วันพุธ, กุมภาพันธ์ 19, 2568

"จ่ายเงินสมทบไม่เคยขาด แต่สวัสดิการที่ได้รับไม่สมเหตุสมผล" : รวมข้อสังเกตปัญหากองทุนประกันสังคม


บีบีซีไทย - BBC Thai
7 hours ago
·
"จ่ายเงินสมทบไม่เคยขาด แต่สวัสดิการที่ได้รับไม่สมเหตุสมผล" ความเห็นหนึ่งของผู้มีสิทธิประกันสังคม ระบุหลัง สส. ฝ่ายค้าน ออกมาเปิดเผยถึงการใช้งบประมาณไม่เหมาะสมของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ซึ่งดูแลกองทุนนี้
.
กองทุนประกันสังคมที่มีสมาชิกกว่า 24 ล้านคน กำลังเผชิญกับปัญหาอะไรอยู่บ้าง
.....

ใช้งบไม่เหมาะสม-สิทธิรักษาน้อย-เสี่ยงล้มละลาย: รวมข้อสังเกตปัญหากองทุนประกันสังคม

นงนภัส พัฒน์แช่ม
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
เมื่อ 7 ชั่วโมงที่แล้ว

การใช้งบประมาณของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กลายเป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถาม หลังจาก น.ส.รักชนก ศรีนอก สส. กรุงเทพมหานคร พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะโฆษกกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เมื่อ 16 ก.พ. ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมและคุ้มค่าของการใช้งบประมาณในหลายประเด็น ซึ่งเป็นการสรุปประเด็นจากกิจกรรมของ กมธ. ที่ชื่อว่า "Hackathon งบประกันสังคม"

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ "ประกันสังคม" ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ก่อนหน้านี้สิทธิประกันสังคมถูกตั้งคำถามมาโดยตลอด ทั้งเรื่องของสิทธิการรักษาพยาบาล ที่มีข้อจำกัดมากกว่ากลุ่มผู้มีสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน รวมถึงความมั่นคงของกองทุนในอนาคตที่อาจได้รับผลกระทบจากสังคมผู้สูงอายุ จนเคยมีการประเมินว่าเงินกองทุนจะหมดในอีก 20 ปี หากไม่มีการปรับเปลี่ยนระบบ

กองทุนที่มีสมาชิกกว่า 24 ล้านคนกองทุนนี้ กำลังเผชิญกับปัญหาอะไรอยู่บ้าง บีบีซีไทย รวบรวมไว้ในรายงานชิ้นนี้

1. ใช้งบประมาณไม่เหมาะสม



การใช้งบประมาณของสำนักงานประกันสังคมที่ น.ส.รักชนก ศรีนอก สส. พรรคประชาชน โพสต์ตั้งคำถามผ่านทางเฟซบุ๊ก มีดังนี้
  • ทริปดูงานต่างประเทศ งบประมาณ 2.2 ล้านบาท ที่มี 2 คนจาก 10 ผู้ร่วมเดินทาง เบิกค่าบัตรโดยสารชั้นเฟิร์สต์คลาส เบิกค่าที่พักระดับ 5 ดาว
  • รายจ่ายประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นทุกปี จาก 4,000 ล้านบาท ในปี 2563 เป็น 6,614 ล้านบาท ในปี 2566 โดยพบว่าในช่วงปี 2563-2564 มีงบยุทธศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด จาก 965 ล้านบาท เป็น 2,000 ล้านบาท
  • งบประมาณสายด่วน 1506 ที่ระบุว่ามีค่าใช้จ่ายหลัก 100 ล้านบาทในทุกปี โดยเป็นค่าเช่าสถานที่ 50 ล้านบาท แต่การติดต่อสายด่วนกลับต้องใช้เวลาติดต่อนาน
  • งบอบรมสัมมนา ที่อบรมหัวข้อเดิมกับคนกลุ่มเดิมหลายปี ซึ่งบางโครงการซ้ำซ้อนและถูกตั้งคำถามถึงความจำเป็น รวมถึงวิธีการวัดผลสัมฤทธิ์
  • งบประชาสัมพันธ์ 336 ล้านบาท ในปี 2567 ซึ่งมีการเบิกจ่ายพอ ๆ กันทุกปี แต่การประชาสัมพันธ์เข้าไม่ถึงคน กทม. และเข้าใจยากสำหรับคนรุ่นใหม่
  • งบจัดทำปฏิทินประกันสังคม ปีละ 50 – 70 ล้านบาท ช่วงปี 2559 – 2567 โดยใช้วิธีอื่น ๆ ในการจัดซื้อจัดจ้าง มากกว่าใช้วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding)
  • งบโครงการพัฒนาแอปพลิเคชัน SSO+ 276 ล้านบาทที่ข้อมูลจาก ACTAI พบว่าการจัดซื้อจัดจ้างมีความผิดปกติในการเสนอราคา ขณะที่ผู้ใช้บริการให้คะแนนเพียง 1.5
ทั้งนี้ ในการจัดทำปฏิทินของสำนักงานประกันสังคม สำนักข่าวเดอะ โมเมนตัม รายงานในเวลาต่อมาว่า โดยปกติแล้วเส้นทางของปฏิทินเมื่อถูกผลิตเสร็จสิ้น จะถูกส่งต่อไปยังสภาแรงงาน เพื่อรับผิดชอบในการแจกจ่ายให้กับผู้ประกันตนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ภาคประชาชนกลับพบว่า ปฏิทินของสำนักงานประกันสังคมจำนวนหนึ่งถูกประกาศขายบนแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ในหลากหลายราคา

ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก "ประกันสังคมก้าวหน้า" เปิดเผยผลเบิกจ่ายเงินกองทุนเพื่อบริหารงานสำนักงานประกันสังคม ย้อนหลัง 5 ปี พบว่ามีการเบิกจ่ายงบประมาณในแต่ละปีอยู่ที่ 3,954 – 6,614 ล้านบาท ในแต่ละปี โดยข้อมูลปี 2567 พบว่า ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 5,303 ล้านบาท แต่เบิกจ่ายไปทั้งสิ้น 4,181 ล้านบาท

โดยส่วนที่มีการเบิกจ่ายไปมากที่สุดคืองบประมาณแผนงานยุทธศาสตร์ (1,982 ล้านบาท) ซึ่งครอบคลุมงบโครงการต่าง ๆ ได้แก่ รายการที่ดิน อาคาร สิ่งก่อสร้าง ค่าพัฒนาและปรับปรุงระบบสารสนเทศ รวมถึงรายการอื่น ๆ เช่น งบจ้างพิมพ์ปฏิทินประกันสังคมประจำปี 2568 ที่ถูกระบุอยู่ในงบประมาณส่วนนี้ด้วย

ด้านนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ชี้แจงเมื่อ 17 ก.พ. ยืนยันว่ากรณีนี้ไม่กระทบต่อผู้ประกันตน เพราะการใช้งบประมาณทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นผลตอบแทนตามที่ สปส. ได้มาเพื่อใช้จ่ายตามระเบียบ

ในเวลาต่อมา เพจเฟซบุ๊กของสำนักงานประกันสังคม ได้โพสต์คำชี้แจงของนางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่ระบุในเชิงหลักการว่า การจัดทำคำของบประมาณประจำปีของ สปส. ต้องสอดคล้องกับแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (2566-2570) ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประกันสังคมหรือบอร์ดประกันสังคม และต้องเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม รวมถึงหลักเกณฑ์การจัดทำคำของบประมาณประจำปี

นางมารศรี ใจรังศรี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม นำแถลงผลการดำเนินงานของสำนักงานประกันสังคม ประจำปี 2567

คำชี้แจงระบุต่อไปว่า วงเงินงบประมาณค่าใช้จ่ายในการบริหารงานที่ สปส. ได้รับการจัดสรรในแต่ละปี เป็นไปตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. 2533 คือ ไม่เกิน 10% ของเงินสมทบประจำปี ซึ่งที่ผ่านมา สปส. ได้รับการจัดสรรค่าใช้จ่ายในการบริหารงานปีละไม่เกิน 3% โดยการจัดสรรเงินงบประมาณผ่านการกลั่นกรอง หลายขั้นตอน ผ่านคณะทำงาน และอนุกรรมการหลายชั้น ก่อนเสนอบอร์ดประกันสังคมอนุมัติ

เลขาธิการ สปส. ยืนยันว่า อัตราค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการจัดทำคำของบประมาณอ้างอิงจากอัตราของกระทรวงการคลัง และระเบียบของกระทรวงการคลังที่เกี่ยวข้อง ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างก็ดำเนินการตาม พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

โพสต์ดังกล่าวมีผู้แสดงความคิดเห็นกว่า 600 ราย โดยมีจำนวนมากที่เข้ามาสะท้อนปัญหา อาทิ โทรหาสายด่วนแล้วไม่มีคนรับสาย ข้อมูลในแอปพลิเคชันไม่อัปเดต หลายความคิดเห็นยังถามหาปฏิทิน ตั้งคำถามเรื่องการซื้อตั๋วโดยสารระดับเฟิร์สต์คลาสไปดูงาน บางความเห็นระบุว่าอยากจะขอคืนเงินที่ส่งสมทบไป มีความคิดเห็นหนึ่งที่ระบุว่า "จ่ายเงินสมทบไม่เคยขาด แต่สวัสดิการที่ได้รับไม่สมเหตุสมผลเลย"

ขณะที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์เมื่อ 18 ก.พ. ตอบโต้ข้อกรณี สปส. นั่งเฟิร์สต์คลาสไปดูงานระบุว่า การไปดูงานมีหลักปฏิบัติของแต่ละกระทรวงอยู่แล้ว ซึ่งหากเป็นเจ้ากระทรวงระดับรัฐมนตรีว่าการ และสำนักปลัดกระทรวงก็จะเป็นที่นั่งระดับ เฟิร์สต์คลาสให้อยู่แล้ว ส่วนงบจัดทำปฏิทินปีละ 50 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่เหมาะสม เพราะเกษตรกร 12 ล้านคน อยู่ในพื้นที่ชุมชนชนบท การที่จะสื่อสารผ่านโซเชียลบางครั้งอาจจะไม่ได้ จึงต้องอำนวยความสะดวกในการประชาสัมพันธ์ทางปฏิทิน

ส่วนประเด็นสายด่วนประกันสังคมที่ถูกร้องเรียนว่าโทรศัพท์ไปไม่เคยมีคนรับนั้น นายพิพัฒน์ มองว่าอาจจะเป็นสายซ้อน ซึ่งเป็นปกติของศูนย์คอลเซ็นเตอร์ที่เป็นศูนย์รวมเป็นลักษณะเดียวกันจะมีช่วงเวลาที่สายแน่นมาก อาจทำให้ไม่สามารถโทรศัพท์เข้าไปแล้วรับเลยได้ โดยผู้ประกันตนมีทั้งหมดประมาณ 25 ล้านคน ในขณะที่ผู้ให้บริการสายด่วน 300 คู่สาย การโทรไปแล้วรับทันทีถือว่าโชคดีมาก


ประชาชนรอเข้ารับการรักษาพยาบาลภายในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.ปทุมธานี

ด้าน รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตน คณะกรรมการประกันสังคม ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยโดยมองว่าแม้งบประมาณค่าใช้จ่ายในการบริหารงานที่ สปส. ได้รับจัดสรร จะเป็นเพียง 3% ของเงินสมทบประจำปี ซึ่งเท่ากับประมาณ 5,000 ล้านบาท จากเงินกองทุนทั้งหมดราว 200,000 ล้านบาท แต่จะบอกว่าไม่เกี่ยวพันกับผู้ประกันตนเลยคงไม่ได้ เพราะงบประมาณส่วนที่เหลือจากงบบริหารจัดการ โดยปกติแล้วจะถูกนำไปใช้เพื่อการลงทุนตามสัดส่วนต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าของกองทุน

"ในแง่ตัวเลขมันอาจไม่ได้เป็นภาพที่กระทบโดยตรงขนาดนั้น แต่ถ้าจะกล่าวว่ามันไม่เกี่ยวพันเลยก็ไม่ใช่ งบประมาณของประกันสังคม เวลาที่คุณได้มา พอคุณจ่ายสิทธิประโยชน์หมดแล้ว คุณก็จะเก็บไว้เป็นงบบริหารจัดการ แล้วส่วนที่เหลือที่ยังไม่จ่าย คุณจะเอาไว้เป็นงบประมาณด้านการลงทุนตามสัดส่วนต่าง ๆ" รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว

"เงิน 100 ล้านเวลาผ่านไป 20 ปี มันจะมีค่าประมาณ 3.4 เท่า นั่นหมายความว่าการเซฟ [ประหยัด] เงิน 1 บาท จากงบประมาณการบริหารจัดการ จะมีค่าประมาณ 3.4 เท่าในอีก 20 ปีข้างหน้า เพราะฉะนั้นมันมันมีความเกี่ยวพันกันอยู่" เขาระบุ

สอดคล้องกับ ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า แม้ สปส. จะบอกว่าใช้งบบริหารจัดการตามระเบียบ แต่เธอก็ตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณในบางโครงการ

"เขาเคยซื้อตึกนะคะ ราคาเป็นร้อยล้านบาท เพื่อเก็บกระดาษเอกสารหลักฐานที่เมื่อก่อนเราเคยส่งเวลาเราไปยื่นเรื่องกับเขา... เขาไปดูงานบ่อยมากทุกปี ถ้ารวมตั้งแต่ตั้งประกันสังคมมาไม่รู้เท่าไหร่แล้ว แล้วก็ไปซ้ำ ๆ ประเทศ ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย" ดร.วรวรรณ กล่าวกับบีบีซีไทย

"ประสิทธิภาพของการดูงานคืออะไร ตรงนี้เราก็ไม่เคยรู้ว่าคุ้มค่าการไปดูงานรึเปล่า ถ้าเกิดว่าการดูงานนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการที่ไปดูแล้วเอามาพัฒนาระบบ เห็นชัดเจน อย่างนี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่ว่าก็จะเป็นกลุ่มผู้บริหาร ที่เราไม่แน่ใจเลยว่าดูงานตลอดที่ผ่านมาแล้วกลับมาทำงานแบบเดิมเนี่ยมันมีประโยชน์ไหม" เธอตั้งคำถาม

ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคมจากทีดีอาร์ไอระบุด้วยว่า สปส. ใช้เงินในการบริหารจัดการที่มากกว่าสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กับ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ใช้รวมกันเสียอีก ซึ่งเมื่อรวมงบประมาณในการบริหารจัดการแต่ละปีของ สปส. ที่เสียไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ อาจถึงหลักหลายหมื่นล้าน

"กบข. บริหารจัดการบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แล้วเขาใช้เงินประมาณปีละ 1,600 ล้านบาท แล้ว สปสช. บริหารจัดการสวัสดิการรักษาพยาบาลของคนจำนวนมหาศาลกว่า 50 ล้านคน เขาใช้เงินประมาณ 2,000 กว่าล้านบาทหน่อย ๆ สองหน่วยงานนี้บวกกันคือ 3,000 กว่าล้านบาท ยังไม่เท่าประกันสังคมเลย" ดร.วรวรรณ ระบุ

เธอมองว่า สปส. ควรจะมีเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ในการใช้งบบริหารจัดการที่ไม่ควรเกินจากจำนวนงบประมาณในส่วนเดียวกันของ สปสช. และ กบข. รวมกัน คือไม่ควรเกิน 3,000 กว่าล้านบาท ซึ่งส่วนต่างงบประมาณที่เหลือ แม้จะไม่ใช่เงินจำนวนมากเมื่อเทียบกับเงินทั้งหมดของกองทุน แต่เมื่อสะสมรวมกันหลายปีก็สามารถเอาไปช่วยยืดอายุของกองทุนประกันสังคมที่มีความเสี่ยงจะล้มในอีก 20 ปี หรือเพิ่มสวัสดิการให้กับผู้ประกันตนได้บ้าง ซึ่งแม้อาจจะช่วยไม่ได้มาก แต่ก็ดีกว่าที่เงินหายไปเฉย ๆ

2. สิทธิการรักษาที่ต้องจ่ายเงินสมทบเอง แต่ไม่ครอบคลุมเท่าบัตรทอง

กองทุนประกันสังคม ให้สิทธิกับผู้ประกันตนในหลายกรณี อาทิ ค่าใช้จ่ายกรณีทุพพลภาพหรือเสียชีวิต เงินคลอดบุตร เงินสงเคราะห์คลอดบุตร เงินบำนาญชราภาพ รวมถึงเงินทดแทนรายได้ระหว่างการว่างงาน

อย่างไรก็ตาม อีกสิทธิหนึ่งของประกันสังคม คือสิทธิรักษาพยาบาล มักถูกนำไปเปรียบเทียบกับสิทธิของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทองอยู่เสมอ เพราะเป็นสิทธิที่ไม่ต้องส่งเงินสมทบ แต่กลับดูเหมือนจะครอบคลุมการรักษาพยาบาลมากกว่า และมีข้อจำกัดด้านสถานที่น้อยกว่า

ปัจจุบัน ผู้ประกันตนที่ใช้สิทธิประกันสังคมตามมาตรา 33 และ 39 จะใช้สิทธิรักษาได้เฉพาะในโรงพยาบาลที่ตัวเองมีสิทธิ แต่สิทธิการรักษาของบัตรทองมีความพยายามจะพัฒนาให้สามารถยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชนใบเดียว และใช้รับการรักษาได้ทุกโรงพยาบาลของรัฐ นอกจากนี้ หากเจ็บป่วยเล็กน้อย ยังสามารถไปคลินิกที่ขึ้นทะเบียน หรือรับยากับร้านยาที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้

ส่วนสิทธิในการทำฟัน ผู้มีสิทธิ์ประกันสังคมสามารถ
  • ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน และผ่าตัดฟันคุด เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 900 บาทต่อปีปฏิทิน โดยกรณีเข้ารับบริการทางการแพทย์ในสถานพยาบาลที่ทำความตกลงกับ สปส. ไม่ต้องสำรองจ่าย อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติแล้ว จำนวนเงินดังกล่าวมักจะเพียงพอแค่ค่าใช้จ่ายในการขูดหินปูนเท่านั้น ส่วนที่เหลือผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินเพิ่ม
  • ใส่ฟันเทียม เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,300 – 4,400 บาท แล้วแต่ชนิดของฟันเทียม โดยเบิกได้ภายในระยะเวลา 5 ปี นับแต่วันที่ใส่ฟันเทีย
ขณะที่ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง สามารถทำฟันได้ปีละ 3 ครั้ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งรายการทำฟันครอบคลุมทั้งการขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน เคลือบหลุมร่องฟัน รวมถึงเคลือบฟลูออไรด์ เพียงนำบัตรประชาชน ไปรับบริการที่คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่นใกล้บ้าน


ร้านยาที่มีสัญลักษณ์ "30 บาท รักษาทุกที่" ที่เข้าร่วมโครงการกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

แม้ว่าการดำเนินงานของ สปสช. ที่ดูแลกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังพบปัญหาในทางปฏิบัติอยู่บ้าง แต่ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ มองว่า สิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลหลายอย่าง ยังล้ำหน้ากว่าประกันสังคม

"ประกันสังคมเกิดขึ้นมาก่อน แต่ว่าตัวบัตรทองนี่มาทีหลัง แล้วก็บัตรทองมีแรงจูงใจทางการเมืองที่ ที่เยอะกว่าในการพัฒนา" เขาสะท้อน "ฐานความคิดการพัฒนาบัตรทองกับประกันสังคมก็ต่างกัน ประกันสังคมนี่เราคิดผ่านมุมมองของการเป็นกองทุน การเป็นกระบวนการอะไรต่าง ๆ ที่ ณ ตอนนั้นผู้ใช้เป็นคนที่อยู่ในวัยทำงานที่ไม่ได้เจ็บป่วยมาก"

"แนวคิดของประกันสังคมเป็นการเหมาจ่ายให้โรงพยาบาลคู่สัญญา เราไม่ได้มี Body [หน่วย] ในการจัดการเรื่องพวกนี้เองเหมือนกับ สปสช. เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่า เวลาผ่านไป ประกันสังคมก็จะมีหลายสิทธิประโยชน์ที่ตามหลัง สปสช." รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ระบุ


ประชาชนที่มีสิทธิบัตรทอง รับยารักษาที่ร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการกับ สปสช.

รายงานวิเคราะห์ "แนวทางการจ่ายค่าบริการสาธารณสุขของ 3 กองทุน: หลักคิด ปัญหา และข้อพิจารณาที่สำคัญ" ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่จัดทำขึ้นในปี 2564 โดยมีหน่วยงานเจ้าของโครงการ คือ กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ (กศภ.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เคยเปรียบเทียบการบริการทางสาธารณสุขของกองทุนประกันสังคม กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ

รายงานดังกล่าวพบว่านับตั้งแต่ปี 2552 -2560 งบประมาณค่ารักษาพยาบาลของทั้ง 3 กองทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นสวัสดิการข้าราชการที่มีการปรับลดลงบ้างในช่วงปีหลัง ๆ โดยหากพิจารณาเป็นงบประมาณรายหัว จะพบว่าสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมีงบเฉลี่ยต่อหัวคิดเป็น 4.29 เท่าของงบค่าหัวของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (งบรวม) และคิดเป็น 3.53 เท่าของงบเฉลี่ยต่อหัวของกองทุนประกันสังคม (ซึ่งคิดรวม 4 กรณีคือ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และตายด้วย)

อย่างไรก็ตาม กองทุนประกันสังคมเก็บเงินสมทบใน 4 กรณีโดยคิดจากเพดานค่าจ้างที่ไม่เคยปรับขึ้นเลยจากเมื่อ 30 ปีก่อน ทำให้รายรับจากเงินสมทบต่อหัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่ารายจ่ายต่อหัวมาก ซึ่งถ้าไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ กองทุนประกันสังคมมีความเสี่ยงที่จะมีรายรับไม่เพียงพอที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้สถานพยาบาลในระดับที่จะรักษาคุณภาพของบริการในระยะยาว

รายงานฉบับนี้ยังเสนอแนะให้มีการบูรณาการระบบประกันสุขภาพทั้งระบบ ปรับให้การเบิกจ่ายของทั้ง 3 กองทุนเป็นกลไกเดียวกัน โดยอ้างอิงพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่มีเจตนารมณ์ให้มีการควบรวมกองทุนสวัสดิการด้านสุขภาพสู่ระบบผู้จ่ายรายเดียวกลไกจ่ายเดียว (Single-Payer Single-Payment Mechanism) โดยกำหนดบทเฉพาะกาลในมาตรา 66 ให้สำนักงานประกันสังคมและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดำเนินการตกลงกันในประเด็นนี้และขยายระยะเวลาการเจรจาได้ครั้งละ 1 ปี แต่ในการปฏิบัติจริงแต่ละฝ่ายก็ไม่ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจังมากนัก

ในรายงานยังระบุอีกว่า การที่ทั้ง 3 กองทุน มีระบบเบิกจ่ายที่แยกจากกันทำให้เกิดความซับซ้อนในกระบวนการเบิกจ่าย ซึ่งจากการสัมภาษณ์สถานพยาบาลหลายแห่ง พบว่าการเบิกจ่ายตามระบบประกันสังคมทำได้ลำบาก เนื่องจากเว็บไซต์ที่ใช้ตรวจสอบสิทธิผู้ป่วยให้ข้อมูลที่ไม่เป็นปัจจุบัน รวมถึงระบบไม่ได้แสดงข้อมูลสิทธิอย่างละเอียด มีการกำหนดเงื่อนไขที่ซับซ้อน ส่งผลให้ผู้ป่วยบางคนอาจจะไม่มีสิทธิรักษาบางอย่าง รวมถึงการติดต่อสอบถามกับสำนักงานประกันสังคมต้องรอในเวลาราชการ ซึ่งมีปัญหามากสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน

ในขณะที่กรณีของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สถานพยาบาลสามารถตรวจสอบสิทธิผ่านบัตรประจำตัวประชาชนและดำเนินการเบิกจ่ายผ่านระบบ E-Claim ได้เกือบทุกกรณี

ส่วนกรณี สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ สถานพยาบาลสามารถตรวจสอบสิทธิผ่านบัตรประจำตัว ประชาชนและดำเนินการเบิกจ่ายผ่านระบบจ่ายตรงได้เกือบทุกกรณี

รายงานฉบับนี้จึงสรุปผลว่า ทั้ง 3 กองทุนควรบูรณาการฐานข้อมูลให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยอาจเลือกใช้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นตัวตั้ง เนื่องจากสถานพยาบาลหลายแห่งให้การยอมรับว่า เป็นระบบที่เป็นปัจจุบันและให้ข้อมูลที่ถูกต้องมากที่สุด ควรลดการตรวจผ่านเอกสารกระดาษ และใช้โปรแกรม E-Claim เป็นหลัก

รายงานยังเสนอแนะไปยังกองทุนประกันสังคมว่า จำเป็นต้องขยายเพดานค่าจ้างเงินสมทบเพื่อความมั่นคงทางการเงิน เพราะเป็นกองทุนเดียวใน 3 กองทุนสวัสดิการสุขภาพหลักที่รายได้ส่วนใหญ่มาจากการร่วมจ่ายของผู้รับสิทธิประโยชน์ ทำให้กองทุนมีความท้าทายเรื่องความมั่นคงทางการเงินสูงกว่าอีก 2 กองทุน



3. สถาะนะกองทุนไม่มีความมั่นคงในอนาคต

เมื่อ 21 ม.ค. คณะกรรมการประกันสังคม (ชุดที่ 14) เพิ่งเห็นชอบหลักการของร่างกฎกระทรวงกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและขั้นสูงที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบกองทุนประกันสังคม

การปรับปรุงเพดานค่าจ้างเพื่อคำนวณเงินสมทบประกันสังคมแบบใหม่ดังกล่าวจะเป็นรูปแบบบันได 3 ขั้น จากเพดานค่าจ้างสูงสุดเดิม 15,000 บาท เป็น 17,500 บาทในปี 2569-2571 จากนั้นปรับเป็น 20,000 บาทในปี 2572-2574 และสูงสุด 23,000 บาท ตั้งแต่ปี 2575 เป็นต้นไป

โดยตามกระบวนการหลังจากคณะกรรมการประกันสังคมเห็นชอบจะต้องส่งกฎกระทรวงเข้าคณะกรรมการกฎหมายของกระทรวงแรงงาน ก่อนนำเสนอต่อ รมว. แรงงานพิจารณา และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่ง นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน คาดว่า กระบวนการทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายใน 4-5 เดือนนี้ และจะเริ่มดำเนินการในปี 2569

ในมุมของ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ มองว่าการเพิ่มเพดานค่าจ้างเพื่อคำนวณเงินสมทบแบบใหม่นี้ ไม่ได้ช่วยเพิ่มความมั่นคงให้กับกองทุนประกันสังคมมากนัก เพราะเก็บเงินเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ก็ให้สวัสดิการเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนเงินที่เก็บด้วย

บอร์ดประกันสังคมผู้นี้บอกกับบีบีซีไทยอีกว่า การบริหารจัดการภายในสำนักงานประกันสังคม หากไม่มีการนำมาเปิดเผยแจกแจงอย่างโปร่งใส อาจทำให้สูญเสียความเชื่อมั่นจากผู้ประกันตน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการจัดการเงินสมทบและสิทธิประโยชน์

"การปรับฐานปรับเพื่อให้สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนเพิ่มขึ้น เพราะเราไม่ได้ปรับมา 30 กว่าปี กระบวนการตัวนี้อยู่ในการร่างกฎหมายชั้นรองที่เกี่ยวข้อง" รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ระบุ "อันนี้เป็นส่วนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องตัวเลขและเรื่องเงินขาเข้าขาออก แต่ว่าแน่นอนถ้าสำนักงาน [ประกันสังคม] ไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูลที่โปร่งใสอะไรต่าง ๆ ผมคิดว่าตรงนี้ก็จะเป็นปัญหาให้เกิดขึ้นได้"

รายงานของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ เคยประเมินว่า หากไม่มีการปรับเปลี่ยนระบบ เงินกองทุนประกันสังคมจะหมดลงในช่วงประมาณปี 2588 หรือในอีก 20 ปีนับจากนี้ ซึ่งเมื่อเวลานั้นมาถึง รัฐจะต้องเลือกระหว่างการลดสิทธิประโยชน์หรือขึ้นอัตราสมทบ เพื่อทำให้รายได้เพียงพอกับรายจ่าย

หากเงินกองทุนประกันสังคมหมดลง นั่นหมายความว่าผู้ประกันตนที่กำลังทำงานส่งเงินสมทบประกันสังคมในตอนนี้อาจไม่ได้รับเงินบำนาญชราภาพ หากเข้าเกณฑ์ในอีก 20 ปีข้างหน้า

"ตามกฎหมายก็เขียนเอาไว้ว่า ถ้ามีปัญหา ก็ให้รัฐบาลช่วยตามความเหมาะสม แค่นั้นเองจบ กฎหมายเขียนไว้แค่นั้น เพราะฉะนั้นในแง่ตามความเหมาะสม จากการคำนวณในช่วงที่เงินไม่พอจ่าย ในแต่ละปีจะเป็นหลักประมาณ 4-5 แสนล้านบาทต่อปี" ดร.วรวรรณ ระบุ "คุณคิดว่ารัฐจะหาเงินจากไหน 4.5 แสนล้านต่อปี ตอนนี้หาหมื่นล้านยังหาไม่ได้"

ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า เคยมีการศึกษาว่าหากจะทำให้เงินกองทุนประกันสังคมเพียงพอกับการจ่ายเงินบำนาญชราภาพได้อย่างยั่งยืน จะต้องเพิ่มเปอร์เซ็นต์เงินสมทบที่เรียกเก็บจากฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว แต่การแก้ปัญหาจะพึ่งพาแต่การเพิ่มเงินสมทบเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำหลายเรื่องประกอบกัน รวมถึงการประหยัดเงินที่ใช้บริหารจัดการภายใน

"กรณีที่ปรับอัตราเงินสมทบจาก 6% นายจ้างลูกจ้างฝ่ายละครึ่ง เป็น 15% นายจ้างลูกจ้างฝ่ายละครึ่ง ถึงจะเพียงพอที่จะจ่ายบำนาญ ถึงจะเพียงพอที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวได้" ดร.วรวรรณ กล่าว

"แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า ถ้าเกิดใช้เงินในการบริหารจัดการแบบหนักมากจนถึง 10% (สัดส่วนเต็มที่กฎหมายอนุญาตให้ใช้เป็นงบประมาณค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของสำนักงานประกันสังคม) คิดว่าปรับไปเป็น 15% แล้ว ก็น่าจะเอาไม่อยู่"

https://www.bbc.com/thai/articles/cd0n5zxnmn8o