เพิ่งรู้ โคโยตี้ จ้ำบ๊ะ และคนรักสถาบัน สายพันธุ์เดียวกัน
จากการที่น้อง ‘เฮีย’ เขียนเฟชบุ๊คสำนวนโจ๋ใส่พระเมธีธรรมาจารย์ “วันนั้นเฮียและพวกของเฮีย จะได้เจอกับม็อบน้ำหมาก ม็อบโคโยตี้ ม็อบจ้ำบ๊ะ ม็อบชีวภาพ ม็อบคนรักสถาบัน”
ต้องบอกว่า “I hear you, สมี Freedom”
ที่จริงเขาเขียนด่าสาดเสียเจ้าคุณประสาร โทษฐานทักท้วง สนช.รวบรัด ‘ลักไก่’ ผ่าน พรบ.สงฆ์ ๓ วาระรวด
สมีแกใช้ถ้อยคำรุนแรงแบบเด็กแว้นแก๊งแมงกะไซ อาทิ “สันดานเดิม” “มักมาก” “เผือก” ล้วนสะท้อนตัวตน สุวิทย์ ทองประเสริฐ อย่างดี
รวมทั้งชนิด ‘สลิ่ม’ คล้าสสิก ที่ว่า “ก็ออกไปหาประเทศอยู่ใหม่ไป๊” ด้วยการห้อยโหน “พระราชอำนาจของพระเจ้าอยู่หัว” ทำให้รัชกาลที่ ๑๐ ต้องราคินตั้งแต่ยังไม่ทันเสด็จเข้าพิธีราชาภิเษก
อันที่จริงการพูดว่า “ถ้าไม่ชอบใจก็ไปอยู่ที่อื่น” นั่นเป็นวิธีคิดของพวกสิ้นไร้ หนีความจริง และไม่ยอมแก้ปัญหา (อันนี้ต่างกับผู้ที่ถูกบีบคั้นกดดันให้ต้องไป)
เป็นลักษณะการไสส่งผู้ที่ท้วงติงการกดขี่บีบคั้นและเอารัดเอาเปรียบ เช่นเดียวกับปัญหาอื่นๆ ในประเทศ ที่เกิดในยุค ‘ทหารครองเมือง’
โดยเฉพาะซึ่งหนักหนากว่าปัญหาเทวทัตลิ่วล้อ คสช. ก็คือปัญหาจากตุลาการลิ่วล้อ คสช.
ต่อการนั้น ‘ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน’ ได้รวบรวมกระบวนการบิดเบี้ยวหลักกฎหมาย (สากล) ที่ศาลไทยภายใต้ระบอบ คสช. ก่อเวรไว้ตลอดปี ๒๕๕๙ รวม ๑๑ บทบาทด้วยกัน
(http://www.tlhr2014.com/th/?p=3156)
แต่ที่นี้ขอกล่าวจำเพาะกรณี การถอนประกัน ไผ่ ดาวดิน และสั่งฝากขังอีก ๑๒ วันเป็นผัดที่สาม ตามข้อความโพสต์เฟชบุ๊คของ ‘ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement - NDM’ ที่ว่า
“27 ธันวาคม 2559 ศาลอุทธรณ์แอบสั่งให้ฝากขังไผ่ จตุภัทร ผลัดที่ 3 เป็นเวลาอีก 12 วัน โดยอ้างว่าไผ่ได้รับทราบพร้อมลงลายมือชื่อแล้ว
แต่ภายหลังสอบถามเจ้าตัวยืนยันว่ารับทราบแค่คำสั่งไม่ให้ประกัน ผ่านระบบวิดีโอมายังเรือนจำเท่านั้น ไม่รู้เรื่องฝากขังผลัด 3 มาก่อน
กลายเป็นว่าในคดีนี้ ผู้ที่ปฏิบัติตามกระบวนการพิจารณาคดีอย่างถึงที่สุดกลับเป็นฝ่ายจำเลย ในขณะที่ศาลผู้สถิตยุติธรรมกลับแสดงพฤติกรรมอันน่าตั้งคำถามถึงการศึกษาและจรรยาบรรณวิชาชีพ”
“ด้านศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งข้อสังเกตว่า ตามมาตรา 87 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญากำหนดให้ศาลพิจารณาฝากขังทุก 12 วัน เพื่อให้ศาลได้ตรวจสอบการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวนเพื่อไม่ให้ควบคุมบุคคลไว้เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี และเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ถูกควบคุมตัวคัดค้านเหตุของพนักงานสอบสวนได้
การดำเนินกระบวนการฝากขังโดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาคัดค้าน จึงเป็นกระบวนการที่มิชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่มีการสอบถามผู้ต้องหา
แต่คำสั่งอนุญาตคำร้องฝากขังลงวันที่ 27 ธ.ค. 59 กลับระบุว่ามีการสอบถามผู้ต้องหาแล้วและผู้ต้องหาไม่คัดค้าน คำสั่งอนุญาตดังกล่าวจึงพิจารณาบนฐานข้อเท็จจริงที่ ‘ไม่ถูกต้อง’ ตรงกับความเป็นจริง และก่อให้ เกิดความเสียหายต่อผู้ต้องหา
แม้จะมีการไต่สวนเพื่อสอบถามผู้ต้องหาอีกครั้งในวันที่ 28 ธ.ค. 59 ก็ไม่ทำให้สิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้วชอบกฎหมายขึ้นมาในภายหลังได้”
(http://prachatai.org/journal/2016/12/69436)
ทั้งนี้ ถึงแม้นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดาของนายจตุรภัทร์ หรือ ไผ่ ดาวดิน กล่าวว่าจะ “ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการตุลาการกลางเพื่อรับทราบเรื่องที่เกิดขึ้น” ก็ตาม
หากแต่การกระทำในทางบิดเบี้ยวหลักการแห่งกฎหมาย ‘Rules of Law’ เกิดขึ้นแล้วหลายต่อหลายครั้ง ภายใต้การกำกับบงการของ คสช. ประดุจดังคำของ อจ.พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มธ. ที่ว่า
“ไม่มีความเลวใดที่จะยิ่งไปกว่า ความเลวร้ายที่ได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย”