วันอาทิตย์, ธันวาคม 25, 2559

Phumtham Wechayachai : เปิดใจให้กว้าง อย่ามองข้อกังวลใจและความห่วงใยของประชาชนกว่า 500,000 คน เป็น เจตนาร้าย (กรณีต้าน พรบ.คอมฯ)





ความห่วงใย
ปลายปี 2559

เปิดใจให้กว้าง
อย่ามองข้อกังวลใจและความห่วงใยของประชาชนกว่า500,000คน เป็น
เจตนาร้าย
เพราะทุกคนก็รักประเทศและอยากเห็นประเทศก้าวเดินไปข้างหน้า

ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้พิจารณาผ่านร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งขณะนี้กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ จนมีการแสดงความเห็นคัดค้านของผู้ไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมากถึง 500,000 ราย เรียกร้องให้รัฐดำเนินการไตร่ตรองและทบทวนเสียใหม่ ซึ่งมีท่าทีที่จะขยายตัวออกไปอย่างต่อเนื่อง ด้วยความเห็นและข้อกังวลว่าจะเกิดผลเสียหายในทางเศรษฐกิจและมีผล กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลได้

ความเห็นและข้อห่วงใยของผมต่อประเด็นดังกล่าว เห็นว่า
ถึงแม้เราจะเห็นว่า ประเทศมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงระเบียบกฎเกณฑ์เพื่อเตรียมรับมือกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากอาชญากรรมและความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ อันเป็นการมองในมิติความมั่นคงแห่งรัฐ แต่เราก็ต้องพิจารณาให้รอบด้านถึงผลกระทบต่อสิทธิ เสรีภาพอันเป็นเงื่อนไขสำคัญของวิถีสังคมในโลกยุคใหม่
ปัจจุบันความจำเป็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ภายใต้บริบทของโลกยุคดิจิตอลและเทคโนโลยี กำลังเป็นสิ่งสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะประเทศที่แข่งขันกันในระบบเศรษฐกิจเสรีนิยม การเปิดกลไกการสื่อสารที่กว้างขวางเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและการยอมรับในกติกาสากลที่คนทั้งโลกกำลังจับตามอง ดังนั้นสิ่งที่รัฐไทยพึงกระทำในปัจจุบัน คือการสร้างสรรค์กฎ กติกา ที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้เชื่อมโยงกับระบบเครือข่าย เทคโนโลยีที่ทันสมัยมากกว่า

ส่วนความห่วงใยของรัฐในการเฝ้าระวัง การป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์อันเป็นความเสี่ยงในโลกยุคใหม่ เป็นแนวคิดที่ต้องพิจารณาหลายมิติควบคู่กัน เพราะการออกกฎควบคุมและการแทรกแซงโดยความเห็นชอบของรัฐ อาจทำให้เกิดการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ถึงขั้นเลือกปฏิบัติ และนำไปสู่การสร้างความหวาดระแวง ความไม่มั่นใจให้เกิดขึ้นในหมู่ประชาชนทั่วไป ที่สำคัญอาจทำให้เกิดเงื่อนไขใช้อำนาจในการคุกคามละเมิดสิทธิประชาชนกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงวงการสื่อสารมวลชนอย่างกว้างขวาง ย่อมนำไปสู่การสร้างกำแพงปิดกั้นการแสดงออกโดยบริสุทธิ์ใจอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์
สถานการณ์ที่มุ่งใช้อำนาจควบคุมจะทำให้รัฐไทย มีภาพลักษณ์ของการใช้อำนาจอย่างไม่เหมาะสมนำไปสู่อุปสรรคที่ประเทศจะไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐประชาธิปไตยและอาจก่อปัญหาความขัดแย้งกับประชาชนในประเทศของตนเอง

แม้ว่าความเป็นจริงของโลกยุคใหม่ จะมีความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์ แต่การกระทำของรัฐยิ่งต้องแสดงในสังคมโลกและประชาชนของตนเองว่ารัฐมีความเป็นธรรม ยึดมั่นในหลักนิติธรรม ที่เคารพสิทธิ เสรีภาพของประชาชนทุกคน ผู้กระทำผิดกฎหมายสามารถผ่านกระบวนการยุติธรรมที่เชื่อถือได้ โปร่งใสและตรวจสอบถ่วงดุลได้

ที่สำคัญ รัฐต้องยินยอมให้ผู้ได้รับผลกระทบจากกฏหมายดังกล่าวสามารถ "ฟ้องร้องกลับ" ตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเป็นสิทธิอันชอบธรรมที่ควรมีตามรัฐธรรมนูญและตามหลักที่นานาอารยะประเทศยอมรับ

กฏหมายคอมพิวเตอร์
ต้องไม่มองมิติเรื่องความมั่นคง
ในทัศนะของผู้มีอำนาจเพียงฝ่ายเดียว
แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านลบ
ทางเศรษฐกิจของประเทศและมิติที่เกี่ยวข้องกับการเคารพในสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างจริงจัง

ภูมิธรรม เวชยชัย
เลขาธิการ พรรคเพื่อไทย
24 ธันวาคม 2559


ที่มา FB

Phumtham Wechayachai