Change.org
April 20 at 9:25 PM ·
จดหมายน้อยถึงพี่น้อง Change.org ชาวไทย
Change.org หายไปไหน . . .?
.
เหตุเกิดในวันนั้น
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ผู้ใช้งาน Change.org ในประเทศไทยทยอยส่งเสียงว่าอยู่ๆ ก็เข้าเว็บไซต์ไม่ได้ ไม่ว่าจะเข้าไปอ่านประเด็นร้อนที่เพื่อนส่งให้ อ่านอัพเดทการรณรงค์อนุรักษ์นกป่าใกล้สูญพันธุ์ หรือลงชื่อสนับสนุนให้เด็กไทยเข้าถึงเงินอุดหนุนจากภาครัฐ แบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
.
หลายคนแชร์ประสบการณ์ในโซเชียลว่าเวลาพยายามเข้า Change.org หน้าจอที่เจอคือ “เนื้อหานี้ถูกระงับ เนื่องจากมีความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และหรือเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 และที่แก้ไขเพิ่มเติม”
.
หลายคนงง สับสน จากนั้นสื่อต่างๆ ก็เริ่มลงข่าว เช่น 'Change.org' ถูกบล็อกการเข้าถึงโดยกระทรวงดีอีเอสแล้ว (The Standard, ตุลาคม 2563) Fear change much? Gov’t blocks change.org to stop petitions (Khaosod English, ตุลาคม 2563)
.
สิ่งที่เกิดขึ้นคือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้อาศัยอำนาจตามคำสั่งศาลสั่งปิดกั้นการเข้าถึง Change.org ทำให้ผู้ใช้งานในไทยไม่สามารถเข้าเว็บไซต์ได้ แม้คนจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลกจะเข้า Change.org ได้ปกติก็ตาม
.
หลายเดือนที่ผ่านมา เราได้ยินเสียงจากผู้ใช้งานเว็บไซต์มากมาย ทั้งที่ถามว่าเว็บหายไปไหน และที่ท้อใจเพราะไม่สามารถผลักเรื่องรณรงค์ของตัวเองต่อได้ หลายคนส่งเสียงห่วงใย หรือแม้แต่อาลัยที่ไม่รู้ว่า Change.org จะโดนบล็อกอีกนานแค่ไหน จะได้กลับมาเป็นพื้นที่ให้คนธรรมดาๆ ได้รณรงค์สร้างการเปลี่ยนแปลงอีกรึเปล่า
.
ตลอดช่วงเวลานี้เราได้ทำงานอย่างหนัก โดยสู้ตามกระบวนการทางกฎหมายไทยเพื่อให้เว็บไซต์กลับมาเปิดได้อีกครั้ง และล่าสุด ศาลก็ได้มีคำสั่งให้ยกเลิกการปิดกั้น Change.org เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญไทย!
.
วันนี้ เรากลับมาพร้อมให้บริการทุกคนแล้ว
ขอขอบคุณทุกคนที่แสดงความคิดถึง Change.org เราขอใช้โอกาสนี้ยืนยันว่าแม้จะมีอุปสรรคมากมาย แต่เราก็ตั้งใจจะรักษาพื้นที่แห่งนี้ไว้ในประเทศไทย เพื่อช่วยให้คนธรรมดาๆ (ที่ไม่ค่อยธรรมดา) สามารถรวมพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ต่อไป หลายคนคงรู้ดีว่าการจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนอะไรในสังคมไทยไม่ใช่เรื่องง่าย บางคนลุกขึ้นมาแล้ว (โดนผลัก) ล้มลงไป แต่ก็ลุกขึ้นมาใหม่ อีกครั้งและอีกครั้ง
.
Change.org ขอส่งกำลังใจกลับไปให้ทุกคนที่ลุกขึ้นมาเริ่มและพยายามก้าวต่อ เราขอเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนธรรมดาได้เริ่มพูด เริ่มผลัก สั่งสมพลังให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การลงชื่อบน Change.org สามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวทางสังคม ด้วยการจุดประกายให้เกิดบทสนทนาในวงกว้าง กระตุ้นให้คนที่เห็นตรงกันมารวมตัวกัน นำไปสู่การผลักดันที่ต่อเนื่อง จนเปลี่ยนเรื่องต่างๆ ได้ในที่สุด ไม่วันนี้ ก็วันหน้า
.
กลับมารณรงค์ด้วยกันนะ
Change.org จะยังคงเป็นพื้นที่ที่เปิดให้ผู้ใช้งานเว็บไซต์เป็นคนเริ่มและผลักดันเรื่องรณรงค์ด้วยตัวเอง ทุกคนยังคงเป็นเจ้าของพื้นที่แห่งนี้ร่วมกันภายใต้กฎและระเบียบชุมชน Change.org
.
ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา พื้นที่แห่งนี้ค่อยๆ เติบโตขึ้นในไทย จนวันนี้มีสมาชิกผู้ใช้งานเกือบ 5 ล้านคนในประเทศ และ 438 ล้านคนทั่วโลก Change.org กลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คน ‘ตัวเล็ก ธรรมดา เสียงเบา’ ที่อาจไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหน ได้เสนอทางออก แล้วชวนให้คนอื่นๆ ร่วมเป็นปากเป็นเสียง จนเสียงดังขึ้นมา เกิดระลอกการเคลื่อนไหวในสังคม ไปจนถึงขั้นสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ ‘ยิ่งใหญ่’ ไม่ว่าจะเป็น...
- ทำให้การครอบครองสื่อลามกเด็กผิดกฎหมาย
- ผ่านพ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ฉบับแรกในไทย
- ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีเข้าถึงยาที่จำเป็น
- บริษัทเอกชนหยุดการเลือกปฏิบัติในการรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าทำงาน
- คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ปลดร่าง ‘ซีอุย’ ออกจากพิพิธภัณฑ์
- หรือผลักดันให้สัตว์หายากใกล้สูญพันธ์อย่าง วาฬบรูด้าและนกชนหิน ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าสงวน
และยังมีอีกหลายเรื่องรณรงค์ที่กำลังจะกลับมาพร้อมกับเว็บไซต์ เพราะ . . .
#ChangeOrgรีเทิร์น #เพิ่มเติมคือฆ่าไม่ตาย