วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 01, 2563

The Impossible Dream of อานนท์ นำภา The Man of La-Kala “ผมภาวนาให้สถาบันกษัตริย์ปรับตัว”



The Impossible Dream-Man of La Mancha

This song became an anthem for all who pursue a higher quest.

Exclusive อานนท์ นำภา – “ผมภาวนาให้สถาบันกษัตริย์ปรับตัว”

101world | Sep 21, 2020




เขามักเรียกตัวเองว่าเป็นทนายน้อยจากร้อยเอ็ด

เป็นลูกชาวนาที่สังคมไทยเริ่มได้ยินชื่อในราวปี 2553 หลังการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง เขาอาสาว่าความให้ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองในนาม ‘สำนักทนายความราษฎรประสงค์’

จากที่ขึ้นศาลว่าความอย่างเดียว ความเขี้ยวของการเมืองไทยผลักให้เขาถูกดำเนินคดีเสียเอง ตั้งแต่คดีอาญาไปจนถึงคดีความมั่นคง ซึ่งใช้นิ้วมือไม่พอนับสำหรับจำนวนข้อหาที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐฟ้อง

“คนส่วนใหญ่อาจพิพากษาว่าผมเป็นพวกขบวนการล้มเจ้า แต่ไม่ใช่ ผมเป็นทนายที่ต่อสู้เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ อยากเห็นสังคมที่ดีกว่านี้ ผมโชคดีที่เรียนกฎหมายมาก็ต้องใช้กฎหมายให้ถูกทาง” เขาเคยพูดไว้ตั้งแต่ 10 ปีก่อน เมื่อถูกป้ายสีสร้างภาพไปพร้อมกับลูกความ

ผ่านไป 10 ปี วันนี้เขาเขย่าสังคมไทยจนถึงโคน การปราศรัยเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์บนเวทีการชุมนุมขับไล่เผด็จการของนักศึกษาที่เริ่มต้นในเดือนสิงหาคม ได้ปลุกบทสนทนาแห่งความกลัวให้กลายเป็นหัวข้อสาธารณะ

ทุกความสงสัยในหัวจิตหัวใจทนายอานนท์ นำภา เราให้เขาอธิบาย

อะไรทำให้ตัดสินใจปราศรัยเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

เริ่มจากเวทีชุมนุมของนักศึกษาทั้งก่อนโควิดและหลังโควิด ผมคิดว่าคนที่มาร่วมชุมนุมเกือบทั้งหมดตั้งคำถามกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่เรื่องแก้รัฐธรรมนูญหรือการยุบสภาอย่างเดียว

เราเห็นในป้ายที่พวกเขาชูในม็อบมันเป็นประเด็นเกี่ยวกับสถาบันฯ ทั้งนั้น กระทั่งเราถูกโจมตีว่าเป็นม็อบล้มเจ้า ม็อบก้าวล่วง แต่ผมคิดว่าการตั้งคำถามต่อสถาบันฯ ของผู้ชุมนุมไม่ใช่การล้มเจ้า แต่เป็นการตั้งคำถามด้วยความสงสัยว่าทำไมหลายๆ เรื่อง สถาบันฯ ถึงไม่อยู่ในร่องในรอยในระบอบประชาธิปไตย

ประเด็นคือช่วงแรกนั้นผู้ปราศรัยกลับไม่ได้พูดเรื่องเหล่านี้เลย ผมเกรงว่าอันตรายจะไปตกกับผู้ชุมนุมแทน เพราะผู้ชุมนุมที่ชูป้ายกำลังถูกตำรวจคุกคาม อาจจะถูกตั้งข้อหาอะไรต่างๆ ได้ ดังนั้นน่าจะถึงเวลาแล้วที่เราต้องพูดเรื่องสถาบันฯ อย่างตรงไปตรงมาสักที ต้องยอมรับว่าการปล่อยให้สถาบันฯ มีพระราชอำนาจล้นเกินกว่าที่ระบอบประชาธิปไตยจะอนุญาตนั้นเป็นปัญหา

วันที่ 3 สิงหาคม ที่ผมพูดหน้าแมคโดนัลด์ ตรงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จริงๆ มันแค่เป็นการคิกออฟเฉยๆ เพราะขบวนนักศึกษาเขาตั้งใจจะพูดเรื่องนี้กันอยู่แล้ว คนที่มาฟังก็ตั้งใจมาฟังเรื่องสถาบันฯ แต่เขาคงไม่คิดว่าผมจะพูดอย่างตรงไปตรงมา เต็มที่ก็คงพูดเปรียบเปรยเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์กับลอร์ดโวลเดอมอร์

แต่วันนั้นผมตั้งใจพูดด้วยความเคารพ เคารพต่อตัวเอง ต่อผู้ฟัง และต่อสถาบันฯ ไม่อย่างนั้นจะเป็นการซุกปัญหาไว้ใต้พรม เรื่องนี้ไม่มีทางแก้ได้ถ้าไม่พูดกันตรงๆ

ยอมรับตื่นเต้นพอสมควร คนฟังทั้งผู้ชุมนุมและตำรวจก็ตื่นเต้น ฟังกันเงียบกริบ จะไหวไหม จะรอดไหม จะหลุดไหม


พอพูดไปแล้ว คุณประเมินมวลชนยังไง

ผมว่าเหมือนเตะบอล ทีมชาติไทยเจอกับต่างชาติ เหมือนส่งปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ไปเขี่ยลูก แล้วน้องๆ ก็บอกให้ออกมานั่งได้ จากนั้นพวกเขาก็รับช่วงต่อไป จริงๆ แล้วเราเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของมวลชน กำลังหลักที่แท้จริงคือคนรุ่นใหม่

เท่าที่ผมสัมผัส ผู้ฟังไม่ได้มีปฏิกิริยาตอบรับแบบโห่หรือปรบมืออะไรมากมาย แต่เขาเป็นห่วงมากกว่า เพราะหลังจากนั้นตำรวจออกหมายจับเพื่อสกัดไม่ให้ผมไปพูดต่อ

พวกนักข่าวก็ยังตั้งตัวกันไม่ติด สื่อหลายสำนักลบคลิปที่ผมพูดครั้งแรกไป มีไม่กี่สำนักที่ยังเหลืออยู่ บางสำนักข่าวถ่ายทอดสดอยู่ พอผมพูดจบปุ๊บเขาก็ลบออก และผมคิดว่ามันส่งผลมาถึงวันที่ 10 สิงหาคม ที่นักศึกษาธรรมศาสตร์จัดเวทีพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาต่อหน้าคนเป็นหมื่น


เตรียมตัวหรือทำการบ้านก่อนพูดนานไหม

ไม่นาน เพราะอยู่ในองค์ความรู้ระดับหนึ่ง ผมติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่เริ่มทำคดีมาตรา 112 แล้ว เรารู้ว่าบทบาทของสถาบันฯ ต่อการเมืองไทยมีเรื่องไหนที่ไม่ปกติบ้าง หลายเรื่องที่เรายังไม่พูดถึงก็เป็นเรื่องที่สังคมไทยรับรู้อยู่แล้ว แต่ผมพูดให้ชัดลงไปในบทบาทของรัชสมัยปัจจุบัน เช่น การที่พระองค์ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แต่ไปอยู่ที่เยอรมนีเสียส่วนใหญ่ ซึ่งส่งผลต่อการปกครองพอสมควร

อย่างการขยายพระราชอำนาจโดยรัฐบาลทหาร ด้วยการออกกฎหมายแต่ละฉบับที่เปลี่ยนโฉมหน้าของสถาบันฯ ไป เช่น เรื่องการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เรื่องการโอนย้ายกำลังพลทหารส่วนหนึ่งซึ่งเป็นจำนวนมากด้วย ทำให้สถาบันฯ มีพระราชอำนาจกว้างขึ้นจนหลายคนคิดว่านี่เกือบจะเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซ่อนรูปแล้ว

หลังจากที่ผมพูดไปแล้ว แม้แต่กลุ่มที่เป็นรอยัลลิสต์หรือคนที่รักเจ้าเองเขาก็เห็นด้วย หลายคนบอกว่าเรื่องนี้ควรจะพูดได้แล้ว แต่เขาไม่กล้าพูดอย่างตรงไปตรงมา พอเราพูดออกไปก็เหมือนพูดแทนพวกเขาด้วย จึงไม่แปลกใจเลยว่าฝ่ายชนชั้นนำ พวกราชนิกุลหลายกลุ่มไม่ออกมาด่านักศึกษาเลย เขาอาจจะไม่เชียร์ตรงๆ แต่ก็ไม่ด่า ผมคิดว่าการที่คนเหล่านี้ไม่ออกมาด่าก็แสดงว่าเขาเห็นด้วยแล้วล่ะ


แต่ก็มีอีกไม่น้อยที่เชื่อว่าสิ่งที่คุณพูดไม่ใช่แค่การปฏิรูป

ไอเดียของคณะราษฎรหรือประเทศประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์ทั่วโลก หลักการคือระบอบประชาธิปไตยอนุญาตให้มีสถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่สถาบันกษัตริย์อนุญาตให้มีประชาธิปไตย แล้วผมคิดว่าประเทศที่มีสถาบันฯ ในระบอบประชาธิปไตย ประชาชนหมั่นไส้ได้ รำคาญได้ การวิพากษ์วิจารณ์เป็นเรื่องปกติ การที่คนรู้สึกไม่ปกติ ไม่พอใจเป็นเรื่องธรรมดามาก

เราห้ามความรู้สึกคนไม่ได้ใช่ไหม แต่เราไม่ได้มุ่งหมายขนาดตั้งกองกำลังมายึดพระราชอำนาจหรือยึดทรัพย์ของพระองค์คืน ตรงนี้เราชัดเจน และการแก้ปัญหาที่เราเสนอไปก็แก้ได้ด้วยกฎหมายทั้งนั้น แก้ในระดับพระราชบัญญัติ ไม่ได้ยากอะไร

อย่างที่นักเรียนเรียกร้องว่าการศึกษาต้องหยุดยัดเยียดข้อมูลเฉพาะด้านดีเท่านั้น ก็สามารถไปแก้ที่หลักสูตร แล้วเอาเรื่องจริงมาพูดกัน แค่นั้นเอง ไม่มีความจำเป็นในการใช้กำลังหรือทำอะไรที่นอกกรอบรัฐธรรมนูญเลย

ผมคิดว่าพวกขวาสุดโต่งไม่ชินกับการพูดเรื่องสถาบันฯ เขาเชื่อว่าถ้าพูดไปแล้วกลัวขี้กลากจะกินกบาล แต่พวกคุณก็พูดเรื่องการเมือง นักการเมืองมันเลวมันชั่วไปสิ เราแค่มองข้ามปัญหาที่หมักหมมมานาน ตั้งแต่สำนักทรัพย์สินฯ โครงการพระราชดําริ กองทัพ พวกชนชั้นนำที่นิยมความรุนแรง หลายส่วนที่อยู่รอบๆ สถาบันฯ และกัดกินตัวสถาบันฯ เองด้วย

วันนี้นักศึกษาเขาพูดเรื่องขบวนเสด็จฯ ที่ทำให้รถติด เพราะเขาไม่ชิน คนรุ่นใหม่เขาไม่ได้แคร์เรื่องขี้กลากกินกบาล ในทวิตเตอร์พูดเรื่องนี้กันปกติ แต่คนรุ่นเก่ายังติดอยู่ในความกลัว ไม่มั่นใจว่าพูดได้แค่ไหน ที่ผ่านมาเลยทำให้เพดานในการพูดถึงสถาบันฯ นั้นต่ำมาก แต่วันนี้เพดานถูกทำลายลงโดยคนรุ่นใหม่แล้ว


เป็นไปไม่ได้ที่ประเทศไทยจะมีคนอายุช่วง 40 ขึ้นไป ส่วนคนรุ่นใหม่หายไปหมดเลย เป็นไปไม่ได้ที่จะปราบให้หมดไป


ปกตินักกิจกรรมมักพูดกันว่า “การต่อสู้ถ้าไม่ตายก็ติดคุกหรือลี้ภัย” แต่คุณเคยพูดว่า “การต่อสู้จะไม่มีใครชนะอยู่ฝ่ายเดียว ทั้งฝ่ายประชาธิปไตยและเผด็จการจะชนะด้วยกัน” แปลว่าอะไร

ถ้าบ้านเมืองเราเป็นประชาธิปไตยและมีสถาบันฯ ที่อยู่ในกรอบจริงๆ ทุกฝ่ายจะชนะร่วมกัน ทุกคนแฮปปี้ แต่สังคมไทยไม่เป็นอย่างนั้น เราไม่เคยมีระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง เหมือนอย่างที่สากลโลกเขาเป็นกัน ถ้าเราสามารถไปถึงจุดนั้นได้ ฝ่ายเจ้าอยู่ได้ ฝ่ายที่ไม่เอาเจ้าก็อยู่ได้ เพราะว่าเจ้าไม่ได้มีอำนาจในการบริหารจัดการบ้านเมือง ฝ่ายเจ้าจะได้รับความเคารพที่แท้จริง

ถ้าบ้านเมืองเราเป็นประชาธิปไตย สถาบันฯ จะเป็นตัวแทนของรัฐ จะได้รับการถวายความปลอดภัยปกติ เวลามีแขกบ้านแขกเมืองมา เจ้าก็ไปเป็นตัวแทนรัฐบาลเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ถ้าเป็นแบบนี้ได้ผมคิดว่าจะเป็นการชนะร่วมกันทั้งประเทศ


คุณอธิบายยังไงว่าฝ่ายที่ไม่เอาเจ้าไม่ได้แปลว่าต้องทำลาย แต่เป็นเพียงการอยู่ร่วมกันในสังคมปกติ

เราต้องยอมรับว่าคนส่วนใหญ่เขาต้องการเสรีภาพ ถ้าจะพูดกันแค่ว่าจงรักภักดี ไม่ใช่ ถึงจุดหนึ่งถ้าสถาบันฯ ไม่ยอมปรับตัว คนรุ่นใหม่อาจจะมีข้อเสนอที่ต่างออกไป แต่ผมพยายามจะรักษาเพดานไว้เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสีย เพราะคนที่ยังได้ประโยชน์จากสถาบันฯ เขาไม่ยอมแน่

แต่ถ้าสถาบันฯ ไม่ยอมปรับตัวเลย ผมว่าจะเป็นปัญหา เพราะว่าคนที่นิยมเจ้า อายุมากๆ ก็จะทยอยตายไป คนรุ่นใหม่เขาก็จะโตขึ้นมา แต่เขาไม่ได้อินด้วยเหมือนผู้ใหญ่ เขาไม่ได้ถูกฝังหัวมาเหมือนผู้ใหญ่ แต่เขาโตมากับการใช้เสรีภาพอย่างกว้างขวางมาก เขามีอีกโลกหนึ่งคือโลกออนไลน์ ดังนั้นถ้าสถาบันฯ ไม่ยอมปรับตัวจริงๆ ถึงจุดหนึ่งมันอาจจะเป็นจุดแตกหัก


อะไรทำให้คุณกังวลว่าคนรุ่นใหม่อาจจะแตกหัก

เวลาผมไปพูดตามต่างจังหวัด หรือแม้แต่กรุงเทพฯ เวลาลงมาข้างล่างเวที เด็กมัธยมเขาพูดกันเยอะนะว่าทำไมเราไม่เป็นเหมือนฝรั่งเศส ผมก็บอกว่าประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศต่างกัน และมันสุ่มเสี่ยงกับการสูญเสียมาก

เราต้องตั้งหลักว่าเขาไม่ได้บอกว่าเขาจะไม่เอาเจ้านะครับ แต่เขาบอกว่าถ้ามีแล้วเป็นปัญหา เขาอาจจะคิดใหม่ก็ได้ จุดนี้มันท้าทายมากว่าสถาบันฯ กับคนรุ่นใหม่จะอยู่กันอย่างไรในอนาคต เพราะรัฐคงไม่มีทางไปตัดอินเทอร์เน็ตหรือปิดหูปิดตาเขาได้

ครูสอนเนื้อหาในชั้นเรียนอย่างหนึ่ง แต่เด็กมีทวิตเตอร์ มีข้อมูล เขาเอาให้ครูดูว่ามันเป็นยังไง ไอ้ค่านิยม 12 ประการที่ให้เด็กท่องจำ ไม่มีทางซึมเข้าหัวเขาได้เลย และคนที่ออกมาต่อสู้ตอนนี้คือคนที่ถูกบังคับให้ท่องค่านิยมมาทั้งนั้น

ผมคิดว่าชนชั้นนำไทยต้องยอมรับความจริงนี้ ถ้าไม่ยอมรับ และคนรุ่นใหม่พร้อมจะแตกหักหรือยอมสูญเสีย มันอันตราย ผมคิดว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีทางแพ้ และคนรุ่นเก่ากำลังทยอยตายไปเรื่อยๆ ส่วนคนรุ่นใหม่ ผมคิดว่าแทบจะเป็นเอกฉันท์ที่พวกเขาอยู่ฝั่งประชาธิปไตย


แต่ถ้าชนชั้นนำเลือกการปราบปรามเหมือนที่ผ่านๆ มาล่ะ

มันเป็นไปไม่ได้ที่ประเทศไทยจะมีคนอายุช่วง 40 ขึ้นไป ส่วนคนรุ่นใหม่หายไปหมดเลย เป็นไปไม่ได้ที่จะปราบให้หมดไป แล้วเอาเข้าจริงๆ ต้องยอมรับนะว่าคนที่นิยมเจ้า อายุ 40-50 ปีขึ้นไป เขาเปลี่ยนความคิดมาอยู่ข้างคนรุ่นใหม่เยอะนะ รวมถึงข้าราชการหลายคนด้วย


ในทางหนึ่ง พอคุณเปิดประเด็นแล้ว นักศึกษารับช่วงไปต่อ แต่ในรัฐสภายังไม่ขยับตาม จะทำอย่างไร

จริงๆ คนข้างนอกมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้สภาพูดเรื่องพวกนี้ ผมจำได้ว่าตอนที่ พ.ร.บ.โอนกำลังพลเข้าไปในสภา นักการเมืองเขาไม่อยากพูดเรื่องนี้กัน แต่ผมก็เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง ส.ส. ว่าต้องพูดเรื่องนี้ ทำให้นักการเมืองบางส่วนกล้าพูดมากขึ้น

ถามว่าจะทำอย่างไร ประชาชนก็ต้องกดดันนักการเมืองให้พูดเรื่องนี้ต่อไป คนข้างนอกอาจจะพูด 80% ในสภาพูดได้แค่ 2% แต่พอเราขยับเพดาน นักการเมืองก็ต้องขยับตาม อาจจะไม่เท่ากัน แต่ผมว่าเพดานมันขยับขึ้น เพราะถึงที่สุดเรื่องพวกนี้ สภาต้องเอาด้วยถึงจะเห็นผล ถ้าเราสามารถรวบรวมรายชื่อแก้กฎหมายเกี่ยวกับสถาบันฯ สภาจะอยู่เฉยไม่ได้ ประชาชนต้องกระทุ้งพวกเขา


เคยคิดเผื่อไหมว่าที่คุณสู้อยู่นี้ แย่ที่สุดที่ต้องเผชิญจะเป็นอย่างไร

มากสุดก็น่าจะโดนฆ่าไหม คงไม่มีอะไรสูงกว่าโดนฆ่าหรอก

ผมว่าทุกคนเกิดมามีหน้าที่ อย่างผมมองชีวิตแบบโรแมนติกหน่อย รูปเฟซบุ๊กผมใช้รูปจิตร ภูมิศักดิ์ จะตายก็ตายแค่นั้นแหละ ถือว่าคุ้มที่ได้ทำอะไรบางอย่างฝากไว้ ถ้าอยู่ไปแบบไม่มีเสรีภาพ ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ถ้าอยู่ไปกินเหล้าไป สุดท้ายเป็นมะเร็งตายก็ไม่มีประโยชน์

ผมว่าทุกคนมีความกลัว แต่ต้องระมัดระวัง เราต้องตายให้ช้าที่สุด ก่อนตายก็ทำอะไรทิ้งไว้ ที่เหลือก็เป็นเรื่องของคนอื่น ต่อให้ไม่มีเรา คนอื่นก็ทำแทนอยู่ดี สิ่งที่คนเจเนอเรชันนี้ทำไว้ก็ถูกส่งต่อไปอีกรุ่นหนึ่งอยู่ดี

มันไม่มีชัยชนะเด็ดขาดเสมอไปหรอก ที่พูดกันว่า “ให้มันจบที่รุ่นเรา” หมายถึงปัญหาที่เกิดในช่วงนี้ควรจบในรุ่นนี้ แต่ปัญหาใหม่ๆ ในอนาคตก็จะมีมาเสมอ ความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ ประเทศไหนราบเรียบไม่มีหรอก


คนเราเกิดมามีหน้าที่ก็จริง แต่การปฏิรูปสถาบันฯ แทนที่จะเป็นบทบาทของนักการเมือง ทำไมถึงเป็นหน้าที่ของคุณทั้งที่เป็นเพียงทนายความ

เป็นจังหวะพอดี จริงๆ ผมอยู่ในกระแสการเมืองมาเป็น 10 ปี ตั้งแต่ปี 2553 ผมอยู่ในบทบาทของทนายความ ไม่ได้เป็นแกนนำ พอรัฐประหาร 2557 มีกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ผมเป็นแกนหลักได้ออกสื่อ ตั้งเวทีปราศรัย จนมาถึงกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง มันเป็นโอกาสที่เราได้จับไมค์พูด หลายๆ คนบอกว่า “พี่ต้องเปิด พี่เปิดแล้วผมตาม” เอ้า เปิดก็เปิด แล้วการออกมามันไม่ใช่เรื่องความกล้าหาญอะไร เป็นแค่การคิกออฟ คนรุ่นใหม่เขาต้องการให้เกียรติรุ่นพี่ก็แค่นั้น สุดท้ายเราก็เตรียมตัวไปนั่งข้างเวทีเชียร์น้องๆ ไป


เวลามีคนมองว่าคนรุ่นใหม่พวกนี้ก้าวร้าว ไม่ฟังคนมีประสบการณ์ และอาจนำไปสู่ความรุนแรง คุณมองอย่างไร

เอาแว่นไหนไปส่องล่ะ ถ้าเอาแว่นคนรุ่นเก่าไปส่องก็ก้าวร้าวหมดแหละ ถ้าเอาแว่นคนรุ่นใหม่หรือคนทั่วไปทั่วโลกมามอง นี่เรื่องปกติ วันนี้เสียงของคนรุ่นใหม่แทบจะเป็นเอกฉันท์ว่าต้องการปฏิรูปสถาบันฯ เด็กมัธยมที่ขึ้นมาปราศรัยวันนี้ พูดด้วยความชัดถ้อยชัดคำ พูดด้วยความรู้

ประเทศที่เขาเจริญแล้วเวลาไม่พอใจอะไรบางอย่าง การพูดออกมาตรงๆ เป็นเรื่องปกตินะ ถ้ารถติดจากขบวนเสด็จฯ ก็บอกว่ารถติดจากขบวนเสด็จฯ ถ้าไม่พูดแบบนี้แล้วจะให้พูดแบบไหน

ถ้าเราลืมอดีตได้ ตื่นขึ้นมาวันหนึ่งมาเจอเรื่องแปลกๆ เป็นใครก็ต้องพูด แต่ที่เราไม่กล้าพูดเพราะเรามีความทรงจำในอดีตไง คนรุ่นใหม่วันนี้ตื่นมาเจอเรื่องแปลกๆ โดยที่เขาไม่มีความทรงจำในอดีต เขาก็พูดออกมาตรงๆ

เวลาผมพูดเรื่องสถาบันฯ บนเวที ผมมีความกลัวนะ การชนะความกลัวได้คือความกล้าหาญ เราต้องเอาความกล้าหาญขึ้นไปพูดบนเวที พูดไปเหงื่อก็ออกเต็มมือ แต่คนรุ่นใหม่เขาไม่ได้มีความกลัวเลยนะ และเขาไม่มีความกล้าด้วย เพราะเขาพูดด้วยความรู้สึกปกติ เป็นความปกติของคนรุ่นใหม่ นักเรียนนักศึกษาถือป้ายแสดงออกด้วยความปกติ กลายเป็นว่าความกล้าของคนรุ่นผมเป็นความปกติของคนรุ่นใหม่


ถ้าในหลวงอยากคุยกับนักศึกษาก็เป็นไปได้ นักศึกษาคิดแบบนี้ ท่านคิดอย่างไร คุยกันด้วยความเคารพเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ งดงามด้วย


ในการชุมนุมที่ผ่านมา เราเห็นคนเสื้อแดงกับนักศึกษาแทบจะกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คุณคิดว่าเพราะอะไร

เราต้องยอมรับความจริงเรื่องนี้ คนรุ่นใหม่มีอิทธิพลกับคนรุ่นเก่าสูงมาก คำว่า “ให้มันจบที่รุ่นเรา” แทบจะเป็นความหวังของคนรุ่นเก่าด้วยซ้ำ คนเสื้อแดงหรือว่าคนที่ต่อสู้มาก่อนก็เหมือนหญ้าแห้งจวนจะตาย ป้าๆ หลายคนพูดแบบนี้ แต่พอมีคนรุ่นใหม่ออกมา มันเหมือนสายฝนชโลมใจ หลายคนซักเสื้อแดงเอาออกมาใส่ใหม่ เรื่องนี้งดงามมาก เราได้เห็นป้าๆ ออกมาต่อสู้อีกครั้ง อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตเขาด้วย

ที่สำคัญคือมันมีจุดเชื่อม ช่วงที่ชุมนุมแรกๆ ยังมีกำแพงขวาง คนรุ่นเก่าไม่กล้าลงถนนไปปะปนกับน้องๆ ไม่อยากไปทำให้น้องๆ มัวหมอง ไม่อยากทำให้พวกเขาแปดเปื้อน ผมว่าจุดที่ทำลายกำแพงลงอย่างสิ้นเชิงจริงๆ คือการที่มีนิสิตจุฬาฯ เอาบทกวีของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ขึ้นไปพูดบนเวทีที่จุฬาฯ แล้วขอโทษคนเสื้อแดงที่เคยเข้าใจผิดไป มันทำให้กำแพงของคนสองรุ่นถูกทำลายลง

ผมว่าถ้าเป็นเด็กรามคำแหงหรือเด็กธรรมศาสตร์ไปขอโทษคนเสื้อแดงก็ไม่เท่าไหร่นะ แต่เด็กจุฬาฯ ซึ่งมีความเป็นอีลีตสุดๆ แล้วในประเทศนี้ แล้วยังเป็นมหาวิทยาลัยฝ่ายเจ้าด้วย การขอโทษคนเสื้อแดงจึงมีพลังมาก พอมีการชุมนุมใหญ่ คนระดับลุงๆ ป้าๆ ออกไปร่วมกันเต็ม และก็ไม่มีใครไปกล่าวหาว่าไปยึดเวทีเด็ก เพราะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้วระหว่างคนสองเจเนอเรชัน


พอนักศึกษาขยับเพดานการชุมนุมขึ้นเรื่อยๆ คุณประเมินอนาคตของการเคลื่อนไหวจากนี้ยังไง


ผมไม่ก้าวล่วงเรื่องยุทธศาสตร์ของคนรุ่นใหม่นะ ผมบอกน้องๆ ไว้แล้ว เวลาเขานัดประชุมกัน ผมก็ไม่ได้คุยด้วย ผมบอกพวกมึงคิดเอาเลย เพราะถ้าเราเข้าไปมันจะมีชุดความกลัวอยู่ อย่างน้องๆ เสนอมาว่าต้องยึดสนามหลวง ถ้าเราเข้าประชุมแล้วก็อาจจะบอกว่าอย่าเลย มันติดกฎหมายโน่นนี่ มันจะทำให้เขากลัวตามเรา

ดังนั้นทั้งยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี เราปล่อยให้เขาคิดเต็มที่ เรามีหน้าที่หนุนเสริมเท่านั้น ต่อให้เรารู้สึกกลัวและไม่เห็นด้วยกับแนวทางของพวกเขา เราก็ต้องร่วมตายเป็นตาย เพราะมาด้วยกันขนาดนี้แล้ว


แต่ประสบการณ์ที่เห็นการปราบคนเสื้อแดงในปี 2553 มาแล้ว คุณกังวลว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยไหม


ถ้าผมจะไปมีอิทธิพลหรือมีอะไรกับนักศึกษาอยู่บ้าง ผมคิดว่าการให้ข้อเท็จจริงแล้วให้เขาไปตัดสินใจเองมากกว่า เพราะสถานการณ์มันเปลี่ยนไปหมด เอาชุดวิเคราะห์เดิมไปใส่เขาไม่ได้

ตอนปี 2553 คนเสื้อแดงถูกฆ่าเพราะเป็นรากหญ้า ไม่มีปากเสียง พวกผู้มีอำนาจคิดว่ายิงไปก็ไม่มีปัญญามาดำเนินคดีหรอก แต่ครั้งนี้เอาความคิดเดิมไปจับไม่ได้เลย

ถ้าวันนี้ยิงม็อบขึ้นมา ไม่รู้กระสุนจะไปโดนลูกหลานตัวเองหรือเปล่า จะโดนลูกอธิบดีหรือลูกผู้ตรวจการหรือเปล่า เพราะคนที่มาร่วมมันหลากหลาย คนมาม็อบ บางคนเล่นสเก็ตมา บางคนแต่งตัวเหมือนวัยรุ่นเกาหลีมาเลย รองเท้าคู่ละหมื่น ใส่เสื้อเชิ้ตสีดำ ใส่หูฟัง คนที่มาชุมนุมเป็นคนจนอย่างพวกเราก็มี แต่ลูกคนรวย ลูกข้าราชการก็เยอะ คุณยิงมาไม่รู้จะโดนลูกตัวเองหรือเปล่า


ผมคิดว่าไม่ใช่คนรุ่นใหม่ไม่เอาเจ้านะ แต่เขาต้องการเสรีภาพในการเลือก ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาล้มล้างอะไรเลย


ถ้าให้ถอยตัวเองออกมาหน่อย คุณคิดว่าขบวนการคนรุ่นใหม่ตอนนี้ยังขาดอะไรไหม

มันเป็นความไม่สมบูรณ์ที่งดงาม เป็นความไม่พร้อมที่พร้อมจะสู้ งดงามในความมั่วๆ เราไม่รู้ว่าเขาจะเล่นอะไรกันบนเวที เป็นเรื่องที่ท้าทายไปหมด ถ้าจะมีอะไรที่ขาดจริงๆ ของขบวนคือคนที่มีอำนาจ มีหน้าที่อะไรบางอย่างควรมารับไม้ต่อจากพวกเขา ทั้ง ส.ส. หรือสื่อมวลชน นอกนั้นผมว่าแทบจะไม่ขาด เงินบริจาคมีเรื่อยๆ อาหารไม่ขาดแคลน แต่องค์กรหรือคนที่มีอำนาจมาซัปพอร์ตเรานั่นแหละที่ขาด


แล้วมวลชนฝ่ายขวาล่ะ เวลานี้คุณมองกลุ่มคนเหล่านี้อย่างไร

เป็นความปกติของคนที่คิดไม่เหมือนกัน เขามีชุดความคิดและประสบการณ์อีกชุด เราเองก็มีอีกชุด สิ่งที่เราต้องทำคือเปลี่ยนความคิดของเขาโดยไม่โกหก สู้ด้วยความจริง ข้อดีของโซเชียลตอนนี้คือเถียงกันได้ เวลาเขาโพสต์ด่าฝั่งเรา แล้วฝั่งเราไปให้ข้อมูลหรืออาจจะด่ากลับไปบ้าง ความคิดคนมันเปลี่ยนได้นะ

เช่น อย่างน้อยคุณต้องยอมรับว่าวันนี้ในหลวงอยู่เยอรมนี แม้จะมีพวก IO มาบอกว่าท่านอยู่ประเทศไทยตลอด ไม่เคยไปไหน ธงของสถาบันกษัตริย์ยังโบกไสวอยู่ แต่พอฝั่งเราให้ข้อเท็จจริง เขาก็ยอมรับว่าเถียงไม่ได้ มันเถียงไม่ออกหรอก ตอนนี้สังเกตได้ว่าการจัดตั้งม็อบชนม็อบก็ทำไม่ได้ เขาปลุกไม่ขึ้น สองร้อยคนจะมาปะทะหมื่นคนเป็นไปไม่ได้

ถ้าจะมีคนที่ต้องการใช้ความรุนแรงกับเราตอนนี้ ผมคิดว่าเป็นรัฐอย่างเดียวเลย ไม่ก็นักเลง ทหารตำรวจที่เป็นนักเลง ถ้าเป็นคนธรรมดาผมเชื่อว่าไม่กล้า

ถึงจุดหนึ่งผมคิดว่ามันต้องมีการเจรจากันนะ ถ้าไม่อยากให้เกิดความรุนแรงต่อกัน อาจจะนอกรอบหรือในรอบ แต่ต้องคุยกันในแง่ที่ว่าทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้


ใครบ้างที่คนรุ่นใหม่อยากเจรจาด้วย

ถึงวันนั้นก็ต้องเป็นคนที่สามารถเปลี่ยนสังคมได้พอๆ กัน ถ้าในหลวงอยากคุยกับนักศึกษาก็เป็นไปได้ นักศึกษาคิดแบบนี้ ท่านคิดอย่างไร คุยกันด้วยความเคารพเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ งดงามด้วย


มองข้ามนายกฯ ไปเลย ?

ส่วนตัวผมคิดว่าในหลวงท่านมีมุมที่คุยกันตรงๆ ได้ ต่อให้ท่านจะไม่เอาข้อเสนอของเด็กก็ตาม ที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะไปคุยกับในหลวงเฉพาะท่านคนเดียวนะ อาจจะเป็นคนอื่นก็ได้ที่มีอำนาจในการพูดคุยจริงๆ แต่อย่างประยุทธ์นี่ไม่คุยหรอก


การเสนอแบบนี้กลัวจะมีคนมองว่าก้าวล่วงไหม

มันมีแน่ๆ พูดอย่างนี้ปุ๊บมีคนรับไม่ได้อยู่ดี มึงเป็นใครจะไปคุยกับท่าน แต่ผมว่าคุยกันได้ คนรุ่นใหม่เขาไม่คิดซับซ้อน เขาคิดว่าคุยกันก็คือคุยกัน ถ้าวันหนึ่งในหลวงบอกว่าพวกคุณอยากให้สถาบันฯ ปรับตัวอย่างไร เราก็เสนอไป ถ้าท่านบอกว่าทำไม่ได้ หรือทำได้แค่ไหน ก็คือการคุยกันปกติ

ถึงตอนนี้ ผมคิดว่าไม่ใช่คนรุ่นใหม่ไม่เอาเจ้านะ แต่เขาต้องการเสรีภาพในการเลือก ไม่ได้ตั้งหน้าตั้งตาล้มล้างอะไรเลย แต่ผมไม่แน่ใจว่าอีกฝั่งจะจับความรู้สึกนี้ได้หรือเปล่า

ถ้าเรามีเจ้าแบบที่อังกฤษหรือญี่ปุ่น คนรุ่นใหม่เขาจะไม่ตั้งคำถามเลย แต่พอไม่เหมือนกันและแปลกกว่าที่อื่น เขาก็ตั้งคำถามเป็นปกติ จะไม่ถามก็ไม่ได้ เพราะเราอยู่บนโลกเดียวกัน อยู่ในโลกนี้ เลือดสีแดงเหมือนกัน ไม่มีใครเลือดสีน้ำเงิน เป็นคอมมอนเซนส์ คนเหมือนกันจะต่างกันได้อย่างไร

ผมภาวนาให้สถาบันกษัตริย์ปรับตัวนะ เพราะว่าถ้าไม่ปรับ ไอ้รุ่นเราไม่เท่าไหร่หรอก แต่รุ่นเด็กๆ ไม่รู้ว่าเขาจะคิดอย่างไร เพราะมันมาถึงจุดที่หลายคนประกาศไม่รับปริญญากันแล้ว


ตั้งแต่ต่อสู้ทางการเมืองมา มีสักครั้งไหมที่คิดว่าวันหนึ่งอาจจะต้องลี้ภัย หรืออยู่ไปแบบนี้ดีกว่า

มีแว่บๆ บ้าง แต่ถ้าลี้ภัยแล้วทำอะไรไม่ได้ ก็ไม่รู้จะไปทำไม คนเรามีเงื่อนไขไม่เหมือนกัน แต่ว่าผมอยู่แล้วทำอะไรได้มากกว่า บางคนอยู่อาจจะทำอะไรไม่ได้ก็ออกไปเถอะ ไปใช้ชีวิตข้างนอกแล้วสู้ต่อไปด้วยกัน บางคนไม่ออกหน้าแต่ยังสู้ด้วยกัน ส่วนผมคิดไม่ออกว่าถ้าไปแล้วจะทำอะไรได้มากกว่านี้


ต้านรัฐประหารก็แล้ว พูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ก็แล้ว ขึ้นโรงขึ้นศาลมาก็ไม่น้อย คุณมีทางเลือกอื่นๆ ในการต่อสู้อีกไหม นอกจากการพูดและชุมนุม

การต่อสู้มันไม่ได้จบภายในวันเดียว ผมคิดว่าการขยายฐานมวลชนเป็นภาระสำคัญ จะทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่มาอยู่ข้างเรา ทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่มองเห็นปัญหาของประเทศ


เป็นเกมที่ยืดเยื้อยาวนาน ?

ใช่ เพราะการเลือกแนวทางที่สร้างความสูญเสียไม่ได้หมายความว่าเราจะชนะเสมอไป


แปลว่าคุณจะไม่ออกนอกลู่นอกทาง นานแค่ไหนก็นาน

ใช่ ผมยังมีเรื่องส่วนตัวด้วย ไวน์ เพลง เพื่อน ครอบครัว มีหลายเรื่องที่ยังรอเราอยู่ ชีวิตในฝั่งสนุกสนานก็จำเป็น ส่วนรวมก็ทำไป

ข้อดีของผมอย่างหนึ่งคือไม่ค่อยตื่นเต้นเรื่องเงินเรื่องทองเท่าไหร่ เหมือนเราอินกับนิยายกำลังภายในที่พระเอกไม่ได้คิดจะสะสมความมั่งคั่ง แต่มันหาความสำราญ ถ้ามีเงินก็อยากได้เงินไปหาความสำราญ เป็นอารมณ์จอมยุทธพเนจรที่ไม่ได้สนใจเรื่องเงิน เหมือนถ้ามีนางโลมสวยที่สุดในแผ่นดินยกจอกยาพิษให้ดื่มก็พร้อมจะดื่มด้วยความเต็มใจ