วันจันทร์, พฤศจิกายน 18, 2567

สส.เพื่อไทย-ประชาชน วิเคราะห์ “จุดเปลี่ยน” ทักษิณ เลิกเล่นการเมืองหลังม่าน

จากเคยเป็น “”อดีตผู้นำรัฐบาลพรรคเดียว 377 เสียง ทักษิณ ชินวัตร เป็นได้เพียง “ผู้ช่วยหาเสียงของพรรคเพื่อไทย” ที่มีบุตรสาวเป็นหัวหน้าพรรค

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
17 พฤศจิกายน 2024

2 วัน 3 เวทีใน จ.อุดรธานี ทักษิณ ชินวัตร ทิ้ง วรรคทอง ไว้มากมายระหว่างเปิดปราศรัยครั้งแรกในรอบ 18 ปี นับจากเดินทางกลับประเทศไทยเมื่อปีก่อน

หนึ่งในคำสำคัญที่หลุดจากปากคำของอดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นบิดาของนายกฯ คนปัจจุบัน แพทองธาร ชินวัตร คือคำยืนยันว่า “รัฐบาลนี้อยู่ครบเทอมแน่” และ “เลือกตั้งคราวหน้า เพื่อไทยชนะเกิน 200 เสียง”

บีบีซีไทยพูดคุยกับ 2 สส. จาก 2 ขั้วการเมือง ให้วิเคราะห์ “จุดเปลี่ยน” ที่ทำให้อดีตผู้นำวัย 75 ปี ออกจากหลังม่านบ้านจันทร์ส่องเหล้า-กระโดดขึ้นเวทีการเมืองในนามพรรคเพื่อไทย (พท.) อย่างเต็มตัว

เชียร์คนมีอำนาจรัฐ = ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศ

แม้ออกตัวว่าไม่รู้ว่าลึก ๆ แล้ว ทักษิณ คิดอย่างไร แต่ เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ชี้ชวนให้พิจารณาข้อความที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยลดโทษเมื่อปี 2566 ที่ว่า “เพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคมและประชาชน สืบไป” ก็อาจพบคำตอบ

“ถามว่าอะไรละที่จะทำคุณประโยชน์แก่ประเทศได้ ก็ต้องเชียร์คนมีอำนาจรัฐ เชียร์นะครับ ไม่ใช่ครอบงำ เชียร์คือการช่วยคิด ช่วยแนะนำ ท่านก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง ย่อมมีสิทธิตามกฎหมาย” เชิดชัย กล่าว

แม้ไร้สถานะผู้บริหารพรรค และเป็นไม่ได้กระทั่งสมาชิกพรรค พท. เนื่องจาก ทักษิณ ขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมืองปี 2560 และข้อบังคับพรรค พท. หมวด 3 ข้อ 12 แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า อดีตผู้นำรัฐบาล 377 เสียง เป็น “ผู้มากบารมี” และ “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” ของคนเพื่อไทย จึงไม่แปลกหากทั้งนักการเมือง ข้าราชการ แม่ค้า และประชาชน จะมารอห้อมล้อมเขาขณะลงพื้นที่ จ.อุดรธานี ระหว่าง 13-14 พ.ย. แม้จำนวนไม่มากเท่าเมื่อครั้งเป็นผู้มีอำนาจเต็มก็ตาม

หมอเชิดชัย และ สส.เพื่อไทย นำคนเสื้อแดง 20 จังหวัดภาคอีสานมารอต้อนรับ ทักษิณ ที่ท่าอากาศยานอุดรธานี ในนาทีเหยียบพื้นที่ที่ถูกขนานนามว่า “เมืองหลวงคนเสื้อแดง”

“ผมมารอรับนักมวยรุ่นเฮฟวีเวตขึ้นเวที” เขาเปรียบเปรยขณะพูดคุยกับคนเสื้อแดงจากขอนแก่นซึ่งข้ามจังหวัดมารอรับ ทักษิณ

“ครั้งนี้คู่ชกคู่ต่อสู้สีส้มด้วย เราแพ้ไม่ได้ เลือกตั้งที่ผ่านมา คะแนนออกมา 10 ต่อ 14 ล้านเสียง สส. ก็ได้มาสูสีห่างกันแค่ 10 คน เราเลยต้องตั้งรัฐบาลผสม ทุกวันนี้เลยทำอะไรหลายอย่างได้ไม่เต็มที่” เชิดชัย ระบุ


เชิดชัย เป็นแกนนำคนเสื้อแดงขอนแก่น ให้คำจำกัดความคนเสื้อแดงว่าคือ คนรักทักษิณ และคนรักประชาธิปไตย

พรรค พท. ซึ่งเป็นพรรคทายาทของฝ่ายทักษิณ แพ้คาสนามการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 เป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี ให้แก่ “พรรคสีส้ม” ซึ่งมีอายุเพียง 5 ปีนับจากก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) และสืบทอดอุดมการณ์มาถึงพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และพรรคประชาชน (ปชน.) ในปัจจุบัน โดย “พรรคสีแดง” หิ้ว สส. เข้าสภาได้ 141 คน ต่อ 151 คน และได้คะแนนมหาชน (ป็อบปูลาร์โหวตในบัตรเลือกตั้ง สส.บัญชีรายชื่อ) 10.9 ล้านเสียง ต่อ 14.4 ล้านเสียง

ที่ จ.อุดรธานี เพื่อไทยถูก “ตีแตก” ฐานที่มั่นทางการเมือง-ต้องเสียพื้นที่ 2 เขตให้แก่พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) และอีก 1 เขตให้แก่พรรค ก.ก. จาก สส. ทั้งหมด 10 เขตเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้งท้องถิ่น 24 พ.ย. ซึ่งเป็นการแข่งขันช่วงชิงเก้าอี้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ระหว่าง ศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรค พท. กับ คณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรค ปชน. ทักษิณ จึงออกหน้า-ออกแรงขอคะแนนเสียงจากประชาชนเต็มที่

“ชนะน้อย ๆ ไม่สนุก ต้องชนะเยอะ ๆ ชนะให้ถล่มทลาย ผมจะได้เดินทางมาหาพี่น้องแบบหล่อ ๆ ไม่อยากกลับมาแบบมีหน้ากาก” ทักษิณ ปราศรัยตอนหนึ่ง

เขายังเล่าให้ชาวอุดรฯ ฟังด้วยว่า ศราวุธ เป็น สส. 3 สมัย และเป็นประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ขั้นต่อไปคือเป็นรัฐมนตรี แต่โชคไม่ดีสอบตก

“เที่ยวนี้ให้เป็นนายก อบจ. ให้ได้ อนาคตนายก อบจ. จะเป็นรัฐมนตรี” ทักษิณ ลั่นวาจาเอาไว้


คนเสื้อแดง 20 จังหวัดอีสานเดินทางมารอต้อนรับอดีตนายกฯ ที่ท่าอากาศยานอุดรณ เมื่อ 13 พ.ย.

อุดรฯ คือ “เมืองหลวงประชาธิปไตย” ไม่ใช่เมืองหลวงของพรรคไหน

ณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ สส.อุดรธานี เขต 1 พรรคประชาชน (ปชน. หรืออดีตพรรคก้าวไกล) คือผู้ยัดเยียดความปราชัยให้ ศราวุธ ในศึกเลือกตั้งระดับชาติเมื่อ 18 เดือนก่อน ด้วยคะแนนทิ้งห่างราว 5,000 คะแนน และทำให้ สส. แชมป์เก่าต้องย้ายสนาม-ผันตัวมาเล่นการเมืองท้องถิ่น แทนนายก อบจ. คนเก่าที่ลาออกก่อนครบวาระ

สส. จาก “พรรคสีส้ม” บอกว่า เขาชนะเพราะ “คะแนนพลัดถิ่น” อันหมายถึง การเลือกล่วงหน้า (นอกเขตจังหวัด) และการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ทว่าในการเลือกตั้ง อบจ. ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า/นอกเขต

ณัฐพงษ์ ไม่คิดว่าสนาม อบจ. เป็นเวทีใหญ่ขนาด ทักษิณ ต้องมาปราศรัยเอง แต่คาดว่าอดีตนายกฯ ต้องการมาส่งเสียงมาอ้อนว่า “เพื่อไทยยังอยู่นะ” และจำเป็นต้องออกหน้าเพราะ “มันเป็นโค้งสุดท้ายของเขาแล้ว อายุของพรรคเดินมาจุดหนึ่งที่ต้องรีโนเวท (ปรับปรุง/ยกเครื่อง) ใหม่”

“แต่คนอุดรฯ ตื่นตัวทางการเมือง เวลาบอกว่าเป็น ‘เมืองหลวงคนเสื้อแดง’ จริง ๆ เราเป็น ‘เมืองหลวงประชาธิปไตย’ ไม่ได้เป็นของพรรคการเมืองไหน ถามว่าการที่คุณทักษิณมา ถ้ามาบอกว่าเมืองคนเสื้อแดง คุณก็ร้างไปนาน ถ้าจะบอกว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตย มันไหลไปรวมกันหมดแล้วตอนตั้งรัฐบาล มันยังพูดแบบนั้นได้จริง ๆ หรือ” สส.อุดรธานี จากพรรคฝ่ายค้าน ตั้งคำถาม

หากคำประกาศ “มีลุงไม่มีเรา” ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรค ก.ก. ทำให้พรรคสีส้มเปิดประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่ ด้วยการคว้าชัยชนะในสนามเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 การย้อนภาพความสำเร็จที่จบลงด้วยความผิดหวังของคน 14 ล้านคน เนื่องจากหัวหน้าพรรคอันดับ 1 ของสภา ได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาไม่เพียงพอต่อการเป็นนายกรัฐมนตรีตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หาเสียงเลือกตั้งนายกเล็กปี 2567 เพื่อทบทวนความทรงจำของโหวตเตอร์

คณิศร ผู้สมัครนายก อบจ.อุดรฯ สังกัดพรรค ปชน. ระบุว่า ก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง แต่มีคนผิดสัจวาจา ทำให้จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ จึงอยากให้ชาวอุดรฯ แปรความคับแค้นเป็นพลังโหวตเลือกพรรค ปชน. ในคูหานายก อบจ.


พิธา บอกว่าไม่อยากให้เรียกว่าเป็น “ถิ่นของคนเสื้อแดง” แต่เป็นพื้นที่ของคนรักประชาธิปไตย

คำสำคัญที่แกนนำ-ผู้สมัคร-ผู้ช่วยหาเสียงของพรรค ปชน. ใช้สื่อสารกับประชาชนคือ “ถึงเป็นการเมืองท้องถิ่น แต่นี่คือพรรคส้ม กาได้เหมือนเดิม เราไม่โกหก”

“คนอุดรฯ ตื่นตัวตื่นรู้ว่าใครทำอะไร ผมคิดว่าคนย้ายค่ายเยอะมาก แม่ค้าที่เคย (แดง) จ๋า ๆ เราจะเห็นว่าเขาไม่เอาแล้ว ชวนเพื่อนด้วยซ้ำ” ณัฐพงษ์ บอก แต่เขาก็เข้าใจดีว่าบริบทการแข่งขันในสนาม สส. กับ อบจ. นั้นยังแตกต่างกัน

ทว่าความเหมือนในทั้ง 2 สนามที่คนการเมืองค่ายประชาชนสัมผัสได้คือ “เขามองเราเป็นคู่แข่งจริง ๆ แล้ว” และ “พรรคส้มกลายเป็นสมการใหญ่ในทางการเมือง” จึงเกิดปรากฏการณ์บ้านใหญ่จากค่ายใหญ่ไหลไปกองรวมกัน

“เขาจัดสรรแบ่งเค้กกันหมดแล้ว สนามนี้คุณเอาไป ฉันไม่ยุ่ง สนามนี้ฉันขอ แล้วรุมกระทืบส้ม ไม่ใช่แค่ระดับประเทศ แต่ระดับท้องถิ่นก็มีไม่ต่างกัน เรียกว่าก๊อปปี้จากการเมืองใหญ่มาการเมืองท้องถิ่น” ณัฐพงษ์ ให้ความเห็น

สนามวัดพลัง เพื่อไทย-ประชาชน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกพรรคการเมืองต่างทุ่มสรรพกำลังลงไปสู้ศึกเลือกตั้งนายก อบจ. เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง ด้วยเพราะฐานจังหวัดถือเป็นพลังสำคัญที่จะเป็นแต้มต่อสู่การยึดเก้าอี้นายกฯ คนที่ 32 ในศึกเลือกตั้งปี 2570

นักวิเคราะห์การเมืองระบุว่า การเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรฯ ไม่ได้ชิงแค่เก้าอี้นายกเล็ก แต่ยังเป็นสนามวัดพลังทางการเมืองระหว่างพรรคแกนนำรัฐบาลกับพรรคแกนนำฝ่ายค้าน โดยต่างฝ่ายต่างพยายามช่วงชิงมวลชน และเชื่อมโยงท้องถิ่นเข้ากับทิศทางการเมืองในภาพใหญ่ จึงเกิดภาพ “ฟาดกันไปมา”

นอกจากวาทะ “ทักษิณกลับมาแล้ว” และ “ทักษิณไม่ชอบพ่อค้ายาเสพติด” เพื่อทบทวนผลงานของรัฐบาลชินวัตรผู้พ่อ... อดีตนายกฯ ยังออกตัวการันตีทักษะการเมือง-ความตั้งใจของนายกฯ อุ๊งอิ๊ง และบอกใบ้ให้ประชาชนเตรียมรอดู-รอฟังผลงานของรัฐบาลชินวัตรผู้ลูก

“ขอให้มั่นใจว่ากลางปีหน้าจะเห็นแสงสว่าง ปลายปีหน้าจะรู้สึกว่าชีวิตดีขึ้นเยอะ” ทักษิณ กล่าว

นอกจากนี้ ทักษิณ ยัง “ชวนคนเสื้อแดงที่เข้าใจผิด สีอะไรตกใส่จึงเปลี่ยนไปนิดหน่อยให้กลับมา กลับมาอยู่ด้วยกัน หัวใจเดียวกัน ฉะนั้นกลับมาอยู่ด้วยกัน สนับสนุนกัน”

บีบีซีไทยร่วมสังเกตการณ์การรณรงค์หาเสียงของ ทักษิณ ที่ จ.อุดรธานี พบว่า ประชาชนที่มารับฟังการปราศรัยส่วนใหญ่ไม่ได้สวมใส่เสื้อสีแดงแล้ว แม้หลายคนบอกว่ายังชื่นชอบในตัวอดีตนายกฯ และชื่นชมในผลงานของรัฐบาล “ทักษิณ” ก็ตาม แต่ก็มีอีกหลายคนที่จดจำผลงานของรัฐบาล “แพทองธาร” ไม่ได้


ภาพที่เห็นไม่ใช่เรื่องปกติสำหรับการขึ้นปราศรัยของ ทักษิณ ซึ่งพบว่ามีประชานชนบางส่วนทยอยลุกจากที่นั่งไปตั้งแต่การปราศรัยยังไม่จบ

ขณะที่คณะพรรค ปชน. ได้ตามตลบหลังคณะของพรรค พท. นำโดย 3 หัวหน้าพรรค ได้แก่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรค ก.ก., ชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรค ก.ก., ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค ปชน. นำทีมลงพื้นที่อุดรฯ 15-17 พ.ย. และเปิดปราศรัย 3 เวทีเช่นกัน

ชัยธวัช ปราศรัยตอนหนึ่งว่า อุดรฯ ไม่เคยมีสีตก คนที่ยังเป็นเสื้อแดงก็ยังเป็นเสื้อแดง จิตใจในการต่อสู้ในเพื่อประชาธิปไตยอย่างเต็มเปี่ยม 100% แต่วันนี้มันตาสว่างแล้วว่าใครสู้เพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

อดีตหัวหน้าพรรค ก.ก. บอกด้วยว่า เมื่อนึกถึง ทักษิณ มีภาพจำไม่ลืมในวาระรำลึก 1 ปีวันล้อมปราบคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์ กทม. เมื่อ 19 พ.ค. 2554 ซึ่ง ทักษิณ วิดีโอคอลล์มาว่า "พี่น้องพายเรือส่งพวกผมถึงฝั่งแล้ว พอแล้ว หลังจากนี้ผมจะขับรถขึ้นภูเขาเอง" ตนนั่งอยู่ข้าง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แล้วก็สบถดัง ๆ ว่า “มึงจะถีบกูทิ้งเลยหรอ” จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์มากมายกว่าแกจะขึ้นภูเขาได้จริง

“วันนี้แกขึ้นภูเขาชั้น 14 เรียบร้อยแล้วครับ แกสบายแล้ว แกสบายกว่าพวกเราเยอะ ที่เจ็บจริง ตายจริง ติดคุกจริง ในเมื่อแกขึ้นภูเขาชั้น 14 ไปแล้ว หลังจากนี้พอกันทีกับการเมืองแบบนั้น กับการเมืองที่เห็นประชาชนเป็นหมากเบี้ย เห็นประชาชนเป็นแค่คะแนนเสียง วันไหนคิดอยากถีบหัวส่งก็ถีบ วันไหนอยากจะบอกพี่น้องอย่าลืมผมนะก็บอก" ชัยธวัช กล่าว และเรียกร้องให้เปลี่ยน โดยเริ่มจากท้องถิ่นไปสู่การเมืองระดับชาติ “การเมืองที่ตกเป็นหมากเบี้ยของใครอีก การเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของจริง ๆ”

สส. เจ้าของพื้นที่อย่าง ณัฐพงษ์ ให้คำจำกัดความ “คนเสื้อแดง” ว่า ไม่ใช่คนที่เลือกพรรค พท. แต่คือคนที่ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย ดังนั้นแม้เปลี่ยนพรรค เปลี่ยนจำนวน สส. แต่ที่นี่ยังคงเป็นเมืองหลวงของประชาธิปไตย

ส่วนนิยาม “คนเสื้อแดง” ตามความหมายของ เชิดชัย ซึ่งเป็นอดีตกรรมการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) คือ คนรักทักษิณ และ คนรักประชาธิปไตย


ชัยธวัช กล่าวว่า ไม่ว่าจะเคยเป็นสีไหน วันนี้ขอให้มาร่วมสร้างการเมืองด้วยกัน “การเมืองที่ประชาชนเป็นเจ้าของจริง ๆ การเมืองที่ไม่ทรยศหักหลัง เห็นพี่น้องประชาชนเป็นเจ้านาย”

หมอเชิดชัยวิเคราะห์ว่า การเปิดหน้าบนเวทีปราศรัยของ ทักษิณ จะส่งผลหลายประการ อาทิ
  • แสดงให้เห็นว่ายังมีมวลชนที่เคารพ นับถือ ศรัทธาในตัวอดีตนายกฯ และจดจำผลงานของรัฐบาล “ทักษิณ” ได้
  • ได้เห็นปัญหาที่แท้จริง ไม่ต้องรอให้ใครไปเพ็ดทูล
  • ทำให้พรรค พท. ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนมากขึ้น “ใครที่หายหน้าหายตาไป เปลี่ยนสีไป จะได้กลับมาหาเรา”
“หากเพื่อไทยชนะถล่มทลายในสนาม อบจ. นี้ จะทำให้เห็นว่าทิศทางการเมืองมาทางนี้แล้ว” เชิดชัย กล่าว

คนชั้น 14 กับ นักโทษคดีการเมือง

แม้พูดเองว่าอุดรฯ คือ “เมืองหลวงของคนเสื้อแดง” แต่คำปราศรัย 3 เวทีของ ทักษิณ กลับไม่มีเนื้อหาตอนใดระบุถึงนักต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยเลย

ในระหว่างการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน บีบีซีไทยจึงขอให้ ทักษิณ พูดถึงเจตจำนงส่วนตัวว่าจะสามารถทวงคืนความยุติธรรมให้กับนักโทษคดีทางการเมืองได้อย่างไร?

อดีตนายกฯ ไม่ได้ตอบคำถามชัดเจนนัก โดยบอกเพียงว่า “อันนี้มันมีความซับซ้อนหลายอย่าง” แต่ไปพูดถึงการ “ไล่ห้ำหั่นทางการเมือง” และการที่ตัวเขาเป็น “เหยื่อรายหนึ่ง” ของคดี 112

หลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ทักษิณ ถูกมองว่าเป็นตัวแทน “ผู้ถูกกระทำ” จนต้องลี้ภัยไปใช้ชีวิตในต่างแดน แต่บัดนี้อดีต “ผู้นำพเนจร” ได้กลับมากิน-อยู่-หลับนอนที่บ้านเกิดอีกครั้ง และไม่ได้นอนเรือนจำแม้แต่คืนเดียวนับจากเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเมื่อ 22 ส.ค. 2566 ขณะที่ ผู้ต้องหา-จำเลย-นักโทษคดีการเมืองที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในแบบที่พวกเขาเชื่อ หลายคนยังต้องใช้ชีวิตอยู่ภายในเรือนจำ

ณัฐพงษ์ ชี้ว่า การนิรโทษกรรมคดีการเมืองเป็นวาระที่กระทบใจใครหลายคน

“ตอนนี้พูดสั้น ๆ แค่ ‘ชั้น 14’ ใครก็รู้ว่าพูดถึงอะไร นี่มันก็คือสัญลักษณ์ของความไม่เท่าเทียม ความอยุติธรรม” สส. ฝ่ายค้านบอก

ส่วนกระทบใจแล้ว จะแสดงผลอย่างไรในทางการเมือง เป็นสิ่งที่เขาคาดเดาไม่ได้แน่ชัด เพราะการเมืองมันมีความสลับซับซ้อนกว่านั้น

ในฐานะ กมธ.ต่างประเทศ ณัฐพงษ์ เห็นว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนไม่ใช่แค่คนในประเทศที่จับจ้อง แต่ทั้งโลกกำลังมองเราอยู่ว่าจะแสดงจุดยืนทางการเมืองอย่างไร


“จะห้มไม่ให้พูดคงไม่ได้ เพราะหลายคนอยู่ในคุก เขาก็มีลูก มีครอบครัวที่รัก แล้วถ้าวันหนึ่งมันเกิดขึ้นกับเรา ซึ่งเป็นไปได้มาก เพราะเราอยู่ตรงนี้ พรรคสีส้ม คนต่อไปเป็นใครที่จะถูกยุบพรรค ตัดสิทธิ หรือมีคดีความตามมา” สส. พรรคประชาชนกล่าว


ณัฐพงษ์ คาดหวังจะเห็นความกล้าหาญทางการเมืองของเพื่อนร่วมสภาโดยเฉพาะกรณีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมือง

อย่างไรก็ตาม สส. เสื้อแดงจากพรรค พท. ยืนยันว่า พรรคต้นสังกัดของเขาจะไม่ทิ้งนักโทษคดีการเมืองแน่ จะเดินต่อแน่ ๆ

“ไม่ใช่แค่นักโทษในเรือนจำ มีหลายคนหนีไปต่างประเทศ เขามีความทุกข์ ตอนนี้หลายคนอายุมากแล้ว ถึงเวลาแล้วที่เขาควรได้กลับมาบ้านเกิด ส่วนจะทวงคืนความยุติธรรมอย่างไร รอเวลาอันเหมาะสม” เชิดชัย บอก

เชิดชัย เป็น 1 ใน 11 สส. เพื่อไทย ที่ลงมติเห็นด้วยกับรายงานทั้งฉบับของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มี ชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. และ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และยังเป็น กมธ. ที่เห็นด้วยว่าควรนิรโทษกรรมคดี 112 แบบมีเงื่อนไข เพื่อให้โอกาสเยาวชนกลับมาเรียนต่อ แต่ห้ามกระทำความผิดซ้ำอีก

เขาตั้งข้อสังเกตถึงการ “ตีรวน” ของบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลที่ออกมาคัดค้านการนิรโทษกรรมคดี 110 และคดี 112 ทั้งที่ยังไม่มีการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภา เป็นเพียงการรับทราบรายงานของ กมธ. เท่านั้น

“เราต้องรอให้ฝ่ายค้านค้านจนสุดลิ่มไปก่อน แล้วมาดูความเป็นจริงกัน ยืนยันว่าไม่ปิดประตูตายการนิรโทษคดี 112”

ไม่ใช่แค่ประเด็นนิรโทษกรรมที่ เชิดชัย เห็นว่าพรรค พท. ถูกหัก แต่ยังมีคำมั่นสัญญาว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทุกพรรคทุกคนเห็นพ้อง แต่วันนี้ “ทำไมบางพรรคไม่ตรงไปตรงมา” แม้กระทั่งร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่ผ่านสภาผู้แทนฯ ไป แล้ววุฒิสภาก็มากลับหลักการใหม่

“มันทำให้เห็นว่าบางพรรคไม่น่าเชื่อถือ เราก็ต้องพยายามพูดคุยอย่างสันติ แต่ถ้าไม่ได้ก็ต้องยุบสภา ซึ่งเชื่อว่าเราจะกลับมาได้ เพราะคนเสื้อแดงรักนายกฯ ทักษิณ” นักการเมืองค่ายเพื่อไทยขู่

การยุบสภาถือเป็นดาบอาญาสิทธิ์ในมือของนายกรัฐมนตรี ที่เอาไว้ตกลง-ต่อรอง-กำราบกับบรรดานักเลือกตั้งอาชีพ แม้บิดาของนายกฯ แพทองธารจะชิงประกาศว่ารัฐบาลชุดนี้อยู่ครบเทอมก็ตาม

9 เดือนหลังออกจากชั้น 14 ทักษิณ ไปไหน-เจอใคร-ทำอะไรบ้าง

18 ก.พ. เปิดบ้านจันทร์ส่องหล้า ถ.จรัญสนิทวงศ์ 69 ต้อนรับสมเด็จฮุนเซน ประธานองคมนตรีกัมพูชา และอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งมาเยี่ยม “เพื่อนเก่า” หลังได้รับการพักโทษ

14-16 มี.ค. เดินทางไปต่างจังหวัดเป็นครั้งแรก โดยไปเยี่ยมกลับบ้านเกิดและทำบุญให้บรรพบุรุษที่ จ.เชียงใหม่ ก่อนปรากฏภาพ 3 นายกฯ ร่วมโต๊ะอาหาร ได้แก่ ทักษิณ นายกฯ คนที่ 23, สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ คนที่ 26, เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ คนที่ 30

26 มี.ค. เดินทางเข้าที่ทำการพรรค พท. อาคารโอเอไอ ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ เป็นครั้งแรก เพื่อพบปะพูดคุยกับบรรดา รมต. สส. และอดีตลูกพรรค

13-15 เม.ย. เดินทางไป จ.เชียงใหม่อีกครั้ง โดยเปิดบ้านให้นักการเมือง ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนร่วมรดน้ำดำหัวเพื่อขอพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ ทั้งนี้อดีตนายกฯ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ คนที่ 28 น้องสาว ได้โทรมาอวยพรสงกรานต์ก่อนเขาจะเดินทางมาเชียงใหม่ “ก็เลยบอกว่าเดี๋ยวปีหน้าเรามาทำบุญด้วยกัน สงกรานต์ปีหน้า นายกฯ ปูคงได้มีโอกาสมาทำบุญ” เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะกลับมาอย่างไร? กลับมาภายในปีนี้หรือไม่? ทักษิณ ตอบว่า จะกลับช่องทางไหนยังไม่ทราบ เอาความตั้งใจก่อน เดี๋ยวดูเหตุการณ์ก่อน

19-21 ก.ค. เดินทางไปพักผ่อนกับครอบครัวชินวัตรที่แรนโชว์ ชาญวีร์ รีสอร์ท แอนด์ คันทรี คลับ จ.นครราชสีมา ของ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โดยมีแกนนำโคราชจากทุกพรรค-ทุกสายร่วมด้วย แต่ที่เรียกเสียงฮือฮาคือการปรากฏภาพออกรอบตีกอล์ฟร่วมกับ สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของไทย

14 ส.ค. เปิดบ้านจันทร์ส่องหล้าหารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล หลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ เศรษฐา พ้นจากตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30 เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ กรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็น รมต. ค่ำวันนั้นปรากฏกระแสข่าวว่าจะมีการเสนอชื่อ ชัยเกษม นิติสิริ เป็นนายกฯ คนใหม่ ก่อนที่วันรุ่งขึ้น คณะกรรมการบริหารพรรค และ สส. เพื่อไทย จะมีมติเสนอชื่อ แพทองธาร เป็นนายกฯ ตัวจริง ทั้งนี้ ทักษิณ ให้สัมภาษณ์เมื่อ 9 พ.ย. ถึงการรับประทานอาหารกับแกนนำพรรคร่วมฯ ที่บ้านจันทร์ส่องหล้าว่า “ไปกินมาม่า มาม่าอร่อย”

18 ส.ค. ได้รับพระราชทานอภัยโทษเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 ก.ค. 2567 ซึ่งทำให้เขากลายเป็น “ผู้บริสุทธิ์” โดยวันเดียวกันเขาแต่งชุดขาวเข้าร่วมพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง แพทองธาร เป็นนายกฯ คนที่ 31 ที่ทำการพรรค พท. ชั่วคราว อาคารวอยส์สเปซ ถ.วิภาวดีรังสิต โดยมีสมาชิกในครอบครัวชินวัตร แกนนำพรรค พท. และพรรคร่วมรัฐบาลเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง

19 ส.ค. ไปขึ้นศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ครั้งแรก ตามนัดตรวจพยานหลักฐาน หลังตกเป็นจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีให้สัมภาษณ์สื่อเกาหลีใต้เมื่อปี 2558

22 ส.ค. แสดงวิสัยทัศน์ต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกในงานดินเนอร์ทอล์กจัดโดยเครือเนชัน ซึ่งต่อมาพรรค ปชน. ตั้งข้อสังเกตว่านโยบายของรัฐบาล “แพทองธาร” ที่แถลงต่อรัฐสภา 12 ก.ย. มีเนื้อหาตรงกับสิ่งที่ ทักษิณ พูดถึง 11 จาก 14 ประเด็น

20 ส.ค., 26 ส.ค., 5 ก.ย. เดินทางไปยังอาคารชินวัตร ทาวเวอร์ 3 ในช่วงที่แกนนำพรรค พท. กำลังจัดทำร่างนโยบายของรัฐบาล “แพทองธาร” ซึ่งเขาปฏิเสธจะให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยบอกเพียงว่า “ผมเป็นคนสังเกตการณ์”

27 ส.ค. เดินทางไปเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัย จ.เชียงราย

13-14 พ.ย. เดินทางลงพื้นที่ จ.อุดรธานี เพื่อหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี สังกัดพรรค พท. ประกาศว่า “ทักษิณกลับมาแล้ว” และในการเลือกตั้งปี 2570 พรรค พท. จะชนะเลือกตั้งเกิน 200 เสียง

นอกจากนี้ ทักษิณ ยังเดินสายไปงานบุญ งานบวช งานแต่งของบรรดาลูกหลานคนการเมือง และใช้เป็นเวทีสื่อสารทางการเมือง

ครั้งหนึ่ง เขาใช้งานงานเลี้ยงฉลองบวชของหลานชายนายกเทศมนตรี ต.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี เมื่อ 8 มิ.ย. สื่อสารโดยอ้อมว่าต้องการรวบรวม 8 “บ้านใหญ่” ปทุมธานี เพื่อสนับสนุน ชาญ พวงเพ็ชร์ ผู้สมัครจากพรรค พท. เป็นนายก อบจ.ปทุมธานี ก่อนส่งทั้งบุตรชาย พานทองแท้ และบุตรสาว แพทองธาร ลงพื้นที่ขอคะแนนเสียงในช่วงโค้งสุดท้าย

เป็นผลให้ ชาญ ชนะศึกเลือกตั้งมาได้ ก่อนโดนใบเหลือง ทว่าในการเลือกตั้งรอบใหม่ ชาญ ไม่ได้ใช้โลโก้เพื่อไทย และไร้เงา ทักษิณและแกนนำพรรค พท. คนใดไปช่วยหาเสียงแบบในรอบแรก ทำให้ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เข้าวินด้วยคะแนนทิ้งห่างกว่า 60,000 เสียง

ที่มา: บีบีซีไทยประมวลข้อมูลจากข่าวที่ปรากฏในสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ

https://www.bbc.com/thai/articles/cn01e8nnpzyo