วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 03, 2567

มติคณะรัฐมนตรีล่าสุดที่ผ่านมา (“การให้สัญชาติ-สถานะ” บุคคลอพยพ) ดูจะจุดประกายความหวังให้กับคนไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในไทยเป็นเวลานาน รวมถึงคนรุ่นลูกที่เกิดในไทยว่ากระบวนการจะรวดเร็วขึ้น (?) ง่ายขึ้น (?) จริงหรือ (??)


Darunee Paisanpanichkul
9 hours ago
·
ถุงใส่ "พยานเอกสาร" ต่างๆ ของชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่คล้ายๆ กับอีกหลายคนในพื้นที่อื่น ที่พยายามเก็บเอกสารต่างๆ เพื่อยืนยัน "การอยู่มานาน" หรือ "เกิดในไทย" แต่เราก็ยังคงพบว่า มันไม่เคยครบ ไม่เคยดี (สมบูรณ์) พอ อยู่ดี (โดยที่หลายเคส ไม่ใช่ว่า มันไม่จริง)
มติคณะรัฐมนตรีล่าสุดที่ผ่านมา (วันที่ 29 ตุลาคม 2567) ดูจะจุดประกายความหวังให้กับคนไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในไทยเป็นเวลานาน รวมถึงคนรุ่นลูกที่เกิดในไทยว่ากระบวนการจะรวดเร็วขึ้น (?) ง่ายขึ้น (?) แต่ทำไมหลายคนถึงคิดว่ามันจะครอบคลุมไปถึงลูกจ้างต่างชาติ ผู้ลี้ภัยกลุ่มต่างๆ
ที่สำคัญความหวังนี้ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เสียทีเดียว
1) มติคณะรัฐมนตรี 29 ตุลาคม 2567 นี้ มีอะไรใหม่
ที่ขึ้นต้นว่ามีอะไรใหม่ เพราะต้องการเน้นย้ำว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐไทยประกาศนโยบายปรับสถานะให้ “คนอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว” และไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ก็ลุกขึ้นมา “แจก” สถานะผู้พำนักอาศัยถาวร (ผู้มีถิ่นที่อยู่ หรือ Permanent Residence :PR) หรือสัญชาติไทยให้ใครก็ได้
การปรับสถานะ แต่ละครั้งใช้เวลาไม่น้อยเลย ภายใต้แนวคิดที่ว่า คนต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยมาระยะเวลาหนึ่ง เข้าใจ คุ้นเคยวัฒนธรรม ภาษา กฎหมาย ระเบียบฯ ต่างๆ ของสังคมไทย หรือที่เรียกกันว่า “กลมกลืน” (มีหลายคนไม่ชอบคำนี้) กับสังคมไทย และมีเงื่อนไข คุณสมบัติอีกจำนวนหนึ่ง
1.1) ใครคือ ชนกลุ่มน้อย /กลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่ม ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของมติครม. 29 ตุลา 67
หมายถึง คนกลุ่มต่างๆ ที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยด้วยเหตุผลหนีภัยการสู้รบในประเทศต้นทาง หรือเป็นคนไทยที่ถูกการเมือง/เส้นเขตแดน “พลัด” ให้ไปเป็นคนของประเทศอื่น ฯลฯ ด้วยเหตุผลตามหลักมนุษยธรรม ประเทศไทยให้ที่พักพิงชั่วคราว รวมถึงจัดทำเอกสารประจำตัวให้ เพื่อให้ทราบถึงจำนวน/ใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อการควบคุมกำกับ (นักวิชาการท่านหนึ่งเรียกว่า “การควบคุมโดยเอกสาร” ซึ่งก็ไม่เถียง แต่หากมองในมุมกฎหมายระหว่างประเทศ Identification paper ก็มีความหมายถึงการรับรองความเป็นบุคคลตามกฎหมาย นะเออ – ค่อยไปถกกัน) หลังจากนั้นบ้างก็กลับบ้าน บ้างก็ไปประเทศที่สาม บ้างก็ทำงานให้กับหน่วยงานความมั่นคงของไทย บ้างก็กลับไม่ได้ก็ลงหลักปักฐานในประเทศไทย แต่งงานกับคนไทยมีครอบครัวอยู่ที่นี่
ที่สำคัญ มีคนชาติพันธุ์ดั้งเดิม "ที่อยู่ ที่นี่" มาตั้งแต่ก่อนสยามจะเข้าสู่ รัฐชาติ -- (น่าจะก่อนลูกหลานจีนโพ้นทะเล หลายตระกูล รวมถึงลูกหลานคนอีกหลากหลายสัญชาติ /ชาติพันธ์ ในไทย) ในเวลานั้น บางพื้นที่ยังไม่มีอำเภอ หรือถ้ามีก็ห่างไกลจากชุมชน หมู่บ้าน ทำให้คนตกหล่นการมีบัตรประจำตัว หรือแม้แต่การคลอดที่บ้าน โดยหมอตำแย ก็ทำให้ไม่มีเอกสารรับรองการเกิด ฯลฯ
และหากนับจากบริบทของคนอพยพในอดีต คนกลุ่มนี้ก็อยู่ในประเทศไทยมาร่วม 40 ปีแล้ว (เกิน 15 ปีไปสองรอบ หรือจะสามรอบ) ทำความรู้จักคนกลุ่มนี้ >> http://118.174.18.17:8085/ebook/download.jsp...
สังคมไทยคุ้นเคยกับคนกลุ่มนี้ในชื่อของ “คนไร้สัญชาติ” หรือ “ผู้มีปัญหาสถานะบุคคล” คนกลุ่มนี้ที่อาศัยอยู่ เติบโต เรียน ทำงานเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว จ่ายภาษีทางอ้อมอยู่ทุกวัน นโยบายมีแล้วว่า “คนอยู่มานาน ที่ไม่มีบ้านที่ไหนให้กลับ” ก็ควรจะเห็นอนาคตตัวเองได้ชัดเจนขึ้น ปลายทางของสถานะ PR หรือคนสัญชาติไทย แต่มันเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา ไม่ใช่ง่ายดาย
อ่านถึงตรงนี้ น่าจะเห็นและเข้าใจได้ว่า กลุ่มเป้าหมายของมติครม. นี้ ไม่ได้รวมคนอีกหลายกลุ่ม อาทิ ลูกจ้างต่างชาติ หรือผู้ลี้ภัยกลุ่มต่างๆ
2) การปรับสถานะ ผ่านการใช้กลไกของกฎหมาย ที่กว่าจะไปถึง
2.1) กว่าจะไปถึงสถานะ “มีถิ่นที่อยู่ในไทย (มีสิทธิอาศัยถาวร)”
คนกลุ่มนี้เริ่มต้นจากคนเข้าเมืองไม่ถูกต้อง (ณ ตอนนั้น จะมีใครสักกี่คนมี passport ไปขอ visa) แต่เมื่อเวลาผ่านไป “นานนนนมาก” จำนวนหนึ่งที่ยังคงอยู่ในประเทศไทย ไม่มีบ้านให้กลับ รัฐบาลไทยก็มีมติคณะรัฐมนตรีเป็น “ระยะ (เว้นแต่ละช่วงนานนนน มากก”) เพื่อปรับสถานะให้คนกลุ่มต่างๆ ข้างต้น กล่าวอย่างเข้าใจง่ายๆ ๆ ก็คือ “เข้าเมืองไม่ถูกต้อง” >> “เข้าเมืองไม่ถูกต้อง ผ่อนผันให้อาศัยอยู่ชั่วคราว” >> “เข้าเมืองไม่ถูกต้อง มีสิทธิอาศัยชั่วคราว” >> “เข้าเมืองถูกต้อง มีสิทธิอาศัยชั่วคราว” >> “เข้าเมืองถูกต้อง มีสิทธิอาศัยถาวร” >> “5 ปีผ่านไป พร้อมกับต้องมีคุณสมบัติตามเงื่อนไข จึงจะขอ “แปลงสัญชาติเป็นไทย” ได้ (ต้องมีหลักฐานการเสียภาษี)
2.2) กว่าจะไปถึง การมีสัญชาติไทยโดยการเกิด ตามหลักดินแดน สำหรับกรณีของคนรุ่นลูกที่เกิดในประเทศไทย
นับจากอดีต ใครเกิดในสยาม ก็นับเป็น “คนบังคับของสยาม” (เปลี่ยนสังกัดได้) พอมีกฎหมายสัญชาติ ใครเกิดในสยาม/ไทย ก็มีสัญชาติไทยโดยการเกิด โดยหลักดินแดน (ไม่ได้สนใจว่า พ่อแม่เป็นคนสัญชาติอะไร มีสถานะเข้าเมืองแบบไหน) เพราะสยามเวลานั้น “ผู้คน” คือทรัพยากรที่สำคัญของประเทศไทยชาติ (การกวาดต้อนผู้คนในอดีตก็คิดคล้ายกันนี้) ในฐานะแรงงาน รวมถึงการเป็นทหาร แต่มาปิดแคบลงในปีพ.ศ.2515 ที่สัญชาติไทยโดยหลักดินแดน จะดูสถานะ เข้าเมืองของพ่อแม่ด้วย ณ เวลานั้น และนับจากนั้น ก็มีการถอนสัญชาติ ไม่ให้สัญชาติไทยกับเด็กที่เกิดจากพ่อแม่เข้าเมืองไม่ถูกต้อง ฯลฯ ซึ่งแนวคิดนี้มีผลถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี เด็กกลุ่มนี้ มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการเพื่อมีสัญชาติไทยได้ (เกิดไทย หลักดินแดน) หากรัฐบาลมีนโยบาย (มติคณะรัฐมนตรี) โดยกำหนดเงื่อนไข คุณสมบัติ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติ (พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2535, ฉบับที่ 4 พ.ศ.2551, ฉบับที่ 5 พ.ศ.2555) ซึ่งหากพิจารณาบริบทของสังคมในแต่ละช่วงเวลา ทุกอย่างไม่เคยง่ายดาย และเพราะทุกอย่างไม่เคยง่ายดาย จากคนเจนฯ แรกที่เข้ามาในไทย จนถึงคนเจนฯ สอง สาม .. ที่เกิดในไทย-ถูกนับเป็นจำนวนสะสมถึงกลายเป็นยอด 483,626 คนนั่นไง
2.3) กลุ่มเป้าหมายที่เพิ่มเติม ได้แก่ คนอีกสามกลุ่มคือ (1) เด็กที่ไม่ได้เกิดในไทย และกำลังเรียนในสถานศึกษาหรือจบการศึกษาแล้วแต่ไม่มีสถานะที่ถูกต้องตามกฎหมาย (2) คนไร้รากเหง้า (คนที่ไม่รู้ว่าพ่อแม่เป็นใคร เด็กถูกทอดทิ้ง) และ (3) คนที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศ ซึ่งคนสามกลุ่มนี้ มีเงื่อนไข/คุณสมบัติว่า ต้องมีชื่อในฐานข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย (ได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติตามมติคณะรัฐมนตรีในอดีตจนถึงปี พ.ศ. 2554 (ถือบัตรประจำตัว กลุ่ม 0-00)
3) ทุนทางสังคม ในสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ ที่กำลังจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด
คำถามที่ยังถามกันอยู่ว่า ทำไมสังคมไทยต้องเปิดรับ/เติมคนเข้ามา ก็ต้องถามกลับว่า เห็นตัวเลขคนสูงอายุในไทยกันแล้วใช่ไหม และตัวเลขเด็กเกิดใหม่ที่น้อยลง ตอนนี้สังคมไทยเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) และกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) ในปี พ.ศ.2579 มีการคาดการณ์ถึงจำนวนประชากรของประเทศไทยจะลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง คือจาก 33 ล้านคน จาก 66 ล้านคนใน 60 ปีข้างหน้า (พ.ศ.2627) ประชากรวัยแรงงานของไทยจะลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือเพียง 14 ล้านคน และประชากรสูงวัย (อายุ 65 ปีขึ้นไป) จะเพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านคน จาก 8 ล้านคน
(ดู เกื้อ วงศ์บุญสิน และปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์, เอกสารนำเสนอหัวข้อ “ฝ่าวิกฤตเด็กเกิดน้อย: ปัญหาเชิงโครงสร้าง ร่วมหาทางออกสู่การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567, หน้า 7)
ถึงแม้คนรุ่นเราอาจมีชีวิตไม่ยืนยาวไปถึงวัน Super Aged Society หรือไกลกว่านั้น และมันเป็นอนาคตของคนรุ่นถัดๆ ไป --เอาจริง เราอาจต้องนึกถึงสิ่งที่นักวิชาการด้านประชากรศาสตร์เสนอกันด้วยแล้วไหม นอกจากการส่งเสริมการเกิด active ageing โดยการเลื่อนอายุการเกษียณ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ฯลฯ แล้ว นโยบายการย้ายถิ่นเพื่อทดแทนประชากรที่ลดลงควร (Massive Immigration Policy) อาจต้อถูกนำมาพิจารณาอย่างจริงจัง ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้น (นึกถึงยังมีงานที่คนไทยไม่อยากทำ งานที่รอคนมาทำ อย่างดูแลคนสูงอายุ ที่ลุกเดินไม่ไหว ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ที่อาจเป็นกัน ฯลฯ)
(ดู อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์, “กรอบนโยบายใหม่ Massive Immigration Policy, Thailan”, นำเสนอในการสัมมนาเรื่อง “การบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมือง ผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองและแนวทางในการแก้ไขปัญหากฎหมายคนเข้าเมือง” จัดโดยคณะคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร วันที่ 20 พฤษภาคม 2567)
4) ประเด็นใหม่ม ใน มติคณะรัฐมนตรี 29 ตุลาคม 2567 (สรุปโดยคร่าว)
เรื่องแรก- "การอพยพยมาอยู่ในไทยนานแล้ว" หรือ "เกิดไทย" ไม่ใช่แค่พูดแล้วจะสามารถยื่นคำร้องคำขอได้เลย รวมถึงว่าพูดแค่นี้แล้วเจ้าหน้าที่จะเชื่อทันที ในมติครม. พูดชัดเจนว่า จะต้องปรากฎว่า (คนรุ่นพ่อแม่) ต้องมีชื่อในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของกรมการปกครองไม่น้อยกว่า 15 ปี และประเด็นนี้ ใช้วิธีการรับรองตัวเองไม่ได้
เรื่องที่สอง- "การรับรองตัวเอง" "พยานบุคคลที่น่าเชื่อถือ" เป็นกระบวนการลดขั้นตอนการตรวจประวัติอาชญากรรม (ส่งเอกสาร พิมพ์ลายนิ้วมือ, รอผล ส่งเอกสารไปจังหวัด ไปส่วนกลางฯลฯ) เป็นขั้นตอนที่ใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายอย่างไม่น่าเชื่อ "การรับรองตัวเอง" ณ วันนี้ ว่าผู้ยื่นคำขอไม่ได้มีพฤติกรรมที่ผิดกฎหมาย หากต่อไปตรวจพบเจอ (จากฐานข้อมูลอาชญากรรม ฯลฯ) ก็จะถูกดำเนินการในทางกฎหมาย อาจนำไปสู่ "ถอนสถานะ" ที่ได้ไปก่อนหน้า
เรื่องที่สาม- "เอกสารที่ยืนยันว่าเกิดในประเทศไทยจริง" การไปแจ้งเกิด เป็นเรื่องที่ยากขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อในบางพื้นที่ โดยเฉพาะการจดทะเบียนการเกิดย้อนหลัง ที่กลายเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อยาวนานในกระบวนการพิสูจน์และพัฒนาสถานะบุคคล
คุณคิดว่า สัก 30 ปีก่อน จะมีคนเกิดในโรงพยาบาลสักกี่คน เกิดจากหมอตำแยสักกี่คน
เรื่องที่สี่- “กระบวนการควรแล้วเสร็จภายใน 5 วัน” ตามมติคณะรัฐมนตรีล่าสุดนี้ ในฐานะคนทำงานด้านนี้ ยังลุ้นๆ ว่าจะเป็นจริงได้จริงหรือ
ที่ผ่านมา กรอบเวลา 270 วัน กับ 180 วัน ยังไม่เคยเห็นกับตาเลยว่าทำได้จริง (ยกเว้นเคสดังๆ) มองโลกในแง่ความเป็นจริง เราอาจเห็นจำนวนสะสมของคนไร้สัญชาติ/คนย้ายถิ่นที่อยู่มานานนนนนแล้ว สูงขึ้นอีกหรือเปล่า และก็กลับไปที่โจทย์เดิม
หรือในอีกทางหนึ่ง ในทางปฏิบัติก็เป็นเรื่องที่รู้กันโดยทั่วไปว่า การ “นับหนึ่ง” (วันที่หนึ่งนับจากวันรับคำร้องคำขอ) ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นกันได้โดยทั่วไป
-----------------------------------------
เพียงแต่ว่าหากทำได้จริง พลเมืองที่ถูกเติมเข้ามาก็จะกระจายตัวอยู่ทำงานในภาคการผลิต การบริการ ฯลฯ ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคมไทย ร่วมจ่ายภาษี ฯลฯ ส่วนข้อกังวลว่า จะก่อให้เกิด “วงจรซื้อขายเอกสาร รวมถึงพยาน” ก็เป็นเรื่องต้องบังคับใช้กฎหมายกันเช่นเดียวกันกับกรณีอื่นๆ
ต้องขอขอบคุณ สมช. ที่เห็นปัญหาความมั่นคงของประเทศจากแง่มุมของการขาดแคลนทรัพยากร/ทุนมนุษย์ของสังคมไทย การทำงานต่อเนื่อง จริงจังกับเป้าหมายนี้
ปอลอ มติคณะรัฐมนตรีที่ออกมานี้ ต้องบอกว่าภาคประชาสังคม นักวิชาการหลายคนทำงานกับหน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานระดับนโยบายหลากหลายหน่วยงาน/กระทรวงมานาน รวมถึงเป็นข้อเสนอในงานวิจัยของเราและเพื่อนพ้องน้องพี่ด้วย เพียงแต่หน้าตาไม่ได้เป๊ะๆ
ปอลอ สอง - ถุงใส่ "พยานเอกสาร" ต่างๆ ชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่คล้ายๆ ในพื้นที่อื่น คล้ายกับอีกหลายคน ที่พยายามเก็บเพื่อยืนยัน "การอยู่มานาน" "การเกิดในไทย" แต่เราก็ยังคงพบว่า มันไม่เคยครบ ไม่เคยดี (สมบูรณ์) พอ