคยใช้อำนาจนิติบัญญัติหาทางออกเรื่องนี้
จนกระทั่งเกิดการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. ที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2557 ก็ตามมาด้วยการใช้อำนาจพิเศษของทหารเข้า “กวาดล้าง” ขบวนการคนเสื้อแดงและไล่กวาดต้อนคนที่มีรายชื่อเป็นผู้ต้องสงสัยเกี่ยวกับข้อหามาตรา 112 โดยใช้การออกคำสั่งเรียกรายงานตัวกับคสช. และการส่งกำลังทหารไปตามจับที่บ้านโดยไม่ต้องมีหมายศาล ทำให้สถิติคดีมาตรา 112 ในช่วงหลังรัฐประหารพุ่งขึ้นอย่างทันควัน
จ่าประสิทธิ์ ไชยศรีษะ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.สุรินทร์ ถูกคสช.เรียกรายงานตัว เขาไปรายงานตัวและถูกแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 จากการปราศรัยที่ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว และถูกคุมขังยาวรวมสองปีหกเดือน
สมบัติ บุญงามอนงค์ อดีตแกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ผู้เคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหาร ผู้ริเริ่มการใช้สัญลักษณ์สามนิ้ว และผู้จัดการชุมนุมเรียกร้องความยุติธรรมให้คนเสื้อแดงที่เสียชีวิตหลายครั้ง เขาปฏิเสธไม่ไปรายงานตัวตามคำสั่งคสช. แต่ก็ถูกแกะรอยและถูกจับกุมตัวได้ ก่อนตั้งข้อหามาตรา 112 จากโพสเฟซบุ๊กของเขาก่อนหน้านั้น
ธานัท หรือ “ทอม ดันดี” นักร้องที่เคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดง เดินสายขึ้นเวทีปราศรัยและร้องเพลงบนเวทีคนเสื้อแดงหลายพื้นที่ ถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหามาตรา 112 รวมสี่คดี ได้แก่ คดีจากการจัดรายการบนยูทูปชื่อ “เรดการ์ดเรดิโอ” คดีจากการปราศรัยบนเวทีคนเสื้อแดงเมื่อปี 2556 คดีจากการปราศรัยที่จังหวัดราชบุรีเมื่อปี 2553 คดีจากการปราศรัยที่จังหวัดลำพูนเมื่อปี 2554 คดีของทอม ดันดี บางส่วนต้องขึ้นศาลทหารและเขารับสารภาพ เขาต้องถูกคุมขังนานกว่าห้าปี
สิรภพ ผู้ที่เคลื่อนไหวในฐานะกวีเสื้อแดงและบล็อกเกอร์ในนาม “รุ่งศิลา” ถูกเรียกรายงานตัวและถูกทหารจับกุมตัว ก่อนเอาตัวขึ้นศาลทหารตั้งข้อหามาตรา 112 จากบทกวีของเขา และถูกคุมขังนานกว่าสี่ปี จนกระทั่งคดีโอนกลับมาที่ศาลพลเรือน
นอกจากนี้ยังมีผู้ที่เคลื่อนไหวแสดงออกในอีกหลากหลายรูปแบบที่ถูกจับกุมตัวโดยอำนาจทหารภายใต้ยุคคสช. เช่น นักจัดรายการวิทยุชื่อคฑาวุธ หรือนักจัดรายการวิทยุที่ใช้นามแฝงว่าบรรพต ซึ่งต่างก็มีแฟนคลับเป็นกลุ่มคนเสื้อแดงที่ติดตามสถานการณ์โครงสร้างทางการเมือง หรืออีกคนหนึ่ง คือ เธียรสุธรรม ที่ใช้นามแฝงบนเฟซบุ๊กว่า “ใหญ่แดงเดือด” ก็ถูกจับกุมและถูกศาลทหารพิพากษาให้จำคุกถึง 50 ปี
หรืออีกกรณีคือคดีของ “ธเนศ” ผู้ป่วยทางจิตชาวเพชรบูรณ์ ที่ถูกศาลพิพากษาให้จำคุกสามปีแปดเดือน จากการส่งอีเมล์ไปหาชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นอีเมล์ที่ถูกดีเอสไอแฮคได้ ในเนื้อหาอีเมล์นั้นเขาร้องขอให้ช่วยเหลือคนเสื้อแดงที่ถูกสังหารโดยทหาร
นอกจากนี้ ยังมีการ “ยัด” ข้อหามาตรา 112 ใส่บุคคลสำคัญที่มีบทบาทกับคนเสื้อแดง ทำให้พวกเขาถูกคุมขังในเรือนจำเป็นเวลานานแต่สุดท้ายศาลก็พิพากษาว่าเขาไม่มีความผิด เช่น คดีมาตรา 112 ของณัฏฐธิดา หรือ “แหวน พยาบาลอาสา” พยานปากสำคัญที่เห็นเหตุการณ์การเสียชีวิตของผู้ชุมนุมเสื้อแดงในวัดปทุมวนาราม หรือคดีมาตรา 112 ของสุริยศักดิ์ อดีตแกนนำนปช. จังหวัดสุรินทร์
การกวาดล้างอย่างหนักของคสช. และการใช้กระบวนการพิจารณาคดีที่ทหารเป็นใหญ่ ใช้ทหารเป็นผู้ฟ้องและใช้ศาลทหารตัดสินคดี โดยไม่ให้จำเลยได้ประกันตัวหรือมีโอกาสต่อสู้คดี ทำให้ขบวนการของกลุ่มคนเสื้อแดงหรือประชาชนกลุ่มอิสระที่แสดงความคิดเห็นต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศไทยถูกทำลายลง จะเหลือก็เพียงผู้ลี้ภัยกลุ่มหนึ่งที่ตัดสินใจออกไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านและยังคงแสดงความคิดเห็นทางโลกออนไลน์อยู่ เช่น สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์, ลุงสนามหลวง, ดีเจซุนโฮ ซึ่งต่อมาทั้งหมดถูกอุ้มหายและไม่มีใครทราบชะตากรรมของพวกเขาอีกเลย ทำให้ขบวนการและการแสดงออกในยุคนั้นเงียบลงไป
.
6. ยุคคนรุ่นใหม่ชูสามนิ้ว ที่คนเสื้อแดงยังอยู่เคียงข้างกัน
เป็นเวลาหลายปีภายใต้การปกครองของรัฐบาลคสช. จากการรัฐประหาร เพดานในการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกกดต่ำลงด้วยบรรยากาศความกลัว และการบังคับใช้มาตรา 112 อย่างเข้มงวด จนกระทั่งเข้าสู่ยุคสมัยของรัชกาลที่ 10 มีช่วงเวลาระหว่างปี 2561-2563 ที่มาตรา 112 ไม่ถูกบังคับใช้เลย
ต่อมาเมื่อมีการชุมนุมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในชื่อ "กลุ่มราษฎร" หรือใช้ชื่อกลุ่มต่างๆ หลากหลาย โดยมีจุดร่วมคือการใช้สัญลักษณ์การ "ชูสามนิ้ว" เพื่อต่อต้านรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยคนกลุ่มคนเสื้อแดงหรือคนที่เคยเข้าร่วมการชุมนุมกับคนเสื้อแดงช่วงปี 2551-2555 ก็เข้าร่วมด้วย บางส่วนนำเสื้อสีแดงกลับมาใส่ชัดเจน ทำให้พลเอกประยุทธ์ ประกาศให้กลับมาบังคับใช้มาตรา 112 ต่อผู้ชุมนุมอีกระลอกหนึ่ง เป็นระลอกที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา
ในยุคสมัยที่แกนนำการเคลื่อนไหวเป็นคนรุ่นใหม่ที่อายุยังไม่มาก พวกเขา "โตไม่ทัน" ยุคที่ขบวนการคนเสื้อแดงรุ่งเรืองทำให้ผู้ที่มีบทบาทในการชุมนุมและถูกดำเนินคดีมาตรา 112 หลายคนไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเป็นคนที่อยู่ในขบวนการเสื้อแดงโดยตรง แต่สำหรับคนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในยุคนี้ที่มีอายุเกิน 35 ปีขึ้นไปก็จะมีประสบการณ์การมีส่วนร่วมกับขบวนการคนเสื้อแดงในช่วงปี 2551-2555 ไม่มากก็น้อยในบทบาที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น
อานนท์ นำภา อดีตทนายความที่รับช่วยเหลือคดีของคนเสื้อแดงที่ถูกสลายการชุมนุมในปี 2552-2556 และทนายความของจำเลยคดีมาตรา 112 ที่กล่าวมาข้างต้นหลายคดี กลายเป็นผู้นำในการปราศรัยที่นำเสนอข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และถูกดำเนินคดีมาตรา 112 รวมถึง 14 คดี
สมบัติ ทองย้อย อดีตการ์ดเสื้อแดงที่เข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มราษฎรโดยช่วยเหลือในการทำหน้าที่การ์ดด้วย เขาเป็นที่รู้จักจากการแต่งชุดการ์ดคล้ายทหารด้วยมาดขึงขัง เขาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการโพสเฟซบุ๊กและถูกพิพากษาให้จำคุกหกปี
ทิวากร ชาวจังหวัดขอนแก่น ผู้นิยามว่าตัวเองเป็นอดีตคนเสื้อแดง เคยร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ที่สนามหลวง ติดตามการปราศรัยของแกนนำอย่าง สุรชัย แซ่ด่าน, จักรภพ เพ็ญแข รวมถึงสมบัติ บุญงามอนงค์ เขาใส่เสื้อ “หมดศรัทธา…” และถูกจับกุมดำเนินคดีก่อนถูกศาลพิพากษาให้จำคุกหกปี
ชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบรท์ อดีตผู้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับคนเสื้อแดงสมัยเป็นเยาวชน เขารู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับทักษิณและครอบครัวอย่างมากจนไปเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น “ชินวัตร” จนกระทั่งเขาเข้าร่วมการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์และถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ถึงเก้าคดี แม้เขาจะรับสารภาพทั้งหมด แต่โทษจำคุกของเขารวมก็เกิน 15 ปีแล้ว
อาเล็ก หรือโชคดี ร่มพฤกษ์ ศิลปินอดีตนักร้องสังกัดค่ายดังที่ลาออกมาเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยเจ้าของเพลง “คนใต้เสื้อแดง” เคยเป็นกรรมการ นปช. เป็นฝ่ายดูแลศิลปินเพลง โดยได้รับเลือกเป็นประธาน ‘ศิลปินเพลงไพร่’ และยังร่วมทำรายการทีวีสังกัดช่อง Peace TV ต่อมาเขาแต่งและร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” ซึ่งทำให้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 สองคดี
เงินตา คำแสน หรือมานี ชาวจังหวัดยโสธรวัย 44 ปี เธอนิยามตัวเองว่า เป็นคนเสื้อแดงและเข้าร่วมการชุมนุมที่ราชประสงค์ในช่วงปี 2553 ซึ่งในปี 2565 ก็ได้เข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้และถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ตามมา
ท่ามกลางการกลับมาของมาตรา 112 ระลอกใหม่ และข้อเรียกร้องของกลุ่มราษฎรให้ยกเลิกมาตรา 112 มีการจัดกิจกรรมชุมนุมหลายครั้งในช่วงปี 2564 เพื่อเสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 ที่บริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งผู้เข้าร่วมการชุมนุมจำนวนไม่น้อยก็ยังคงแต่งกายด้วยชุดสีแดงเข้าร่วมการชุมนุมเช่นที่เคยเป็นมา

https://www.facebook.com/photo/?fbid=1074579131382372&set=a.625664036273886