สรุปเสวนา: 5 ปัญหาประชาธิปไตยไทย ทำไมดึกดำบรรพ์
12 ธ.ค. 2559
โดย iLaw
นักวิชาการเผย อุปสรรคประชาธิปไตย 5 ข้อ ตุลาการแทรกแซงการเมือง ชนชั้นนำเปิดทางกุมอำนาจ นายทุนไม่เอื้อประชาธิปไตย รธน.ทำรัฐมีปัญหา วัฒนธรรมปลูกฝังชาตินิยม
10 ธันวาคม 2559 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีงานเสวนาออกตามหาประชาธิปไตยในยุคดึกดำบรรพ์ (Finding democracy in a jurassic world) โดยมีนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ รวมถกปัญหาเพื่อตอบคำถามว่าทำไมสังคมไทยถึงไม่เป็นประชาธิปไตย และมีข้อเสนออะไรที่จะกลับไปสู่ประชาธิปไตย
สถาบันตุลาการเป็นส่วนหนึ่งของระบบการเมืองไม่ใช่องค์กรผูกขาดศีลธรรม
รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ตุลาการเป็นอีกประเด็นที่มีปัญหาในสังคมไทย โดยการอภิปายจะเริ่มจากข้อถกเถียงเกี่ยวกับสถาบันตุลาการไทยที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการพยายามหา “ตำแหน่งแห่งที่” ของสถาบันตุลาการว่าจะเป็นไปตามหลัก “แบ่งแยกอำนาจ” ที่ฝ่ายตุลาการต้องจำกัดอำนาจของตัวเองอยู่ที่การชี้ขาดข้อขัดแย้งทางกฎหมายเท่านั้น หรือจะเป็น “ตุลาการภิวัฒน์” เข้ามาแทรกแซงพื้นที่ทางการเมือง โดยเชื่อว่าศาลคือองค์กรที่เป็นกลาง เป็นผู้เข้ามากอบกู้วิกฤตการเมืองจากเผด็จการรัฐสภา/ทุนนิยมสามานย์ แต่ทั้งนี้ รศ.สมชาย มีข้อสังเกตส่วนตัวว่า ผู้ที่สนับสนุนแนวคิดอย่างหลังก็จะมีคนอย่าง ธีรยุทธ บุญมี เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ในการพยายามถกเถียงเรื่องตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันตุลาการลักษณะนี้ ทำให้ รศ.สมชาย เห็นว่า มันยังมีแง่มุมอื่นๆ อีก เช่นการศึกษาความเป็น “การเมืองของตุลาการ” โดยมีตัวอย่างแนวคิดมาสองอย่าง ได้แก่ หนึ่ง แนวทางที่มองว่า ศาลเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีอคติจากความรู้ ประสบการณ์ เพศ สถานะ ศาสนา และอีกแนวทางคือ ศึกษาความเป็นการเมืองของตุลาการ โดยในแนวทางหลังมีความน่าสนใจที่ว่า สถาบันตุลาการจะธำรงไว้ซึ่งอำนาจดั้งเดิมหรืออำนาจนำในกรณีที่ “ชนชั้นนำไม่สามารถยึดกุมอำนาจสภาได้” เมื่อนั้น ตุลาการจะกลายเป็นเครื่องมือของชนชั้นนำทันที
เมื่อกรอบในการศึกษาและมองสถาบันตุลาการเป็นเช่นนี้ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล จึงเสนอว่า เราต้องปรับมุมมองใหม่ โดยไม่มองว่าสถาบันตุลาการนั้นเป็น Moral Being (ผู้ผูกขาดศีลธรรม) แต่เป็น Political Being (ส่วนหนึ่งของระบบการเมือง) แทน
ชนชั้นนำล้าหลัง เปิดช่องรัฐประหาร สถาปนาตนเป็นข้าราชการ
รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่า เรามีชนชั้นนำที่ล้าหลังซึ่งนำพาชนนั้นกลางให้ล้าหลังไปด้วย อีกทั้งชนชั้นนำและชนชั้นกลางจำนวนหนึ่งเห็นว่าประชาธิปไตยไม่สามารถแก้ปัญหาใดๆ ได้ เพราะในสายตาของชนชั้นนำไทยเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นวิธีการไม่ใช่หลักการ เป็นวิธีที่ใช้ควบคุมอำนาจ ชนชั้นนำไทยเห็นว่าประชาธิปไตยจะเป็นภัย เพราะให้อำนาจกับประชาชนมากเกินไป
รศ.ดร.สุธาชัย กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญในสายตาของชนชั้นนำถือว่าเป็นประชาธิปไตยมากเกินไป ชนชั้นสูงจะกุมอำนาจไม่ได้ จึงสะท้อนชัดเจนว่าทำไมพวกเขาไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ ซึ่งเป็นต้นเหตุของรัฐประหาร โดยใช้ข้ออ้างคือ การปฏิรูป ซึ่งเป็นการทำลายประชาธิปไตย ประชาธิปไตยไม่ใช่เป้าหมายที่ทำให้ยึดอำนาจ อย่างล่าสุดพลเอกประยุทธ์ยึดอำนาจเพราะคุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ) ได้สร้างสถานการณ์ พูดง่ายๆ คือรัฐประหารเป็นการทำตามข้อเสนอของคุณสุเทพให้บรรลุ
“ผมคิดว่าประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่อยู่ระบบเผด็จการทหารโดยตรง ไม่มีประเทศไหนในเอเชีย ลาตินอเมริกา หรือแอฟริกาอยู่ในระบบนี้ ฉะนั้นสังคมไทยจึงอยู่ในยุคดึกดำบรรพ์ การแก้ปัญหาการเมืองด้วยวิธีรัฐประหารเขาไม่ใช้กันแล้ว เราไม่เคยมีรัฐประหารที่แก้ปัญหาการเมืองได้ แต่การยึดอำนาจจะทำไม่ได้เลยถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากชนนั้นนำจารีตประเพณี ซึ่งเปิดไฟเขียวให้กับพวกปกครองประเทศ และผมมีข้อสังเกตคือ กองทัพไทยทุกสมัยคือระบบราชการที่ถืออาวุธ ดังนั้นเมื่อเกิดการรัฐประหาร กองทัพก็ต้องสถาปนาระบบอำนาจของข้าราชการ แต่ที่น่าสนใจคือรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ทำไม่ได้ เพราะระบบราชการในปัจจุบันก็ทำไม่ได้” รศ.ดร.สุธาชัย กล่าว
นายทุนขนาดใหญ่รักษาผลประโยชน์
ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เราต้องมองไปที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ ปัจจุบันเรามีข้าราชการที่รับเงินเดือนเอกชน คำถามคือมันจะกระทบกระเทือนต่อความเป็นกลางของข้าราชการที่รักษาผลประโยชน์ของประชาชน ยิ่งเป็นเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายมันจะกระเทือนความเป็นกลางในการใช้กฎหมายหรือไม่ เพราะตอนนี้หลายๆ โครงการใหญ่แทบไม่ต้องทำโดยไปถามประชาชน ที่เราเรียกร้องให้มี EHIA EIA กระทั่งประชาพิจารณ์มันหดหายไปจากสังคม
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ กล่าวต่อว่า นักรัฐศาสตร์จะรู้ว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยจะเอาใจกลุ่มทุนขนาดใหญ่แล้วนายทุนขนาดใหญ่ก็จะเลี้ยงทุกคน เราไม่ได้อยู่ในความสัมพันธฺเชิงอุปถัมป์ เรามีคนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามให้กับสังคมที่ไม่เสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคนจน เกษตรกร ปัญหาประชาชนที่ถูกรุนราน มักถูกมองข้ามไป มันต้องมีวิธีการเชื่อมโยงให้เข้ากับการเมือง
รัฐซ้อนรัฐ โครงสร้างอันเหลื่อมล้ำในกรอบรัฐธรรมนูญ
รศ.ยุทธพร อิสรชัย อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า โครงสร้างของรัฐในสังคมไทยถือเป็นอุปสรรคของประชาธิปไตย คือรัฐซ้อนรัฐ เพราะเรามีรัฐธรรมนูญที่กำหนดโครงสร้างสังคมการเมือง มีรัฐสภา มีการเลือกตั้ง ขณะที่เราก็อยู่ในรัฐราชการ ที่เกิดในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มันจึงไม่สอดคล้องกับการเกิดประชาธิปไตยในประเทศไทย โดยเฉพาะกองทัพและศาลไม่ได้ปรับให้เข้ากับโครงสร้างรัฐ ศาลกลายเป็นเครื่องมือควบคุมระบบการเมือง
“สภาวะรัฐซ้อนรัฐถูกกำหนดโดยรัฐธรรมนูญ ถ้าเราไม่สามารถคลายปมตัวนี้ได้จะเป็นประชาธิปไตยยาก แม้จะมีกระบวนการสร้างหรือขับเคลื่อนการมีส่วนร่วม แต่เราจะเห็นว่าประชาชนจะถูกตัดตอนตลอดเวลา เมื่อประชาชนมีพื้นที่มากเข้า รัฐธรรมนูญก็กลายเป็นจำเลยในการรัฐประหาร”
“การสร้างวัฒนธรรมที่เข็มแข็ง เวลาเราพูดถึงระบบการศึกษา จะได้ยินว่าโง่จนเจ็บ ซึ่งเป็นวิธีคิดมายาคติจากรัฐไปสู่ประชาชน คนไทยไม่มีคุณภาพ วิธีคิดแบบนี้เองทำให้เป็นปัญหาอุดมการณ์ที่ไม่สามารถสร้างได้อย่างจริงจัง แต่ลำพังแค่การศึกษาหรือความรู้เรื่องระบบสังคมมันไม่พอ ต้องมีตัวแสดงอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน กระบวนการหล่อหลอมทางทางสังคม ถ้ายังถูกครอบงำ โอกาสเกิดพหุสังคมจะเป็นไปได้ยาก เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปในทิศเดียวกัน รัฐธรรมนูญจะเป็นแค่กล่องความฝัน วิธีคิดแบบประชาธิปไตยจะยังไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง” อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ กล่าว
วัฒนธรรมร่วมสมัยสร้างวาทกรรมรั้งประชาธิปไตย
อาจารย์ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ป๊อปคัลเจอร์ วัฒนธรรมก็เข้ามาแทรกแทรงสังคมการเมือง และคนก็เห็นว่ามันโอเค บางคนเห็นว่าทำได้เพราะมันสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ดีอยู่ ป๊อปคัลเจอร์สะท้อนความรู้สึกนึกคิดของคนในสังคมช่วงเวลานั้น อย่างในการศึกษาระหว่างประเทศ เขาจะศึกษาเรื่องภาพยนตร์ อย่างปีค.ศ. 2001 เหตุการณ์ 911 ภาพยนตร์หลังจากนั้นจะมีซอมบี้เยอะมาก เพราะคนกลัวสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ มากกว่านั้นคือรัฐบาลสหรัฐมีแผนการรับมือซอมบี้ออกมา ความกลัวสะท้อนผ่านวัฒนธรรมร่วมสมัย
“ในประเทศไทยมีวัฒนธรรมที่เน้นความเป็นไทย (เน้นเสียง) เยอะมาก ในประเทศไทยมีนาคี คุณอุบล ฯลฯ นักการเมืองเป็นตัวร้ายของละครไทยหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะในการเมืองท้องถิ่น ขณะที่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการเป็นพระเอก อาจจะต้องมีการศึกษาว่าวัฒนธรรมมันสร้างความรู้สึกขั้วตรงข้ามต่อประชาธิปไตยอย่างไร” อาจารย์ปองขวัญ กล่าว
อาจารย์ปองขวัญ กล่าวต่อว่า เรื่องคุณธรรมก็ไม่มีคำตอบหรือคำนิยามที่ตายตัว ซึ่งมันถ่ายทอดผ่านพ่อแม่ ปัญหาคือเราไม่ตั้งคำถามกับคนที่อาวุโสกว่า และเราไม่ตั้งคำถามเพราะว่าเขาเป็นเขา ทำให้เราเชื่อ สรุปแล้ววาทกรรมประชาธิปไตยแบบไทยๆ กับป๊อปคัลเจอร์จะอยู่ไปอย่างนี้หรือเปล่า นี่อาจเป็นสิ่งสำคัญให้ความชอบธรรมกับกระบวนการที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย
...