วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 10, 2561

'รู้เขารู้เรา' คสช. จะเอาอย่าง 'ปูติโนมิคส์' มะ

อีกประเด็น รู้เขารู้เรา รู้ไว้จับทางชั้นเชิงเผด็จการประชาธิปไตยนิยมที่ คสช. ไม่ได้เอาอย่าง แต่ทำท่าจะไปทางนั้น

นิตยสารฟอเรนจ์แอ็ฟแฟร์ลงบทความเรื่อง “ความสำเร็จอันน่าทึ่งของนโยบายเศรษฐกิจแบบปูติน” หรือ ปูติโนมิคส์ สามารถทัดทานทั้งวิกฤตราคาน้ำมันและการแซงชั่นของสหรัฐได้ด้วยนโยบายสามประสาน

คือ หนึ่ง -รักษาความมั่นคงเศรษฐกิจมหภาค กำกับตัวเลขหนี้สาธารณะไว้ให้อยู่ในอัตราต่ำ เช่นเดียวกับระดับเงินเฟ้อ สอง –ประกันว่าตัวเลขการว่างงานต้องต่ำอยู่เสมอ ควบไปกับเบี้ยตอบแทนหลังเกษียณอย่าได้ขาด

ข้อสาม –ยอมให้ภาคธุรกิจเอกชน (บรรษัทเจ้าสัว) ปรับปรุงและขยายกิจการตามต้องการ ขออย่างเดียวอย่าให้ขัดกับเป้าหมายทางการเมืองของคณะผู้นำ

เหล่านี้นอกจากทำให้เศรษฐกิจรัสเซียอยู่ยงคงกระพันมาได้ภายหลังอุบัติการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงราคาตกดิ่งเมื่อปี ๒๕๕๗ ผนวกกับการที่พันธมิตรตะวันตกใช้มาตรการแซงชั่น ปิดกั้นธุรกิจการเงิน บรรษัทพลังงาน และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (อาวุธ) ของรัสเซีย

แล้วยังทำให้สมรรถภาพทางการปกครองของประธานาธิบดีวราดิเมียร์ ปูติน แข็งแกร่งตลอดกว่าสามปีที่ผ่านมา ชนิดที่แน่นอนว่าในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในวันที่ ๑๘ มีนาคมนี้ คาดว่าปูตินจะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สี่ ด้วยคะแนนนิยมขณะนี้อยู่ที่ระดับ ๘๐ เปอร์เซ็นต์

โดยที่ภาพรวมเศรษฐกิจรัสเซียปัจจุบันดูดีมีความมั่นคง ภาวะเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ฐานะงบประมาณก็สมดุล ฟอเรนจ์แอ็ฟแฟร์ถึงกับยอมรับว่าหายากที่ประเทศซึ่งอยู่ในลักษณะ โจรครองเมืองหรือ ‘kleptocracy’ อย่างรัสเซียนี้ จะได้รับคำชมจากไอเอ็มเอฟในเรื่องการบริหารเศรษฐกิจ


แต่นโยบายเศรษฐกิจของปูตินไม่ได้ทำให้อัตราจีดีพีดูดีไปด้วย (นั่นคือการกระจายความมั่งคั่งอยู่ในวงจำกัดของประชากรส่วนที่เข้าถึงทรัพยากรได้ หรือพวกนักธุรกิจใหญ่ๆ แบบเดียวกับที่บ้านเราเรียกว่า รวยกระจุก จนกระจาย)

ทรัพยากรหลักของรัสเซียก็คือน้ำมัน หลังวิกฤตราคาน้ำมันหล่นฮวบในปี ๒๕๕๗ ปีที่ปูตินเข้าสู่อำนาจ สามารถประคองตัวมาได้ รัสเซียต่างกับเวเนซูเอล่า แหล่งทรัพยากรน้ำมันอีกแห่ง ตรงที่นำเงินรายได้น้ำมันไปจ่ายหนี้สะสมจนกระทั่งหมด (ใครจะนึกถึงทักษิณใช้คืนหนี้ไอเอ็มเอฟที่รัฐบาลก่อนหน้าสร้างไว้ ก็ไม่ว่ากัน) แทนที่จะเอาไปซื้อของฟุ่มเฟือย อย่างรถถัง เรือดำน้ำ ฯลฯ ไว้อวดเด็ก

ขณะเดียวกัน ความนิยมทางการเมืองของปูตินอยู่ในระดับสูงได้ เพราะฝ่ายตรงข้ามหรือใครก็ตามที่อิทธิพลทางการเงินสูงพอเทียบชั้น ไม่กล้าหือหรือไม่ก็ถูกกดหัว นึกถึงข่าวผู้ต่อต้านปูตินคนหนึ่งที่หมายมั่นจะแข่งขันชิงตำแหน่งกับปูติน ต้องเงียบหายไปเพราะโดนจับใส่คุกด้วยข้อหามะโนสาเร่

เซอร์ไก แกลิทสกี้ เจ้าสัวเครือข่ายซูเปอร์มาเก็ตยักษ์ของรัสเซียยอมรับว่า “เมื่อเป็นเรื่องการเมือง ผมจะนั่งกินป็อปคอร์นบนโซฟาซะ ไม่เช่นนั้นอาจลงไปหมอบกับพื้น ไม่ให้ถูกกระสุนหลง” ธุรกิจเอกชนใหญ่ๆ มักจะเป็นผู้ให้ความร่วมมือที่ดีของภาครัฐ (เหมือนกับไทยเบฟ ซีพี สหพัฒน์ กรุงเทพฯ กสิกร ฯลฯ)

นั่นเป็นเหตุหนึ่งทำให้อัตราว่างงานต่ำ บรรษัทธุรกิจเอกชนในรัสเซียส่วนใหญ่ยินดีจ้างแรงงานที่ไม่ต้องการเอาไว้เพื่อ ประชารัฐของปูติน ขณะเดียวกันก็เฉลี่ยความรับผิดชอบ กระจายภาระ ค่าแรงต่ำ ไปที่แรงงานอื่นๆ โดยรวม

นโยบายนี้เหมือน นัดเดียว นกสามตัวโรงงานได้หน้า คนงานได้เฮ ปูตินได้กระชับอำนาจ เพราะไม่มีการก่อม็อบ “คนรัสเซียจะไม่ออกมาประท้วงถ้าค่าแรงน้อยไป แต่หากถูกเลิกจ้างหรือมีการปิดโรงงานละก็ คนงานจะเต็มถนน” คริส มิลเลอร์ ผู้เขียนบทความ ปูติโนมิคส์ชี้

ไม่ว่าที่ปรึกษายุทธศาสตร์อยู่ยาว ๒๐ ปีของ คสช. จะได้เบาะแสกลเม็ดเด็ดพรายของปูตินไว้แล้ว (ทีมหัวหน้า คสช. เคยไปวินโดว์ช้อปปิ้งที่มอสกาวกันนี่ เสียดายปูตินไม่ว่าง) หรือเห็นบทความนี้แล้วถูกใจ ก็แล้วแต่

ข้อสำคัญอยู่ที่ชั้นเชิงของปูตินเช่นนี้ทั่วโลก (หรืออย่างน้อยในซีกตะวันตก) รู้เช่นเห็นแจ้งกันอยู่ ยังมีประชากรภายในประเทศที่ได้รับผลกระทบแต่ถูกปิดปากอีกจำนวนไม่น้อย รอคอยน้ำลด หรือในไม่ช้าฝนตกลงมา ขี้หมูไหล ได้ชำระล้างกัน
มองโลกแล้วย้อนมามองเรา จะว่าบังเอิญก็ใช่ เห็นข่าวของเดอะสเตรทไทมส์วันก่อนเพิ่งแชร์กันเมื่อวาน เรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ด้วยเทคโนโลยี่แบบรถไฟชินกันเซ็นของญี่ปุ่น อันเป็นส่วนหนึ่งของเมกกาโปรเจ็ค คสช. พยายามดัน

(ดูรายละเอียดข่าว ที่ http://www.straitstimes.com/asia/se-asia/japan-rejects-calls-to-invest-in-thailands-bullet-train หรือคอมเม้นต์ของ Tanawat Wongchai ถ่ายทอดเนื้อหาไว้น่าฟัง ดังภาพ)
หลังจากที่กระบวนการศึกษาความเป็นไปได้เสร็จสรรพมีข้อสรุป ทางการไทยอยากประหยัดรายจ่าย ขอให้ญี่ปุ่นลดความเร็วเหลือปานกลางซะอีก (จะได้ไม่ล้ำหน้าจีนมั้ง) ตอนนี้ทางญี่ปุ่นตอบมาว่า ถ้าอยากได้แค่ ปานกลาง ก็ไม่ใช่ชินกันเซ็นน่ะสิ

ถ้ายังต้องการเครื่องหมายการค้า เจแปนให้หาเงินมาจ้างเอง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ หรือจะกู้จากญี่ปุ่นทั้งหมดก็ได้ ยินดีคิดดอกต่ำๆ แต่จะเอาอย่างใจบิ๊กตุ่นลุงตูบ ให้ลงทุนร่วมกันระหว่างไทยกับญี่ปุ่นนั้น ไม่เอา

รมว.คมนาคม อาคม เติมพิทยาไพสิฐ บอกถึงอย่างไรเราอยากได้ชินกันเซ็น ซึ่งคงต้องยืนความเร็วสูงสุด ๓๐๐ ก.ม./ช.ม. ไม่ใช่ ๑๘๐-๒๐๐ อย่างที่ คสช. ขอ ก็เลยจะลดรายจ่ายด้วยการขอตัดจำนวนสถานีตรงกลางทางออกไป

ญี่ปุ่นเขาสอนมวยกลับมาอีกว่า จุดประสงค์ของชินกันเซ็นเพื่อนำความเจริญไปยังพื้นที่ตามสถานีต่างๆ อย่างรวดเร็ว ‘real time’ ทันโลก ทันเล่ห์ ทันใจ หากจะตัดสถานีกลางทางเหล่านั้นก็เท่ากับปิดกั้นหูตาประชาชนรายรอบสถานี ไม่คุ้มกันหรอก

ตอนนี้ทั่นรัฐมนตรีเลยไม่รู้จะไปต่อยังไงเหมือนกัน ต้องฟังเสียงกระทรวงคลังดูก่อน เพราะถ้าลงทุนเอง ๔๒๐,๐๐๐ ล้านบาทคงไม่ไหว ประเทศไทยไม่ได้มีทรัพยากรน้ำมันอย่างรัสเซีย มีแต่แก๊สธรรมชาติกระจิ๊ดไว้ส่งออกถูกๆ (กว่าราคาขายในบ้าน)

ถ้ากู้ยืมอีกก็เพิ่มพันธะหนี้ (ที่ส่วนใหญ่ผลักภาระไปให้อนุชนรุ่นหลัง) ที่จะทำให้การยืดอายุครองอำนาจอีกสี่ห้าปีข้างหน้าดูไม่สวย จะอ้างว่าอยู่ต่อเพื่อแก้ปัญหาคั่งค้างเหมือนอ้างตอนเข้ามาใหม่ๆ เมื่อเกือบสี่ปีที่แล้วก็ไม่ได้ละ

เว้นแต่จะบอกว่ารัฐบาลชุดเก่าเป็นทหารชื่อบิ๊กตุ่น รัฐบาลใหม่เป็นนักการเมืองชื่อลุงตุ่น คนละคน คนละเวลากันนั่นเหรอ