วันเสาร์, ธันวาคม 24, 2565

ต้องอ่าน ความไม่เป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ - ถอดบทปาฐกถาว่าด้วยสถานะของ "รัฐธรรมนูญ" ในมุมประวัติศาสตร์กฎหมายและรัฐศาสตร์


iLaw
13h

“สำหรับประเทศไทย ถ้าดูในภาพรวมหรือประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญไทย เราจะพบว่า ตอนที่เราสร้างบ้านใหม่ขึ้นมา หรือปฏิรูปกฎหมายสมัยใหม่ในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมา เรายังไม่มีโครงสร้างบ้านที่แข็งแรง โครงสร้างบ้านที่เราสร้างขึ้นมาหรือสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญนั้น เป็นสิ่งที่เราคิดและทำกันเกือบจะลำดับสุดท้ายของสิ่งที่เรียกว่ากระบวนการปฏิรูปกฎหมาย เราค่อยมาคิดว่าจะทำยังไงให้บ้านมีโครงสร้างที่แข็งแรง ในตอนที่บ้านหลังนั้นสร้างเกือบเสร็จทั้งหมดไปเรียบร้อยแล้ว”
“เราเคยมีช่วงเวลาที่โครงสร้างบ้านของเราแข็งแรงแต่สุดท้ายก็ถูกรื้อ แล้วก็พยายามสร้างโครงสร้างบ้านใหม่ ดังนั้นแล้ว รัฐธรรมนูญจึงไม่ได้ถือว่าเป็นกฎหมายพื้นฐาน ไม่ได้เป็นฐานรากของกฎหมายทุกสาขาหรือกฎหมายทั้งปวงมาตั้งแต่ต้น อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่จะนำมาสู่อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องประกอบกัน คือ ในระบบการศึกษากฎหมายของไทยที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2440 ไม่มีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร อาจจะมีเรื่องของลัทธิการเมืองอยู่บ้าง แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในเวลานั้น หลายคนคงคิดว่าเข้าใจได้ เพราะเรายังคงปกครองในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยู่ในช่วงเวลานั้น แต่นั่นคือที่มาในทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้เกิดวิกฤตรัฐธรรมนูญครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ได้เป็นคุณค่าสูงสุดตั้งแต่แรก”
“วิชารัฐธรรมนูญ ได้รับการสอนอย่างจริงจังและมีการทดสอบวัดความรู้เป็นครั้งแรกนั้น เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเมื่อ พ.ศ. 2477 ถ้านับดูโรงเรียนกฎหมายที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2440 แล้ว กว่าเราจะได้เรียนกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างจริงจังและมีการทดสอบ ก็ต้องรอเปลี่ยนแปลงการปกครองและการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในปี พ.ศ. 2477”
“ผมกำลังจะชี้ว่าในระบบการศึกษากฎหมาย รัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นวิชาที่มีความสำคัญมาตั้งแต่แรก เมื่อมีการปรับหลักสูตร รัฐธรรมนูญกลายมาเป็นหนึ่งในวิชาบังคับของคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ วิชารัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในวิชาที่ต้องมีในหลักสูตร แต่ไม่ได้มีความสำคัญมากแต่อย่างใด เพียงแต่เรียนเพื่อให้รู้ว่าได้เรียนแล้ว เพื่อให้รู้ว่ารัฐธรรมนูญมีโครงสร้าง มีองค์กรทางรัฐธรรมนูญอย่างไร มีกลไกในการรักษาความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญอย่างไร ซึ่งจะแตกต่างกับการเรียนการสอนวิชารัฐธรรมนูญในต่างประเทศ ที่จะค่อนข้างให้ความสำคัญและมีหน่วยกิตค่อนข้างมาก”
“อีกหนึ่งข้อเท็จจริงที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นกฎหมายสูงสุด คือการที่รัฐธรรมนูญถูกฉีกครั้งแล้วครั้งเล่า ต่อให้เขียนไว้ว่าเป็นกฎหมายสูงสุด แต่คณะปฏิวัติก็ยังพยายามหาสาเหตุในการทำลายความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญอยู่ร่ำไป เพราะฉะนั้น การเขียนว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด มันไม่ได้มีความหมายอะไรเลย แล้วกับฉบับปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ก็ต้องบอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองที่สลับซับซ้อนที่สุดที่เราเคยเห็นมา”
“สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อในที่นี้ คือ รัฐธรรมนูญของไทยจะเป็นกฎหมายสูงสุด เฉพาะเมื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่น ยุบพรรคการเมือง ตัดสิทธิทางการเมือง ปลดนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อไรก็ตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญจะต้องถูกใช้เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน รัฐธรรมนูญจะกลายเป็นกฎหมายไม่สูงสุดทันที”
“อย่างเช่น เรื่องสิทธิในทางอาญา บุคคลต้องได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ไว้ก่อนจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด คำถามคือว่า หลักการเหล่านี้ ซึ่งเป็นคุณค่าสูงสุดที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ได้รับการบังคับหรือคุ้มครองแค่ไหนในทางปฏิบัติ คำตอบทุกคนตระหนักดีอยู่แล้ว คุณค่าที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ได้รับการปกป้องหรือคุ้มครอง ดังนั้น รัฐธรรมนูญของเรา จึงมีความสูงสุดในบางวาระโอกาสและไม่เป็นกฎหมายสูงสุดในอีกหลายๆ วาระโอกาส”
“สิ่งที่ผมอยากจะฝากไว้คือเราไม่ควรจะสนใจเพียงแต่กระบวนการในการสร้างรัฐธรรมนูญเท่านั้น เราจะเห็นได้ชัดเจนว่าเรามีกระบวนการที่ใกล้เคียงกับอุดมคติที่สุดในปี พ.ศ. 2540 แต่สุดท้ายแล้วรัฐธรรมนูญก็ถูกฉีกแล้ว และไม่ได้มีความหมายอะไร ความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญก็ยังคงเป็นหลักการที่เป็นนามธรรมอยู่ แต่สิ่งที่เราต้องทำต่อจากนี้ คือการสร้างวัฒนธรรม ทัศนคติ และความเชื่อ ในหมู่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่บังคับหลักการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เราจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ให้เขารู้สึกว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดอย่างแท้จริง”
รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในวันที่ 10 ธันวาคม 2565
อ่านต่อเต็มๆ ได้ทาง https://ilaw.or.th/node/6337

ภัควดี วีระภาสพงษ์
9h
Must Read!
“ถ้าสังเกตเราจะพบว่า หน้าที่ปกป้องรัฐธรรมนูญของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในประเทศไทยนั้นไม่ใช่หน้าที่หลัก แต่ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เราจะพบว่าการปฏิญาณตนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ต้องปฏิญาณขั้นแรกเลยคือการต้องพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ขณะที่เรามีคำขวัญหรือค่านิยม คือ ชาติ ศาสน์ พระมหากษัตริย์ เป็นสามคำที่มีความสำคัญมาก แต่สามคำนี้ไม่ได้อยู่ในรัฐธรรมนูญหรอกหรือ? มันอยู่ในรัฐธรรมนูญหมดเลยต่างหาก เพราะมันเขียนสิทธิเสรีภาพของประชาชนด้วย ดังนั้น ความจริงแล้ว การปฏิญาณของตนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหลาย สิ่งแรกที่ต้องทำคือการปฏิญาณว่าจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แน่นอนว่าต้องเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนหรือฉบับประชาธิปไตย”